โองการอัลกุรอานที่กล่าวถึงอิมามัต ตอนที่ 1
โองการตับลีฆ
ส่วนนี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องอิมามัตเพียงอย่างเดียวโดยจะเน้นถึงเรื่องการทำความรู้จักอิมามัต ผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยจะนำเสนอหลักฐานอ้างอิงจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งอัล-กุรอาน และฮะดีษของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้
การรวบรวมหลักฐานและเครื่องหมายต่าง ๆ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการรู้จักท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิมาม (อ.) และสำคัญที่สุดคือ ความช่วยเหลืออันเป็นสัจธรรมยิ่งสำหรับความสำเร็จในการกล่าวถึงเรื่องดังกล่าว
อันดับแรกจะขออธิบายถึงโองการอัล-กุรอานที่กล่าวถึงอิมามัตโดยเฉพาะ ซึ่งโองการเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนดังนี้
๑. โองการที่กล่าวถึงเรื่องอิมามโดยตรง
๒. โองการที่ไม่ได้กล่าวถึงอิมามโดยตรง
แม้ว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีโองการมากมายกล่าวถึง แต่ ณ ที่นี้จะคัดเลือกเอาเฉพาะโองการที่กล่าวอยู่ในขอบเขต ๒ ประเด็นข้างต้น
โองการที่กล่าวถึงเรื่องอิมามโดยตรงประกอบด้วย
๑. โองการตับลีฆ และเหตุการณ์เกี่ยวกับเฆาะดีรคุม
๒. โองการวิลายะฮฺ
๓. โองการอูลิลอัมริ
๔. โองการซอดิกีน
๕. โองการกุรบา
ส่วนที่สอง จะกล่าวถึงโองการที่กล่าวถึงความประเสริฐต่าง ๆ ซึ่งจะพยายามนำเสนอโองการที่มิได้กล่าวถึงอิมามัต แต่กล่าวถึงความประเสริฐของบุคคลที่เป็นอิมาม เช่น โองการที่กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งพิสูจน์ว่า ท่านมีความเหมาะสมและมีความประเสริฐที่สุดในหมู่ประชาชาติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และเป็นบุคคลที่ดีที่สุดภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โองการเหล่านี้ต้องการพิสูจน์ว่าท่านอิมามอะลี (อ.) มีความสมบูรณ์และผิดแปลกไปจากบุคคลอื่น ดังนั้น ตราบที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ยังมีชีวิตอยู่บุคคลอื่นจึงไม่มีความเหมาะสมในการเป็นอิมามทั้งสิ้น
อีกนัยหนึ่ง สติปัญญากล่าวว่า ปัญหาเรื่องอิมามัตและเคาะลิฟะฮฺ อัลลอฮ์ (ซบ.) จะไม่เลือกสรรบุคคลที่ไม่มีดี หรือมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม มาปกครองหรือเป็นผู้นำบุคคลที่มีคุณสมบัติดีกว่าเด็ดขาด หรือแม้แต่ในกฏสากลก็จะประณามการคัดเลือกเอาบุคคลที่ไม่เหมาะสม หรือมีคุณสมบัติด้อยกว่าบุคคลอื่นขึ้นเป็นผู้นำ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการยืนยันถึงความไร้สามารถ และการด้อยทางความรู้ของกลุ่มชนดังกล่าว เนื่องจากได้ทำให้บุคคลที่มีความประเสริฐมากกว่าต้องไปปฏิบัติตามคนที่ต่ำชั้นกว่า
โองการที่กล่าวถึงอะฮ์ลุลบัยต์และอิมามัตมีมากมาย แต่จะคัดมาอธิบายเพียงแต่ ๒๕ โองการเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นโองการที่ไม่ได้กล่าวถึงอิมามโดยตรง ประกอบด้วย
๑. โองการมุบาฮะละฮ์
๒. โองการคัยรุลบะรียะฮ์
๓. โองการลัยละตุลมะบีต
๔. โองการฮุกุมัต
๕. โองการในซูเราะฮ์ ฮัลอะตา (อัดดะฮ์ล์)
๖. โองการแรกๆ ในซูเราะฮ์อัลบะรออะฮ์
๗. โองการซะกอยะตุลฮาจญ์
๘. โองการซอลิฮุลมุอ์มิน
๙. โองการวิซารัต
๑๐, ๑๑. โองการจากซูเราะฮ์อัลอะฮ์ซาบ
๑๒. โองการบัยยินะฮ์วะชาฮิด
๑๓. โองการซิดดีกูน
๑๔. โองการนูร
๑๕. โองการอิงซอร
๑๖. โองการมุรญุลบะฮ์รัยน์
๑๗. โองการนัจวา
๑๘. โองการซาบิกูน
๑๙. โองการอิซน์ วะ อะอียะฮ์
๒๐. โองการมะวัดดะฮ์
๒๑. โองการมุนาฟิกูน
๒๒. โองการอีซาอ์
๒๓. โองการอิงฟาก
๒๔. โองการมุฮิบบัต
๒๕. โองการมัซอูลูน
ลำดับต่อไปจะอธิบายแต่ละโองการพอสังเขป เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันถึงหลักความเชื่อของมุสลิมนิกายชีอะฮ์ และให้คนส่วนใหญ่ตัดสินด้วยสติปัญญาอันคับแคบของตนเองว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นถูกหรือว่าผิด หรือเข้ากันกับสติปัญญาหรือไม่?
โองการที่กล่าวถึงเรื่องอิมามัตโดยตรง
๑. โองการตับลีฆ อัล-กุรอาน กล่าวว่า
يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ
โอ้เราะซูล จงประกาศสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า ถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เจ้าก็มิได้ประกาศสารของพระองค์ อัลลอฮ์ทรงคุ้มครองเจ้าจากมวลมนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงชี้นำพวกปฏิเสธทั้งหลาย (๕/๖๗)
สาเหตุของการประทานโองการ
จากตำราทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนนีย์ต่างได้บันทึกตรงกันว่า โองการดังกล่าวถูกประทานให้กับท่านอิมามอะลี (อ.)
ริวายะฮ์ดังกล่าวศอฮาบะฮ์จำนวนมาก เช่น อบูซะอีด คุดรียฺ ซัยด์ บิน อัรกอม ญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อันซอรีย์ อิบนุ อับบาส บัรรออ์ บิน อาซิบ ฮุดีฟะฮ์ อบูฮุรอยเราะฮ์ อิบนุ มัซอูด อามิร อิบนิ ลัยลา ได้รายงานไว้ ซึ่งริวายะฮ์ทั้งหมดกล่าวว่า โองการดังกล่าวลงให้ท่านอิมามอะลี (อ.)
สิ่งที่น่าสนใจคือ บางริวายะฮ์จากริวายะฮ์เหล่านั้นได้รายงานไว้หลายกระแสรายงานด้วยกัน เช่น
- ฮะดีษอบูซะอีด คุดรียฺ รายงานไว้ทั้งสิ้น ๑๑ กระแสรายงาน
- ฮะดีษ อิบนุ อับบาส รายงานไว้ ๑๑ กระแสรายงาน
- ฮะดีษ บัรรออ์ บิน อาซิบ รายงานไว้ ๓ กระแสรายงาน
บุคคลที่บันทึกฮะดีษเหล่านี้อยู่ในตำราของตน ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้นได้แก่
๑.ฮาฟิซ อบูนูอีม อิสฟาฮานีย์ บันทึกไว้ในหนังสือ มานะซะละ มินัล กุรอานิ ฟี อะมีริลมุอ์มินีน อะลี คัดลอกมาจาก อัลคอซออิซ หน้า ๒๙
๒. อบุลฮะซัน วาฮิดีย์ นีชาบูรีย์ บันทึกไว้ในอัซบาบุลนุซูล หน้า ๑๕๐
๓. อิบนุ อะซากิร ชาฟิอีย์ คัดลอกมาจาก อัดดุรุลมันซูร เล่ม ๒ หน้า ๒๙๘
๔. ฟัครุรรอซีย์ บันทึกไว้ในตัฟซีรกะบีร เล่ม ๓ หน้า ๖๓๖
๕. อบูอิสฮาก ฮุมูวัยนีย์ บันทึกไว้ใน ฟะรออิด อัซซิมตัยน์
๖. อิบนุ ซิบาฆ มาลิกีย์ บันทึกไว้ใน ฟุซูลุลมุฮิมมะฮฺ หน้า ๒๗
๗. ญะลาลุดดีน ซุยูฏีย์ บันทึกไว้ใน อัดดุรุลมันซูร เล่ม ๓ หน้า ๒๙๘
๘. กอฎีย์ เชากานีย์ บันทึกไว้ใน ฟัตฮุลเกาะดีร เล่ม ๓ หน้า ๕๗
๙. ชะฮาบุดดีน อาลูซีย์ ชาฟิอีย์ บันทึกไว้ในเราฮุลมะอานีย์ เล่ม ๖ หน้า ๑๗๒
๑๐. ชัยค์ สุลัยมาน กูนดูซีย์ ฮะนะฟีย์ บันทึกไว้ใน ยะนาบีอุลมะวัดดะฮฺ หน้า ๑๒๐
๑๑. บัดรุดดีน ฮะนะฟียฺ บันทึกไว้ใน อุมดะตุล กอรีย์ ฟี ชัรฮิล บุคอรียฺ เล่ม ๖ หน้า ๕๘๔
๑๒. ชัยค์ มุฮัมมัด อับดุล มิศรีย์ บันทึกไว้ใน อัลมะนาร เล่ม ๖ หน้า ๔๖๓
๑๓. ฮาฟิซ อิบนุมัรดะวียะฮ์ เสียชีวิต ฮ.ศ. ๔๑๘ คัดลอกมาจากซุยูฏีย์ จากอัดดุรุลมัสซูร และยังมีการบันทึกฮะดีษเหล่านี้ในตำราอื่น ๆ อีกมากมาย
แน่นอนต้องไม่ลืมว่านักวิชาการที่เอ่ยนามมาข้างต้นนอกจากจะกล่าวถึงริวายะฮ์ และสาเหตุของการประทานโองการแล้ว น่าเสียดายที่ว่าบางคนได้ปล่อยสิ่งสำคัญเหล่านี้ไปอย่างง่ายดายโดยไม่ได้ให้ความสำคัญ
ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามิคซอร์ซ