อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 13]อำนาจวิลายะฮ์ของท่านอิมามอะลี อ. ที่ระบุอยู่ในซุนนะห์
โดย เชคอันศอร เหล็มปาน
มีหลักฐานมากมายจากตำราอ้างอิงทั้งฝ่ายมุสลิมชาวซุนนี่ห์ และมุสลิมชาวชีอะฮ์ ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. เคยกล่าวไว้ว่า “อะลีคือตัวแทนภายหลังจากฉัน หลังจากเขาก็สืบต่อโดยหลานรักของฉัน ฮะซันและฮุเซน และอิมามอีก 9 ท่านล้วนสืบเชื้อสายจากฮุเซน”
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ฮะดีษเยามุดด้าร ฮะดีษมันซิละฮ์ ฮะดีษเฆาะดีรคุม และฮะดีษษะเกาะลัยน์ รวมทั้งฮะดีษที่นบี ศ. กล่าวว่า “จะมีเคาะลีฟะฮ์สิบสองคนภายหลังจากฉัน และอิสลามจะได้รับการเทิดเกียรติโดยพวกเขา”
อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 13]อำนาจวิลายะฮ์ของท่านอิมามอะลี อ. ที่ระบุอยู่ในวจนะของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์
เหตุการณ์ใน “งานเลี้ยงแห่งซุลอะชีรอ”
งานเลี้ยงแห่งซุลอะชีรอ ชื่อนี้มาจาก อัลกุรอานเองในซูเราะห์อัชชุอารอฮ์ โองการที่ 214 ได้กล่าวไว้ว่า
وَأَنذِرْ عَشِيرَتَكَ الْأَقْرَبِينَ
“ และเจ้าจงเตือนวงศ์ญาติที่ใกล้ชิดของเจ้า ”
รายงานทั้งจากมุสลิมสายซุนนะฮ์และชีอะฮ์ได้ระบุไว้ว่า วันแรกของการเผยแพร่ศาสนาแบบเปิดเผยของท่านศาสดามุฮัมมัด ท่าน ศ. ได้เชิญวงศาคณญาติที่ใกล้ชิดมาจำนวน 40 คน เมื่อแขกได้มารวมกันในห้องหนึ่งในบ้านของอบูฏอลิบโดยพร้อมกันและได้รับประทานอาหารจนอิ่มดีแล้ว ท่านนบี ศ. จึงลุกขึ้นเพื่อกล่าวคำปราศรัยต่อพวกเขา พอท่านศาสดา เริ่มจะกล่าว แขกคนหนึ่งของงานก็คือ อบูละฮับ ผู้เป็นลุงคนหนึ่งของท่าน เขาได้ลุกขึ้นยืนและขัดจังหวะขึ้นอย่างหยาบคายแล้วได้กล่าวถึงเรื่องต่างๆที่ไร้สาระและพูดเรื่องไม่เป็นเรื่องขึ้นมาจนทำให้ท่านศาสดาไม่สามารถพูดเปิดประเด็นได้ จากคำพูดของเขาอบูละฮับประสบความสำเร็จ ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้เกิดขึ้น ในที่ประชุมทุกคนต่างลุกขึ้นยืนแล้วเดินเปะปะชนกัน ในที่สุดพวกเขาเริ่มกลับไปและในไม่ช้าห้องก็ว่างลง ความพยายามครั้งแรกของท่านศาสดาต้องประสบความล้มเหลว แต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อกับอุปสรรคในครั้งแรกนี้ ท่านจึงได้สั่งให้อะลี อ. ให้เชิญแขกชุดเดิมนี้อีกมาเป็นครั้งที่สอง และสองสามวันต่อมา แขกได้กลับมารวมตัวกันอีก และเมื่อพวกเขาได้รับประทานอาหารเย็นกันเรียบร้อยแล้ว ท่านศาสดาจึงลุกขึ้นยืนและกล่าวกับพวกเขาดังนี้
“ ฉันขอขอบคุณพระเจ้าสำหรับความกรุณาของพระองค์ ฉันขอสรรเสริญพระองค์และฉันขอแสวงหาทางนำจากพระองค์ ฉันศรัทธาในพระองค์และฉันขอมอบความไว้วางใจทั้งหมดไว้กับพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่อัลลอฮ์ องค์เดียว พระองค์ทรงมีบัญชาให้ฉันเชิญชวนท่านมาสู่ศาสนาของพระองค์ด้วยพระบัญชาที่ว่า “ และจงกล่าวตักเตือนวงศ์ญาติที่ใกล้ชิดของเจ้า ” เพราะฉะนั้นฉันจึงขอเตือนพวกท่าน และเรียกร้องมายังพวกท่านให้ปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดเว้นแต่อัลลลอฮ์องค์เดียว และฉันเป็นศาสนทูตของพระองค์โดยท่านผู้เป็นบุตหลานของอับดุลมุตฏอลิบไม่มีผู้ใดเคยนำในสิ่ง ที่ดีกว่าสิ่งที่ฉันจะนำมาสู่พวกท่าน หากพวกท่านยอมรับเอาไว้ กิจการงานก็จะมั่งคงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า จะมีผู้ใดในหมู่พวกท่านหรือไม่ ที่จะสนับสนุนฉันเพื่อปฏิบัติการในหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ ? จะมีใครที่จะตอบรับต่อคำเรียกร้องของฉันบ้าง ? มีใครจะเป็นผู้สืบตำแหน่งของฉันผู้ช่วยของฉันและเป็นวะซีร์ของฉันบ้างไหม ? ”
มีแขกอยู่จำนวน 40 คนในห้องโถงนั้น ท่านศาสดาหยุดชั่วขณะเพื่อปล่อยให้ผลกระทบของคำพูดของท่านซึมซับเข้าไปในจิตใจของพวกเขา แต่ไม่มีผู้ใดสักคนในหมู่พวกเขาที่ได้ตอบรับ ในที่สุดเมื่อความเงียบงันกลายมาเป็นความกดดันที่มากเกินควรไปแล้วหนุ่มน้อย อะลี บุตร อบูฏอลิบ ได้ลุกขึ้นยืน และกล่าวขึ้นว่าเขาจะสนับสนุนศาสนทูตแห่งพระเจ้า จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในภาระของงานของท่าน และจะเป็นผู้สืบแทนของท่าน ผู้ช่วยของท่านและวะซีร์ของท่าน แต่ท่านศาสดาได้ขอให้เขานั่งลง และกล่าวว่าจงคอยก่อนบางทีมีบางคนที่อาวุโสกว่าเจ้าตอบรับคำเรียกร้องของฉัน
ท่านศาสดาได้กล่าวเชิญชวนอีกครั้งหนึ่งดูเหมือนไม่มีผู้ใดที่จะขยับเขยื้อน ท่านได้รับการตอบรับด้วยความเงียบงันที่มีแต่ความอึดอัด อะลี อ. ได้เสนอตัวที่จะขอรับใช้อีกครั้งหนึ่ง แต่ศาสนทูตยังประสงค์ว่าอาจจะมีสมาชิกผู้อาวุโสบางคนของตระกูล จะตอบรับการเชิญชวนของท่านจึงขอให้เขารอก่อนจากนั้นท่านได้เรียกร้องวงศ์ญาติของท่านอีกเป็นครั้งที่สาม เพื่อให้พิจารณาคำเชิญชวนของท่านและก็เป็นเช่นเดิมอีกไม่มีผู้ใดในที่ชุมนุมแสดงออกถึงความสนใจใด ๆ ท่านมองไปรอบ ๆ และเพ่งมองไปยังทุก ๆ คนในห้องแต่ไม่มีผู้ใดขยับยกเว้นอะลี อ. ซึ่งเขาได้อาสามารับใช้งานของท่าน
ในครั้งนี้ท่านศาสดายอมรับข้อเสนอของอะลี อ. ท่านได้ดึงตัวของเขาเอามากอดไว้แนบอก และกระชับเขาเข้าที่หัวใจของท่าน และจึงกล่าวกับที่ชุมนุมว่า
انَّ هذا اخي، وَوَصِيّي وَ وَزيري وَخَليفَتي فيكُم فَاسْمَعُوا لَهُ وَاطيعُواه
นี้คือพี่น้องของฉัน ผู้สืบแทนของฉันและผู้สืบตำแหน่งของฉัน จงฟังเขาและจงเชื่อฟังคำบัญชาต่าง ๆ ของเขา”
งานเลี้ยงที่ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ. ได้ประกาศให้อะลี เป็นผู้สืบแทนของท่านนั้นเป็นที่รู้จักกันชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ดังในนาม “งานเลี้ยงแห่งซุลอะชีรอ”
ฮะดิษ “มันซิละฮ์” (حديث منزلة)
ในช่วงฤดูร้อนของต้นเดือนชะบานของปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 9 มีข่าวแจ้งถึงมุฮัมมัด ศาสนทูตแห่งพระเจ้าว่า ได้มีกองทัพโรมันกำลังระดมพลอยู่ที่เขตแดนซีเรีย เพื่อการรุกรานแผ่นดินฮิญาซ ศาสดาแห่งพระเจ้าได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการป้องกัน เพื่อรักษานครมะดีนะฮ์เอาไว้ จึงมีบัญชาให้บรรดาสาวกของท่านเตรียมตัว เพื่อการเดินทัพระยะไกลไปยังภาคเหนือ
ท่านศาสดาแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลี เป็นผู้ทำหน้าแทนท่านในนครมะดีนะฮ์ ในระหว่างที่ตัวท่านไม่อยู่
สำหรับพวกมุนาฟิกย่อมไม่มีอะไรที่พวกเขาจะไม่เห็นด้วยมากไปว่าการที่ได้เห็นอิมามอะลี อ. มีอำนาจเหนือพวกเขา เมื่อกองทัพออกจากนครมะดีนะฮ์ไปแล้ว พวกเขาเริ่มกระซิบกระซาบกันว่า ท่านศาสดาได้ละทิ้งอาลีไว้ที่นครมะดีนะฮ์ เพราะเหตุว่าท่านไม่เห็นความสำคัญของเขาแล้วอีกยังต้องการจะกำจัดเขา
อิมามอะลี อ. รู้สึกไม่สบายใจต่อข่าวลือดังกล่าว และต้องการลบกระแสข่าวลือดังกล่าวท่านจึงตัดสินใจติดตามกองทัพไป และไปทันกันที่ “ญุรฟ์” ท่านศาสดาประหลาดใจที่ได้เห็นเขา แต่เมื่ออิมามอะลี อ. ได้อธิบายที่ว่าทำไมเขาจึงมาที่นี้ ท่านศาสดาจึงกล่าวขึ้นว่า
قَالَ النَّبيُّ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ لِعَلِيٍّ: أمَا تَرْضَى أنْ تَكُونَ مِنِّي بمَنْزِلَةِ هَارُونَ مِن مُوسَى ؟ إِلَّا أنَّهُ لا نَبِيَّ بَعْدِي
الراوي : سعد بن أبي وقاص | المحدث : مسلم | المصدر : صحيح مسلم | الصفحة أو الرقم : 2404 | خلاصة حكم المحدث : [صحيح]
“เจ้าไม่พอใจดอกหรือที่ตำแหน่งของเจ้าที่มีต่อฉันเสมือนฮารูนที่มีต่อมูซา ยกเว้นแต่ว่าจะไม่มีนบีใดมาภายหลังจากฉันอีก ”
อิมามอะลี อ. พึงพอใจกับคำยืนยันรับรองที่ท่านศาสดา ศ. ได้มอบให้กับเขา จึงกลับคืนสู่นครมะดีนะฮ์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายในฐานะผู้ปฏิบัติการแทน
อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงตำแหน่งและสถานภาพ(มันซิละฮ์)ของนบีฮารูนที่มีต่อนบี มูซา ถึง 5 สถานภาพแต่เราจะขอกล่าวเพียง 4 ตำแหน่งที่สำคัญมากที่สุด ก็คือ
