ทัศนะของมุสลิมชีอะฮ์ และมุสลิมซุนนีเกี่ยวกับศอฮาบะฮ์เป็นอย่างไร?
ประเด็นแรก
ก่อนที่จะทำการอธิบายถึงทัศนะของมุสลิมชีอะฮ์และซุนนีในประเด็นความเชื่อที่มีต่อศอฮาบะฮ์นบี เป็นการดี อันดับแรกควรให้ความหมายของคำว่า ศอฮาบะฮ์ก่อน
1. นิยามของ "ศอฮาบะฮ์นบี" ในมุมของปราชญ์ชาวซุนนี
1.1 - มุฮัมมัด บิน อิสมาอีล บุคอรีย์ บันทึกไว้ในศ่อเฮียะบุคอรีถึงนิยามของศอฮาบะฮ์นบี ไว้ว่า
وَمَنْ صَحِبَ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، أَوْ رَآهُ مِنَ المُسْلِمِينَ، فَهُوَ مِنْ أَصْحَابِهِ
صحیح البخاری ج5 ص2
คนใดก็ตามได้พบ(อยู่ร่วม)กับท่านนบี (ศ็อลฯ) หรือได้เห็นนบี ถือว่าเขาเป็นศอฮาบะฮ์
1.2 - อะห์มัด บิน ฮัมบัล (อิมามฮัมบะลี) ได้ให้ทัศนะถึงคำจำกัดความของศอฮาบะฮ์ไว้ว่า
وقال أحمد بن حنبل: أصحاب رسول الله صلى الله عليه وسلم كل من صحبه شهرا أو يوما أو ساعة أو رآه
أسد الغابة ج 1ص19
บุคคลใดก็ตามได้อยู่ร่วมกับท่านศาสดา(ศ็อลฯ) แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงหนึ่งเดือน หนึ่งวัน หรือหนึ่งชั่วโมงก็ตาม หรือเพียงแค่ได้พบเห็นกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ถือว่าเขาทั้งหมดเป็นศอฮาบะฮ์
และจำนวนของศอฮาบะฮ์ที่บันทึกไว้ในตำราพี่น้องซุนนี มีด้วยกัน 114,000 คน
อิบนิ เญาซีฮ์ และ ซูยูฏี รายงานจาก อบูซูรอะฮ์ ที่กล่าวว่า
أَبُو زُرْعَةَ الرَّازِيُّ: قُبِضَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ مَائَةِ أَلْفٍ وَأَرْبَعَةَ عَشَرَ أَلْفًا مِنَ الصَّحَابَةِ مِمَّنْ رَوَى عَنْهُ وَسَمِعَ مِنْهُ.
تدریب الراوی ج 2 ص 675
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้จากไปในขณะที่ท่านมีศอฮาบะฮ์(สหาย)อยู่ 114,000 คน
2. นิยามของ "ศอฮาบะฮ์นบี" ในมุมของปราชญ์ชาวชีอะฮ์
ในมุมของปราชญ์ชาวชีอะฮ์โดยส่วนมากแล้วจะให้นิยามศอฮาบะฮ์นบี อยู่ในข่ายนี้ คือ
الصحابی: هو من لقی النبی (صلی الله علیه وآله) مؤمناً به
อัศศอฮาบะฮ์ คือ บุคคลที่ได้ร่วมอยู่กับท่านนบี (ศ็อลฯ) ในสภาพที่เขาศรัทธาต่อท่านนบี
ประเด็นที่สอง
ทัศนะของมุสลิมนิกายชีอะฮ์ และมุสลิมซุนนีเกี่ยวกับศอฮาบะฮ์เป็นอย่างไร
1. มุสลิมนิกายซุนนี
ในหมู่นักปราชญ์อะห์ลิซซุนนะฮ์ความ "อะดาละฮ์" ของศอฮาบะฮ์ทั้งหมดถือว่าเป็นที่ยอมรับและเป็นแก่นที่มีสำคัญอย่างยิ่งยวด หมายถึง บุคคลใดได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านศาสดา และถูกขนานนามว่าศอฮาบะฮ์แล้วให้ถือว่าพวกเขามีความ "อะดาละฮ์" ทั้งสิ้น (อะดาละฮ์ หมายถึง คนดีมีคุณธรรม มีความยุติธรรม และไม่ทำความผิดบาปที่นำไปสู่ขุมนรก) และเชื่อว่าทั้งหมดของศอฮาบะฮ์นบี คือชาวสวรรค์ ดังคำกล่าวของปราชญ์ซุนนีที่ว่า
