ศาสนา กับ สติปัญญา
โดย ยูซุฟ ญาวาดี
-บทนำ
-ข้อกล่าวหาที่ 1 สติปัญญา ขัดแย้งกับ ศาสนาจากฟากฟ้า
-ข้อกล่าวหาที่ 2 คำสอนของศาสนา ขัดแย้งกับ สติปัญญา
-ข้อกล่าวหาที่ 3 สติปัญญา คือ สิ่งที่ขัดแย้งกับพระเจ้า
-ข้อกล่าวหาที่ 4 บทบาทของสติปัญญาในศาสนา
บทนำ
หนึ่งในข้อกล่าวหา และความคลุมเครือ อันเก่าแก่ แพร่หลาย คือ ความขัดแย้งระหว่าง ศาสนา กับ สติปัญญา ซึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ท่านจะเห็นว่า ประเด็นนี้ถูกนำเสนอด้วยเทคนิคที่แตกต่างอยู่เสมอ และในบทความนี้เราจะทำการวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อกล่าวหาเหล่านี้
เบื้องต้นขอให้ผู่อ่านพึงทราบว่า ความหมายของ ศาสนา ในที่นี้ หมายถึง ศาสนาจากฟากฟ้า ที่ ถูกประทานจากพระผู้เป็นเจ้า โดยมีศาสดาเป็นตัวแทนของพระองค์ นั่นก็คือ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม หรือ ศาสนาสายอิบรอฮีม[1]
ศาสนาจากฟากฟ้า หรือ ศาสนาอิบรอฮีมียะต์ หมายถึง ศาสนาที่มีความเชื่อเกี่ยวกับ ผู้บังเกิดจุดเริ่มต้น และจุดคืนกลับ, มีความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ และชีวิตนิรันด์ และมีหลักปฏิบัติที่สัมพันธ์กับความเชื่อดังกล่าว
ความหมายของศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาที่ประกอบไปด้วยความเชื่อทางภาคอะกีดะฮ ,ภาคปฏิบัติ,และคุณค่าของสิ่งต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามองค์กอบหลักได้แก่
1 อะกีดะฮ : ความเชื่อ ความรู้ วิทยาการ
2 อามั้ล : การปฏิบัติ ศาสนบัญญัติ นิติบัญญัติ
3 อัคลาค : จริยธรรม สิ่งที่ควร และไม่ควรทำ
การทำความรู้จักกับองค์ประกอบของศาสนาหนึ่งจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของศาสนานั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบของศาสนาจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ ผู้ค้นคว้าความจริงสามารถทำความเข้าใจศาสนา อย่างถูกต้องได้ดียิ่งขึ้น
ข้อกล่าวหาที่ 1 สติปัญญา ขัดแย้งกับ ศาสนาจากฟากฟ้า
ข้อกล่าวหา และข้อคลุมเครืออีกประการหนึ่ง ที่ถูกนำเสนอ และมีให้เห็นอยู่ในประวัติศาสตร์ของบรรดาศาสดาอยู่เสมอ ก็คือ การอ้างอิงถึงความไม่จำเป็นต่อการมีศาสนา และศาสดา ซึ่งในอดีต มีการนำเสนอโดยกลุ่มพราหม [2] และกลุ่ม ไดเอส deism [3] ซึ่งในศตวรรษที่ผ่านมา สำนักคิดต่างๆได้นำเสนอแนวคิดดังนี้
“สาส์นของศาสนา หากไม่สอดคล้องกับสติปัญญา ก็ ขัดแย้ง กับสติปัญญา ในรูปแบบแรก หากสาส์นของศาสนา สอดคล้องกับ ปัญญา เราก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสดาแต่อย่างใด และหากขัดแย้งกับศาสดา สติปัญญาก็จะต่อต้านกับสาส์น ซึ่งเท่ากับมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้”
วิพากษ์ทัศนะ : ข้อพิสูจน์ความจำเป็นต่อการแต่งตั้งศาสดา
ปรัชญาความต้องการของมนุษย์ต่อศาสนา และศาสดา นับเป็นประเด็นหนึ่งใน วิชา เทววิทยาอิสลามยุคใหม่ ซึ่งมีการนำเสนอ และถกเถียงในวงการ ของผู้รู้และนักวิชาการศาสนายุคนี้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมุตะกัลลีมีน (นักวิชาการศาสนาสายเทววิทยา) และนักปรัชญา ได้นำเสนอ และพิสูจน์ความจำเป็นเหล่านี้ ในหัวข้อ ปรัชญาการแต่งตั้งศาสดา ดังนี้
ในความเป็นจริงแล้วคำล่าวนี้ เป็นคำกล่าวที่คล้ายกับ เด็กนักเรียนที่บอกกับครูผู้สอนว่า “สิ่งที่ครูสอนมา หากเราเข้าใจ ก็แสดงว่า ไม่จำเป็นต้องมีครู และหากเราไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน ก็เท่ากับว่า ก็เท่ากับว่า สิ่งที่ครูสอนขัดแย้งกับความปัญญาของเรา ดังนั้นสิ่งที่ครูสอนก็ไร้เหตุผล และเราไม่สามารถเข้าใจได้”
การที่เราสามารถเข้าถึงปรัชญาคำสอนของศาสนาบางประการอย่างลึกซึ้ง ไม่ได้หมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องมีศาสนาอีกแล้ว แต่หมายความว่า เราสามารถเข้าใจคำสอนของศาสนาด้วยปัญญา และศาสนาเองยังทำหน้าที่ในการอบรบมนุษย์ สร้างคน มาตลอดหลายยุคหลายสมัย
ในประเด็นเรื่องปรัชญาการแต่งตั้งศาสดา มีรายละเอียดอย่างมากมายที่จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ในการอธิบายถึงเรื่องนี้ ดังนั้นจึงข้อสรุปปรัชญาการแต่งตั้งศาสดา แบบสั้นๆ
หากทำการศึกษา บทบาทของศาสดา และศาสนา จะเห็นว่า ศาสดา ไม่ได้มีหน้าที่ส่งคัมภีร์ให้กับมนุษย์แล้วจากไป พวกเขายังเป็นแบบอย่างในการพัฒนาของมนุษย์ เป็นผู้อบรบสั่งสอน,ขัดเกลามนุษย์,มอบความรู้,มอบความยุติธรรม,ปลดปล่อยมนุษย์จากการกดขี่ และต่อสู้กับบรรดาผู้กดขี่ในยุคสมัยของพวกเขา และภายหลังจากยุคสมัยของศาสดา บทบาทของศาสนาก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง สู่อารยชนรุ่นหลังสืบสานต่อกันจนถึงยุคสุดท้าย
และในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เราไม่เข้าใจ ก็ใช่ว่า จะไม่ถูกต้องเสมอไป ประวัติศาสตร์เป็นพยานว่า คำสอนบางประการของศาสนาต้องอาศัยเวลา และการพัฒนาทางความรู้ของมนุษย์ในการทำความเข้าใจต่อคำสอนเหล่านั้น เรามักจะเห็น อ่านหรือได้ยินข่าว นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักจิตวิทยา ค้นพบ ประโยชน์จากคำสอนของศาสนาบางประการอย่างน่าทึ่ง เช่น ผลทางจิตใจของผู้นมาซ สุขภาพร่างกายของผู้ถือศีลอด ขอแนะนำให้อ่านงานเขียนในลักษณะนี้
ท่านจะพบความมหัศจรรย์หลายสิ่งหลายอย่างจากคำสอนของศาสนาอย่างมากมาย ทั้งแนวคิดในเชิงปรัชญา และสังคม ก็เช่นกัน ความล้ำสมัยของศาสนา ปรัชญาคำสอนทางสังคมของศาสนา ก็มีความแข็งแกร่งและมั่นคงอย่างไม่เสื่อมสลาย เช่น แนวคิดเรื่องดอกเบี้ยในอิสลาม หรือ หรือการอัมรบินมะอรูฟ และนะฮีอนิลมุงกัร (กำชับกันในเรื่องของความดี และยับยั้งในเรื่องของความชั่ว
ดังนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า สติปัญญาทำให้เข้าถึงความลึกซึ้งของศาสนา และ การที่เราไม่เข้าใจในบางสิ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้น ไม่ถูกต้อง ควรปฏิเสธ เพราะปัญญาเปรียบดั่งกุญแจในการเข้าใจศาสนา เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานทางศาสนาแล้ว ในเรื่องระดับสูงก็ไม่ได้หมายความว่า การไม่เข้าใจต่อสิ่งเหล่านั้น คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องปฏิเสธศาสนา เพราะเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ของมนุษย์ มีระดับขั้นที่แตกต่างกัน
ระดับพื้นฐาน คือ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การเข้าถึงความรู้ด้วยประสาทสัมผัส,ระดับที่สอง คือ ตะอักกูลีย์ คือ การเข้าถึงความรู้ด้วยปัญญา,ระดับที่สามคือ ตะอับบูดีย์ คือ การเข้าถึงความรู้ด้วยการปฏิบัติ (เหมือนการปฏิบัติตามคำสังของหมอ จนพบว่า ตนได้รับความรู้อย่างหนึ่ง), ระดับสุดท้ายคือ ชูฮูด คือ การประจักษ์ด้วยหัวใจ หรือ การรู้แจ้งเห็นจริง
เมื่อการเข้าถึงความรู้ของมนุษย์เป็นเช่นนี้ ในศาสนาก็เช่นกัน ในเบื้องต้น มนุษย์เข้าถึงศาสนาด้วยสติปัญญา เมื่อเขาเข้าใจวิทปัญญาต่างๆในศาสนาและยอมรับ เขาจึงปฏิบัติอย่างเชื่อฟังต่อทุกๆคำสอนของศาสนา แม้บางครั้งจะมีบางสิ่งที่เขายังไม่อาจเข้าใจ แต่เมื่อเขาผ่านระดับของสติปัญญาแล้ว เขาจึงสามารถเชื่อมั่นได้ว่า สิ่งที่เขายึดมั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เหมือนกับที่ ผู้ป่วยที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในวิชาสาขาแพทย์ รู้ว่า หากเชื่อฟังหมอ เขาจะหายจากอาการป่วยได้ (แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น) และเมื่อปฏิบัติ และยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยหัวใจอย่างสมบูรณ์แบบ เวลาหนึ่ง เขาจะไปถึงระดับสูงสุด คือ การประจักษ์ รู้แจ้งเห็นจริง ไปสู่จุดที่เรียกว่า มนุษย์ผู้สมบูรณ์
ดังนั้น การเข้าใจด้วยสติปัญญา ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการเข้าถึงความรู้ ไม่ใช่วิธีการเข้าถึงความรู้ทั้งหมด จึงไม่ถูกต้องที่จะกล่าวอ้างว่า หากสติปัญญาไม่สามารถเข้าถึงคำสอนศาสนา เท่ากับคำสอนของศาสนาไม่คู่ควรกับมนุษย์
ข้อกล่าวหาที่ 2 คำสอนของศาสนา ขัดแย้งกับ สติปัญญา
ผู้ปฏิเสธศาสนา และผู้นับถือศาสนาบางกลุ่มมีความเชื่อว่า สติปัญญา ไม่สามารถไขความกระจ่างต่อคำสอนบางประการของศาสนาได้ ซึ่งในคำกล่าวหนึ่งคือ “สติปัญญา ขัด กับ ศาสนา ”
วิพากษ์ทัศนะ
การจะทำความเข้าใจต่อข้อคลุมเครือนี้ ประเด็นต่างๆข่างล่างนี้ จะช่วยให้ผู้อ่านสร้างความเข้าใจ และขจัดข้อสงสัยดังกล่าวได้ดังนี้