ตำแหน่งการเป็น “นบี”
พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์มัรยัมโองการที่ 53 ว่า
وَوَهَبْنَا لَهُ مِن رَّحْمَتِنَا أَخَاهُ هَارُونَ نَبِيًّا
“และเราได้มอบแก่เขา(มูซา)จากความเมตตาของเราให้พี่ชายของเขาคือฮารูนเป็นนบี”
ตำแหน่งการเป็น “วะฮ์ซีร” หมายถึง ผู้สำเร็จราชการแทน
พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลฟูรกอน อายะที่ 35 ว่า
وَاجْعَل لِّي وَزِيرًا مِّنْ أَهْلِي
“และทรงโปรดให้คนในครอบครัวของข้าพระองค์ เป็นผู้ช่วยแก่ข้าพระองค์ด้วย”
وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوسَى الْكِتَابَ وَجَعَلْنَا مَعَهُ أَخَاهُ هَارُونَ وَزِيرًا سوره الفرقان ۳۵
“และแน่นอน เราได้ประทานคัมภีร์(เตารอดฮ์) แก่มูซา และเราได้ให้พี่ชายของเขาคือฮารูนเป็นผู้ช่วยเหลือ”
ตำแหน่งผู้อยู่เคียงข้างที่คอยให้กำลังใจและสร้างความเข้มแข็ง
พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ฏอฮา อายะฮ์ที่ 29 ว่า
هارُونَ أَخی اشْدُدْ بِهِ أَزْری وَ أَشْرِکْهُ فی أَمْری
“ฮารูนพี่น้องของข้าพระองค์ ได้โปรดให้เขาเพิ่มความเข้มแข็งแก่ข้าพระองค์ด้วย และให้เขามีส่วนร่วมในกิจการของข้าพระองค์ด้วย”
ตำแหน่ง “คอลิฟะฮ์” พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า
وَقَالَ مُوسَى لأَخِيهِ هَارُونَ اخْلُفْنِي فِي قَوْمِي سوره الأعراف ۱۴۲
“และมูซาได้กล่าวแก่ฮารูนพี่ชายของเขาว่า เจ้าจงทำหน้าที่คอลิฟะฮ์(ต่อจาก)ฉันในหมู่ชนของฉัน”
หากลองพิจารณาฮะดิษข้างต้นอย่างเป็นกลางก็จะสามารถได้บทสรุปที่ว่า ท่านนบีฮารูน อ. มีฐานะเดียวกับท่านนบีมูซา อ. ในทุกด้านสำหรับชาวบนีอิสรออีล เช่นเดียวกับฐานะภาพของท่านอิมามอะลี อ. ที่มีเหมือนท่านศาสดามุฮัมมัด ศ. เว้นเสียแต่ว่าท่านอิมามอะลี อ. มิได้เป็นศาสดา เพราะตัวบทของฮะดิษถูกกล่าวอย่างชัดเจน ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า
อิมามอะลี อ. ประเสริฐสุดในหมู่ประชาชาติรองลงมาจากท่านศาสดา ศ. เพราะนบีฮารูนก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้
อิมามอะลี อ. คือตัวแทนและเป็นผู้ช่วยที่ทรงเกียรติของท่านศาสดา ศ. เพราะนบีฮารูนก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกันนี้ (ซูเราะห์ ฏอฮา โองการ 29-32 )
อิมามอะลี อ. คือผู้แทนและเป็นคอลีฟะฮ์แห่งศาสดา ศ. และตราบใดที่ยังมีท่านอยู่ จะไม่มีผู้ใดเหมาะสมไปกว่าอิมาม อ. สำหรับการรับมอบหมาย และดำรงตำแหน่งนี้เช่นเดียวกับการเป็นตัวแทนของนบีฮารูน อ. ที่มีต่อนบีมูซา อ.
อิมามอะลี อ. มีสิทธิเหนือมุสลิมทุกๆคนต่อจากนบี ศ. เสมือนนบีฮารูนมีสิทธินั้นในหมู่ชนบนีอิสรออีลในยุคนบีมูซา
علي مني بمنزلة هارون من موسى
ฮาดิษ ฆอดีรคุมม์ ( حديث غديرخم )
ท่านศาสดาได้กล่าวแนะนำถึงการเป็นผู้นำสืบต่อจากท่าน ศ. ของท่านอะลี อ. เรื่อยมาในหลาย ๆ เหตุการณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อให้บรรดามุสลิมทั้งหลายได้รับรู้ถึงสถานภาพของท่านอาลีและของตนเอง และท่านได้ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่เฆาะดีรคุมท่ามกลางบรรดานักแสวงบุญที่เดินทางกลับจากการทำหัจญ์ร่วมกับท่านศาสดาเป็นครั้งสุดท้ายจำนวน 120,000 คน นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า
การประกอบพิธีฮัจญ์อำลาได้เสร็จสิ้นลง ท่านศาสดาและบรรดาสาวกที่ชุมนุมกันอยู่อย่างเนืองแน่นเต็มไปหมดในทุกที่ บัดนี้พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางกลับคืนสู่มาตุภูมิ ท่านให้สัญญาณและกองคาราวานจึงเริ่มเดินทางออกจากนครมักกะฮ์
มีที่ราบอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่า “ ฆอดีรคุมม์ ” ตั้งอยู่ห่างจากนครมักกะฮ์ไปทางทิศเหนือไม่มากนัก และเป็นชุมทางของถนนหลายสาย เมื่อท่านศาสดาได้เดินทางมาถึงบริเวณ“ ฆอดีรคุมม์ ” นี้ ท่านได้รับโองการใหม่สุดโองการหนึ่งจากเบื้องบน ซึ่งมีบัญชามาดังต่อไปนี้
يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ وَاللّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ إِنَّ اللّهَ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ
“ โอ้ศาสนทูต จงประกาศสาส์นอันนั้นที่ได้ถูกส่งมายังเจ้า จากองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า ถ้าหากเจ้าไม่กระทำเช่นนั้นเจ้าก็จะไม่ทำให้ภารกิจของพระองค์สมบูรณ์ และไม่ได้ประกาศสิ่งใดเลย และพระเจ้าจะทรงปกป้องเจ้าจากผู้คน ( ผู้ซึ่งมุ่งหมายในสิ่งชั่วร้าย ) แท้จริงพระเจ้ามิทรงนำทางบรรดาผู้ที่ปฏิเสธสัจธรรม ” ซูเราะห์ อัลมาอิดะ โองการที่ 67
พระบัญชาของพระองค์ผู้ทรงสูงสุดเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นนัก ถ้าหากจะมีก็จะไม่ลักษณะของความเด็ดขาดเช่นที่ปรากฏอยู่ในโองการนี้ และมีความสัมพันธ์อย่างแจ้งชัดกับเรื่องบางอย่างที่มีความสำคัญที่ท่านศาสดาต้องประกาศด้วยตนเอง ณ ที่นั้น และ ณ เวลานั้น ฉะนั้นท่านจึงมีคำสั่งให้กองคาราวานของท่านหยุดพักการเดินทาง และมีบัญชาให้กองคาราวานที่เดินล้ำหน้าไป และที่เดินออกไปในทิศทางอื่นกลับมาหาท่าน ท่านได้รอคอยจนกระทั่งกองคาราวานกองสุดท้ายที่เดินทางออกจากนครมักกะฮ์ได้เดินทางมาถึง
ท่านศาสนทูตมีเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่จะต้องประกาศก่อนที่บรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะแยกย้ายกันไป และท่านมีความกังวลเป็นที่สุดว่า บรรดามุสลิมจะต้องมีจำนวนที่มากที่สุดเพื่อมารับฟังท่าน แท่นเทศนา แท่นหนึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยใช้กูบของอูฐ และท่านศาสดาได้ยืนขึ้นบนกูบนั้นเพื่อว่าผู้คนที่มีจำนวนอันมากมายมหาศาลจะได้เห็นท่านด้วยกับตาของพวกเขาเอง อะลี อ. ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านยืนอยู่ข้างๆท่าน ท่านศาสดาบัดนี้พร้อมแล้วที่จะทำการประกาศ อันเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งสอดคล้องกับอาณัติของพระองค์ที่ทรงสูงส่งที่ได้อ้างถึงข้างต้น ท่านได้กล่าวขอบคุณต่อพระเจ้าที่ได้ทรงประทานความจำเริญให้กับอิสลามให้ความกรุณาปรานี และความเตตาของพระองค์และจากนั้นท่านจึงได้เสนอคำถามดังต่อไปนี้กับมวลมุสลิม
أَلَسْتُ أَوْلَى بِكُمْ مِنْ أَنْفُسِكُمْ ؟ ” قَالُوا : بَلَى يَا رَسُولَ اللَّهِ
ฉันมีสิทธิต่อตัวของพวกเจ้า มากกว่าตัวของพวกเจ้ามีต่อตนเองหรือไม่
มวลมุสลิมต่างพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ ศาสนทูตของพระเจ้า ย่อมมีสิทธิต่อตัวของเรามากกว่าตัวของเรามีสิทธิต่อตนเอง ” ท่านกล่าวต่อไปว่า หากถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันก็มีข่าวสารที่สำคัญที่จะแจ้งให้แก่พวกท่านทราบ ท่านได้ประกาศสาส์นออกไปดังต่อไปนี้
โอ้มวลมุสลิม ฉันนั้นเป็นผู้ที่ต้องตายเสมือนกับพวกท่านทั้งหลาย และในไม่ช้าฉันก็กำลังจะต้องตอบรับต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลของฉัน
ฉันขอสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้าในกรุณาธิคุณของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และพระองค์ทรงเป็นเอกะ เราล้วนแต่ต้องขึ้นตรงต่อพระองค์ พระองค์ไม่ทรงมีคู่ครอง ไม่มีบุตร ไม่มีภาคีใดๆ ฉันเป็นข้าทาสของพระองค์ และพระองค์ทรงเลือกฉันให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ เพื่อการนำทางมวลมนุษยชาติ โอ้ท่านทั้งหลาย จงเกรงกลัวพระองค์ ให้อยู่ตลอดเวลาเถิดและจงอย่าฝ่าฝืนพระองค์ จงอย่าทำการสู้รบนอกจาก เพื่ออิสลาม และจงจดจำไว้ด้วยว่าความรู้ของพระเจ้าครอบคลุมทั่วทุกสิ่ง
โอ้มวลมุสลิม จงระวังเถิดว่า เมื่อฉันได้จากไปแล้วจะมีผู้คนที่เขาแอบอ้างข้อความต่าง ๆที่เป็นเท็จมาให้กับฉัน และจะมีผู้คนอื่นๆที่จะเชื่อถือในพวกเขา แต่ฉันขอแสวงหาการคุ้มครองจากพระเจ้าว่า ฉันจะพูดแต่สิ่งที่เป็นสัจธรรม และเชิญชวนพวกท่านมาสู่ในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงประทานมาให้กับฉัน บรรดาผู้ที่ละเมิดในเรื่องนี้จะต้องได้รับการลงโทษอย่างแน่นอน
ณ จุดนี้ อุบาดะฮ์ อิบนิ ซอมิตผู้เป็นสาวกคนหนึ่งได้ลุกขึ้นมาและถามขึ้นว่า“โอ้ศาสนทูตแห่งพระเจ้า เมื่อเวลานั้นได้มาถึงเราควรจะมองหาใคร เพื่อแสวงหาทางนำ ? ” ท่านศาสนทูตแห่งพระเจ้าได้กล่าวตอบดังต่อไปนี้
“ ท่านควรจะได้ปฏิบัติตามและเชื่อฟังผู้คนที่มาจากครอบครัว ( อะห์ลุลบัยต์ ) ของฉัน พวกเขาเป็นทายาทของความรู้แห่งการเป็นศาสดาและเป็นศาสนทูตของฉัน พวกเขาจะช่วยท่านให้พ้นจากการหลงผิด และพวกเขาจะนำพวกท่านไปสู่ทางรอด พวกเขาจะเชิญชวนท่านมาสู่คัมภีร์และซุนนะฮ์ของฉัน จงปฏิบัติตามพวกเขา เพราะว่าพวกเขาไม่เคยตกอยู่ในความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งใดเลย การศรัทธาในพระเจ้าของพวกเขาไม่เคยสั่นคลอน พวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับทางนำที่ถูกต้อง นั้นคือ พวกเขาเป็นอิมามและพวกเขาเท่านั้นที่สามารถช่วยพวกท่านจากความเชื่อที่หลงผิด และการกระทำที่นอกรีตต่าง ๆ ”
พระเจ้าทรงมีบัญชาพวกท่านให้รักอะห์ลุลบัยต์ของฉัน การเสียสละให้กับพวกเขาถูกทำให้เป็นภาคบังคีบสำหรับพวกท่าน ( อัลกุรอานซูเราะห์ที่ 42 โองการที่ 23 ) พวกเขาเป็นผู้ที่ถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์ ( อัลกุรอานซูเราะห์ที่ 33 โองการ 33 ) พวกเขาเป็นพวกที่ถูกประทานความมีคุณธรรมความดี และความประเสริฐเลอเลิศมาให้ ซึ่งไม่มีผู้ใดเลยที่จะได้ครอบครอง พวกเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรด้วยกับพระองค์เอง
ณ จุดนี้ ท่านได้จับมือของอะลี บิน อบีฏอลิบ ยกขึ้นสูงและกล่าวว่า :
من كنت مولاه فهذا علي مولاه
“ขอให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ผู้ใดก็ตามที่เขามีฉันเป็นเมาลา(นาย) ของเขา อะลี ก็เป็นเมาลา(นาย)ของเขาด้วย ”
เมื่อได้ประกาศสาสน์นี้แล้ว มุฮัมมัด ศ. ได้ยกมือของท่านขึ้นสู่ฟากฟ้า และกล่าวว่า :
اَللّهُمَّ والِ مَنْ والاهُ وَ عادِ مَنْ عاداهُ وَاحِبَّ مَنْ أحِبَّهُ وَ أَبْغِضْ مَنْ أَبْغَضَهُ وَانْصُرْ مَنْ نَصَرَهُ وَاخْذُلْ مَنْ خَذَلَهُ وَ أَدِرِ الْحَقَّ مَعَهُ حَيثُ دارَ
“ โอ้ พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นมิตรกับเขาผู้ที่เป็นมิตรกับอะลี และขอพระองค์ทรงเป็นศัตรูกับเขาผู้ที่เป็นศัตรูของอะลี โอ้ พระเจ้าโปรดให้การช่วยเหลือเขาผู้ที่ช่วยเหลืออะลี และทรงละทิ้งเขาผู้ซึ่งละทิ้งอะลี โปรดให้สัจธรรมอยู่กับเขาตราบที่เขามียังมีชีวิต และโปรดอย่าแยกเขาออกสัจธรรม”
คำปราศรัยได้จบลง มุฮัมมัด มุสตอฟาศาสนทูตแห่งพระเจ้าได้ประกาศอย่างเป็นรูปแบบและเป็นทางการในการแต่งตั้งอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ทรงอำนาจของบรรดามุสลิมทั้งมวล และได้แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้าของรัฐและรัฐบาลแห่งอิสลาม
ทันทีที่การประกาศนี้ได้เสร็จสิ้นลงโองการอีกโองการหนึ่งซึ่งเป็นโองการสุดท้ายของอัลกุรอาน อัลมะญีดได้ถูกประทานลงมาให้กับมุฮัมมัด ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้
الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا
“วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์เพื่อพวกเจ้าแล้ว และได้ทำให้ความโปรดปรานของข้าสมบูรณ์เหนือพวกเจ้า และได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาของพวกเจ้า” อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 4
โองการสุดท้ายของวะฮ์ยู ที่ถูกส่งลงมายังโลกนี้ได้ถูกประทานลงมาในวันที่ 18 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีที่ 10 ของปฏิทินแห่งอิสลาม
ฮะดีษเฆาะดีรเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญและยิ่งใหญ่ ที่ยืนยันถึงความประเสริฐของท่านอิมามอะลี อ. ที่มีเหนือบรรดาเซาะฮาบะฮฺทั้งหลายทั้งในด้านความรู้ ความศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะการเป็นผู้นำ(อิมาม)ที่สืบต่อจากท่านศาสดา ศ.