ความสำคัญของการเป็นผู้นำในสังคมมนุษย์ ได้เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขและคุณลักษณะต่างๆ ที่จะต้องมีในตัวของผู้ปกครองและผู้นำ ซึ่งหากคุณลักษณะเหล่านี้ไม่มีอยู่ การทำหน้าที่ผู้ปกครองและผู้นำย่อมจะต้องเบี่ยงเบนออกไปจากหนทางอันเที่ยงตรง และจะนำพาประชาชาติไปสู่เส้นทางที่เลวร้ายที่สุด ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงให้ความสนใจต่อประเด็นที่สำคัญนี้ และสถานะอันละเอียดอ่อนของผู้ปกครองแห่งอิสลาม ซึ่งถือว่าในตัวผู้ปกครองและผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะพิเศษต่างๆ และถือเป็นหน้าที่บังคับเหนือประชาติมุสลิมที่จะต้องให้ความสนใจต่อคุณลักษณะและเงื่อนไขเหล่านี้ในยามที่จะต้องเลือกผู้ปกครองของตนเอง ซึ่งเราจะขอกล่าวถึงบางส่วนจากคุณลักษณะเหล่านั้นโดยสังเขป พร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ อันเป็นความสำคัญ
1. ความมีศรัทธา (อีมาน)
ผู้ปกครองแห่งอิสลามจะต้องมีศรัทธามั่นต่ออิสลาม ต่อหลักคำสอนต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งนี้นอกเหนือจากกรณีที่ว่าแนวทางอิสลามเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว การเป็นผู้นำของผู้ที่ปฏิเสธ (กาฟิร) เหนือสังคมแห่งอิสลามนั้น เท่ากับเป็นการปกครองของผู้ที่ไร้คุณสมบัติที่เหนือกว่า โองการอัลกุรอานที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นหลักฐานบ่งชี้ที่ดีที่สุดในประเด็นนี้ และได้ปฏิเสธทุกประเภทของความเหนือกว่าของผู้ที่ไม่มีศรัทธา (กาฟิร) ที่มีต่อมุสลิม ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า และอัลลอฮฺจะไม่ทรงเปิดหนทางให้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธ (มีอำนาจ) เหนือบรรดาผู้ศรัทธาอย่างแน่นอน [1] จะมีอำนาจครอบงำใดๆ เล่าที่จะเหนือไปกว่าการที่ผู้ปฏิเสธมาทำหน้าที่ปกครองและเป็นผู้นำเหนือบรรดามุสลิม?
2. ประสบการณ์และความสามารถ
ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถและความมีประสิทธิภาพ คือเงื่อนไขสำคัญขั้นพื้นฐานของการเข้ารับตำแหน่งการปกครองและการเป็นผู้นำ ตลอดช่วงเวลาที่บรรดาผู้ไร้ความสามารถและขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางสังคม ได้ทำให้ยุคสมัยของมวลประชาชนกลายเป็นสีดำและมืดมน ทำให้ประจักษ์ถึงความจำเป็นและความสำคัญของเงื่อนไขเหล่านี้ โดยไม่ต้องอาศัยหลักฐานมาเป็นข้อพิสูจน์ใดๆ อีก และโดยธรรมชาติแล้วประเด็นของความเป็นผู้นำและผู้ปกครองนั้น โดยตัวของมันก็สามารถเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขข้อนี้ได้แม้จะไม่มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ใดๆ เลยก็ตาม
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคุณลักษณะข้อนี้ที่จะต้องมีในตัวผู้นำ โดยที่ท่านได้กล่าวว่า “ตำแหน่งผู้นำจะไม่คู่ควร เว้นแต่สำหรับบุคคลที่มีคุณลักษณะสามประการคือ
1. ความเคร่งครัดในศาสนา ซึ่งจะยับยั้งเขาจากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า
2. ความอดทนอดกลั้น ซึ่งจะทำให้เขาควบคุมความโกรธกริ้วของตนเองได้ และ
3. การทำหน้าที่ปกครองที่ดีเหนือบุคคลที่อยู่ในการปกครองของตน กระทั่งว่าการปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้นประหนึ่งดั่งบิดาที่มีความเมตตา”[2]
และจากคำกล่าวของท่านอิมามอะลี (อ.) ทำให้รับรู้ได้ว่า ผู้ปกครองจะต้องมีความคู่ควรและเหมาะสมมากกว่าบุคคลอื่นๆ ในการบริหารกิจการต่างๆ และจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถมากกว่าบุคคลใดในการทำหน้าที่ผู้นำและผู้ปกครอง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “โอ้ประชาชนทั้งหลาย! แท้จริงบุคคลที่มีความคู่ควรที่สุดในหมู่มนุษย์ต่อกิจการ (การปกครอง) นี้ คือผู้ที่มีความยำเกรง (ตักวา) ที่สุดในหมู่พวกเขา และเป็นผู้ที่มีความรอบรู้มากที่สุดต่อพระบัญชาต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นหากผู้ก่อความไม่สงบได้สร้างวิกฤติความวุ่นวายขึ้น เขาจะถูกเรียกร้องให้ยุติและหันกลับมาสู่สัจธรรม แต่หากเขาปฏิเสธย่อมจะต้องถูกประหาร” [3]
โดยสรุปแล้ว เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในตัวผู้ปกครองแห่งอิสลาม คือความสามารถในการบริหารกิจการงานต่างๆ ที่กลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้มอบหมายให้กับเขา ความพร้อมและความสามารถดังกล่าวนี้เองที่จะเป็นสื่อทำให้ผู้ปกครองหรือผู้นำสามารถเยียวยาแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชาติลงได้ และจะทำให้เขาสามารถสมานความแตกแยกของบุคคลเหล่านั้นได้ สามารถชี้นำพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง และทำให้ปวงชนมุสลิมตั้งอยู่ในระดับแนวหน้าของประชาติทั้งมวลในด้านความเจริญรุ่งเรืองและอารยธรรม
3. ความเข้าใจที่ลึกซึ้งทางด้านการเมือง
ในตรรกะของอิสลาม ความรู้และความสามารถในตัวของผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวถือว่ายังไม่เพียงพอ ทว่าจำเป็นจะต้องมีมุมมองที่ลุ่มลึกทางด้านการเมืองด้วย เพื่อจะได้ไม่ถูกครอบงำและปราชัยต่อบุคคลอื่นๆ และจะได้ไม่ถูกเล่ห์กลลวงต่างๆ ในการบริหารกิจการงานของประเทศ เพื่อเขาจะได้สามารถนำพาสังคมแห่งอิสลามไปสู่ความสมบูรณ์ขั้นสูงสุดได้
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) เหนือผู้ปกครองสูงสุดแห่งอิสลามที่จะต้องพัฒนามุมมองทางด้านการเมืองและสังคมของตนเองให้มีความลึกซึ้งและสูงส่งถึงขั้นที่ว่า สามารถจะนำพาเรือแห่งสังคมอิสลามให้ล่องไปในนาวาสู่ชายฝั่งแห่งความปลอดภัยได้ ในกิจการต่างๆ ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมนั้น เขาจะต้องมีความรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์และยุคสมัย
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในฮะดีษ (วจนะ) อันทรงคุณค่าบทหนึ่งของท่านว่า “บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจต่อสภาวะความเป็นไปต่างๆ แห่งยุคสมัยของตนเอง ย่อมจะไม่ถูกจู่โจมด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่คลุมเครือโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว” [4]
คำตอกย้ำและคำสั่งเสียในลักษณะเช่นนี้ ก็เพื่อว่าประชาติอิสลามจะได้ไม่ตกอยู่ในความประมาทอันเป็นผลพวงมาจากความเผอเรอและขาดความรู้เท่าทัน ซึ่งจะมีผลทำให้พวกเขาต้องประสบกับเหตุการณ์และวิกฤติต่างๆ อันน่าขมขื่น และบางครั้งอาจจะทำให้พวกเขากลายเป็นเครื่องมือในการดำเนินเป้าหมายต่างๆ ของบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว
อิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับบุคคลที่ปฏิบัติกิจการงานหนึ่งๆ โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอไว้เช่นนี้ว่า “ผู้ที่ปฏิบัติงานโดยขาดความรู้ความเข้าใจ เปรียบได้ดั่งบุคคลที่เดินทางบนเส้นทางที่ผิดพลาด ความรวดเร็วในการเดินทางมิอาจเพิ่มพูนสิ่งใดแก่เขา นอกเสียจากความห่างไกลจากจุดหมายปลายทางมากยิ่งขึ้น” [5]
การมอบหมายหน้าที่การปกครองและการเป็นผู้นำของประชาชาติ ให้กับบุคคลที่ขาดความรู้และความสามารถในการบริหารประเทศ อีกทั้งขาดความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะปัญหาต่างๆ ทางสังคม ก็เหมือนกับการมอบหมายหน้าที่การบริหารประเทศให้กับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่งว่าจะมีผลต่างๆ อันเลวร้ายติดตามมาอย่างไร? ดังเช่นที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ยุคสมัยหนึ่งจะมาถึงยังมวลมนุษย์ซึ่งจะไม่มีผู้ใดได้ใกล้ชิด (ต่อเหล่าผู้ปกครอง) นอกเสียจากผู้ที่ใช้เล่ห์กลอุบายหลอกลวงด้วยการให้ร้ายผู้อื่น และจะไม่นับว่าเป็นคนยอดเยี่ยมนอกเสียจากคนชั่ว และจะไม่นับว่าเป็นคนอ่อนแอนอกเสียจากบุคคลที่มีความเที่ยงธรรม ในช่วงเวลานั้นการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ยากไร้จะนับว่าเป็นความเสียหายและก่อให้เกิดอันตราย และการเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติถือเป็นบุญคุณ และการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า (อิบาดะฮ์) คือสื่อในการแสวงหาความเหนือกว่าในหมู่ประชาชน”
จนกระทั่งท่านได้กล่าวว่า “ในช่วงเวลาเช่นนั้น ผู้ปกครองจะดำรงอยู่ด้วยกับการให้คำแนะนำของเหล่าสตรี การบัญชาการของบรรดาเด็กๆ และการวางแผนการของพวกขันที” [6]
เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า จุดประสงค์จากคำว่า “การบัญชาการของบรรดาเด็กๆ” นั้นก็คือการบริหารจัดการกิจการต่างๆ ของประเทศ จะถูกมอบหมายให้กับบรรดาบุคคลที่อ่อนประสบการณ์ และจุดประสงค์จากคำว่า “เด็กๆ” ในฮะดีษ (วจนะ) มิใช่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จากกรณีแวดล้อมของคำพูดที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวถึงช่วงเวลาหนึ่งซึ่งในช่วงเวลานั้นมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกต้องทางด้านการเมืองและสังคมจะถูกทำลายไป การบริหารกิจการต่างๆ ของประเทศแทนที่จะมอบหมายให้แก่บรรดาผู้ที่มีความรู้และมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง กลับถูกมอบหมายให้กับบรรดาผู้ที่ไร้ความสามารถและไม่คู่ควรต่อการบริหารจัดการมัน เหตุผลที่ศาสนาอิสลามได้เน้นย้ำถึงเงื่อนไขข้อนี้เป็นอย่างมาก ก็เพื่อที่จะปกป้องประชาชาติอิสลามให้พ้นจากอันตรายและความทุกข์ยากต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลของความอ่อนแอและความไร้ความสามารถของบรรดาผู้ปกครองในกิจการต่างๆ ทางการเมือง หรือป้องกันมิให้ให้พวกเขาเผอเรอจากสถานการณ์ต่างๆ แห่งยุคสมัย หรือการที่พวกเขาขาดความรู้และความเข้าใจที่เพียงพอต่อสภาพความเป็นไปของยุคสมัย
ด้วยเหตุนี้เองที่บางครั้งประชาชาติอิสลามต้องสูญเสียเอกราชและเสรีภาพของตนเองไป และตกอยู่ภายใต้การล่าอาณานิคมของชาวต่างชาติ และกลายเป็นเครื่องมือของบรรดานักล่าอาณานิคม และนี่คือโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ที่ประชาชาติทั้งหลายจะต้องประสบในประวัติศาสตร์ของตนเอง
4. ความยุติธรรม
คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดซึ่งจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องมี (หลังจากพัฒนาการทางด้านการเมือง) นั่นก็คือ คุณลักษณะของความยุติธรรม ความซื่อตรง และความสะอาดบริสุทธิ์จากความชั่ว ผู้ปกครองหากไม่มีความยุติธรรมแล้ว จะสามารถรับผิดชอบต่อชะตากรรมต่างๆ ของประชาชาติได้อย่างไร?! ทั้งนี้เนื่องจากความยุติธรรมคือคุณลักษณะทางด้านจิตใจประการหนึ่ง ที่จะช่วยยับยั้งมนุษย์จากการประพฤติชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ ตัวอย่างเช่น การพูดโกหก การใช้เล่ห์เพทุบาย การหลอกลวงและการประสงค์ร้าย
และหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งชี้ถึงความจำเป็นของคุณลักษณะในข้อนี้ในตัวของผู้ปกครอง ก็คือโองการอัลกุรอานโองการหนึ่ง ที่เรียกร้องประชาชนให้สนใจและพิจารณาถึงคุณลักษณะข้อนี้ในตัวของผู้ปกครองที่เราต้องการจะเลือกเขา โดยได้กล่าวว่า และพวกเจ้าจงอย่ามีจิตโน้มเอียงไปยังบรรดาผู้อธรรม มิเช่นนั้นไฟนรกจะมาสัมผัสพวกเจ้า และไม่มีผู้คุ้มครองคนใดอีกแล้วสำหรับพวกเจ้านอกเหนือไปจากอัลลอฮฺ แล้วหลังจากนั้นพวกเจ้าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ (แต่ประการใด) เลย [7]
การมีจิตโน้มเอียงไปยังผู้อธรรมประการใดหรือ! ที่จะเลวร้ายยิ่งไปกว่าการมอบอำนาจให้คนชั่วเป็นผู้ปกครอง การยอมรับการเป็นผู้นำของเขาและการมอบชะตากรรมต่างๆ ของประชาชนให้อยู่ในมือของเขา พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า และเจ้าจงอย่าเชื่อฟังบุคคลที่เราได้ทำให้หัวใจของเขาหลงลืมจากการรำลึกถึงเรา และเขาได้ปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่ของตน และกิจการงานของเขาเป็นสิ่งละเมิดโดยแท้[8]
ในอีกโองการหนึ่ง ถือว่าการเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาผู้ปกครองที่ชั่วร้ายและแปดเปื้อน จะเป็นเหตุทำให้เราหลงทาง โดยที่โองการอัลกุรอานได้อ้างคำพูดของบรรดาผู้หลงผิดที่ถูกทำให้หลงออกจากทางนำอันถูกต้องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามบรรดาผู้ปกครองที่ชั่วร้ายไว้เช่นนี้ว่า และพวกเขาได้กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา! พวกเราได้ปฏิบัติตามบรรดาหัวหน้าของเราและบรรดาผู้อาวุโสของเรา แต่แล้วพวกเขาได้ทำให้พวกเราหลงออกจากทาง (อันเที่ยงตรง) [9]
หากท่านทั้งหลายได้พิจารณาใคร่ครวญในโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการเชื่อฟังปฏิบัติตาม (ฏออะฮ์) ท่านทั้งหลายก็จะพบว่าในโองการเหล่านั้นได้ห้ามการเชื่อฟังปฏิบัติตามคนชั่วและผู้ก่อการละเมิดไว้อย่างชัดแจ้ง เพื่อเป็นตัวอย่าง ท่านทั้งหลายสามารถพิจารณาดูได้จากซูเราะฮ์อัลอินซาน โองการที่ 24
ในคำอธิบายถึงเงื่อนไขต่างๆ ของผู้นำ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ถือว่าความยำเกรงต่อพระผู้เจ้าและความเคร่งครัดต่อศาสนาคือเงื่อนไขที่เป็นหลักสำคัญของมัน โดยที่ท่านกล่าวว่า “ความเคร่งครัดต่อศาสนาจะยับยั้งเขา (ผู้นำ) จากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า” [10]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับคุณลักษณะด้านลบต่างๆ ของผู้นำไว้เช่นนี้ว่า “พวกท่านทั้งหลายก็รู้ดีอยู่แล้วว่า บุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองเหนือบรรดาประชาชนผู้บริสุทธิ์ เลือดเนื้อและชีวิต ทรัพย์สินและบทบัญญัติต่างๆ รวมทั้งการเป็นผู้นำปวงชนมุสลิม ไม่สมควรที่เขาจะมีคุณลักษณะเหล่านี้คือ
1.ไม่สมควรเป็นผู้ที่ตระหนี่ถี่เหนียว เพราะจะทำให้เขาเกิดความละโมบในทรัพย์สินของประชาชน
2.จะต้องไม่เป็นผู้ที่โง่เขลา เพราะจะทำให้ประชาชนหลงทาง อันเกิดจากความโง่เขลาของตน
3.จะต้องไม่เป็นผู้ที่หยาบกระด้าง เพราะจะทำให้เขาทำลายความสัมพันธ์ต่อประชาชน ด้วยกับความหยาบกระด้างของตน
4.จะต้องไม่เป็นผู้ไร้ความยุติธรรมในการแบ่งสรรทรัพย์สิน อันจะทำให้เขาเลือกที่จะให้ความสำคัญต่อคนกลุ่มหนึ่งโดยละทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่ง
5.จะต้องไม่เป็นผู้รับสินบนในการตัดสินความ เพราะจะทำให้เขาทำลายสิทธิต่างๆ ของประชาชน และจะยับยั้งตนจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า
6.จะต้องไม่เป็นผู้ละทิ้งซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อันจะทำให้ประชาชาติต้องพบกับความวิบัติ” [11]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า “ผู้ใดก็ตามที่ดำรงตนเป็นผู้นำของประชาชน ดังนั้นเขาจะต้องเริ่มต้นด้วยการสอนตัวเองก่อนที่จะสอนบุคคลอื่น และจงอบรมขัดเกลาด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างก่อนการอบรมขัดเกลาด้วยวาจา และผู้สั่งสอนและอบรมขัดเกลาตัวเองนั้นคู่ควรต่อการยกย่องให้เกียรติมากกว่าผู้ที่สั่งสอนและอบรมขัดเกลาเพื่อนมนุษย์” [12]
และในอีกคำพูดหนึ่งของท่านที่กล่าวว่า “การตัดสินความ การลงโทษ และการดำรงนมาซวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) จะไม่เป็นที่เหมาะสม เว้นแต่โดยอิมาม (ผู้นำ) ที่เที่ยงธรรม” [13]
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “การปกครองของผู้ปกครองที่มีความยุติธรรมเพียงวันเดียว ย่อมดีกว่าและให้คุณประโยชน์มากกว่าการตกของฝนเป็นเวลาถึงสี่สิบวัน และการลงโทษผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินไปในหน้าแผ่นดิน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามกว่าการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งปี” [14]
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เตือนสำทับอย่างเข้มงวดต่อบรรดาผู้ปกครอง ผู้นำ และบรรดาผู้บังคับบัญชาทั้งมวล โดยกล่าวว่า “ผู้ปกครองคนใดก็ตามที่ทำหน้าที่ปกครองภายหลังจากฉัน ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) เขาจะถูกนำตัวมายืนเคียงข้างสะพาน (ซิรอฏ) และบรรดาเทวทูต (มะลาอิกะฮ์) จะเปิดบันทึกแห่งการงานของเขาออก ดังนั้นหากเขาเป็นผู้มีความยุติธรรม พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เขาปลอดภัยเนื่องจากความยุติธรรมของเขา แต่หากเขาเป็นผู้อธรรม สะพาน (ซิรอฏ) จะบีบเขาจนกระทั่งทำให้ข้อกระดูกต่างๆ ของเขาแยกออกจากกัน และหลังจากนั้นพวกเขาจะพัดตกลงสู่ไฟนรก”[15]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความยุติธรรมของผู้ปกครอง ย่อมดีกว่าความอุดมสมบูรณ์ของยุคสมัย” [16]
ในจดหมายที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขียนถึงชาวกูฟะฮ์ ใจความตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออายุขัยของฉันว่า ไม่มีผู้นำ (ที่คู่ควรเหมาะสม) เว้นแต่บุคคลที่ปกครองและตัดสินโดยใช้คัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม และเป็นผู้ที่ยึดมั่นต่อศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า...”
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า “แท้จริงคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) คือบุคคลที่จะต้องดำเนินตามคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าและแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของศาสดาของพระองค์” [17]
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังหากมีการพิพาทหรือการเอาชนะกันในเรื่องของสิทธิและสิ่งที่พึงได้รับเกิดขึ้นในระหว่างพวกเจ้า ก็จงอย่ามอบอำนาจการตัดสินชี้ขาดให้กับผู้ใดจากคนชั่วเหล่านั้น”[18]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำของพวกท่าน แท้จริงผู้ที่อยู่ใต้การปกครองที่เป็นคนดีจะได้รับความปลอดภัยจากผู้นำที่มีความยุติธรรม และพึงรู้ไว้เถิดว่า ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของคนชั่วร้าย ก็จะพบกับความหายนะจากการปกครองที่ชั่วร้ายนั้น”[19]
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า “การเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดาผู้ปกครองที่มีความเที่ยงธรรม คือเกียรติยศที่มีความสมบูรณ์สูงสุด”[20]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เขียนจดหมายถึง “มุซกอละฮ์ บุตรฮุบัยเราะฮ์ ชัยบานี” ผู้เป็นตัวแทนของท่าน โดยมีใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า “แท้จริงการบิดพลิ้วที่ใหญ่หลวงที่สุด คือการบิดพลิ้วต่อประชาชาติ และการหลอกลวงที่ร้ายแรงที่สุด คือการหลอกลวงต่อบรรดาผู้นำ” [21]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวสุนทรพจน์กับมุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งท่านอุสมานก็ร่วมอยู่ในที่แห่งนั้นด้วย หลังจากนั้นประชาชนได้ร้องทุกข์กับท่านอิมาม (อ.) เกี่ยวกับตัวอุสมาน และขอให้ท่านว่ากล่าวตักเตือนอุส มาน ซึ่งในเนื้อหาตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า
“ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า ปวงบ่าวของอัลลอฮฺผู้ที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือผู้นำที่มีความยุติธรรม ผู้ซึ่งได้รับทางนำ อีกทั้งเป็นผู้นำทางแก่ผู้อื่น เป็นผู้ธำรงไว้ซึ่งแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) อันชัดแจ้ง และเป็นผู้ทำลายล้างสิ่งอุตริที่ไม่เป็นที่รู้จัก
และแท้จริงบรรดาซุนนะฮ์ (แบบฉบับของศาสดา) เป็นสิ่งที่ชัดแจ้งยิ่งนัก อีกทั้งมีสัญลักษณ์บ่งชี้ และแท้จริงสิ่งอุตริก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนและมีเครื่องบ่งชี้ต่างๆ และแท้จริงมนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือผู้นำที่อธรรมซึ่งตัวเขาเองเป็นผู้หลงทางและทำให้ผู้อื่นหลงทาง เขาทำให้แบบฉบับและกฎเกณฑ์แห่งพระผู้เป็นเจ้าถูกทำลายลง และเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่กับสิ่งอุตริที่เคยถูกละทิ้งไปแล้ว และแท้จริงฉันได้ยินท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า ผู้นำที่อธรรมจะถูกนำตัวมาในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) โดยที่ไม่มีผู้ช่วยเหลือและผู้ให้การแก้ตัวแทนใดๆ อยู่ร่วมกับเขาเลย เขาจะถูกโยนลงสู่ไฟนรก เขาจะแหวกว่ายวนเวียนอยู่ในนรก เสมือนดั่งการหมุนของโม่หิน ต่อจากนั้นเขาจะถูกจองจำอยู่ในก้นบึ้งของมัน”[22]
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังตนจากการทำหน้าที่ผู้ปกครอง เพราะแท้จริงหน้าที่ในการปกครองเป็นของผู้นำที่มีความรอบรู้ในเรื่องของการตัดสิน และเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมในหมู่ประชาชาติมุสลิมเพียงเท่านั้น เหมือนดั่งศาสดาและตัวแทนของศาสดา”[23]
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “หากมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นในระหว่างพวกท่าน ดังนั้นจงอย่ามอบการตัดสินชี้ขาดให้กับคนชั่วและผู้อธรรม หากมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งจากพวกท่านที่มีความรู้ในส่วนหนึ่งจากคำตัดสินชี้ขาดต่างๆ ของเรา ก็จงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้ตัดสินในระหว่างพวกท่าน ฉันได้แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดสำหรับพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงไปหาเขาในกรณีที่เกิดข้อพิพาทต่างๆ”[24]
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “บุคคลที่เป็นที่รักยิ่งที่สุดและเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุดในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) คือผู้นำที่มีความยุติธรรม ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่ถูกชิงชังและเป็นผู้ที่ห่างไกลจากพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด คือผู้นำที่อธรรม”[25]
บางส่วนจากคำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านี้ แม้จะกล่าวถึงผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความก็ตาม แต่เนื่องจากตำแหน่งความเป็นผู้นำนั้นสูงส่งกว่าตำแหน่งการตัดสินคดีความ ดังนั้นเงื่อนไขข้อนี้ย่อมนับได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา ในขณะที่อิมาม (ผู้ทำหน้าที่นำ) ประชาชนในขณะนมาซ (ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำเพียงไม่กี่นาทีในการนมาซ) ยังจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมและมีความเที่ยงธรรม ดังนั้นผู้ปกครองปวงชนมุสลิมที่รับผิดชอบในการปกครองกิจการงานต่างๆ ของพวกเขาในทุกๆ ด้าน ย่อมมีความจำเป็นยิ่งกว่าที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม และเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์จากความชั่ว
5. ความเป็นบุรุษเพศ
แม้ว่าอิสลามจะกำหนดเงื่อนไขในตัวผู้ปกครองและผู้พิพากษาคดีความว่าจะต้องเป็นเพศชาย แต่ก็มิได้หมายความว่าต้องการที่จะลดสถานภาพของสตรีหรือเป็นการดูถูกเหยียบหยามสตรี แต่ทว่าการกระทำดังกล่าวนี้ก็เนื่องมาจากเป็นการพิจารณาถึงเงื่อนไขต่างๆ ทางธรรมชาติและบรรดาคุณลักษณะเฉพาะทางด้านการสร้างของสตรี หลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของ “การแบ่งงาน” เป็นตัวกำหนดว่า ทุกๆ ภารกิจการงานจำเป็นจะต้องถูกมอบหมายให้กับบุคคลที่คู่ควรและมีความเหมาะสมต่องานนั้นๆ จากกรณีที่ว่าสตรีคือสิ่งดำรงอยู่ที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหว ด้วยเหตุนี้เองภาระหน้าที่ต่างๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความหนักแน่นและความแข็งกร้าวจึงถูกมอบให้กับบุรุษ และอำนาจการปกครองและการเป็นผู้นำก็เป็นส่วนหนึ่งจากภารกิจหน้าที่เหล่านี้
ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น สตรีคือมนุษย์ที่มีความอ่อนโยนและบอบบางซึ่งถูกเลี้ยงดูมาในท่ามกลางเครื่องประดับและความเฉิดฉาย ในการโต้เถียงและการสนทนานั้นจะขาดตรรกและเหตุผลที่แข็งแรงและชัดเจน ดังเช่นที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า และผู้ที่ถูกเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางเครื่องประดับ ในสภาพที่ตัวเขาเมื่ออยู่ในการโต้เถียงก็ไม่สามารถให้เหตุผลที่ชัดเจนได้นั้น (พวกเจ้าจะตั้งเขาให้เป็นบุตรีของพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ? [26]
โองการอัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในตรรกและคำกล่าวของบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ที่ถือเอาว่าบรรดาเด็กผู้หญิงคือบุตรีของพระผู้เป็นเจ้า และถือเอาบรรดาเด็กผู้ชายเป็นบุตรของตนเอง
ท่านมัรฮูม อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ได้เขียนไว้ในหนังสือตัฟซีร “อัลมีซาน” ภายใต้โองการข้างต้นว่า “บรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชรีกีน) ได้ทึกทักเอาบรรดาเด็กผู้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูเติบโตขึ้นมาในท่ามกลางเครื่องประดับ และในการโต้เถียงก็ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่สามารถนำเสนอข้อโต้แย้งที่ดีได้ ว่าเป็นบุตรีของพระผู้เป็นเจ้า
ทำไมคัมภีร์อัลกุรอานในที่นี้จึงกล่าวถึงคุณลักษณะสองประการนี้ (คือความรักและความผูกพันต่อเครื่องประดับ และความอ่อนแอในการนำเสนอเหตุผลข้อพิสูจน์) เป็นเพราะเหตุผลที่ว่า โดยธรรมชาติของสตรีในด้านของอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวและมีความเมตตาสงสารนั้นเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งมากกว่าบุรุษ แต่ในทางกลับกัน ในด้านของความคิดอ่านและการใช้เหตุผลเมื่อเปรียบเทียบกับบุรุษแล้วจะเป็นผู้ที่มีความอ่อนแอกว่า และเหตุผลที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ ความรักความผูกพันที่รุนแรงของสตรีที่มีต่อเครื่องประดับและสิ่งสวยงาม และความอ่อนโยนของเธอในการอธิบายเหตุผลและนำเสนอข้อพิสูจน์ต่างๆ ซึ่งจะต้องวางพื้นฐานอยู่บนพลังความสามารถของการใช้เหตุใช้ผล” [27]
ตัวบทหลักฐานต่างๆ ของอิสลาม อย่างเช่นซุนนะฮ์ (แบบฉบับของท่านศาสดา) วิถีปฏิบัติของมุสลิม (ซีเราะฮ์) และทัศนะที่เห็นพร้องตรงกันของบรรดาผู้รู้ (อิจญ์มาอ์) ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าสตรีนั้นจะต้องไม่รับผิดชอบตำแหน่งผู้พิพากษาและตัดสินคดีความ โดยที่ตัวเราเองก็รู้ดีว่าตำแหน่งการตัดสินคดีความนั้นเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ของรัฐ และสิ่งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกและอารมณ์ของสตรีซึ่งโดยปกติแล้วบรรดาผู้พิพากษาคดีจะต้องเผชิญกับมัน เธอจะไม่สามารถรักษาความหนักแน่นและความมั่นคงของตนเองไว้ได้ และด้วยผลแห่งอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวและความเมตตาสงสาร อาจจะทำให้เธอเบี่ยงเบนออกจากการธำรงไว้ซึ่งสิทธิของฝ่ายที่ถูกต้องได้ และด้วยเหตุผลนี้เอง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงได้กล่าวกับท่านอะลี (อ.) ว่า “สำหรับสตรีนั้นไม่ใช่สิ่งถูกต้องที่นางจะรับผิดชอบหน้าที่การพิพากษาและการตัดสินคดีความ” [28]
ในคำสั่งเสียของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ที่มีต่อท่านอิมามฮะซัน (อ.) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็คือการกำชับสั่งเสียต่อมวลมุสลิมทุกคนนั่นเอง โดยท่านได้เขียนไว้เช่นนี้ว่า “และเจ้าจงอย่ามอบอำนาจให้สตรีกระทำภารกิจที่เกินความสามารถของตัวนาง เพราะแท้จริงสตรีเปรียบเสมือนดอกไม้ และนางมิใช่ผู้บริหารและตัดสินใจในกิจการต่างๆ” [29]
เป็นที่ชัดเจนว่าการตัดสินคดีความนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากภารกิจต่างๆ ที่สตรีไม่มีความสามารถที่จะปฏิบัติมันได้ เนื่องจากความเป็นผู้ที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวและมีความเมตตาสงสารสูง ในประวัติศาสตร์การดำเนินชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็ไม่เคยพบเห็นว่าท่านได้มอบตำแหน่งผู้พิพากษาให้กับสตรีคนใด ทั้งๆ ที่ก็มีเหล่าสตรีที่มีความประเสริฐและมีความรอบรู้จำนวนหนึ่งอยู่ในท่ามกลางมวลมุสลิม หรือแม้แต่ในช่วงสมัยการปกครองของบะนีอุมัยยะฮ์และบะนีอับบาส ซึ่งรวมแล้วเป็นระยะเวลามากกว่าห้าร้อยปีที่พวกเขาปกครองเหนือปวงชนมุสลิม ก็ไม่เคยพบเห็นว่าได้มีการมอบตำแหน่งผู้พิพากษาให้กับสตรีคนใดไว้เป็นตัวอย่าง ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นไม่เคยขัดข้องที่จะมอบตำแหน่งผู้ปกครองและผู้พิพากษาให้แม้แต่ข้ารับใช้ของตนเอง และในทัศนะของบรรดานักวิชาการ (อุละมาอ์) ของอิสลามก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนยิ่งเกินกว่าที่จะปกปิดผู้ใดได้ บรรดานักวิชาการชาวชีอะฮ์ต่างมีความเห็นพร้องต้องกันว่า สตรีไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้พิพากษาคดีได้ ถึงแม้จะมีคุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม และบรรดานักวิชาการ (ฟุกอฮาอ์) ชาวซุนนี่ก็เช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งจากพวกเขา คือท่านอิมามชาฟิอี ก็มีความเชื่อตรงกับชาวชีอะฮ์ในประเด็นเหล่านี้ [30]
อิบนุกุดามะฮ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัลมุฆนี” ว่า “ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีที่จะเป็นผู้นำ (อิมาม) ของประชาชาติมุสลิม หรือแม้แต่การเป็นผู้ปกครองเมืองหนึ่งเมืองใด และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่เคยแม้กระทั้งว่าไม่มีคอลีฟะฮ์และผู้นำคนใดภายหลังจากท่านที่ท่านจะมอบตำแหน่งการตัดสินคดีให้กับสตรี หรือแต่งตั้งนางให้เป็นผู้ปกครองเมืองหนึ่งๆ และแน่นอนยิ่งหากสิ่งดังกล่าวนี้เป็นที่อนุญาตแล้ว ตลอดระยะเวลาในหน้าประวัติศาสตร์ก็คงจะไม่ถูกละทิ้ง” [31]
ท่านเชคฏูซี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลคิลาฟ” ว่า “ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีที่จะทำการตัดสินชี้ขาดกรณีพิพาท” อิมามชาฟิอี ก็มีทัศนะดังกล่าวนี้เช่นกัน ส่วนอะบูฮะนีฟะฮ์ กล่าวว่า “กรณีใดก็ตามที่การเป็นพยานของสตรีเป็นสิ่งที่อนุญาต การตัดสินคดีความของนางก็ย่อมเป็นที่อนุญาตเช่นเดียวกัน และการเป็นพยานของนางถือว่าถูกต้องในทุกเรื่องของข้อบัญญัติต่างๆ ทางศาสนา ยกเว้นแต่ในเรื่องของการลงโทษ (ฮุดูด) และการตอบแทนที่เหมือนกันในระหว่างบุรุษและสตรี ดังนั้นในกรณีใดก็ตามที่การตัดสินคดีเป็นที่อนุญาตสำหรับบุรุษ ก็ย่อมเป็นที่อนุญาตสำหรับสตรีด้วย”[32]
ต่อจากนั้นท่านเชคฏูซี ได้อ้างหลักฐานพิสูจน์คำกล่าวอ้างของตนเองโดยกล่าวว่า “การอนุญาตการตัดสินคดีความสำหรับสตรีนั้น จะต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ ทั้งนี้เนื่องจากการตัดสินคดีความนั้นเป็นข้อบัญญัติทางศาสนา จะเป็นที่อนุญาตแก่บุคคลใดก็จะต้องมีหลักฐานข้อพิสูจน์ทางศาสนา มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า กลุ่มชนที่สตรีทำหน้าที่ปกครองพวกเขานั้น จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” [33]
เมื่อการรับหน้าที่ตำแหน่งการตัดสินคดีความเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสตรี ทั้งๆ ที่การตัดสินคดีความนั้นเป็นเพียงหน่วยย่อยจากการปกครองและการเป็นผู้นำ ดังนั้นการเป็นผู้นำระดับสูงของสตรีที่มีเหนือสังคมแห่งอิสลามย่อมไม่เป็นที่อนุญาตมากกว่า
มีตัวบทฮะดีษ (วจนะ) จำนวนมากที่ถูกรายงานไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “กลุ่มชนที่สตรีทำหน้าที่ปกครองพวกเขานั้น จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” คำรายงานบทนี้ท่านติรมีซีได้อ้างรายงานไว้ในลักษณะนี้ว่า “กลุ่มชนที่สตรีทำการปกครองกิจการงานของพวกเขานั้น จะไม่ประสบความสำเร็จตลอดไป” [34]
เช่นเดียวกันนี้ อิบนุฮะซัม ได้อ้างคำรายงานไว้ในอีกลักษณะหนึ่งว่า “กลุ่มชนที่มอบอำนาจการปกครองของพวกเขาให้แก่สตรี จะไม่ประสบความสำเร็จ” [35]
อิบนุอะซีร ได้อ้างอิงคำรายงานไว้ในหนังสือ “อันนิฮายะฮ์” ว่า “กลุ่มชนที่ผู้รับผิดชอบกิจการงานของพวกเขาคือสตรี ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ”[36] ในหนังสือ “อัลมุสตะนัด” ได้มีปรากฏเช่นนี้ว่า “กลุ่มชนที่สตรีทำหน้าที่ปกครองพวกเขานั้นย่อมไม่พบกับความดีงาม”[37] และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง อะบูฮุร็อยเราะฮ์ ได้อ้างคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งกล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่บรรดาผู้ปกครองของพวกท่านเป็นคนที่ชั่วร้ายที่สุดจากพวกท่าน และบรรดาผู้มั่งมีของพวกท่านเป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวที่สุดจากพวกท่าน และการบริหารกิจการต่างๆ (ทางสังคม) ของพวกท่านตกอยู่ในมือของบรรดาสตรีของพวกท่าน ดังนั้น (ในช่วงเวลาเช่นนี้) ความตายสำหรับพวกท่านย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามเสียยิ่งกว่าการมีชีวิตอยู่บนหน้าแผ่นดิน”[38]
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้ห้ามสตรีจากสองตำแหน่ง (คือการตัดสินความและการปกครอง) ไว้ในคำรายงานบทหนึ่งโดยกล่าวว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของสตรีที่จะทำการอะซานและอิกอมะฮ์” จนถึงคำกล่าวของท่านที่ว่า “ไม่ใช่สิ่งถูกต้องที่สตรีจะรับหน้าที่ตัดสินคดีความและการเป็นผู้นำ” [39]
เกี่ยวกับเรื่องนี้นอกเหนือไปจากแนวทางปฏิบัติในชีวิตของปวงชนมุสลิมแล้ว มีคำรายงานและฮะดีษจำนวนมากได้ปรากฏให้เห็น และทำนองเดียวกันนี้ หัวใจสำคัญของบทบัญญัติแห่งอิสลามนั้นมีเป้าหมายและพยายามตลอดเวลาที่จะพิทักษ์รักษาเกียรติยศและสถานภาพของสตรี ด้วยกับการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งความยำเกรง (ตักวา) ในพระผู้เป็นเจ้า ที่จะช่วยธำรงรักษาจริยธรรมทางสังคมให้คงอยู่อย่างดีงามในสังคมได้ ประจักษ์พยานของกรณีที่ว่า สตรีจะต้องถูกพิทักษ์ไว้จากการที่จะเข้าร่วมในเวทีทางการเมืองใน
ระดับสูง ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของบรรดาสตรีในกิจการต่างๆ ทางด้านการเมืองนั้น จะก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ ติดตามมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชัดเจนสำหรับทุกคน
ประเด็นสำคัญสองประการที่สมควรกล่าวถึงในส่วนท้ายนี้ก็คือ
1. การที่อิสลามไม่อนุญาตให้สตรีทำหน้าที่ตัดสินคดีความและการปกครอง มิใช่ว่าต้องการที่จะลดฐานะของสตรีหรือดูถูกเหยียดหยามเธอ หรือจำกัดสิทธิต่างๆ ของเธอ แต่ทว่าสิ่งที่ได้ถูกนำเสนอจากทัศนะของอิสลามนั่นก็คือ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของบุรุษและสตรีแล้วมีความไม่เหมือนกันในหลายๆ ด้าน และเหตุผลดังกล่าวนี้จึงเป็นตัวกำหนดให้สิทธิ ภาระหน้าที่และการลงโทษต่างๆ จำนวนมากจึงมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน
และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ของการแบ่งงานที่ว่า แต่ละภารกิจการงานนั้นจะต้องถูกมอบหมายให้กับบุคคลที่มีความคู่ควรและเหมาะสม เนื่องจากสตรีเป็นสิ่งดำรงอยู่ที่มีอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหว มีจิตใจเมตตาสงสาร และตกอยู่ภายใต้ผลกระทบต่างๆ ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกที่ไวกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ภารกิจการงานต่างๆ ที่ต้องอาศัยการใช้เหตุผลและความมั่นคงหนักแน่นมากกว่าจึงไม่ถูกมอบให้แก่สตรี การตัดสินคดีความและการปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งจากภารกิจการงานเหล่านี้ ที่อิสลามได้ยกเว้นสตรีจากการแบกรับภาระหน้าที่รับผิดชอบอันหนักอึ้งลักษณะนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเธอไม่มีพลังความสามารถที่จะแบกรับมัน และในทางทดแทน ภารกิจการงานต่างๆ ที่อิสลามได้มอบหมายให้กับเธอซึ่งมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขและคุณลักษณะเฉพาะทางด้านการสร้างของเธอ และเธอก็มีความสามารถที่จะปฏิบัติภารกิจหน้าที่เหล่านี้ได้ดีกว่า ตัวอย่างเช่น การอบรมเลี้ยงดูบุตร การอบรมสั่งสอนลูกๆ ให้รู้ถึงภาระหน้าที่ต่างๆ ทางสังคมของตน