1. การสร้างความชัดเจนในความหมายของ สติปัญญา และ ศาสนา
ประเด็นแรกเมื่อต้องการตอบคำถาม คือ การทำความเข้าใจถึงประเด็นหลัก และความหมายในการนิยามของสิ่งนั้น คำกล่าวที่ว่า สติปัญญา เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับศาสนา หรือไม่นั้น เบื้องต้น ผู้อ้างทัศนะจะต้องให้ความหมายที่ชัดเจนเสียก่อนว่า สติปัญญา ณ ที่นี้ หมายถึง อะไร การให้ความหมายที่ถูกต้องของคำๆนี้ จะช่วยทำให้ไม่เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด หรือ ตรรกวิบัติ
ความหมายของการประสาน และการรองรับของสติปัญญาที่มีต่อศาสนา หมายถึง,สติปัญญาให้ความหมายถึงสามัญสำนึกอันบริสุทธิ์ ความรู้ก่อนประสบการณ์ การใช้เหตุผล และพลังในการเข้าถึงและเข้าใจ ,ศูนย์กลางความคิดในเรื่องสิ่งที่สมควร และไม่สมควรทำ
ส่วนความหมายอื่นของสติปัญญา ในทัศนะของนักวิชาการตะวันตก สติปัญญา คือ เครื่องมือในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และผลประโยชน์ทางวัตถุ เครื่องมือในการคำนวนหากำไร ผล ขาดทุน เป็นต้น [4]
ตามหลักการนี้ เมื่อเราพูดถึง กลุ่มปัญญานิยมศาสนา หมายถึง การใช้สติปัญญา สัมพันธ์กับศาสนา ในการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสอง โดย สติปัญญา ในหลักการนี้ คือ หลักฐาน และข้อพิสูจน์ที่มั่นคงสำหรับศาสนา ซึ่งนอกจากจะไม่ขัดแย้งกับศาสนาแล้ว สติปัญญายังสนับสนุนทัศนะของศาสนาและเติมเต็มความลึกซึ้งให้กับศาสนา และศาสนาเอง ก็มีบทบาทในการ ให้คุณค่าของสติปัญญาในระดับที่โดดเด่น
ในมุมมองของตะวันตก ในช่วง สอง ศตวรรษที่ผ่านมานี้ นักวิชาการสายตะวันตกจะให้ความหมายของสติปัญญา ว่าเป็นเครื่องมือ โดยมีการแสวงหาผลประโยชน์เป็นหลัก ผู้สนับสนุนทัศนะ มักจะถือว่า สติปัญญา เหมือนกับพ่อค้าที่สามารถคำนวน กำไร หรือ การขาดทุน ผลประโยชน์ทางวัตถุ และเป็นผู้เสนอไอเดียต่างๆในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับเจ้าของๆมัน[5] ซึ่งสติปัญญาแบบนี้ ไม่อาจคิดคำนวน ผลประโยชน์ หรือ โทษ จากโลกอื่นที่ไม่ใช่วัตถุ มันทำการสอดส่องได้แต่โลกของวัตถุเท่านั้น ซึ่งนั่นคือ สาเหตุว่าทำไม ผู้ปฏิเสธศาสนาบางกลุ่มถึงได้อ้างว่า สติปัญญา ขัดแย้งกับศาสนา เพราะพวกเขา มองว่า สติปัญญา เป็นเพียงเครื่องคำนวนผลประโยชน์ และผลเสียนั่นเอง
สติปัญญาเช่นนี้ นับว่ามีความบกพร่องและคับแคบยิ่งนัก เพราะ ความจริงแล้ว สติปัญญายังมีความสามารถมากกว่านั้น สติปัญญาไม่ได้มีความสามารถเพียงการ คำนวน กำไร หรือ ขาดทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถมอบข้อพิสูจน์ และหลักฐานให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย นั่นคือ สติปัญญาที่นักอภิปรัชญาได้ทำการใช้ในการพิสูจน์ในเรื่อง พระเจ้า เรื่อง ศาสดา หรือ เรื่องของ โลกหลังความตาย ในมุมมองของศาสนานั้น สติปัญญา คือ เครื่องมือ ในการค้นคว้าเป้าหมาย ,ผลประโยชน์,เป้าหมายของชีวิต,เครื่องแบ่งระหว่างสัจธรรมและโมฆะ,เครื่องมือในการหาเหตุและผล,ซึ่งแน่นอนว่า สติปัญญาในทัศนะของศาสนานั้น มีความหมายที่กว้างขวางกว่าสติปัญญาในมุมมองของนักวิชาการที่ปฏิเสธเรื่องพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง
ส่วนประเด็นเรื่อง การเปรียบเทียบระหว่าง ศาสนา กับ สติปัญญา นั้น เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ในการเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่งที่ มีนิยามที่แตกต่างกัน ในความเป็นจริง การใช้คำสองคำนี้ เพื่อมองหาความขัดแย้งนับว่าไม่ถูกต้องนัก เพราะความเป็นจริง สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ สติปัญญา คือ บันทึก,รายงานหรือหลักฐานจากการรายงาน
ในวิทยาการของศาสนา มีบางสาขาวิชาที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน บางวิชาเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาโดยตรงเช่น ปรัชญา หรือ ตรรกศาสตร์ บางวิชาเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับ บันทึกสายรายงาน เช่น ประวัติศาสตร์ ,ฮะดิษ และบางวิชาเป็นการผสมผสานระหว่าง หลักฐานทางสติปัญญา และหลักฐานทางการบันทึก เช่น เทววิทยา ศาสนาวิจารณ์ ….
