ความสำคัญของนบูวัต
  • ชื่อ: ความสำคัญของนบูวัต
  • นักเขียน: เว็บไซต์อัชชีอะฮ์
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 0:55:4 7-10-1403

ความสำคัญของนบูวัต
  
    เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

    ดังที่ทราบกันดีว่าปัญหาอันเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะทุกคนที่ต้องแก้ไข เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตเยี่ยงผู้มีสติปัญญาทั้งหลายประกอบไปด้วย

    1. การมีอยู่ของโลกและมนุษย์มีอยู่ได้อย่างไร มาจากใคร ตลอดจนการบริหารโลกและสังคมมนุษย์อยู่ใต้การดูแลของผู้ใด

    2. บั้นปลายสุดท้ายแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์สุดลง ณ ที่ใด

    3. กอปรกับมนุษย์ทุกคนปรารถนาที่จะรู้จักแนวทางอันถูกต้องสำหรับการดำเนินชีวิต เพื่อว่าเขาจะได้นำพาชีวิตของตนดำเนินไปบนแนวทางดังกล่าว เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง และไปถึงยังความสมบูรณ์สูงสุดซึ่งเป็นสุดยอดความปรารถนาของตน แน่นอน จะมีหลักประกันอันใดเล่าที่สามารถทำให้มนุษย์ประสบกับความสำเร็จดังกล่าวได้ และหลักประกันนั้นอยู่ในอำนาจของผู้ใด

    คำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามสำคัญเหล่านี้ คือ หลักความเชื่อ 3 ประการอันได้แก่ เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระเจ้า) มะอาด (วันแห่งการฟื้นค้นชีพ) นบูวัต (สภาวะการเป็นนบี) ซึ่งหลักการสำคัญทั้ง 3 ประการนี้ เป็นหลักความเชื่อของศาสนาแห่งฟากฟ้า (อันได้แก่ศาสนาคริสต์ ยูดาย และอิสลาม)

ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้เคยกล่าวกันถึงเรื่อง การรู้จักพระเจ้าและการมีอยู่จริงของพระองค์มาแล้ว ซึ่งได้บทสรุปดังนี้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ล้วนเกิดขึ้นมาจากการสร้างสรรค์ของพระผู้สร้างผู้ทรงเกรียงไกร ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การดูแลและการบริบาลของพระองค์ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้ที่ไม่ปรารถนาและไม่พึ่งพาพระองค์ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด เวลาไหน และสถานที่ใดก็ตาม

    ประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้อธิบายแล้วด้วยเหตุผลของสติปัญญา และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าปัญหาเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลของปัญญาเท่านั้น เนื่องจากการพิสูจน์ การเชื่อฟังปฏิบัติตาม และการให้สัมพันธ์ไปยังพระดำรัสของพระเจ้าจะถูกต้องก็ต่อเมื่อ การมีอยู่และพระดำรัสของพระองค์ และความน่าเชื่อถือในพระดำรัสนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วด้วยเหตุผลของสติปัญญา ดังเช่นการอ้างอิงพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ก็ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์สภาวะการเป็นศาสดาและอิมามและข้อพิสูจน์แห่งวจนะของท่านเหล่านั้น ฉะนั้น รากเหง้าแห่งการเป็นศาสดาก็ต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลของสติปัญญา แม้ว่าหลังจากได้พิสูจน์ความเป็นสัจธรรมของอัล-กุรอาน แล้วสามารถใช้แหล่งอ้างอิงของพระเจ้าพิสูจน์ปัญหาดังกล่าวได้ก็ตาม เช่นกันการอธิบายวันแห่งการฟื้นคืนชีพจำเป็นต้องใช้ข้อพิสูจน์ทางวะฮฺยู (เทวโองการ) แม้ว่าวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) จะสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลทางสติปัญญา หรือด้วยเหตุผลของการอ้างอิงก็ตาม

