การให้ความหมายของคำว่า ตะเซาวุร-ตัสดีก ในภาษาไทย
ทบทวนเนื้อหาก่อนหน้านี้
ตัสดีก ในทางภาษาหมายถึง การถือว่าสิ่งหนึ่งถูกต้อง,การยอมรับ และในทางวิชาการปรัชญาและตรรกวิทยา ก็มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ ตัสดีก ที่ใช้ในความหมายที่หมายถึง ประพจน์เชิงตรรก ประกอบด้วยภาคประธาน,ภาคแสดง,และข้อตัดสิด(เรียกกันว่า ฮุกม์)ที่จะมาทำหน้าที่แสดงความเป็นเอกภาพและความเชื่อมโยง(ระหว่างภาคประธานและภาคแสดง) และตัสดีก ที่ใช้ในความหมายที่หมายถึง ตัวของข้อตัดสินๆนั้นๆ มีภาวะบะซีฎ(เป็นเอกภาพไม่อาจแบ่ง) ซึ่งก็คือข้อตัดสินที่เป็นความเชื่อของบุคคลโดยเข้าได้รับมันด้วยความรู้โดยตรง(อิลมุลฮูฎูรีย์) นอกจากนี้อ.มิศบาฮ์ ยังมีวิจารณ์ความเห็นที่ระบุว่า ตัสดิก หมายถึง การย้ายสภาพปรากฎแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบ โดยอาศัยการอ้างอิงความหมายซึ่งกันและกัน ซึ่งท่านชี้ว่ามันเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องเพราะ ทุกที่ที่มีสภาพตัดสิน จำเป็นต้องมีการอ้างอิงความหมายซึ่งกันและกัน แต่ทุกที่ที่มีการอ้างอิงความหมายซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสภาพตัดสินเสมอไป _______________________________________
หัวข้อ การให้ความหมายของคำว่า ตัสดีก ในภาษาไทย
ในทัศนะของผู้เขียนบันทึกปรัชญานี้ จากการศึกษาและวิเคราะห์ตำราพจนานุกรม นิยาม และการแสดงทัศนะของนักตรรกวิทยาและนักปรัชผู้บันทึกได้ลงความเห็นว่า ตะเซาวุรและตัสดีก ควรแปลเป็นภาษาไทยว่า สภาพปรากฎ และ สภาพตัดสิน เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
เนื่องจากการแปล ตะเซาวุร ว่า สภาพปรากฎ เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับการนิยามของนักปรัชญาและนักตรรกวิทยาอิสลามมากที่สุด และเพราะการแปลว่า ภาพ หรือ รูป โดยตรง จะทำให้เกิดความสับสนกับ คำว่า ภาพ กับ รูป ในปรัชญาที่บางตำแหน่งมีความหมายเฉพาะที่ของมัน จึงขอหลีกเลี่ยงการแปลเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณา การแปล ตะเซาวุร ว่าหมายถึง จินตภาพ และ มโนทัศน์ เพื่อเป็นทางเลือกไว้ด้วย
เนื่องจากการแปลว่า ข้อยืนยัน ไม่สอดคล้องกับการแปลให้เข้ากันกับ สภาพปรากฎ และอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนปนกัน กับ การใช้คำว่า ข้อยืนยัน ในความหมายทั่วๆไป จึงเห็นว่า ควรหลีกเลียงการใช้คำนี้
เนื่องจากการแปลว่า พินิศจัย แม้จะมีการสื่อถึง การพิจารณา และ การตัดสินใจ ไปในตัว แต่ก็ยังถือเป็นความหมายที่ไกลจากความเข้าใจของผู้คน ซึ่งขัดกับหลักการของเราที่ยึดอยู่บน ความเรียบง่าย และเข้าถึงง่าย
เนื่องจากกการแปลว่า ประพจน์/ข้อความโดยตรง อาจทำให้เกิดความสับสนระหว่าง สถานะของประพจน์ กับ ตัวของประพจน์ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงคำนี้ ดังนั้น การแปลสองคำอันได้แก่ ตะเซาวุร กับ ตัสดีก ให้ลงตัว และสอดคล้องกันที่สุด จึงควรเป็น สภาพปรากฎ กับ สภาพตัดสิน หรือ จะเป็น รูปสภาพปรากฎ และ รูปสภาพตัดสิน ก็ถือว่าใช้ได้
สรุปเนื้อหา
จากการประมวลความหมาย และ นิยาม พบว่า การแปลคำว่า ตะเซาวุร และ ตัสดีก ให้สอดคล้องกับภาษาไทยมากที่สุด คือ การให้ความหมายว่า ตะเซาวุร คือ สภาพปรากฎ/รูปสภาพปรากฎ และตัสดีก คือ สภาพตัดสิน/รูปสภาพตัดสิน
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา