ทำไมชีอะฮ์จึงขอชะฟาอะฮ์จากบรรดาอิมาม ? (หรือผู้มีสิทธิ์ให้ชะฟาอะฮ์)
คำตอบ : จากคำถามข้างต้นสามารถอรรถาธิบายว่า มันมิได้เป็นชิรีกหรือ ? การชะฟาอะฮ์เป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว
อัล-กุรอานกล่าวว่า
“จงประกาศเถิดว่า อัลลอฮ์ผู้ทรงสิทธิ์ในการชะฟาอะฮ์ทั้งหมด”
(ซูเราะฮ์ อัซซุมัรฺ โองการที่ ๔๔)
ด้วยเหตุนี้ การขอชะฟาอะฮ์จากผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ (ซบ.) หรือการขออำนาจเด็ดขาดของพระองค์จากผู้เป็นบ่าวนั้น และในความเป็นจริงการขอเช่นนี้ เท่ากับเป็นการภักดีต่อสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮ์ ซึ่งไม่เข้ากับหลักเตาฮีดในแง่ของอิบาดะฮ์
ผลลัพท์ของ ชิร์ก ตรงนี้ไม่ได้เป็นการทำชิรีกในซาต (อาตมัน) หรือการสร้าง (คอลิกียะฮ์) หรือการบริบาลของพระองค์ แต่เป็นชิร์กในอิบาดะฮ์ แน่นอนการอธิบายประเด็นดังกล่าว ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการภักดีและการอิบาดะฮ์ ซึ่งทุกคนทราบดีว่า การอธิบายความหมายของอิบาดะฮ์ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เพื่อว่าจะได้สามารถมอบความนอบน้อมทั้งหลายแก่สรรพสิ่งถูกสร้าง หรือเรียกขอทุกความต้องการจากปวงบ่าว.
อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องของมะลาอิกะฮ์ที่สุญูดต่อท่านศาสดาอาดัม (อ.) ว่า
“ต่อมาเมื่อฉันได้บันดาลเขาครบสมบูรณ์ ฉันได้เป่าวิญญาณของฉันลงไปบนพวกเขา แล้วทั้งหมดก็ก้มลงกราบคารวะแก่เขา ดังนั้นมะลาอิกะฮ์ทั้งหมดก็ก้มคารวะโดยดี”
(ซูเราะฮ์ ซ็อด โองการที่ ๗๒ – ๗๓)
แม้ว่าการกราบนั้นพระองค์อัลลอฮ์จะเป็นผู้สั่งก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากกระทำจะเห็นว่าบรรดามะลาอิกะฮ์ไม่ได้ทำอิบาดะฮ์ต่อท่านอาดัม เพราะมิเช่นนั้นพระองค์จะไม่สั่งเช่นนั้นเด็ดขาด เช่นกันเรื่องราวของบุตรท่านศาสดายะอ์กูบ ตัวของท่านก็มิได้สุญูดท่านศาสดายูซุฟ (อ.)
อัล-กุรอานกล่าวว่า
“และเขาได้เชิญบิดามารดาขึ้นบนบังลังก์ และทั้งหมดได้ทรุดกายลงคารวะต่อเขา” (ซูเราะฮ์ ยูซุฟ โองการที่ ๑๐๐)
ถ้าการนอบน้อมดังกล่าวเป็นการอิบาดะฮ์ต่อท่านศาสดายูซุฟ เราคงจะไม่เห็นท่านยะอ์กูบในฐานะของศาสดาท่านหนึ่งที่บริสุทธิ์กระทำเช่นนั้น และท่านก็คงจะไม่พอใจการกระทำของบุตรของท่านอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีการนอบน้อมใดที่จะสูงส่งเกินไปกว่าการสุญูด ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องแยกความเข้าใจเกี่ยวกับการนอบน้อม หรือการวอนขอจากผู้อื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ออกจากอิบาดะฮ์ แก่นแท้ของอิบาดะฮ์หมายถึง การที่มนุษย์ได้คำนึงถึงการมีอยู่ของ อัลลอฮฺ และได้ทำการเคารพภักดีต่อพระองค์ สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นมัคลูก (สิ่งที่พระองค์ได้อุบัติขึ้นมา) ของพระองค์ทั้งสิ้น การคำนึงถึงภารกิจของพระองค์อย่างเช่น การบริบาล การสร้าง และการอภัยในความผิดของปวงบ่าวเป็น วาญิบสำหรับพระองค์ แต่ถ้าการเคารพของเราที่มีต่อบุคคลหรือสิ่งอื่น โดยที่ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นพระเจ้า หรือไม่ได้คิดถึงภารกิจต่าง ๆ ของเขาว่าเป็นภารกิจของพระผู้อภิบาล การนอบน้อม และแสดงความเคารพเช่นนี้ ก็เหมือนและไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่าการคารวะนอบน้อมของมวลมลาอิกะฮ์ที่มีต่อท่านศาสดาอาดัม (อ.) การคารวะของบุตรแห่งยะอ์กูบที่มีต่อท่านศาสดายูซุฟ
เกี่ยวกับคำถามที่ถามนั้น ถ้าเมื่อใดก็ตามผู้ขอคิดว่าสิทธิในการให้ชะฟาอะฮฺเป็นของผู้ให้ชะฟาอะฮ์แต่เพียงอย่างเดียว และผู้ให้สามารถให้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งยังสามารถอภัยในความผิดได้อีกต่างหาก การเชื่อเช่นนี้ถือว่าเป็นชิร์กอย่างแน่นอน เพราะผู้นั้นได้วอนขอภารกิจของพระองค์จากคนอื่น แต่ถ้ามีชนกลุ่มหนึ่งที่เป็นบ่าวที่บริสุทธิ์ของพระองค์ มิใช่เจ้าของการชะฟาอะฮ์ แต่ได้รับอนุญาตในขอบเขตจำกัดจากพระองค์อัลลอฮฺให้ทำการชะฟาอะฮ์ในบาปของคนอื่น ซึ่งสิ่งสำคัญของเงื่อนไขคือการได้รับอนุญาต และความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซบ.) ฉะนั้นการชะฟาอะฮ์เช่นนี้จากบ่าวที่บริสุทธิ์ของอัลลอฮ์ ย่อมไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นพระเจ้า หรือการมอบหมายภารกิจของพระองค์ให้กับเขา แต่เป็นการขอในภารกิจที่เป็นสิทธิและอยู่ในความสามารถของเขา
ในสมัยท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) คนที่ทำบาปได้ไปหาเพื่อขออภัยในบาป ท่านก็ไม่ได้แสดงการเป็นชิร์กแต่อย่างใด หนังสือสุนัน อิบนิมาญะฮ์ได้รายงานริวายะฮ์ของท่านไว้ว่า
“ท่านรู้ไหมว่า คืนนี้พระผู้อภิบาลของฉันได้ให้ฉันเลือกระหว่างอะไร พวกเราพูดว่า อัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้นเป็นผู้รู้ดีที่สุด ท่านกล่าวว่า อัลลอฮ์ได้ให้ฉันเลือกระหว่างการให้ประชาชาติของฉันครึ่งหนึ่งเข้าสวรรค์กับการให้ชะฟาอะฮ์ ซึ่งฉันได้เลือกการให้ชะฟาอะฮ์ พวกเราพูดว่า โอ้ รอซูลโปรดขอต่ออัลลอฮ์ ได้โปรดชะฟาอะฮ์ให้พวกเราเป็นคนดี ท่านได้กล่าวว่า การชะฟาอะฮ์เป็นของมุสลิมทุกคน” [1]
ฮะดีษดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ว่าเหล่าบรรดาสาวกของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ขอการชะฟาอะฮ์จากท่านศาสดา โดยกล่าวว่า ได้โปรดขอต่ออัลลอฮ์ และอัล-กุรอานได้กล่าวว่า
“และมาตรว่าพวกเขาได้อธรรมแก่ตัวเอง พวกเขาได้มาหาเจ้า แล้วขออภัยโทษต่ออัลออฮ์ และรอซูลก็ได้ขออภัยโทษให้แก่พวกเขา พวกเขาได้พบว่าอัลลอฮฺคือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ซูเราะฮ์ อันนิซาอฺ โองการที่ ๖๔)
อีกโองการหนึ่งพระองค์ได้กล่าวว่า
“พวกเขาพูดว่า โอ้บิดาของเราโปรดอภัยโทษในความผิดของพวกเรา แท้จริงพวกเราเป็นผู้ผิดพลาด” (ซูเราะฮ์ ยูซุฟ โองการที่ ๙๗)
ท่านศาสดายะอ์กูบได้ให้สัญญาการอภัยโทษแก่พวกเขา ซึ่งจะเห็นว่าท่านศาสดาไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นชิร์กแต่อย่างใด อัล-กุรอานได้กล่าวว่า
“ฉันจะขออภัยต่อพระผู้อภิบาลของฉันแก่พวกเจ้า แท้จริงพระองค์ทรงอภัย อีกทั้งทรงเมตตายิ่ง” (ซูเราะฮ์ ยูซุฟ โองการที่ ๙๘)
[1] ซุนัน อิบนิมาญะฮฺ เล่มที่ ๒ บาบ ซิกรุชชะฟาอฺ หน้าที่ ๕๘
ขอขอบคุณเว็บไซต์ เลิฟฮูเซน