อะกีดะฮ์ คืออะไร  และมีความหมายอย่างไร
  • ชื่อ: อะกีดะฮ์ คืออะไร และมีความหมายอย่างไร
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 1:26:2 2-9-1403

อะกีดะฮ์ คืออะไร  และมีความหมายอย่างไร


คำ อะกีดะฮ์ (عَقِيْدَةٌ) มีความหมายในทางภาษาแปลว่า ความเชื่อ การศรัทธา,การปักใจเชื่อ ซึ่งมีรากศัพท์เดิมมาจากคำว่า عَقَدَ  แปลว่า ผูก,ขมวด,ปม ผูกให้แน่น ศาสนาอิสลามได้นำคำนี้มาบัญญัติในทางวิชาการว่าหมายถึง  ความเชื่อต่ออัลลอฮ์ในฐานะทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวและการศรัทธาต่อการเป็นศาสนทูตของนะบีมุฮัมมัด(ศ) และหลักศรัทธาทั้งหมดตลอดจนสิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสทั้งห้า(รูป,รส,กลิ่น,เสียงและการสัมผัส) คำว่า อะกีดะฮ์ ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีกเช่น

 

1. อุซูลุดดีน (أصُوْلُ الدِّيْنِ) แปลว่า  รากฐานของศาสนา

 

2. อีหม่าน (إيْماَنٌ) แปลว่า การศรัทธา , การเชื่อตามความจริง

 

3. เตาฮีด (تَوْحِيْدٌ) แปลว่า การให้เอกภาพ  หรือการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เพียงองค์เดียวเท่านั้น

 

คำว่า ” อีหม่าน ” และ “ เตาฮีด “ นี้เป็นชื่อเรียกเรื่องเดียวกันและเป็นที่นิยมยอมรับของนักวิชาการอิสลามในสมัยแรก(สะลัฟ) ส่วนชื่อเรียกบางชื่อเช่น อิลมุลกะลาม(عِلْمُ الْكَلاَمِ) เป็นชื่อเรียกของวิชานี้เช่นกันแต่เป็นที่นิยมของนักวิชาการสมัยหลัง(คอลัฟ)

 

ทำไมเราต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องอะกีดะฮ์

 

เพราะอัลลอฮ์(ซบ.)ตรัสว่า

 

فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ

 

พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์ เท่าที่พวกท่านมีความสามารถ บท 64 : 16

 

การศึกษาหลักอะกีดะฮ์อย่างถูกต้องถือเป็นวายิบอัยนี(ภาคบังคับรายบุคคล) ที่ต้องรับผิดชอบเท่าๆกัน เหมือนๆกัน ทุกคนต้องเรียน ต้องทำความเข้าใจ จนสามารถรู้และปฎิบัติหน้าที่ทางความเชื่อได้อย่างสมบูรณ์และไม่บกพร่อง การเรียนอะกีดะฮ์จึงเป็นภาระความรับผิดชอบประการแรกก่อนเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ เพราะอัลลอฮ์จะไม่ทรงรับและตอบแทนการปฏิบัติศาสนกิจใดๆที่ไม่มีพื้นฐานของอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง

 

ดังที่อัลลอฮ์(ซบ.)ตรัสว่า

 

وَقَدِمْنَا إِلَى مَا عَمِلُوا مِنْ عَمَلٍ فَجَعَلْنَاهُ هَبَاءً مَنْثُورًا

 

และเรามุ่งสู่ส่วนหนึ่งของการงานที่พวกเขาได้ปฏิบัติไป(โดยที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการงานที่ดี) แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองฝุ่นที่ปลิวว่อน(เพราะการงานเหล่านั้นมิได้

ตั้งอยู่บนมูลฐานและมิได้เกิดจากการศรัทธา)  บท 25 : 23 

 

และอัลลอฮ์(ซบ.)ตรัสว่า

 

وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنْسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ

 

และเราไม่ได้สร้างญินและมนุษย์ด้วยเจตนาอื่นใดทั้งสิ้น ยกเว้นเพื่อให้พวกเขารู้จักภักดีต่อเราเพียงผู้เดียว

 

บท 51 : 56

 

ดังนั้นบรรดาศาสดาจึงมุ่งเน้นเผยแพร่ที่เรื่องของอะกีดะฮ์เป็นอันดับแรก ดังที่อัลลอฮ์(ซบ.)ตรัสว่า

 

وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَسُولًا أَنِ اعْبُدُوا اللَّهَ وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ

 