فَالصَّحَابَةُ كُلُّهُمْ عُدُولٌ، أَوْلِيَاءُ اللَّهِ تَعَالَى وَأَصْفِيَاؤُهُ، وَخِيَرَتُهُ مِنْ خَلْقِهِ بَعْدَ أَنْبِيَائِهِ وَرُسُلِهِ. هَذَا مَذْهَبُ أَهْلِ السُّنَّةِ، وَالَّذِي عَلَيْهِ الْجَمَاعَةُ مِنْ أَئِمَّةِ هَذِهِ الْأُمَّةِ
الجامع لأحکام القرآن (تفسیر القرطبی) ج 16 ص 299 ، اسم المؤلف: أبو عبد الله محمد بن أحمد الأنصاری القرطبی الوفاة: 671 ، دار النشر : دار الشعب - القاهرة
ทั้งหมดของศอฮาบะฮ์มีความ "อะดาละฮ์" (ผู้มีคุณธรรม) พวกเขาคือเอาลิยาอ์(ตัวแทน)ของอัลลอฮ์ และเป็นผู้ถูกคัดเลือกโดยพระองค์ และเป็นกลุ่มบุคคลที่ประเสริฐสุดในหมู่ประชาชาตินี้ต่อจากนบีและรอซูล นี้คือ(สิ่งที่)มัซฮับอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ และบรรดาหัวหน้าของมัซฮับนี้เชื่อกัน
2. มุสลิมนิกายชีอะฮ์
ในหมู่นักปราชญ์ของชาวชีอะฮ์มีความเชื่อที่แตกต่างออกไปจากปราชญ์ของชาวซุนนีในประเด็นนี้อย่างสิ้นเชิง
บรรดาปวงปราชญของชาวชีอะฮ์ได้ให้ทัศนะไว้ว่า ไม่เป็นที่สงสัยสำหรับศอฮาบะฮ์ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกที่อยู่ร่วมกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ย่อมได้รับเกียรติยศที่สูงส่ง และมุสลิมในรุ่นต่อมาต่างให้ความเคารพและให้เกียรติพวกเขา เนื่องจากพวกเขาเป็นมุสลิมรุ่นแรกที่ได้ร่วมก่อร่างสร้างตัว และนำธงชัยแห่งอิสลามปักลง ณ แคว้นอาหรับในสมัยนั้น
อัลกุรอานได้กล่าวยกย่องผู้ที่ปักธงเกียรติยศแห่งอิสลามว่า
لَا يَسْتَوِي مِنكُم مَّنْ أَنفَقَ مِن قَبْلِ الْفَتْحِ وَقَاتَلَ أُوْلَئِكَأَعْظَمُ دَرَجَةً مِّنَ الَّذِينَ أَنفَقُوا مِن بَعْدُ وَقَاتَلُوا
ไม่เท่าเทียมกันในหมู่พวกเจ้า ผู้บริจาคและได้ต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮ์ ก่อนการพิชิต (นครมักกะฮ์) ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงส่งกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้บนทางของอัลลอฮฺ หลังการพิชิต (นครมักกะฮ์)
แต่ใช่ว่าการได้อยู่ร่วมยุคสมัยของท่านนบี (ศ็อลฯ) และการได้รับเกียรติให้ได้ถูกเรียกว่า "ศอฮาบะฮ์" จะทำให้พวกเขาทุกคนปลอดภัยจากการถูกดึงให้เป็นพลพรรคของชัยฏอนได้
ฉะนั้น ในหมู่นักปราชญ์ของชาวชีอะฮ์ได้แบ่งศอฮาบะฮ์ของท่านนบี (ศ็อลฯ) ไว้สองกลุ่มคือ
