ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ คือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด
  • ชื่อ: ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ คือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 17:40:58 2-11-1403


ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ คือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด

 

ก่อนหน้านี้เราได้นำเสนอ ความรู้ทั้งสองแบบในปรัชญาอิสลาม ได้แก่ ความรู้แบบอิลมุลฮูฏูรีย์ คือ ความรู้ที่ปรากฎในจิตของเรา โดยไม่อาศัยผ่านสื่อ เช่น ความรู้สึกเสียใจของผู้อื่น กับ ความรู้แบบอิลมุลฮูซูลีย์ คือ ความรู้ที่ปรากฎขึ้นในจิตเราโดยอาศัยสื่อ เช่น การเห็นผู้อื่นหลั่งน้ำตา จึงรู้ว่าผู้นั้นกำลังรู้สึกเสียใจ

 ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ คือความรู้ที่ไม่มีวันผิดพลาด  
ความผิดพลาด คือ ภาวะที่ไม่สอดคล้องกันระหว่าง สิ่งที่เรารับรู้ กับ ความเป็นจริง เช่น การเห็นรถยนต์จากบนเครื่องบินซึ่งไม่ใช่ขนาดที่แท้จริงของมัน ความผิดพลาดแบบนี้จะเกิดขึ้นและเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการรับรู้ของเรามี #สื่อ หรือ #อาศัยสิ่งอื่นเป็นตัวช่วยมาคั่นกลาง เรียกกันในภาษาปรัชญาอิสลามว่า วาซิเฏาะฮ์ หรือ วาซีเฏะฮ์ (واسطة) ซึ่งตรงกับความหมายทางภาษาที่หมายถึง กลาง,ตัวคั่น,สื่อ,คนกลาง ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเฉพาะความรู้แบบอิลมุลฮูซูลีย์(ความรู้ผ่านสื่อ)เท่านั้น แต่จะไม่เกิดขึ้นกับความรู้แบบอิลมุลฮูฏูรีย์(ความรู้ไม่ผ่านสื่อ,ความรู้แบบประจักษ์) เพราะ อิลมุลฮูฏูรีย์ ไม่มีสื่อคั่นกลางระหว่าง #ตัวของผู้รับรู้ กับ #สิ่งที่ถูกรับรู้ เมื่อไม่มีอะไรมาคั่นมันเลย การรับรู้จึงเกิดขึ้นโดยตรง จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดในกระบวนการความรู้แบบนี้
ตัวอย่างปรัชญา
อะฮ์มัร พูดกับ อัสวัดว่า : ฉันไม่เชื่อว่า นายมีอยู่จริง เพราะประสาทสัมผัสของคนเราต่างก็ผิดพลาดได้เสมอ เมื่อผิดพลาดได้ ก็ไม่อาจเชื่อถืออะไรได้เลย
อัสวัดหยิบก้อนหิน ปาใส่อะฮ์มัร
อะฮ์มัร จึงถามด้วยความโกรธว่า นายปาก้อนหินใส่ฉันทำไม ฉันเจ็บนะ ?
อัสวัดตอบว่า ถ้านายไม่มีจริง นายจะโกรธฉันทำไม(อิลมุลฮูฎูรีย์สำหรับอะฮ์มัร/ฮูซูลีย์สำหรับอัสวัด) ถ้านายไม่มีจริง นายจะเจ็บได้อย่างไรกัน(อิลมุลฮูฎูรีย์สำหรับอะฮมัรและเป็นฮูซูลีย์สำหรับอัสวัด)
#หัวข้อใหม่ ปัญหาเรื่องอิลมุลฮูฎูรีย์ กับ ผู้อ้างตนเป็นผู้วิเศษ
คำถาม : มีคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า ตนนั้นได้พบกับศาสดา สามารถนั่งทางในมองเห็น สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ พวกเขาอ้างว่าสิ่งที่ตนรู้นั้นจริงเพราะพวกเขาประจักษ์มันด้วยตนเอง จากกรณีนี้ชี้ว่า ตัวผู้อ้างตนเป็นผู้วิเศษ คือ หลักฐานพิสูจน์ว่า อิลมุลฮูฏูรีย์ ก็ผิดพลาดเช่นกัน ในเรื่องนี้ท่านอยาตุลลอฮ มิศบาฮ ตอบไว้ว่าอย่างไร ?