2. คำสั่งเสียอันหนักหน่วงของศาสนาต่อการใช้สติปัญญา
ผู้ศึกษาอัลกุรอ่าน และประวัติศาสตร์ หรือ วัจนะของศาสดา(ศ) จะเข้าใจได้อย่างดีว่า มีการเน้นย้ำอย่างจริงจัง และหนักแน่น ให้ผู้นับถือศาสนา ใช้สติปัญญา หลักฐานจากอัลกุรอ่าน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่อการใช้ปัญญาอย่างมากมาย
ในอัลกุรอ่าน มีการใช้คำว่า อักล = สติปัญญา ,ตะฟักกุร ตะดับโบร=การไตร่ตรอง การคบคิด การไคร่ครวญ มากกว่า 50 ครั้ง และในด้านตรงข้ามอัลกุรอ่านยังได้ประนาม คนที่ไม่ใช้สติปัญญาอีกด้วย [6]
ในรีวายัต หรือ วัจนะ มีการกล่าวชมเชย และชี้ถึงคุณค่าของสติปัญญาอย่างมากมาย บางครั้งเรียกสติปัญญาว่า ฑูตแห่งสัจธรรม ,ข้อพิสูจน์จากภายใน,สิ่งที่จะช่วยรักษาความเป็นมนุษย์,มิตรของผู้ศรัทธา[7]
ข้อกล่าวหาที่ 3 สติปัญญา คือ สิ่งที่ขัดแย้งกับพระเจ้า
บางกลุ่มอ้างว่า การมีอยู่ของพระเจ้า ไม่เพียงแต่จะพิสูจน์ไม่ได้ แต่ยังปฏิเสธถึงการการมีอยู่ของพระเจ้าได้อีกด้วย[8]
ทัศนะดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่โดยกลุ่ม เซคูลาร์สุดโต่ง และเอทิสต์ โดยการยึดทัศนะ สัมผัสนิยม และการอ้างอิงถึงวิทยาศาสตร์ โดยการอ้างว่า สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยสัมผัสทั้งห้า หรือ ไม่สามารถนำมาทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้ สิ่งนั้นถือว่าไม่มีจริง และการเชื่อถือต่อสิ่งนั้นถือว่าไร้เหตุผล และไม่สอดคล้องกับสติปัญญา
วิพากษ์ทัศนะ
คำตอบของข้อกล่าวหานี้ เบื้องต้นจะต้องนำเสนอ ข้อพิสูจน์ทางสติปัญญา ในการพิสูจน์พระเจ้า หรือ ในศัพท์ทางเอกเทววิทยาอิสลาม คือ บุรฮานอักลีย์ (برهان عقلی ) โดยเราจะนำเสนอข้อพิสูจน์เชิงตรรกะเป็นตัวอย่างดังนี้
หลักแห่ง อิมกาน (possible) และ วุญูบ (Neccessity)
หลักแห่งอิมกาน และ วุญูบ คือ หลักการที่มนุษย์ทุกคนสามารถทำความเข้าใจได้ และไม่จำเป็นต้องนิยามคำให้มากมาย คำว่า วุญุบ (Neccessity) (وجوب) หมายถึง ความจำเป็น สื่งที่จำเป็นต้องมี และคำว่า อิมกาน (possible) หมายถึง เป็นไปได้
ทุกๆความหมายที่เราคิด หรือ ไตร่ตรองด้วยสติปัญญา เช่น สิงโต,เมตตา,เผาไหม้,ผู้ฆ่า,ดิน,นก,น้ำ,พระเจ้า และทุกๆสิ่ง จะอยู่ในกรอบของ สามสิ่งนี้คือ
1. เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และมีอยู่จริง ( ) เรียกว่า มุมกินุลวุญูด
หมายถึง สิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ด้วยตนเอง และการปรากฎของสิ่งนั้น ต้องการพึ่งพาสิ่งมีอยู่อื่น หรือ สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะมีอยู่จริง
2.จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น และจะต้องมีอยู่จริง (واجب الوجود) เรียกว่า วาญิบุลวูญูด สิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่จริง
หมายถึง สิ่งมีอยู่ด้วยตนเอง อันเป็นเอกเทศต่อสิ่งอื่น และไม่มีความต้องการหรือพึ่งพาจาก สิ่งมีอยู่ประเภทอื่นแต่อย่างใด และโดยหลักแล้ว คุณลักษณะของสิ่งมีอยู่ประเภทนี้ จะต้องเป็นมีอยู่ที่แต่เดิม,นิรันด์,อยู่เหนือมิติของกาลเวลา เพราะ การไม่มีอยู่ของคุณลักษณะเหล่านี้ ในเวลาหนึ่ง เป็นข้อบ่งชี้ว่า สิ่งนั้นไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวเอง และต้องการพึ่งพาต่อสิ่งอื่นเพื่อทำให้มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สาเหตุ หรือ เงื่อนไข ในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้น และสิ่งนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ขาด และไม่สมบูรณ์
ทุกอย่างที่มีอยู่จริงแบ่งออกเป็นสองประเภท
1 เป็นไปได้ที่จะมีอยู่จริง
2 จำเป็นที่จะต้องมีอยู่จริง
สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะมีอยู่จริง คือสิ่งที่ การทีอยู่ของมัน ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น ซึ่งหากไม่มีสิ่งอื่นเป็นเหตุของมัน มันก็จะไม่มีอยู่ เช่น มนุษย์, พืช, สัตว์,โลก [9]
สิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่ คือ สิ่งที่การมีอยู่ของมันไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งใด และสาเหตุที่จะต้องมีอยู่จริงนั้น เพราะสิ่งนั้น คือ ปฐมเหตุของสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะมีจริง หากไม่มีสิ่งนี้อยู่จริง จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้คือปฐมเหตุของทุกสิ่ง และหากสมมติว่า เหตุของสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะมีอยู่จริง คือ สิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะมีอยู่จริง ผลลัพธ์ก็จะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะหากเหตุของสิ่งเป็นได้ที่จะมีอยู่ คือสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะมีอยู่ เราก็จะไปไม่ถึงจุดเริ่มต้นของปฐมเหตุ เพราะเป็นลูกโซ่ ดังนั้น จะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดสิ้นสุดของทุกเหตุ คือ สิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ นั่นก็คือพระเจ้านั่นเอง
เมื่อเราทำการพิจารณาถึง สิ่งต่างๆ สิ่งๆนั้นจะอยู่ในหนึ่งในสองประเภทนี้เท่านั้น คือ เป็นไปได้ที่จะมีอยู่จริง หรือ จำเป็นที่จะต้องมีอยู่จริง ตัวอย่างเช่น เมื่อเรา เปรียบเทียบระหว่าง พระเจ้า กับ การมีอยู่ ก็จะได้คำตอบว่า พระเจ้าจำเป็นต้องมีอยู่จริง (ในลักษณะนี้คือ วาญิบุลวูญูด ) เพราะหากพระเจ้าไม่มีอยู่จริง ปฐมเหตุก็จะไม่มีอยู่จริง และเมื่อปฐมเหตุไม่มีอยู่ เราก็จะไม่มีตัวตน เพราะเราคือ มุมกินุลวูญุด [10]
หมายถึง เรา มนุษย์ โลก สรรพสิ่ง คือ สิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวเอง และ เช่นเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เราไม่มีตัวตน และตอนนี้เรามี ดังนั้น การมีอยู่ของเรา หรือ สรรพสิ่งต่างๆก็จะต้องพึ่งพาสาเหตุของสิ่งอื่น แน่นอนว่า หากทำการสืบสวนหาสาเหตุในการมีอยู่ของมนุษย์แบบลูกโซ่ จะทำให้เราไม่สามารถไปถึงคำตอบที่เป็นจริงได้ ณ จุดนี้เอง สติปัญญา จึงให้คำตอบกับเราว่า ในท้ายที่สุด สิ่งที่เป็นไปได้ในการมีอยู่ จะต้องมีปฐมเหตุที่ไม่ได้อยู่ในประเภทเดียวกัน หมายถึง มุมกินุลวุญูด หรือ สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะมี และการจะมีต้องอาศัยเหตุอื่น ดังนั้น เหตุหลัก หรือ ปฐมเหตุ จึงจะต้องเป็น วาญิบุลวูญูด คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ด้วยตนเอง และไม่ต้องการพึ่งพาต่อสิ่งใดในการมีอยู่ ซึ่งนั่นก็คือ พระเจ้านั่นเอง
ใช้ค่า
A : คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีอยู่จริง
B : คือ สิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะมีอยู่จริง
1 : คือ ปฐมเหตุ
หากสาเหตุของ B คือ B มันก็ได้ค่าของ B ไม่เปลียนแปลง
B>B>B>B>B>B>B>B>B>B>B>B…. จนเป็นลูกโซ่
เมื่อเป็นลูกโซ่ ก็จะหาค่าที่ถูกต้องไม่ได้ เพราะไม่สามารถหาค่าของความจริงได้
ดังนั้นจึงต้องเป็น
B>B>B>B>B> A
ทำไมลูกโซ่ ?
เมื่อดู คุณลักษณะของ B จะเห็นว่า B ไม่มีคุณลักษณะของปฐมเหตุ มันจึงไม่ถูกต้อง เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจาก 1
ดังนั้น เมื่อเราดูลักษณะของ A กับ B จะเห็นว่า มีเพียงสิ่งเดียวที่มีคุณลักษณะของ 1 คือ A
ดังนั้น A =1
วาญิบุลวูญูด =ปฐมเหตุ
ถึงแม้ว่า ผู้ปฏิเสธพระเจ้า หรือ เรื่องเหนือสัมผัสทั้ง 5 จะไม่ยอมรับ การมีอยู่ของพระองค์ แต่ท้ายที่สุด โลกทัศน์ของทั้งสองแนวคิด ก็บรรจบและให้บทสรุปต่อ ปฐมเหตุเหมือนกัน
ความแตกต่าง
A. ของวัตถุนิยม คือ ธรรมชาติ พลังงาน
A. ของศาสนา คือ พระเจ้า
ทางวัตถุนิยม ให้ข้อสรุปและตีความไปในกรอบของวัตถุว่า ปฐมเหตุของการมีอยู่ของสรรพสิ่งหมายถึง ธรรมชาติ หรือ พลังงาน
ทางฝ่าย จิตนิยม หรือ ฝ่ายศาสนา,ฝ่ายที่มีความเชื่อเรื่องพระเจ้า ให้เหตุผลว่า ปฐมเหตุของทุกสิ่ง หรือ วาญิบุลวูญูด คือ พระเจ้า
ข้อแตกต่างระหว่างสองแนวคิด ก็คือ ฝ่ายศาสนาเชื่อว่า สิ่งที่จะเป็นวาญิบุลวูญูดได้จะต้องเป็นสิ่งที่ครอบครองคุณลักษณะความรู้ ,พลังอำนาจ,ชีวิต ส่วนฝ่ายวัตถุนิยมให้เหตุผลว่า วาญิบุลวูญุูด ไม่มีคุณลักษณะของความรู้หรืออำนาจแต่อย่างใด ซึ่งทางฝ่าย ศาสนา ก็ได้ออกมาโต้แย้งว่า เป็นไปไม่ได้ที่ ปฐมเหตุจะไม่ครอบครองคุณลักษณะของความรู้,ความรู้สึก,การรับรู้ อำนาจในการสร้าง การตัดสินใจ การกำหนด การคำนวณ เพราะเมื่อพิจาณาถึงผลงานของวาญิบุลวูญูด เรากลับพบว่า แม้แต่รายละเอียดที่เล็กที่สุด ก็ถูกจัดวางอย่างประณีตและเป็นระบบ ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลายๆด้าน หาก ปฐมเหตุไม่มีความรู้แต่เดิม จึงเป็นไปไม่ได้ที่ สิ่งนั้น จะสามารถ สร้างสิ่งต่างๆที่ต้องอาศัยองค์ความรู้มหาศาลเป็นเงื่อนไขได้
A ควรจะเป็นใคร
เมื่อเราดูลักษณะของ B จะเห็นว่า B มีความรู้ มีชีวิต มีพลัง เรารู้ว่าB มาจาก A
หาก Aไม่มีส่งเหล่านี้ แต่เดิม เราก็จะไม่เห็น ลักษณะนี้อยู่ใน B เพราะ A คือ เหตุของ B
ดังนั้น A = ธรรมชาติ จึงผิดเพราะธรรมชาติไม่มีคุณลักษณะดังที่กล่าวไว้
ดังนั้น จึงเหลือคำตอบอย่างเดียว
A = พระเจ้า
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบวาญิบุลวูญูด ของวัตถุนิยม กับ ศาสนา จะได้ข้อสรุปว่า สิ่งมีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่คือ พระเจ้านั่นเอง
นอกจากนี้ นักปรัชญาฝ่ายวัตถุนิยมเอง ก็ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าโดยสมบูรณ์ และความจริงแล้ว หัวใจของปรัชญาวัตถุนิยมเอง มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง พระเจ้า ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ปฏิเสธโดยสมบูรณ์ และเหตุที่ปฏิเสธพระเจ้า เพราะพวกเขาถือว่า เรื่องของพระเจ้าไม่สามารถพิสูจน์ หรือ ปฏิเสธได้ ตัวอย่างทัศนะของนักปรัชญาวัตถุนิยม ในปี 1959 เบอทรัล รัซเซล ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์กับ เวท ในสถานีโทรทัศน์ของลอนดอน ในปีนั้นว่า
“ผมไม่คิดว่า ในเชิงตายตัว จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระเจ้าอยู่จริง แน่นอนว่า ไม่ ! ผมคิดว่า ประเด็นแบบนี้คล้ายกับประเด็นเรื่อง บรรดาเทพเจ้าต่างๆ อย่าง เทพเจ้าโอลิมปิค หรือ เทพเจ้านาโรจีย์ เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะมีตัวตนอยู่จริง และผมก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาไม่มีอยู่ ผมคิดว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ พระเจ้าของชาวคริสต์จะมีอยู่จริงมากกว่าพระเจ้าเหล่านั้น ความเชื่อของผมคือ พระเจ้าเหล่านี้ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น[11]
ดังนั้น การปฏิเสธพระเจ้า จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจาก การหักล้างการมีอยู่ของพระเจ้าแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ กลุ่มสัมผัสนิยม(กลุ่มที่ถือว่า สิ่งใดจะมีอยู่จริง ต้อง สัมผัส จับต้องได้) เพราะพวกเขาถือว่าการไม่เห็น หรือไม่สามารถสัมผัสถึงพระเจ้าได้ พระเจ้าจึงไม่มีอยู่จริง.ความคิดเช่นนี้ ถือเป็นตรรกวิบัติอย่างเห็นได้ชัด เพราะมากมายหลายสิ่งที่เราไม่สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งนั้นด้วย สัมผัส 5 แต่เรารู้อย่างเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง
เป็นไปได้ว่า เมื่อถึงจุดนี้ กลุ่มวัตถุนิยมอาจจะอ้างว่า ฝ่ายที่เชื่อพระเจ้า พยายามเปรียบเทียบพระเจ้า กับสิ่งอื่น ที่มนุษย์ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยวัตถุนิยม การหักล้างเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการหักล้างอย่างถูกต้องแต่อย่างใด เพราะ พวกเขายังไม่ได้หักล้าง หลักการที่ว่า “บางสิ่งที่เรารู้ว่ามี เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถสัมผัสด้วยสัมผัสทั้ง 5 ได้ ”
การสรุปว่า ทุกสิ่งที่มีจริง มีเพียงทางวัตถุ ก็ถือเป็นความผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด เพราะ การเชื่อเช่นนี้ เท่ากับ ผู้ที่เชื่อมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด นั่นก็คือตัวของเขาเอง เขาไม่รู้จักตัวเอง เมื่อมนุษย์ไม่รู้จักตัวเอง เขาจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
ดังที่ อมีรุลมุอฺมีนีน ผู้นำแห่งบรรดาผู้ศรัทธา อาลี บิน อบีฏอลิบ (อ) ได้กล่าวไว้ว่า
من عرف نفسه فقد عرف ربّه
ผู้ใดที่รู้จักตัวของเขา ดังนั้น เขาจะรู้จักพระผู้อภิบาลของเขา[12]
ความหมายหนึ่งก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสองมิติ คือ ด้านวัตถุ และจิตวิญญาณ การถือว่า ทุกสรรพสิ่งสรุปอยู่เพียงมิติของวัตถุ จึงเป็นการสรุปที่คับแคบ เพราะเขากลับมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือ ตัวของเขาเอง
ตัวของมนุษย์ ก็ไม่ได้มีแต่เพียงด้านวัตถุ ดังนั้น แม้แต่ตัวของของเขาเอง เขายังมีความเข้าใจที่ผิดพลาด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ ฝ่ายวัตถุนิยมจะปฏิเสธเรื่องที่อยู่เหนือวัตถุทั้งหมด
ข้อกล่าวหาที่ 4 บทบาทของสติปัญญาในศาสนา
มักจะมีการนำเสนอ แนวคิดทางปรัชญาแบบวัตถุนิยม โดยการจงใจนำเสนอว่า ศาสนาไม่อนุญาติให้สติปัญญาเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาทางความรู้ หรือ คำกล่าวอ้างที่ว่าเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องคิด ไม่ต้องใช้สติปัญญา คำกล่าวอ้างเหล่านี้ล้วนแต่เกิดมาจากการไม่รู้จักและไม่ศึกษาศาสนาอย่างแท้จริง ในหัวข้อนี้หลังจากที่เราได้ให้คำตอบข้อคลุมเครือ เรื่อง ความขัดแย้งระหว่าง ศาสนาและสติปัญญาแล้ว เป็นไปได้ว่า ผู้อ่านอาจจะตั้งคำถามว่า สติปัญญามีบทบาทอย่างไรต่อศาสนา หรือ สติปัญญามีบทบาทอย่างไรในศาสนาอิสลาม ?