และโดยแน่นอน เราได้ส่งรอซูลมาในทุกประชาชาติ (โดยบัญชาว่า) พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮ์ และจงหลีกหนีให้ห่างจากพวกเจว็ด(ตอฆู๊ต)

 

บท 16 : 36

 

บรรดานะบีทุกคนล้วนทำหน้าที่เรียกร้องสู่การศรัทธาเป็นสิ่งแรกว่า

 

ياَ قَوْمِ اعْبُدُوْا اللهَ ماَلَكُمْ مِنْ اِلَهٍ غَيْرُهُ

 

โอ้ประชาชาติของฉัน  จงเคารพสักการะอัลลอฮ์เถิด  ไม่มีผู้ได้รับการเคารพสักการะใดๆสำหรับพวกท่านอีกแล้วอื่นจากอัลลอฮ์

 

บท 7 : 59 

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ)เองก็ได้กล่าวว่า

 

أُمِرْتُ أَنْ أُقَاتِلَ النَّاسَ حَتَّى يَشْهَدُوا أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللَّهِ

 

ข้าพเจ้าได้รับบัญชาให้ต่อสู้กับมนุษย์จนถึงที่สุด จนกว่าพวกเขาจะปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น และแท้จริงมุฮัมมัดคือ ศาสนทูตของอัลลอฮ์

 

ดูบิฮารุลอันวาร เล่ม 30 : 351 และซอฮิฮ์บุคอรี ฮะดีษที่ 5

 

 

เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการศึกษาเรื่องอะกีดะฮ์   

 

ผู้ที่ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องอะกีดะฮ์อย่างดีพอแล้ว การดำเนินชีวิตของเขาจะถูกต้องและสอดคล้องกับหลักคำสอนของอิสลามอยู่เสมอ ความเชื่อมั่นและความศรัทธาในหลักความดี ความชั่วก็จะเข้มแข็งสมบูรณ์ การปฏิบัติศาสนกิจก็จะไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเขาเข้าใจและตระหนักดีอยู่เสมอว่า เขาเป็นใคร เขาทำอะไร และจะได้รับอะไร ชีวิตของผู้มีศรัทธามั่นคงจะมีแต่แก่นสารและคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยศิริมงคล แน่นอนที่สุดเขาจะต้องได้รับความสุขและได้พำนักอยู่ในสวรรค์ของอัลลอฮ์ในโลกหน้า

 

ผู้เรียนอะกีดะฮ์ควรคิดและทำตนอย่างไร 

 

เขาต้องตั้งใจและตกลงกับตัวเองอยู่เสมอว่า ตนนั้นกำลังต้องการรู้จักอิสลามให้ถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด ต้องการรู้จักพระเจ้าที่แท้จริง ต้องพร้อมที่จะยอมรับ เชื่อฟังและน้อมปฏิบัติตามทุกคำสอนอย่างศิโรราบ  อนึ่งมีความเชื่อบางส่วนที่มนุษย์สามารถรับรู้และเข้าใจได้ แต่ก็มีความเชื่ออีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างท่องแท้อันเป็นเรื่องพ้นญานวิสัยของมนุษย์ที่จะรับรู้ (เฆบ- غَيْبٌ) อาทิเช่น  เรื่อง มะลาอิกะฮ์ ญิน  ในกรณีที่สองนี้เราต้องไม่ตั้งข้อสงสัยใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อหลักศรัทธา เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือประจักษ์   แต่ต้องเชื่อว่ามันเป็นอภิสิทธิ์ของอัลลอฮ์และเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น เรา

 

ควรจะเริ่มต้นเรียนอะกีดะฮ์ที่จุดใด 

 

ต้องเริ่มต้นศึกษาโดยสังเขปเสียก่อนว่า “ อุซูลุดดีนนั้นมีกี่ประการ ” เพราะประเด็นนี้คือแก่นสาระที่สำคัญที่สุด  ส่วนรายละเอียดของหลักศรัทธานั้นค่อยศึกษาเป็นลำดับต่อไป  และการศึกษาทำความเข้าใจหลักศรัทธานั้นจะต้องใช้ความรอบคอบและการเตรียมพร้อมที่ดี  จะต้องได้รับข้อมูลจากแหล่งที่มีความถูกต้อง เชื่อถือได้เท่านั้น หากรับข้อมูลที่ผิดๆ ก็จะทำให้ความศรัทธาของตนเองคลาดเคลื่อนบิดเบือนและผิดพลาดไปในที่สุด