ทำไมตำแหน่งอิมามะฮฺจึงสูงส่งกว่าตำแหน่งริซาละฮฺ
ก่อนที่จะตอบคำถามเป็นการดีหากทำความเข้าใจกับคำว่า นะบูวัต ริซาลัต และ อิมามัต ตามที่อัล-กุรอานและฮะดีษได้กล่าวถึงเพื่อความเข้าใจที่ดีว่าทำไมอิมามัตจึงสูงกว่าตำแหน่งทั้งสอง
๑. ตำแหน่งนะบูวัต คำว่านะบี มาจากคำว่า นะบะอะ หมายถึงประกาศ แจ้ง และการแถลงข่าวที่สำคัญ ด้วยนี้คำว่านะบีจึงหมายถึง ผู้ที่รับข่าวที่สำคัญ หรือข่าวที่ยิ่งใหญ่ หรือผู้แจ้งข่าวที่สำคัญ อัล-กุรอานกล่าวว่านะบีหมายถึง ผู้ที่ได้รับวะฮฺยูจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยวิธีการต่าง ๆ หลังจากนั้นนำไปแจ้งกับประชาชาติในนามของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง หรือสื่อกลาง
บรรดานักวิชาการได้อธิบาย ว่า
إِنَّهُ مُؤَدّ مِنَ اللّه بِلاَ وَاسِطَةٍ مِنَ البَشَرِ
นะบีหมายถึงผู้ที่ได้แจ้งวะฮฺยูแห่งอัลลอฮฺแก่ประชาชนโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสื่อกลาง[>๑]
บนพื้นฐานดังกล่าว เท่ากับได้กำหนดหน้าที่ของนะบีให้อยู่ในขอบเขตจำกัดได้แก่ การรับวะฮฺยู และแจ้งกับประชาชนในสิ่งที่ตนได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า
فَبَعَثَ اللّهُ النَّبِيِّينَ مُبَشِّرِينَ وَمُنذِرِينَ
ดังนั้น อัลลอฮฺได้แต่งตั้งบรรดานะบีให้เป็นผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน[๒]
๒. ตำแหน่งริซาลัต คำว่าเราะซูลหมายถึงนะบีที่นอกจากรับวะฮฺยูจากพระผู้เป็นเจ้า และนำไปประกาศแก่ประชาชนแล้วยังต้องรับผิดชอบการประกาศสาส์น ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าแก่ประชาชาติอีกต่างหาก
อัล-กุรอานกล่าวว่า
فَإِن تَوَلَّيْتُمْ فَاعْلَمُواْ أَنَّمَا عَلَى رَسُولِنَا الْبَلاَغُ الْمُبِينُ
แต่ถ้าสูเจ้าผินหลังกลับ ดังนั้น จงรู้เถิดว่าที่จริงหน้าที่เราะซูลของเราคือการประกาศอันชัดแจ้ง[๓]
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าตำแหน่งริซาลัต เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่ประทานให้กับนะบีนอกเหนือจากตำแหน่งนะบี อีกนัยหนึ่งความหมายของตำแหน่งทั้งสอง (นะบีและริซาลัต) เป็นความพิเศษเฉพาะผู้ที่เป็นนะบีที่ถูกประทานจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น หมายถึงบรรดาศาสนทูตได้รับวะฮฺยูหรืออิลฮาม (การดลใจ) จากพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็น นะบี ส่วนอีกด้านหนึ่งนะบีมีหน้าที่ประกาศสาส์นจึงเรียกว่าเป็นเราะซูล ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าบรรดาศาสนทูตตราบที่ยังอยู่ในตำแหน่งการเป็นบะนี หรือเราะซูล มีหน้าที่ชี้นำประชาชาติ หมายถึงแจ้งสิ่งที่อนุมัติและไม่อนุมัติ แนะนำทางที่นำไปสู่ความสมบูรณ์แก่ประชาชติ ซึ่งนอกเหนือจากการประกาศสาส์นที่ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอย่างอื่นอีก
๓. ตำแหน่งอิมามัต เมื่อพิจารณาอัล-กุรอานจะเห็นว่าตำแหน่งอิมามัตแห่งพระผู้เป็นเจ้า นอกเหนือไปจากตำแหน่งนะบีและเราะซูล เป็นตำแหน่งที่มีขอบเขตการรับผิดชอบกว้างกว่า เนื่องจากต้องทำหน้าที่บริหารสังคม และยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำคอยกำกับดูแล และชี้นำประชาชน อัล-กุรอานได้กล่าวถึงหน้าที่รับผิดชอบของอิมามัตไว้อย่างชัดเจน
๑.อัล-กุรอานกล่าวถึงการประทานตำแหน่งอิมามัตแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ไว้ โดยกล่าวว่า
وَإِذِ ابْتَلَى إِبْرَاهِيمَ رَبُّهُ بِكَلِمَاتٍ فَأَتَمَّهُنَّ قَالَ إِنِّيجَاعِلُكَ لِلنَّاسِ إِمَامًا قَالَ وَمِن ذُرِّيَّتِي قَالَ لاَ يَنَالُ عَهْدِي الظَّالِمِينَ
และจงรำลึกถึง ขณะที่พระผู้อภิบาลของเขาทรงทดสอบอิบรอฮีม ด้วยพระบัญชาบางประการ แล้วเขาได้ปฏิบัติโดยครบถ้วน พระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันจะแต่งตั้งให้เจ้าเป็นผู้นำมนุษยชาติ เขากล่าวว่า และรวมลูกหลานของฉันด้วย พระองค์ตรัสว่า สัญญาของฉันไม่แผ่ถึงพวกอธรรม[๔]
จากพระดำรัสของอัล-กุรอานสามารถสรุปได้ ๒ ประการสำคัญดังนี้
ก. โองการดังกล่าวได้จำแนกความแตกต่างระหว่างอิมามัต กับนะบีและริซาลัตไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นศาสดามาก่อนหน้าที่จะมีการทดสอบอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือพระองค์ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) นำอิซมาอีลบุตรชายไปเชือดพลี ซึ่งทั้งหมดทราบดีว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานบุตรชาย (อิซมาอีลกับอิสฮาก) ให้กับท่านตอนวัยชราแม้แต่ตัวท่านยังคลางแคลงใจว่าจะมีบุตรได้หรือ อัล-กุรอานกล่าวว่า
الْحَمْدُ لِلّهِ الَّذِي وَهَبَ لِي عَلَى الْكِبَرِ إِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَقَ
การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ผู้ทรงประทานอิซมาอีลและอิสฮากแก่ฉันในยามชรา[๕]
จากตรงนี้จะเห็นว่า หลังจากการทดสอบครั้งสำคัญหมายถึง การตัดสินใจเชือดพลีอิซมาอีลตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว หลังจากนั้นพระองค์จึงได้ประทานตำแหน่งอันทรงเกียรติ อิมามัต แก่ท่านในยามชรา ท่านจึงได้เป็นอิมามชี้นำประชาชนในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านเป็นนะบีอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนที่ท่านจะมีทายาท วะฮฺยู (อันเป็นเครื่องหมายของนะบี) ได้ถูกประทานลงมายังท่าน[๖]
ข. จากโองการที่กล่าวมา (และจงรำลึกถึง ขณะที่พระผู้อภิบาลของเขาทรงทดสอบอิบรอฮีม ด้วยพระบัญชาบางประการ) สรุปได้ว่าตำแหน่งอิมามัตผู้นำอาณาจักรและศาสนจักร สูงส่งกว่าตำแหน่งนะบี เนื่องจากว่าการทดสอบที่รุนแรงสมควรจะเกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะดำรงตำแหน่งนะบี แต่ในความเป็นจริงการทดสอบได้เกิดขึ้นหลังจากนั้น และเมื่อการทดสอบผ่านไปพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นอิมาม เนื่องจากตำแหน่งอิมามนอกเหนือไปจากการได้รับวะฮฺยู การประกาศสาส์น และการชี้นำประชาชาติไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดแล้ว ยังต้องบริหารสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า กำกับดูแลประชาชาติให้ดำเนินไปบนทางที่นำไปสู่ความผาสุก เป็นธรรมดาที่ว่าตำแหน่งอันทรงเกียรติและมีความยิ่งใหญ่เช่นนี้ ย่อมมีความพิเศษกว่าตำแหน่งอื่น ซึ่งถ้าไม่ได้ผ่านขบวนการทดสอบอย่างรุนแรง หรือการทดสอบด้วยชีวิตและเลือดเนื้ออย่างต่อเนื่องแล้ว ย่อมไม่ได้รับตำแหน่งอิมามอย่างแน่นอน