    ด้วยเหตุนี้ การอธิบายปัญหาสำคัญ 2 ประการข้างต้น (มะอาดและนบูวัต) ในเบื้องต้นสามารถพิสูจน์มะอาดและนบูวัติได้ด้วยเหตุผลของสติปัญญา และเมื่อสภาวะการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และความสัจจริงของอัล-กุรอานได้ถูกพิสูจน์แล้ว ก็สามารถอธิบายทั้งสองหลักการบนหลักประกันของคัมภีร์และซุนนะฮฺอันเป็นแบบอย่างของท่านศาสดาได้ แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะเห็นว่าการแยกทั้งสองประเด็นออกจากกันเพื่อการศึกษาจะมีความเหมาะสมและเข้าใจได้ดีกว่า ดังนั้น เราจะถือปฏิบัติตามแบบฉบับกล่าวคือ ในเบื้องต้นจะอธิบายถึงประเด็นการเป็นศาสดา หลังจากนั้นค่อยมากล่าวถึงประเด็นของการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) และถ้าบางกรณีต้องการเนื้อหาสาระและเหตุผลมากขึ้นซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไปในโอกาสข้างหน้า เราจะสำรองประเด็นดังกล่าวให้เป็นประเด็นหลักไว้และรอการพิสูจน์หรืออ้างถึงเหตุผลในที่ๆ ของมัน

    วัตถุประสงค์ในการวิภาษเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

    ในเบื้องต้นเป้าหมายของการวิภาษถึงเรืองนี้ก็เพื่อพิสูจน์เรื่องราวของประเด็นดังกล่าว ซึ่งการรู้จักแก่นแท้ของการมีอยู่ของสรรพสิ่ง และแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องไม่มีหนทางใดจะดียิ่งไปกว่าความรู้สึกและสติปัญญา ซึ่งจะต้องไม่มีความผิดพลาดใดๆ ในนั้นเด็ดขาด ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ วะฮฺยู (เทวโองการของพระเจ้า) หรือกล่าวได้ว่าเป็นคำสอนประเภทหนึ่งของพระเจ้า ซึ่งเฉพาะเจาะจงสำหรับบ่าวบางคนที่ได้รับการเลือกสรรพิเศษจากพระองค์ ซึ่งประชาชนทั่วๆ ไปจะไม่มีวันล่วงรู้ถึงแก่นแท้ความจริงเหล่านั้น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถค้นหาตัวอย่างเหล่านั้นในตัวเองได้นั่นเอง แต่พวกเขาก็สามารถค้นพบได้จากร่องรอยและสัญลักษณ์ที่อยู่ และสามารถยอมรับคำกล่าวอ้างของบรรดาศาสดา (อ.) ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของวะฮฺยู แน่นอน เมื่อการประทานอัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาที่บุคคลหนึ่งและเขาได้สอนวะฮฺยูแก่บุคคลอื่น ดังนั้น เป็นหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้นที่ต้องยอมรับและเชื่อฟังปฏิบัติตามวะฮฺยู ซึ่งจะไม่มีบุคคลใดหาข้ออ้างที่จะขัดแย้งกับวะฮฺยูได้ เว้นเสียแต่ว่าเป็นการลงให้เฉพาะเจาะพิเศษสำหรับบางคนหรือบางกลุ่มชนหรือบางช่วงเวลาเท่านั้น

    ด้วยเหตุนี้ ปัญหาอันเป็นพื้นฐานหลักในประเด็นนี้ก็คือ ความจำเป็นในการแต่งตั้งบรรดาศาสดา และความจำเป็นที่วะฮฺยูต้องบริสุทธิ์จากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ ทั้งโดยตั้งใจและหลงลืมจนกระทั่งว่าวะฮฺยูได้ถูกถ่ายทอดไปยังประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่าบรรดาศาสดาจำเป็นต้องบริสุทธิ์ในการรับวะฮฺยู และประกาศเผยแผ่สาส์นของพระเจ้าต่อประชาชน และเช่นกันจำเป็นต้องมีแนวทางสำหรับการพิสูจน์การเป็นศาสดาของบรรดาศาสดาทั้งหลายแก่บุคคลอื่น

    ฉะนั้น หลังจากได้พิสูจน์ปัญหาอันเป็นพื้นฐานหลักของวะฮฺยูและนบูวัติด้วยเหตุผลของสติปัญญาแล้ว ลำดับต่อไปจะนำเสนอจำนวนของบรรดาศาสดาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และบทบัญญัติแห่งฟากฟ้า การแต่งตั้งศาสดาพร้อมคัมภีร์ฉบับสุดท้าย และการแต่งตั้งตัวแทนของท่าน แต่การพิสูจน์ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีหลายประเด็นต้องพิสูจน์ด้วยเหตุผลเชิงอ้างอิง และการเชื่อฟังปฏิบัติตาม