คำตอบ : ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “อิลมุลฮูฎูรีย์” แต่อยู่ที่การตีความสิ่งที่ประจักษ์จากอิลมุลฮูฎูรีย์ สำหรับตัวผู้รับรู้ การประจักษ์นั้นอาจเป็นความรู้แบบประจักษ์เอง แต่เมื่อเขาพยายามถ่ายถอดสิ่งที่ตนประจักษ์ให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยข้อมูลที่ถูกถ่ายถอดออกมา การถ่ายทอดนั้นจะไม่ใช่ อิลมุลฮูฎูรีย์ อีกต่อไป แต่จะเป็น อิลมุลฮูซูลีย์ เพราะเขาใช้เครื่องมือเช่น คำศัพท์ , กลุ่มคำ ภาษา จินตภาพ เป็นสื่อกลางในการถ่ายถอดประสบการณ์ทางจิตของตัวเอง มันจึงเป็นการตีความสิ่งที่ตนประจักษ์ ไม่ใช่การยกที่ตนประจักษ์ให้ผู้อื่นเห็น
ตัวอย่างปรัชญา : ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราประจักษ์ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับการถ่ายทอดความรู้สึกที่เราประจักษ์เสมอไป
(1) คุณย่าที่ไม่ได้เจอกันมาเกือบสิบปีของเราทำขนมให้เรารับประทาน แต่เพราะสายตาของเธอเริ่มพร่ามัว ทำให้เธอเผลอใส่เกลือลงไปแทนน้ำตาล คุณย่ายกขนมมาให้สำหรับสิบคนกิน เราได้กัดไปหนึ่งชิ้น และรู้ทันทีว่า เกลือสลับกับน้ำตาล แต่ทันใดนั้นเองคุณย่าถามเราว่า อร่อยไหม เราจะตอบว่าอะไร ถ้าตอบว่า ไม่อร่อยเลย ก็อาจทำให้คุณย่าเสียใจ แต่ถ้าตอบว่าอร่อยก็ต้องฝืนกินขนมชิ้นนั้นต่อ หรือ ควรตอบว่า พอดีวันนี้ผมมีแผลในปากเพราะร้อนใน ขอเอากลับไปกินที่บ้านได้ไหมครับ (ยิ้ม)
(2) ชายคนหนึ่งฝันว่า ตนได้พบกับ เทวดา ในฝันเขาได้เห็นนกสีขาวมีปีกตัวหนึ่งพูดได้บอกให้เขากระโดดตึกลงมาจากชั้น 8 แล้วเขาจะรวยในวันถัดไป เมื่อชายคนนั้นตื่นขึ้น เขาพูดกับภรรยาของตนเองว่า เมื่อกี้พี่ฝันเห็นเทวดาบอกให้พี่กระโดดตึกลงมาจากชั้น 8 ภรรยาจึงถามขึ้นมาทันทีว่า พี่แน่ใจนะว่านั่นเทวดา ?
