อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่1)
  • ชื่อ: อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่1)
  • นักเขียน: อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่1)
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 15:46:30 3-9-1403

อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่1)


ดร. นัศรุลลอฮ์ สิคอวะตี ลอดอนี / เขียน
เชคอิมรอน พิชัยรัตน์ / แปล
Democracy เป็นคำภาษากรีก ซึ่งเข้าสู่ภาษาอังกฤษผ่านทางภาษาฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบหก Demos ในภาษากรีก แปลว่าประชาชน และคำว่า Kratein แปลว่า การปกครอง ด้วยเหตุนี้นักประชาธิปไตยบางคนจึงให้ความหมายเชิงวิชาการของคำนี้ว่า “ โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลในสังคมที่จะได้รับเสรีภาพและค่านิยมทางสังคม” หรือ “ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน” หรือความหมายอื่นๆ
ระบอบต่างๆ ทางการเมืองรู้จักกับแนวคิดของประชาธิปไตยมาตั้งแต่อดีต ในลักษณะที่ว่าแม้แต่หัวหน้าบางเผ่าก็ใช้วิธีการเลือกตั้ง ในศตวรรษที่สี่และที่ห้าก่อนคริสตศักราชก็เกิดแนวคิดนี้ขึ้นในกรีกโบราณ โดยเฉพาะรูปแบบของประชาธิปไตยโดยตรงในกรุงเอเธนส์ นักวิชาการบางท่านคัดค้านแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้น เพลโตและอริสโตเติลเห็นด้วยกับการปกครองของปราชญ์และสาธารณะรัฐมากกว่าประชาธิปไตย การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์สำหรับชัยชนะของประชาธิปไตยเลยทีเดียว
สำหรับประเด็นการปกครองมีสองมุมมองด้านความชอบธรรมทางปรัชญาและการยอมรับทางสังคมวิทยาที่น่านำมาวิเคราะห์ ความชอบธรรมทางปรัชญา หมายถึง สัจธรรมและความถูกต้องของการปกครอง กล่าวคือ เมื่อมีคำถามนี้ถูกนำเสนอขึ้นว่า เหตุใดต้องเกิดการปกครองรูปแบบ (ก)ขึ้นในสังคม หรือ เหตุใดประชาชนต้องเชื่อฟังการปกครองรูปแบบนี้ ความชอบธรรมทางปรัชญาจะเป็นตัวอธิบายคำถามเหล่านี้ แต่เมื่อใดที่คำถามต่างๆ นี้เกิดขึ้นว่า เหตุใดที่การปกครองหนึ่งได้รับการยอมรับจากสังคมและประชาชนเชื่อฟังการปกครองนั้น การยอมรับของสังคมจะเป็นตัวอธิบายคำถามนี้
เราได้ทำการพิสูจน์ไปแล้วในระบอบการเมืองอิสลามว่าความชอบธรรมของการปกครองและผู้ปกครองนั้นเป็นความชอบธรรมจากพระเจ้า ความยิ่งใหญ่ ความน่าเชื่อถือทางสังคม อำนาจ สัญญาทางสังคม ชนชั้นสูง เสียงของประชาชนและอื่นๆ ไม่มีบทบาทในความชอบธรรมและความถูกต้องของการปกครองและผู้ปกครองทั้งสิ้น ปัญญาชนชาวตะวันตกบางกลุ่มเชื่อว่าไม่อาจรวมอิสลามกับประชาธิปไตยเข้าด้วยกันได้เลย แต่บางกลุ่มเชื่อว่าสามารถรวมทั้งสองเข้าด้วยกันได้ภายใต้เงื่อนไขจำเพาะ
นักคิดอิสลามมองว่าหากให้ความหมายของประชาธิปไตยว่า ที่มาของกฎหมายมาจากความต้องการและความพึงพอใจของคนส่วนมาก ย่อมขัดแย้งกับอิสลาม แต่หากประชาธิปไตยที่หมายถึงการปฏิเสธเผด็จการ ให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้คน เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันภายใต้กรอบของอิสลาม ถือว่าเป็นระบอบที่สอดคล้องกับศาสนา
ปัจจุบันการถกกันเกี่ยวกับประเด็นประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับประชาธิปไตย พรรค ประชาสังคม ประชาธิปไตยศาสนา ความรับผิดชอบของรัฐบาล สิทธิมนุษยชน สิทธิพลเรือน ในวัฒนธรรมโลกและประเทศของเราได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้เป็นพิเศษ
หมวดที่หนึ่ง
ความหมายและคำจำกัดความของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตย คำจำกัดความต่างๆ ที่ถูกเสนอไว้มีอะไรบ้างและคำจำกัดความที่ถูกรู้จักมากที่สุดคืออะไร?