๒. จากโองการที่กล่าวมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การเป็นอิมามของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เกิดขึ้นหลังจากการทดสอบอย่างรุนแรง และหลังจากที่ท่านได้รับตำแหน่งอิมามัตแล้ว ท่านได้วอนต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ว่า ขอพระองค์โปรดประทานตำแหน่งนี้แก่ลูกหลายของฉันดัวย
โองการในบทอื่นได้อธิบายว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบรับข้อเสนอของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หลังจากนั้นตำแหน่งนะบูวัต ผู้นำสังคม และการเป็นผู้ปกครองประชาชาติได้ตกเป็นของท่านศาสดาซอลิฮฺ (อ.) โดยกล่าวว่า
فَقَدْ آتَيْنَآ آلَ إِبْرَاهِيمَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَآتَيْنَاهُم مُّلْكًا عَظِيمًا
ดังนั้น แน่นอนยิ่ง เราได้ประทานแก่วงศ์วานของอิบรอฮีม ซึ่งคัมภีร์และวิทยปัญญา และเราได้ประทานแก่พวกเขาซึ่งอาณาจักรอันใหญ่หลวง[๗]
สิ่งที่เข้าใจได้จากโองการที่กล่าวมาข้างต้น คือตำแหน่งอิมามัตและผู้นำสังคมเป็นตำแหน่งแต่งตั้ง ที่นอกเหนือจากตำแหน่งนะบูวัต อัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงเกรียงไกรทรงประทานให้กับท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หลังจากผ่านการทดสอบที่รุนแรง ต่อมาท่านจึงได้เสนอให้พระองค์ประทานตำแหน่งดังกล่าว ให้กับทายาทของท่านด้วย อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบรับข้อเสนอ และทรงประทานตำแหน่งให้แก่ทายาทของอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งนอกจากคัมภีร์ และวิทยปัญญาอันเป็นสัญลักษณ์ของนะบูวัตและริซาละฮฺแล้ว พระองค์ยังได้ประทานอาณาจักรอันใหญ่หลวง (การปกครองและการเป็นผู้นำสังคม) แก่ทายาทของท่าน ซึ่งเป็นไปตามที่ท่านได้เสนอต่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าทายาทบางคนของท่าน เช่น ศาสดายูซุฟ ดาวูด หรือซุลัยมาน นอกจากดำรงตำแหน่งนุบูวัตแล้ว ยังได้เป็นผู้จัดตั้งการปกครองและเป็นผู้ชี้นำสังคมอีกต่างหาก
ดังนั้น จะเห็นว่าตำแหน่งอิมามัตนอกเหนือไปจากตำแหน่งนะบูวัต และริซาละฮฺ ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมและขอบข่ายความรับผิดชอบกว้างกว่า
สถานภาพที่ดีกว่า (อิมามัต) จากคำอธิบายที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าหน้าที่ของนะบีและเราะซูลคือ การเผยแผ่และชี้นำทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเมื่อใดที่นะบีหรือเราะซูลได้รับตำแหน่งอิมามะฮฺ หน้าที่ความรับผิดชอบของท่านจะเพิ่มมากไปกว่าเดิม กล่าวคือต้องสถาปนาการปกครองโดยใช้พระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า เป็นธรรรมนูญสูงสุดในการปกครอง สร้างความสงบเรียบร้อยและชี้นำประชาชนไปสู่ความสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชาติได้รับความผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้า
แน่นอนเมื่อต้องทำหน้าที่หลายอย่างในเวลาเดียวกัน บุคคลนั้นต้องมีพลังอีมานที่มั่นคงและมีความหนักแน่นพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาแม้ว่าต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานตำแหน่งอิมามให้กับท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ภายหลังจากที่ได้ผ่านการทดสอบอย่างรุนแรงแล้ว
ระหว่างนะบูวัต และอิมามัตมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อาจมีคำถามว่าศาสดาทุกองค์จำเป็นต้องได้รับตำแหน่งอิมามัตหรือไม่ หรือบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอิมามต้องเป็นนะบีด้วยหรือไม่
คำตอบคือไม่จำเป็นทั้งสองกรณี โองการได้กล่าวถึงเรื่องราวของ ฏอลูฏ ที่ได้ต่อสู้กับ ญาลูฏผู้กดขี่ไว้ว่า ภายหลังจากที่ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้สิ้นชีวิตลง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมอบตำแหน่งนะบีให้กับบุคคลอื่นนามว่า อัชชัมมูอีล ขณะที่ตำแหน่งอิมามัตและการเป็นผู้ปกครองตกเป็นของ ฏอลูฏ
หลังจากท่านศาสดามูซา (อ.) ได้สิ้นชีวิตลง ได้มีบะนีอิซรออีลกลุ่มหนึ่งพูดกับศาสดาแห่งยุคของพวกตนว่า ให้เลือกพวกตนเป็นผู้ปกครอง เพื่อว่าพวกตนจะได้ออกคำสั่งให้ประชาชนปฏิบัติตาม สุดท้ายศาสดาแห่งยุคของพวกเขาได้กล่าวว่า
وَقَالَ لَهُمْ نَبِيُّهُمْ إِنَّ اللّهَ قَدْ بَعَثَ لَكُمْ طَالُوتَ مَلِكًا قَالُوا أَنَّى يَكُونُ لَهُ الْمُلْكُ عَلَيْنَا وَنَحْنُ أَحَقُّ بِالْمُلْكِ مِنْهُ وَلَمْ يُؤْتَ سَعَةً مِّنَ الْمَالِ قَالَ إِنَّ اللّهَ اصْطَفَاهُ عَلَيْكُمْ وَزَادَهُ بَسْطَةً فِي الْعِلْمِ وَالْجِسْمِ وَاللّهُ يُؤْتِي مُلْكَهُ مَن يَشَاءُ وَاللّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
และนะบีของพวกเขากล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงตั้งฎอลูตเป็นกษัตริย์สำหรับพวกท่านแล้ว พวกเขากล่าวว่าเขาจะมีอำนาจเหนือพวกเราได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่พวกเราเป็นผู้มีสิทธ์ในอำนาจนั้นยิ่งกว่าเขา และเขาไม่ได้ถูกประทานให้ซึ่งทรัพย์สมบัติอันมหาศาล นะบีของเขากล่าวว่า อัลลอฮฺได้ทรงเลือกเขาให้มีอำนาจเหนือพวกท่าน และได้ทรงเพิ่มให้แก่เขาอย่างอนันต์ในความความรู้ และร่างกายสูงใหญ่ และอัลลอฮฺทรงประทานอาณาจักรของพระองค์แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงไพบูลย์ ผู้ทรงรอบรู้[๘]
สิ่งที่ได้จากโองการข้างต้น
๑. เป็นไปได้ที่ว่าในเวลาเดียวกันอิมามัตกับนะบูวัตอาจจะแยกกันกล่าวคือมีบุคคลหนึ่งเป็นนะบี และอีกคนเป็นอิมาม ซึ่งแต่ละตำแหน่งที่จะมอบให้ บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะรับตำแหน่งได้ หรือเป็นไปได้ที่จะแยกตำแหน่งทั้งสองออกจากกัน บะนีอิซรออีลจึงไม่ได้ท้วงติงแต่อย่างใด ว่าโอ้นะบีท่านมีความเหมาะสมมากกว่าเขา ทว่าพวกเขาได้ท้วงติงว่า พวกเราดีกว่าพวกเขา
๒. ตำแหน่งที่ฏอลูฏได้รับ เป็นตำแหน่งที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้กับฏอลูต โดยอัล-กุรอานกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงตั้งฎอลูตเป็นกษัตริย์สำหรับพวกท่าน และทรงตรัสว่า อัลลอฮฺได้ทรงเลือกเขาให้มีอำนาจเหนือพวกท่าน
๓. ตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าของ ฏอลูฏ ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงผู้นำทางทหารเพียงอย่างเดียว ทว่าเขาเป็นจอมทัพและเป็นผู้นำชาวบะนีอิซรออีลทั้งหมดดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า ( مَلِكًا ) หมายถึงผู้นำ หรือจอมทัพที่สามารถสถาปนารัฐบาลขึ้นปกครอง แม้ว่าจุดประสงค์ของผู้นำในวันนั้นคือ การนำชาวบะนีอิซรออีลที่ต่อสู้บนหนทางของพระผู้เป็นเจ้าก็ตาม แต่จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าทรงอนุญาตให้ปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เกิดจากการสถาปนาการปกครอง ดังที่อัล-กุรอานว่า และอัลลอฮฺทรงประทานอาณาจักรของพระองค์แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์
๔. เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำสังคม หรือเป็นอิมามของประชาชาติคือ ความรู้ที่ครอบคลุมในทุกแง่ทุกมุม ความสามารถทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในสมัยก่อนต้องมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เพราะต้องออกทำศึกสงครามร่วมกับกองทัพตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าระหว่างนะบูวัตกับอิมามัต มีความสัมพันธ์กันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ แม้ว่าบางครั้งนะบูวัตกับอิมามัตจะเป็นคนละคนกันก็ตาม แต่ในบางครั้งอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานตำแหน่งทั้งสองให้กับผู้ที่มีความสามารถรับอามานะฮฺนี้ได้ ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า
فَهَزَمُوهُم بِإِذْنِ اللّهِ وَقَتَلَ دَاوُدُ جَالُوتَ وَآتَاهُ اللّهُ الْمُلْكَ وَالْحِكْمَةَ وَعَلَّمَهُ مِمَّا يَشَاء
ดังนั้น พวกเขาได้ปราบพวกนั้นอย่างราบคาบด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และดาวูดได้ฆ่าญาลูต และอัลลอฮฺได้ทรงประทานอาณาจักรและวิทยปัญญาแก่เขา และทรงสอนเขาที่พระองค์ทรงประสงค์ [๙]
[๑] ริซาอลุลอัชรฺ ชัยคฺฏูซียฺ หน้าที่ ๑๑๑
[๒] อัล-บะเกาะเราะฮฺ / ๒๑๓
[๓] อัล-มาอิดะฮฺ / ๙๒
[๔] อัล-บะเกาะเราะฮฺ / ๑๒๔
[๕] อิบรอฮีม / ๓๙
[๖] เกี่ยวกับเรื่องนี้พิจารณาโองการ ๙๙/๑๐๒ ซูเราะฮฺอัซซอฟาต, โองการ ๕๓/๕๔ ซูเราะฮฺ อัล-ฮิจรฺ และโองการ ๗๐/๗๑ ซูเราะฮฺฮูด
[๗] อัน นิซาอฺ / ๕๔
[๘] อัล-บะเกาะเราะฮฺ /๒๔๗
[๙] อัล-บะเกาะเราะฮฺ / ๒๕๑