และทำนองเดียวกันนี้ สตรีสามารถที่จะรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมและศิลปกรรมบางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น รับผิดชอบกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการอบรมขัดเกลา การศึกษา การแพทย์ การเย็บปักถักร้อย และศิลปกรรมอื่นๆ
ท่านมัรฮูม อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ได้เขียนไว้ในหนังสือตัฟซีร “อัลมีซาน” ว่า “ส่วนที่นอกเหนือไปจากการปกครองและการเป็นผู้นำ หน้าที่รับผิดชอบต่างๆ เช่น การศึกษา การอบรมขัดเกลา การค้าขาย การแพทย์ การพยาบาลและอื่นๆ ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของอารมณ์ความรู้สึกและความเมตตาสงสารในเรื่องเหล่านี้ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ไม่เพียงแต่แบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่านั้นที่มิได้ห้ามสตรีจากภารกิจการงานเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม แนวทางปฏิบัติ (ซีเราะฮ์) ของท่านศาสดาเองยังได้ให้การยอมรับส่วนมากของภารกิจการงานเหล่านี้ด้วย และในกรณีที่ว่าสตรีสามารถมีส่วนร่วมในภารกิจการงานจำพวกนี้ได้นั้น คัมภีร์อัลกุรอานเองก็ได้บ่งชี้ให้เห็นไว้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งดังกล่าวคือเสรีภาพทางความต้องการ และเป็นการกระทำในกิจการงานต่างๆ ในการดำเนินชีวิตที่ถูกมอบหมายให้กับมนุษย์” [40]
2. อย่างไรก็ดีเราไม่ปฏิเสธว่า ในท่ามกลางสังคมของบรรดาสตรีนั้นมีบุคคลจำนวนหนึ่ง (ซึ่งนับจำนวนได้) ที่มีพลังความสามารถทางด้านความคิดและการใช้เหตุผลข้อพิสูจน์ที่เข้มแข็ง อีกทั้งมีคุณลักษณะพิเศษที่ดีเยี่ยมกว่าคนอื่น แต่สิ่งนี้ก็มิอาจกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้บรรดาสตรีได้รับคุณลักษณะพิเศษเช่นนี้ด้วย และนั่นก็เป็นที่ชัดเจนว่า ในการกำหนดบทบัญญัตินั้นจะต้องยึดถือเอาบุคคลจำนวนมากเป็นบรรทัดฐาน มิใช่บุคคลจำนวนเพียงน้อยนิด
แหล่งอ้างอิง
[1] ซูเราะฮ์อันนิซาอ์, โองการที่ 141.
[2] อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 407, ฮะดีษที่ 8.
[3] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คำเทศนาที่ 172.
[4] อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 27 ; ตุฮะฟุลอุกูล, หน้าที่ 356.
[5] อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 43.
[6] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมาตุลกิซอร, เลขที่ 102.
[7] ซูเราะฮ์ฮูด, โองการที่ 113.
[8] ซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟิ, โองการที่ 28.
[9] ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ, โองการที่ 67.
[10] อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 407.
[11] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คำเทศนาที่ 131.
[12] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมะตุลกิซอร, เลขที่ 73.
[13] อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้า 314
[14] อัลมุสตัดร็อก, เล่มที่ 3, หน้า 216.
[15] ชัรฮุ นะฮ์ญิลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อะบิลฮะดีษ, เล่มที่ 7, หน้า 7-36.
[16] บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้า 10.
[17] อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, หน้าที่ 210.
[18] ชัรฮุ นะฮ์ญิลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุ อะบิลฮะดีษ, เล่มที่ 1, หน้า 49.
[19] บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 87, หน้า 482.
[20] ตุฮะฟุลอุกูล, หน้า 282.
[21] บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 8, หน้า 618 ; นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, จดหมายอันดับที่ 26.
[22] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คำเทศนาที่ 164.
[23] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หมวดที่ 3.
[24] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 18, หมวดว่าด้วยคุณลักษณะของผู้พิพากษา, หมวดที่ 1.
[25] ญามิอุลอุซูล, เล่มที่ 4, หน้า 55, อ้างจาก “ซุนัน ติรมีซี”.
[26] ซูเราะฮ์อัซซุครุฟ, โองการที่ 18.
[27] อัลมีซาน, เล่มที่ 18, หน้า 93.
[28] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 18, หน้า 6, กิตาบุลกอฏออ์.
[29] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, จดหมายอันดับที่ 31.
[30] จากหนังสือ “ริซาละฮ์ บะดีอะฮ์” หน้าที่ 70-76.
[31] อัลมุฆนี, อิบนุ กุดามะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 127.
[32] อัลคิลาฟ, กิตาบ-อาดาบุลกอฎออ์, เล่มที่ 2, หน้า 230, มัสอะละฮ์ที่ 6.
[33] แหล่งอ้างอิงเดิม.
[34] ญามิอุลอุซูล, เล่มที่ 4, หน้า 49.
[35] อัลมิลัล วัลอะฮ์วาอ์, เล่มที่ 4, หน้า 66-67.
[36] อันนิฮายะฮ์, เล่มที่ 4, หน้า 135.
[37] อัลมุซตะนัด, เล่มที่ 2, หน้า 519.
[38] ซุนัน ติรมีซี, เล่มที่ 4, หน้า 529-530 ; ตุฮะฟุลอุกูล, หน้า 39.
[39] ตะห์กีกุดดะลีล, หน้า 13.
[40] อัลมีซาน, เล่มที่ 5, หน้า 347
ขอขอบคุณเว็บไซต์บะลาเฆาะฮ์