     การวิเคราะห์วิจัยในวิชาศาสนศาสตร์

    จากสิ่งที่กล่าวมาหากสังเกตจะเห็นความแตกต่างระหว่างหลักการของปรัชญาและศาสนศาสตร์ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากวิชาการด้านปรัชญาจะกล่าวถึงประเด็นปัญหาที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลทางสติปัญญาเท่านั้น แต่วิชาการด้านศาสนศาสตร์จะหมายรวมถึงปัญหาต่างๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลในเชิงอ้างอิง และการเชื่อฟังปฏิบัติตามเท่านั้น

    สามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาการด้านปรัชญาและวิชาการด้านศาสนศาสตร์เป็นอุมูมวะคุซูซมินวัจญฺฮ์ (عموم وخصوص من وجه )หมายถึงวิชาการด้านปรัชญาและเทววิทยาศาสตร์ต่างมีปัญหาร่วม ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยการไตร่ตรองและการคิดเท่านั้นและปัญหาแต่ละอย่างต่างมีความพิเศษเฉพาะตัว ปัญหาพิเศษของปรัชญาต้องอาศัยการคิดพิจารณา ซึ่งต่างไปจากปัญหาพิเศษของวิชาวิภาษศาสตร์เนื่องจากต้องอาศัยหลักฐานอ้างอิงและและการเชื่อฟังปฏิบัติตามเป็นหลักการสำคัญ อีกนัยหนึ่งคือการวิเคราะห์วิจัยในด้านวิภาษศาสตร์นั้นวางอยู่บนหลักการสำคัญสองประการกล่าวคือ ใช้วิธีใคร่ครวญตริตรองและการเชื่อฟังปฏิบัติ

    สรุป ระหว่างวิชาการด้านปรัชญาและเทววืทยาศาสตร์มีความแตกต่างสำคัญ 2 ประการกล่าวคือ

    1. วิชาการทั้งสองประเภทมีจุดร่วมกันกล่าวคือ การทำความรู้จักพระเจ้า และมีประเด็นเฉพาะพิเศษซึ่งไม่สามารถอธิบายร่วมกันได้

    2. การวิเคราะห์วิจัยในเนื้อหาสาระทั้งหมดของปรัชญาขึ้นอยู่กับเหตุผลแห่งสติปัญญา แตกต่างไปจากเนื้อหาสาระของวิชาเทววิทยาศาสตร์กล่าวคือ ถ้าเป็นปัญหาร่วมระหว่างปรัชญากับเทววิทยาศาสตร์ เช่น การพิสูจน์พระเจ้าทั้งสองจะใช้เหตุผลทางด้านสติปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญหาเฉพาะ เช่น ปัญหาผู้นำหรืออิมาม วิชาวิภาษศาสตร์จะใช้เหตุผลในเชิงอ้างอิง ส่วนปัญหาเรื่องการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) วิชาวิภาษศาสตร์จะใช้เหตุผลทั้งสองด้าน

    สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึง คือ ปัญหาเฉพาะเจาะจงของวิชาวิภาษศาสตร์ซึ่งต้องใช้เหตุผลในเชิงอ้างอิง และการเชื่อฟังปฏิบัติตามเป็นข้อพิสูจน์ ซึ่งทั้งหมดจะไม่อยู่ในระดับเดียวกัน ทว่าเนื้อหาสาระบางส่วน เช่น ข้อพิสูจน์หรือเหตุผลของแบบฉบับของท่านศาสดา (ซุนนะฮฺ) ทั้งการกระทำและคำพูด สามารถพิสูจน์ได้โดยตรงด้วยโองการอัล-กุรอาน (หลังจากพิสูจน์แก่นแท้ความจริงของอัล-กุรอานด้วยสติปัญญาแล้ว) หลังจากนั้นปัญหาอื่นๆ เช่น การแต่งตั้งอิมามหรือตัวแทนของท่านศาสดา และข้อพิสูจน์ในคำพูดของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) เหล่านั้น สามารถใช้คำพูดของท่านศาสดาเป็นข้ออ้างอิง สุดท้าย ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังสามารถอ้างอิงคำพูดของบรรดาอิมามเพื่อเป็นข้อพิสูจน์

    แน่นอน บทสรุปที่ได้รับจากเหตุผลในเชิงของการอ้างอิงจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นได้ก็ต่อเมื่อ หลักฐานและสายรายงานเหล่านั้นเป็นที่เชื่อถือและบ่งบอกโดยตรง