แม้ว่าปัจจุบันบรรดานักวิชาการจะใช้ความพยายามที่จะหาคำจำกัดความที่รัดกุมและครบคลุมของประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่มีคำจำกัดความที่ครอบคลุมถูกนำเสนอออกมา “democracy” เป็นคำภาษากรีกซึ่งถูกนำเข้ามาในภาษาอังกฤษจากหนทางของประชาธิปไตยฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบหก ดีโมส ในภาษากรีกหมายถึงประชาชน และคราเที่ยน หมายถึงการปกครอง บ้างได้ให้คำจำกัดความทั่วไปที่สุดว่า “โอกาสที่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมหนึ่งในการได้รับประโยชน์จากเสรีภาพและคุณค่าทางสังคม” ดูเหมือนว่าคำจำกัดความนี้คือความเข้าใจของประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายและเป็นมุมมองของฝั่งตะวันออก เนื่องจากสโลแกนเก่าแก่สังคมนิยม-ประชาธิปไตย คือการพยายามเพื่อความเท่าเทียม นอกจากประเด็นนี้แล้วสโลแกนที่น่าสนใจนี้สามารถนำมาปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด คำจำกัดความของคำต่างๆ เช่น “โอกาสต่างๆ” “ประชาชนหรือคนในสังคม” “เสรีภาพ” และ “คุณค่าทางสังคม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของคำจำกัดความนี้ยังเป็นคำที่ต้องการคำอธิบาย
เนื่องจากช่วงศตวรรษที่ผ่านมา democracy ได้ถูกนำขึ้นมาพูดคุยมากกว่ายุคอื่นและได้รับความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ แต่ละฝ่ายต่างพยายามที่จะให้ตนเกี่ยวโยงกับมันหรือให้มันเข้ามาเกี่ยวโยงกับตนโดยไม่คำนึงถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของมัน กระทั่งบางระบอบเผด็จการก็ใช้คำ Democratic เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาของตนหรือใช้เป็นคำนำหน้าชื่อของตน ทั้งที่เป็นไปได้ว่ายิ่งทำให้เพิ่มปัญหามากขึ้นอีกหลายเท่า สองตัวอย่างที่ชัดเจนและเด่นชัดของการใช้คำนี้ ได้แก่: “สังคมนิยม-ประชาธิปไตย” และ “ เสรีนิยม-ประชาธิปไตย” ซึ่งถูกนำมาใช้กันดาษดื่น
เหมา เจ๋อตุง ผู้นำการปฏิวัติจีน เชื่อว่าการปฏิบัติของเสรีนิยมอย่างน้อยความหน้าซื่อใจคดสิบประเภทที่ปรากฎให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์
โดยสรุปแล้วตามคำกล่าวของบางคนที่ว่า “ตามธรรมเนียมของฝ่ายซ้าย จะเรียกผู้ที่เป็นเสรีนิยมว่า เป็นผู้ที่ถวิลหาการสมานฉันท์ที่ปราศจากหลักการ เป็นอันตรายต่อแนวคิดมาร์กซิสต์ ความยืดหยุ่นที่ไม่สมเหตุสมผลในการเผชิญกับความผิด ความประพฤติที่ไร้หลักการ การประนีประนอมและการโอ้อวด
ส่วนคำจำกัดความตามตะวันตก และประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง คาร์ลคูห์น ถือว่า ประชาธิปไตย คือ ....
(ติดตามตอนที่2)