(3) หญิงคนหนึ่ง รู้สึกว่า ตนกินไม่อิ่ม เธอจึงกินอาหารมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า แต่ทุกครั้งเมื่อมีคนถามว่า นี่ยังไม่อิ่มอีกหรือ หญิงคนนั้นจะตอบว่า ยังไม่รู้สึกอิ่มเลย กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม
ในตัวอย่างแรก หลาน รู้ว่าสิ่งที่ตนรู้สึกภายในเป็นอย่างไร  และการรับรู้ของเขา ก็สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่เขาเลือกที่จะถ่ายทอดข้อความที่ไม่ตรงกับ สิ่งที่ตนประจักษ์เพื่อรักษาน้ำใจของย่า ในตัวอย่างที่สอง เป็นตัวอย่างของชายที่ตีความสิ่งที่ตนประจักษ์ด้วยชุดความรู้ที่เข้ามีอยู่ก่อนหน้า เขาคิดว่า อะไรที่มีปีก+พูดได้ ย่อมต้องหมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ฝ่ายดีเสมอ จึงทำให้เขาเชื่อว่า สิ่งที่เขาเห็นคือ เทวดา และตีความมันออกมาว่า เป็นเทวดา ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเลย  ส่วนตัวอย่างที่สามเป็นตัวอย่างของคนที่ “ความรู้สึกหิว” กับ การบรรจุอาหารลงไปในกะเพาะไม่สอดคล้องกัน สำหรับเธอคนนั้นความรู้สึกหิว เป็นเรื่องจริง เพราะมันประจักษ์กับตัวเธอเอง และการกินของเธอก็เกิดมาจากความต้องการเพื่อสนองต่อความรู้สึกนั้น สิ่งที่ผิดพลาดไปคือ การตีความว่า ต้องกินจึงจะสนองความรู้สึกหิวจนจบได้  ทั้งสามตัวอย่างเป็นการแสดงให้เห็นว่า การรับรู้แบบประจักษ์นั่นเกิดขึ้นจริง แต่ขั้นตอนการถ่ายถอดเกิดจากการตีความที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนประจักษ์ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นการจงใจ(ตัวอย่างแรก) บางครั้งอาจเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง(ตัวอย่างที่สอง) และบางครั้งอาจเป็นวิธีสนองสิ่งที่ตนเองประจักษ์อย่างไม่ถูกต้อง(ตัวอย่างที่สาม) อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้สื่อว่า ทุกการประจักษ์จะผิดพลาดไปเสียทั้งหมด (ในขั้นตอนถ่ายทอด)ซึ่งสำหรับเราแล้ว การประจักษ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือ การประจักษ์ที่ผ่านหลักการและได้รับการยอมรับจากหลักฐานและสติปัญญาที่หนักแน่นเพียงพอ
#หัวข้อใหม่ ความรู้แบบประจักษ์นั้นมีระดับที่แตกต่างกัน
ความรู้แบบประจักษ์ ไม่ได้มีระดับเดียว แต่มีความเข้มข้นและอ่อนที่แตกต่างกัน ซึ่งสาเหตุเกิดมาจาก ระดับของภวันต์ หรือ การดำรงอยู่ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เช่น การประจักษ์ต่อตัวตนและการมีอยู่ของตนเอง ซึ่งในทัศนะของนักปรัชญาอิสลาม ยิ่งตัวตนนั้น มีอิสระจากกรอบของวัตถุมากเท่าไหร่ การประจักษ์ของเขาจะมีความลึกและกว้างมากเท่านั้น กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ยิ่งใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใด ก็จะหลุดพ้นจากพันธนาการทางความรู้ของวัตถุมากเท่านั้น นอกจากนี้ ระดับที่แตกต่างของการประจักษ์อาจมีสาเหตุมาจาก การสนใจ ด้วยเช่นกัน เช่น ความรู้สึกเจ็บปวด อาจจะไม่ประจักษ์กับจิตหนึ่งเลย หากจิตนั้นกำลังตกหลุมรักบางคนหรือบางสิ่ง กล่าวในอีกบริบทหนึ่งคือ การประจักษ์ว่าตนเองกำลังมีความรักนั้น รุนแรงยิ่งกว่าการประจักษ์ว่าตนเองกำลังเจ็บ จนทำให้ไม่รู้ถึงความเจ็บนั้นเลย นี่คือ ข้อที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในความรู้แบบประจักษ์เองก็มีระดับที่แตกต่างกัน
_______
จบบทที่13
#สรุป
(1) ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ ไม่มีทางผิดพลาด เพราะ ความผิดพลาดเกิดมาจาก ความไม่สอดคล้องกันระหว่าง สิ่งที่รับรู้ ตัวผู้รับรู้ และความเป็นจริง ซึ่งความไม่สอดคล้องกันในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มี “สื่อ” เป็นตัวคั่นกลาง ในการเข้าถึงความรู้นั้น
(2) ผู้อ้างตนเป็นผู้วิเศษ ที่ถ่ายทอดความประจักษ์ของตนแต่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่า ความรู้แบบประจักษ์ผิดพลาดได้ เพราะความผิดพลาดเกิดจาก ขั้นตอนของการถ่ายทอดสิ่งที่ประจักษ์ ไม่ใช่ตัวของสิ่งที่ประจักษ์
(3) ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ มีระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ระดับตัวตนและการดำรงอยู่ของผู้รับรู้ ซึ่งในทัศนะของนักปรัชญาอิสลาม ยิ่งผู้รับรู้หลุดพ้นจากวัตถุมากเท่าใด ระดับของการประจักษ์ก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
#ชวนคิดนอกกรอบ (เรื่องนี้ไม่อยู่ในหนังสือ)
เมื่อ 70 ปี ก่อน นักพรตชาวอินเดียคนหนึ่งเดินทางมายังเมืองกุม(เมืองหนึ่งในอิหร่าน) นักพรตคนนี้บอกกับชาวเมืองว่า เขาสามารถทำให้คนที่อยู่บนพื้นลอยขึ้นมาได้โดยใช้พลังจากวิญญาณของตนเอง เมื่อพูดจบ ทันใดนั้นเอง ผู้คนในแถบนั้นที่กำลังนั่งอยู่บนพื้น ก็ถูกพลังบางอย่างควบคุมให้ลอยขึ้น
ข่าวการมาของนักพรตคนนี้เริ่มกระจายไปไกลจนไปถึงผู้รู้คนหนึ่งในเมืองกุม ลูกศิษย์ลูกหาของผู้รู้ท่านนั้น จึงเชิญนักพรตคนนี้ไปหาอาจารย์ของตนเอง นักพรตตอบตกลง เหล่าเยาวชนจึงพานักพรตคนนี้ไปหาอาจารย์ในเวลาต่อมา 
หลังจากเล่าเรื่องราวของนักพรตคนนี้ให้อาจารย์ฟัง พวกเขาบอกกับอาจารย์ของตนว่า นักพรตอินเดียคนนี้สามารถทำสิ่งเหนือธรรมชาติได้  เช่นทำให้ คนลอยได้.... แต่ผู้เป็นอาจารย์ก็ไม่แสดงอาการแปลกใจแต่อย่างใดเลย ขณะนั้นผู้เป็นอาจารย์กำลังเขียนหนังสืออยู่ ท่านบอกกับนักพรตคนนั้นว่า
"งั้นลองทำให้ฉันลอยขึ้นสิ ฉันจะเขียนหนังสือของฉันต่อไป ส่วนคุณก็ทำสิ่งคุณจะทำ"
นักพรตได้ยินดังนั้น จึงนำอุปกรณ์บางอย่างและเตรียมคาถาบทสวด จากนั้นเขาก็เริ่มอ่านคาถาบทสวดเป็นระยะเวลานาน เวลาผ่านไประยะหนึ่งแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับอาจารย์เลย ในตอนนั้นเอง อาจารย์เงยหน้ามองตาของนักพรตชั่วครู่หนึ่งแล้วก้มลงกลับไปเขียนหนังสือต่อ นักพรตเริ่มรู้สึกงงและพยายามอ่านคาถาของตนต่อไป แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก ผู้เป็นอาจารย์มองหน้านักพรตอีกครั้ง แล้วกลับมาเขียนหนังสือต่อและทำแบบนี้อีกครั้ง นักพรตรู้สึกโกรธมาก เขาเก็บข้าวของของตนเองและเตรียมเดินหนีไป ลูกศิษย์จึงเข้าไปถามนักพรตว่า
ทำไมท่านถึงจะไปแล้วละ ?
นักพรตตอบว่า 
"ฉันใช้พลังทั้งหมดที่มี เพื่อทำให้เขาลอยขึ้น แต่ทุกครั้งที่เขามองฉัน คุนไสยของฉันจะถูกทำลายเสมอ และยังทำให้ฉันรู้สึกเหมือนวิญญาณกำลังจะออกจากร่างอีกด้วยและมันเป็นแบบนี้ถึงสามครั้ง ตอนนั้นฉันจึงได้รู้ว่า ฉันไม่สามารถควบคุมจิตของเขาได้เลยจิตของเขามีความยิ่งใหญ่เหลือเกิน"
จากนั้นนักพรตก็จากไปในคืนนั้นและไม่กลับมาอีกเลย
จากเรื่องเล่านี้ ท่านคิดว่า วิธีที่นักพรตอินเดียใช้ คืออะไร ท่านคิดว่าวิธีดังกล่าวมีจริงหรือไม่ หากจริง สาเหตุใดนักพรตคนนี้จึงไม่สามารถทำอะไรอาจารย์คนนั้นได้เลย ?

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา