ศาสนากับโลก (ตอนที่ ๒ ) การจูงใจให้สนใจในโลก
  • ชื่อ: ศาสนากับโลก (ตอนที่ ๒ ) การจูงใจให้สนใจในโลก
  • นักเขียน: ชะฮีดมุเฏาะฮะรี
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 22:39:5 14-9-1403

 

การตีความที่แพร่หลายมากที่สุด มุสลิมส่วนมากเมื่อถูกถามถึงความเลวร้ายของโลก ก็จะตอบว่า ความรักที่มีต่อโลกเป็นเรื่องเลวทราม และโลกโดยตัวของมันเองแล้วเป็นของดี

 

โองการของพระมหาคัมภีร์กุรอานที่เกี่ยวกับโลกนั้น มีการตีความกันไปหลายอย่าง หนึ่งในทรรศนะเหล่านี้ ก็คือ โลกในตัวมันเองแล้วมิได้มีความเลวร้าย ในเมื่อมันประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ ทางโลก ซึ่งได้แจ้งไว้ในพระมหาคัมภีร์กุรอาน โดยตัวมันเองไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้ายอะไร เพราะมันประกอบไปด้วยสัญลักษณ์ทั้งสิ้นขององค์พระผู้สร้าง ผู้ทรงเชิดชูเราขึ้นสู่ที่สูงพร้อมกับสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย

 

สิ่งที่เลวร้ายและน่าอับอายในทรรศนะนี้ ก็คือ ความหลงใหลและความปรารถนาในสิ่งเหล่านี้ ในทรรศนะนี้ แต่ไม่ใช่ตัวของโลกเองหรอกที่เลวทราม และเรารู้ว่าการตีความเช่นนี้ มีอยู่ในบทกวีและร้อยแก้วจำนวนนับไม่ถ้วน

 

และนี่คือ การตีความที่แพร่หลายมากที่สุด มุสลิมส่วนมากเมื่อถูกถามถึงความเลวร้ายของโลก ก็จะตอบว่า ความรักที่มีต่อโลกเป็นเรื่องเลวทราม และโลกโดยตัวของมันเองแล้วเป็นของดี มิฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้าคงจะไม่สร้างมันขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาถึงการตีความนี้อย่างรอบคอบแล้ว เราก็จะพบว่าทั้งๆ ที่โลกได้รับความนิยม แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีปัญหาเอาเสียเลย และจะเห็นว่ามันไม่เป็นไปตามการตีความอัลกุรอานอย่างแท้จริง

 

ประการแรก เราต้องมองดูก่อนว่า ความติดใจซึ่งมนุษย์มีต่อโลกนั้น เป็นธรรมชาติและเป็นความติดใจตามสัญชาติญาณหรือไม่ – นั่นคือ ความติดใจนั้นถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นหนึ่งในสัญชาติญาณของมนุษย์หรือเปล่า ? หรือว่ามันจะปรากฎขึ้นมาในตัวคนในฐานะเป็นผลของเหตุการณ์เฉพาะตอนหลัง เหมือนอย่างการสร้างและเลียนแบบนิสัยตัวอย่างเช่น พ่อแม่ รักลูกในขณะที่เด็กก็รักพ่อแม่ของเขา ผู้หญิงและผู้ชายต่างก็ถูกดึงดูดจากกันและกันเพราะเป็นเพศตรงข้ามกัน ทุกๆ คนถูกจูงใจด้วยทรัพย์สมบัติและความร่ารวย ความเคารพนับถือ ความมีชื่อเสียงและอื่นๆ ความดึงดูดใจเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ชาติหรือไม่ ? หรือว่าเป็นผลที่เกิดมาโดยบังเอิญของการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ?

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความดึงดูดใจและความรักเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติและเรื่องของสัญชาติญาณ ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรว่า มันจะเลวทรามและชั่วร้าย และจะกลายเป็นสิ่งที่เราจะต้องผลักใสมันออกไปได้อย่างไร ? ความจูงใจเหล่านี้มีมาแต่กำเนิดในจิตใจของมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน ที่เราไม่อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใดส่วนหนึ่งของจักรวาลรอบๆ ตัวเราเป็นสิ่งชั่วหรือเลวทราม หรือว่า การสร้างสรรค์นั้นเป็นไปโดยปราศจากความรอบรู้ (ฮิกมะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า ในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งส่วนใดของมนุษย์จำเป็นจะต้องเลวร้าย หรือการสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้นปราศจากความรอบรู้เช่นเดียวกันเพราะไม่มีเส้นโลหิตเล็กๆ หรือแขนขาหรือแม้แต่เส้นผมของมนุษย์ที่เป็นส่วนเกินหรือไร้ประโยชน์อยู่เลย ดังนั้น มันจึงเป็นพลัง สัญชาติญาณและเป็นส่วนหนึ่งของดวงวิญญาณของมนุษย์

 

ในบรรดาความปรารถนาและความดึงดูดใจทั้งหลายนั้นไม่มีความปรารถนาอันเป็นธรรมชาติและสัญชาติญาณหรือความดึงดูดใจที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากความรอบรู้ ปราศจากวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเลย ความปรารถนาอันเป็นธรรมชาติและสัญชาติญาณทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้า และหากว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ พื้นฐานของชีวิตทั้งหมดก็จะแตกสลายไป

 

ยิ่งกว่านั้นความรักเหล่านี้ได้ถูกกล่าวถึงว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้าหรือฮิกมะฮ์ในพระมหาคัมภีร์กุรอานเอง ตัวอย่างเช่น

 

ในซูเราะฮ์หนึ่งที่กล่าวถึงการสร้างมนุษย์ การนอนหรือสิ่งอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้านั้นเราได้รับการบอกเล่าว่า

 

“และ สัญลักษณ์บางอย่างของพระองค์ คือ การที่พระองค์ทรงบันดาลความรักและเมตตาให้มีขึ้นระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในนั้นย่อมเป็นนานาสัญลักษณ์สำหรับกลุ่มชนที่ตริตรอง ”(๓๐:๒๑)

 

ถ้าหากว่าความรักสามีหรือภรรยาเป็นเรื่องเลวทรามแล้ว มันก็คงไม่ได้รับการบอกกล่าวไว้ในโองการนี้ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า

 

เป็นที่แลเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ความรักใคร่เอ็นดูเหล่านี้ได้ถูกบรรจุไว้ในธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มันเป็นวิถีทางสำหรับกิจการทางโลก เพื่อจะได้มีระเบียบและกระแสทางที่เป็นระบบ หากว่าความรักเหล่านี้ไม่มีอยู่แล้วก็จะไม่มีการสืบต่อของผู้คนมาเป็นรุ่นๆ ชีวิตหรือวัฒนธรรมก็จะไม่ก้าวหน้าไปได้ หรือสัญชาติญาณของมนุษย์และการงานการอุตสาหกรรมหรือการต่อสู้ใด ๆ ก็คงมีอยู่ไม่ได้ กล่าวโดยสังเขป ก็คือมนุษยชาติจะไม่มีอยู่บนหน้าแผ่นดิน

 

เขียนโดย ชะฮีดมุเฏาะฮะรี

แปล จรัญ มะลูลีม