2.1- ศอฮาบะฮ์ที่ทรงธรรม อัลกุรอานได้สรรเสริญศอฮาบะฮ์กลุ่มนี้ไว้ว่า
مُّحَمَّدٌ رَّسُولُ اللَّهِ وَالَّذِينَ مَعَهُ أَشِدَّاءُ عَلَى الْكُفَّارِرُحَمَاءُ بَيْنَهُمْ تَرَاهُمْ رُكَّعًا سُجَّدًا يَبْتَغُونَ فَضْلًا مِّنَ اللَّهِ وَرِضْوَانًا سِيمَاهُمْ فِي وُجُوهِهِم مِّنْ أَثَرِ السُّجُودِ
มุฮัมมัดเป็นรอซูลของอัลลอฮ์ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา(ศอฮาบะฮ์ผู้ทรงธรรม) เป็นผู้เข้มแข็งกล้าหาญเหนือพวกปฏิเสธ เป็นผู้เมตตาสงสารระหว่างพวกเขา เจ้าจะเห็นพวกเขาเป็นผู้โค้งคารวะ ก้มกราบเพื่อแสวงหาความโปรดปราน และความปราโมทย์จากอัลลอฮฺ เครื่องหมายของพวกเขาอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งการสุญูด
2.2 - ศอฮาบะฮ์ที่กลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอก สับปลับ(มุนาฟิกูน) อัลกุรอานกล่าวถึงศอฮาบะฮ์กลุ่มนี้ไว้ว่า
إِذَا جَاءَكَ الْمُنَافِقُونَ قَالُوا نَشْهَدُ إِنَّكَ لَرَسُولُ اللَّهِ وَاللَّهُ يَعْلَمُ إِنَّكَ لَرَسُولُهُ وَاللَّهُ يَشْهَدُ إِنَّ الْمُنَافِقِينَ لَكَاذِبُونَ
เมื่อพวกสับปลับ (มุนาฟิกูน) มาหาเจ้า พวกเขาพูดว่า เราขอปฏิญาณว่า แท้จริงท่านเป็นรอซูลของอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ทรงรู้ดีว่า แท้จริงเจ้านั้นเป็นรอซูลของพระองค์ และอัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า พวกมุนาฟิกีนนั้นเป็นผู้กล่าวเท็จอย่างแน่นอน
นอกจากโองการอัลกุรอานแล้วยังมีริวายะฮ์อีกเป็นจำนวนมากจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ที่ทำการประณามศอฮาบะฮ์บางคน เช่น
อบูฮาซิม ได้รายงานจากท่าน ซะฮ์ล์ บิน สะอัดว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า
عَن سَهلِ بنِ سَعدٍ قَالَ: قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيهِ وَسَلَّمَ: ( إِنِّي فَرَطُكُم عَلَى الحَوضِ مَن مَرَّ عَلَيَّ شَرِبَ, وَمَن شَرِبَ لَم يَظمَأ أَبَدًا, لَيَرِدَنَّ عَلَيَّ أَقوَامٌ أَعرِفُهُم وَيَعرِفُونِي, ثُمَّ يُحَالُ بَينِي وَبَينَهُم
ฉันจะส่งพวกท่านไปยังสระน้ำ บุคคลใดที่ได้เข้าไปและได้ดื่มน้ำนั้น ผู้ที่ได้ดื่มน้ำเขาจะไม่กระหายน้ำต่อไปตลอดกาล และมีชนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาหาฉันซึ่งฉันรู้จักพวกเขา และพวกเขาก็รู้จักฉันอย่างดี หลังจากนั้นฉันกับเขาได้แยกจากกัน
อบูฮาซิมพูดว่า ขณะที่ฉันกำลังอ่านฮะดีษบทดังกล่าวอยู่ นุอ์มาน บิน อบี อะยาช ได้ยินและพูดว่า ท่านได้ยินซะฮ์ล์ พูดเช่นนี้หรือ ?
ฉันตอบว่า ใช่ เขาพูดว่า ฉันขอยืนยันว่า ฉันก็ได้ยินท่านอบูซะอีด คุดรีย์ พูดเช่นนี้เหมือนกันและเขายังพูดต่ออีกว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า
فَأَقُولُ: إِنَّهُمْ مِنِّي فَيُقَالُ: إِنَّكَ لَا تَدْرِي مَا أَحْدَثُوا بَعْدَكَ فَأَقُولُ: سُحْقًا، سُحْقًا، لِمَنْ غَيَّرَ بَعْدِي
พวกเขามาจากฉัน ดังนั้นท่านได้กล่าวว่า เจ้าไม่รู้หรอกว่าพวกเขาได้ทำอะไร หลังจากฉันได้จากไป ฉะนั้น ฉันขอพูดว่าจงพินาศเถิด จงพินาศเถิด (จงห่างไกลจากความเมตตา) ผู้ที่ได้เปลี่ยนแปลง (อะฮ์กาม) หลังจากฉัน
จากประโยคที่ว่า ฉันรู้จักพวกเขา และพวกเขาก็รู้จักฉันอย่างดี (أَعرِفُهُم وَيَعرِفُونِي) กับประโยคที่กล่าวว่า ผู้ที่ได้เปลี่ยนแปลงหลังจากฉัน(لِمَنْ غَيَّرَ بَعْدِي) ทำให้รู้ว่ากลุ่มชนที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กำลังกล่าวถึงนั้นหมายถึง บรรดาศอฮาบะฮ์ของท่าน ซึ่งพวกเขาได้อยู่ร่วมกับท่านศาสดาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
และฮะดีษดังกล่าวนี้ ท่านบุคอรีย์ และท่านมุสลิมได้รายงานได้ด้วยเช่นกัน
يَرِدُ عَلَيَّ يَوْمَ الْقِيَامَةِ رَهْطٌ مِنْ أَصْحَابِي ، فَيُحَلَّئُونَ عَنِ الْحَوْضِ ، فَأَقُولُ : يَا رَبِّ ، أَصْحَابِي ، فَيَقُولُ : " إِنَّكَ لَا عِلْمَ لَكَ بِمَا أَحْدَثُوا بَعْدَكَ ، إِنَّهُمُ ارْتَدُّوا عَلَى أَدْبَارِهِمُ الْقَهْقَرَى
ในวันพิพากษาจะมีศอฮาบะฮฺของฉันกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาหาฉัน และได้ออกห่างจากสระน้ำ ฉันได้พูดว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน พวกเขาเป็นศอฮาบะฮฺของฉัน ดังนั้น พระองค์ตรัสว่า เจ้าไม่รู้หรอกว่าพวกเขาได้ทำอะไรหลังจากเจ้าได้จากไป พวกเขาได้ตกศาสนากลับไปสู่สภาพเดิมสมัยญาฮิลของพวกเขา
บทสรุป
ในความเชื่อของมุสลิมชีอะฮ์เกี่ยวกับศอฮาบะฮ์นบี
จากโองการและริวายะฮ์ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) สรุปได้ว่า บรรดาศอฮาบะฮ์ หรือผู้ที่ได้เห็น หรือผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านศาสดานั้น ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีบางกลุ่มได้รับเกียรติยศ ถูกยกย่องเป็นผู้ยกระดับจิตใจของตนเอง และเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีการรับใช้ของพวกเขาเป็นสาเหตุทำให้อิสลามเจริญเติบโต และมีความเข็มแข็ง
แต่ก็ยังมีอีกส่วนหรืออีกกลุ่มที่เป็นพวกกลับกลอก มุนาฟิกีน พวกตีสองหน้า จิตใจเป็นโรค และกระทำความผิดบาปตั้งแต่แรก
ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของชีอะฮ์เกี่ยวกับศอฮาบะฮฺนั้นเป็นไปตามทัศนะของอัลกุรอาน และฮะดีษของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้เป็นไปตามความรู้สึก
แต่พี่น้องซุนนีเชื่อว่า "ศ่อฮาบะฮ์ทั้งหมดเป็นผู้มีคุณธรรมทั้งสิ้นและพวกเขาทุกคนเป็นชาวสวรรค์"
นี่คือ อีกหนึ่งประเด็นที่ชีอะฮ์และซุนนีมีความเห็นต่างกัน ส่วนความเชื่อของกลุ่มไหนจะเป็นที่ยอมรับของสมาชิก ก็ให้ขึ้นอยู่กับการศึกษา และการตัดสินใจของท่านผู้อ่านกันเองครับ
เราเคารพในความต่าง..เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพ
บทความโดย เอกภาพ ชัยศิริ