วิเคราะห์
ในหัวข้อสุดท้ายนี้เราจะทำการสรุปเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความละเอียดและลึกล้ำไว้ให้เหลือเพียงสามประเด็น เพราะหากจะทำการนำเสนอ บทบาทของสติปัญญาในศาสนาแล้ว เป็นไปได้ว่า ต้องใช้เวลาในการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างยาวนาน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุป ไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษา และค้นคว้าต่อไปสำหรับผู้อ่านทุกท่านดังนี้
1. สติปัญญา คือ กุญแจแห่งศาสนา
สำหรับการแยกแยะและพิสูจน์ถึง สัจธรรม หรือ ความจริง ของสิ่งหนึ่ง เราไม่สามารถ นำเอาสิ่งนั้น มาเป็นหลักการ มาตรฐาน หรือ มารตวัดสิ่งนั้นด้วยสิ่งนั้นเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ มาตรวัดจากภายนอก เพื่อทำการพิสูจน์ในสิ่งนั้น และในการพิสูจน์ถึงสัจธรรม หรือความจริงของศาสนาก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องใช้ มาตรวัดจากภายนอกของศาสนา คือ สติปัญญา เพื่อพิสูจน์ถึงความถูกต้องของศาสนา ทั้งในหลักคำสอน ศาสดา และปรัชญาคำสอนต่างๆ ซึ่งสติปัญญาได้รับมอบหมายในการทำหน้าที่นี้
ตามหลักการนี้เอง เมื่อเราพิจารณา วะฮีย์ หรือ วิวรณ์, ศาสนบัญญัติ และคำกล่าวอ้างของศาสดา ด้วยสติปัญญา จะทำให้เราสามารถพิสูจน์ศาสนา และยังสามารถหักล้างแนวคิดอื่นที่กล่าวหาศาสนาได้ในทางตรงข้าม
ดังนั้น สติปัญญา จึงมีบทบาทในการพิสูจน์ความเป็นศาสดา ความจำเป็นต่อการแต่งตั้งศาสดา ,การแยกแยะศาสดาสัจจริงจากศาสดาเท็จ กล่าวโดยรวมแล้ว สติปีญญาคือ กุญแจของศาสนานั่นเอง กุญแจที่จะเปิดประตูสู่โอสถแห่งปัญญา และมนุษย์เองยังสามารถใช้ประโยชน์จากสติปัญญาในการเข้าถึง คำสอน ข้อเรียร้องของศาสดา และแยกแยะสัจธรรมออกจากความเท็จได้อีกด้วย [13]
2. สติปัญญา คือ ตราชั่งของศาสนา
สติปัญญามีบทบาทในศาสนา ในการพิสูจน์ และเป็นกุญแจสู่แหล่งความรู้ของศาสนา และยังเป็น ตราชั่ง และแหล่งอ้างอิง ในการดึงเอาวิทยาการและคำสอนต่างๆของศาสนามาใช้ เช่นเดียวกัน หากทุกๆคำสอนของศาสนาไม่สอดคล้องกับสติปัญญาแล้ว เราจะไม่เห็นตรรกะอันลึกล้ำของศาสนาได้เลย และแท้จริงปัญญา ยังเป็นเครื่องแยกระหว่าง ความถูกต้องและความไม่ถูกต้องจากบันทึกต่างๆของศาสนาอีกด้วยเช่นกัน [14]
3 .สติปัญญา คือ ประทีบแห่งศาสนา
บทบาทอีกด้านหนึ่งของสติปัญญา คือ การสร้างความชัดเจนให้กับคำสอนต่างๆของศาสนาโดยการนำเสนอภาพลักษณ์ของศาสนาในรูปแบบทางวิทยปัญญา หรือ ฮิกมะฮ เพราะ บางหลักฐานทางศาสนา เป็นคำสอนโดยรวม ซึ่งความลึกซึ้งและความลุ่มลึก ต้องอาศัยสิ่งที่จะสร้างความกระจ่าง และสิ่งที่จะให้ความกระจ่างนั้นก็คือ สติปัญญา สิ่งนี้รับหน้าที่ในด้านนี้เช่นกัน ในความจริงแล้ว ปัญญา ยังเป็นเครื่องมือแห่งความรู้ และด้วยข้อพิสูจน์ และหลักฐานทางตรรก จะทำให้เราสามารถค้นพบ ความหมายต่างๆของ คัมภีร์ และซุนนะฮ ได้อย่างมากมายปัญญา จึงเปรียบดั่งประทีบ ที่ส่องแสงให้กับศาสนา และเป็นรัศมีในการสร้างมนุษย์ผู้สมบูรณ์
สรุป : ข้อกล่าวอ้างที่ว่า ศาสนา เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสติปัญญา นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่มีการหยิบยกมา โจมตี ศาสนามาหลายศตวรรษ ซึ่งมีหลายเป้าหมายในการโจมตี เช่น การเปลี่ยนแนวคิดของมนุษย์ให้นิยมในวัตถุ,การทำให้มนุษย์หันมาสนใจวัตถุแทนจิตวิญญาณ,การสร้างสังคมวัตถุนิยม ซึ่งหัวข้อและเนื้อหาที่ใช้ ในการวิจารณ์ คือ ความขัดแย้งระหว่าง คำสอน กับ สติปัญญา,ศาสนา กับ สติปัญญา,พระเจ้า กับ สติปัญญา ซึ่งกล่าวโดยสรุปแล้ว การหักล้างของกลุ่มเหล่านี้ เป็นการหักล้าง โดยการนิยามความหมายของสติปัญญาอย่างคับแคบ หรือ การสรุปทุกสิ่งเพียงวัตถุ หรือ การปฏิเสธความจำเป็นต่อคำสอนที่สอดคล้องกับปัญญา และไม่ยอมรับ คำสอนที่สติปัญญาไปไม่ถึง ซึ่งเมื่อเราทำการวิเคราะห์ในแต่ละประเด็นแล้ว จะพบว่า ข้อกล่าวอ้างต่างล้วนเป็นการนำเสนอที่คับแคบ หรือ ตีความอย่างไม่ถูกต้อง เพราะ หากเราทำการค้นหาคำตอบอย่างแท้จริง จะพบว่า สติปัญญา ทำงานสอดคล้องกับศาสนามาอย่างยาวนาน และยังมีบทบาทในการทำให้มนุษย์เข้าถึงความลึกซึ้งของศาสนา และยังเป็นตราชั่งในการแยกแยะระหว่าง สัจธรรม และความเท็จ
สุดท้ายนี้ ขอจบบทความนี้ด้วย วัจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ)ที่กล่าวว่า “จงมองหาการชี้แนะจากสติปัญญา เพราะสิ่งนี้จะช่วยชี้นำพวกท่าน และจงอย่าได้ ดื้อดึงต่อสติปัญญา เพราะท่านจะเสียใจในภายหลัง” บิฮาร 1-96.
อ้างอิง
[1] ประวัติศาสตร์ศาสนาโลก,อับดุลเราะฮีมสุลัยมานีย อัรเดสตานี หน้า 26 (سیر در ادیان زنده جهان، عبد الرحیم سلیمانی اردستانی، ص26 )
[2] มาจากคำว่า บาราฮิมะฮ คือวรรณะระดับสูงของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธความจำเป็นของศาสดา ชะเรสตานีย์ ได้นำเสนอคำว่า บาราฮิมะฮ กับบุคคลที่เป็น บราฮิม หรือ พราหม ในภาษาไทย
ملل و نحل ج 2ص251 شهرستانی ศาสนา และ นิกาย, ชะเรสตานี เล่ม 2 หน้า 251
[3] ไดเอสม Deism คือ กลุ่มที่มีความเชื่อว่า สติปัญญาของมนุษย์ สามารถรับรู้ถึงพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่จำเป็นต้องมีศาสนา หรือ การดลใจจากพระองค์ คำๆนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาใน ศตวรรษที่ 17 โดยมี นักวิชาการให้การสนับสนุนจำนวนมาก และในยุคใหม่ ก็มีนักวิชาการ อย่าง วอลแตร์ มอนติสโก ฮอบรท์ และเจเฟอรซัน ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เอียน บาวเอร์ จากหนังสือ ศาสนา และวิทยาศาสตร์ หน้า 25
[4] Mahdi Parvizi,Islamic Philosophy p 61 (فلسفه اسلامی طرح درسهای برایی پرویزی، ص 61)
[5] จากหนังสือของ Max Weber ,Economy and Society หรือ เศรษฐกิจ และสังคม ()
[6] ตัวอย่างในซูเราะฮ อาลีอิมรอน 190, บากอเราะฮ 242 ,มุลกฺ 10
[7] มิซานุุลฮิกมะฮ ,มูฮัมมาดีย์ เรยชะฮรีย์ (คล้ายหนังสือสารานุกรมความรู้อิสลาม) คำว่า อักลฺ หมายเลขฮะดิษ 13317,13358,13353,13366,13373,13374
[8] อิบรอฮีม ซุลฏอนีย์ และ อะฮหมัด นารอกีย์,กาลามฟัลซาฟีย์,โดย คัดบทความเรื่อง ((ความชั่ว และอำนาจอันสมบูรณ์))ของ J.L.Makie นักปราชญ์ตะวันตก ศ.20
[9] Theological Instructions, Ayatollah Muhammad Taqi Mesba Yazdi,p 71 (آموزش عقاید،اية الله مصباح یزدی، ص 55) ใช้สอนในมหาวิทยาลัย
[10] Mahdi Parvizi,Islamic Philosophy p 61 (فلسفه اسلامی طرح درسهای برایی پرویزی، ص 61)
[11] เบอรแทรนด์ รัซเซล (Bertrand Russell) จากหนังสือ Why I Am Not a Christian และ Frederick Copleston,A History of Philosophy (برتراند راسل، چرا مسیحی نیستم؟ و نیز :فدرییخ فلسفه، ج 8 ص 520)
[12] (آمدى تميمى، عبدالواحد بن محمد، شرح غررالحكم و دررالكلم، ص 232)
[13] เนื้อหาจาก ชะรีอัต ในแสงสว่างแห่งความรู้ ,อยาตุลลอฮ ญะวาดีย์ ออมูลีย์ นักปราชญ์ระดับสูงในยุคสมัยปัจจุบัน (Ayatullah Javadi Amoli , SHARIAT in the light of cognition (شرعت در آینه معرفت،آیةالله جوادی آملی
[14] จากหนังสือ ตอบคำถามข้อคลุมเครือวิชาเทวิทยา ศาสนาและศาสดา เขียนโดย Mohammad Hassan Ghadrdan Gharamaleki หน้า 47
ขอขอบคุณเว็บไซต์เอบีนิวส์ทูเดย์