ศึกษาอิมามัต ผ่านหนังสือมนุษย์ 250 ปี โดยอิมามคาเมเนอีย์ 33
หมวดที่1 ยุคต้นแห่งอิมามัต
บทที่10 ฐานันดรของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ)
คุณลักษณะของท่านอิมามอาลี (อ)
คำคมอาหรับบทหนึ่งได้กล่าวว่า
“ไม่ว่าเจ้าจะเข้าหาเขาด้วยช่องทางใด เจ้าจะพบว่า เขาคือมหาสมุทรเสมอ”[1]
هو البحر من ای النواحی اتینه
บุคคลผู้นี้มีแง่มุมที่หลากหลายและยิ่งใหญ่ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะสาธยายอย่างผิวเผินและสรุปรวบรัด…ให้แก่ผู้ฟังว่า ท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ) เป็นเช่นนี้[2]
แน่นอนว่า เราสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของท่านผ่านทางแง่มุมต่างๆ ค้นคว้าข้อมูลและมองด้วยบะซีรัตของเราเกี่ยวกับบุคคลผู้มีเกียรติท่านนี้ เท่าที่เราสามารถเข้าใจได้ ฉันคิดและเห็นว่า คุณลักษณะของท่านอาจจะมีถึง “ร้อย” ประการ ซึ่งตามที่เห็นในรีวายัต แม้แต่คำ "ร้อย” ประการ ยังถูกกล่าวถึงว่าเป็นคุณลักษณะเฉพาะของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)
[3] ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะเชิงจิตวิญญาณ เช่น ความรู้ ตักวา ความสันโดษ ความขันติอดทน ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะด้านจิต หรือจะเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมของท่านในฐานะบิดา สามี พลเมือง ทหาร ผู้บังคับบัญชา ผู้ปกครอง หรือในการสมาคมกับมวลชน ท่านคือเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ผู้บริหารกิจการประชาชน ผู้พิพากษา ลักษณะนับร้อยเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในตัวท่านอิมามอาลี (อ) และหากมีใครสามารถอธิบายลักษณะทั้ง “ร้อย”ประการ นี้ได้อย่างสมบูรณ์และครอบคลุม เขาจะนำเสนอภาพรวมที่สมูบรณ์ของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ) ได้
อย่างไรก็ตามรัศมีของคุณลักษณะเหล่านี้มีความกว้างขวางมาก หากแยกหัวข้อแต่ละคุณลักษณะ สามารถนำมาแต่งตำราได้อย่างน้อย หัวข้อละหนึ่งเล่มเลยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น อีหม่าน หรือ ความศรัทธาของท่านอมีรุลมุอฺนีน (อ) ท่าน (อ) คือ มนุษย์ผู้เป็นศรัทธาชน มีหนึ่งศรัทธา หนึ่งความคิด และหนึ่งความเชื่อ ฝังรากไว้อย่างมั่นคงในภวันต์(ตัวตนการดำรงอยู่)ของท่าน คำๆเดียวนี้ เราควรเปรียบเทียบกับอะไร ถึงจะสามารถรู้และเข้าใจถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ)ได้ ? ครั้งหนึ่งท่านอิมามพูดถึงตัวเองไว้เช่นนี้
لو کشف الغطاء مزددت یقیناً
“ต่อให้ม่านถูกเปิดออก ยะกีนของฉันก็จะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้อีกแล้ว”
[4]
ประโยคนี้หมายถึง ต่อให้ม่านแห่งฆัยบ(สิ่งเร้นลับ)ถูกเปิดเผยออก และฉันได้เห็นพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ ได้เห็นมะละกูตของโลก (อาลัมมาลากูต)
[5] ได้เห็นเทวฑูต,นรก,สวรรค์ และได้เห็นทุกสิ่งที่บรรดาศาสดาได้บรรยายไว้ว่าเป็นสิ่งเร้นลับ(ฆัยบ์)สำหรับตาเนื้อนี้ แต่ยะกีนของฉัน ก็จะไม่เพิ่มไปกว่าที่มีอยู่ แปลว่า ยะกีนของท่าน คือ ยะกีน ของคนที่เห็นแล้วในทุกสิ่ง นี่คือศรัทธาที่นักกวีอาหรับ
[6]นำเอามาแต่งเป็นบทกลอนว่า
اشهد باللَّه لقد قال لنا
ฉันขอสาบานต่อพระเจ้า
محمّد والقول منه ما خفا
ท่านมูฮัมมัด (ศ็อล) ได้แถลงแก่เรา ซึ่งไม่มีผู้ใดคลางแคลงต่อเรื่องนี้
لو انّ ایمان جمیع الخلقه
หากศรัทธาของทุกสรรพสิ่ง
ممّن سکن الارض و من حلّ السماء
ทั้งที่อาศัยอยู่บนดิน และทั้งที่อยู่ในชั้นฟ้า ถูกนำมารวมกัน
یجعل فی کفّة میزان لکىّ
โดยให้ศรัทธาเหล่านั้นอยู่ข้างหนึ่งของตราชั่ง (แล้วให้ศรัทธาของอาลี (อ) อยู่อีกข้างหนึ่ง)
یوفی بایمان علىّ ما وفا
แน่นอนยิ่ง ศรัทธาของอาลี(อ)จะหนักยิ่งกว่า
[7]
หากพวกเขาวางศรัทธาของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงไว้ฝั่งหนึ่งและวางความศรัทธาของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ) ไว้อีกฝั่งหนึ่ง ศรัทธาของทุกสรรพสิ่งก็ยังหนักไม่เท่าความศรัทธาของท่านอิมามอาลี (อ) หรือต่อให้ยกตัวอย่าง “ซอบีเกะฮ์อิสลาม” (อดีตและความเป็นมาของการจาริกสู่อิสลามของบุคคล) จะเห็นว่าท่าน(อ)นั้นเป็นบุคคลแรกที่มีศรัทธานับตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านได้ยอมรับในหนทางนี้และได้ยืนหยัดยึดมั่นอย่างสุดกำลังจนถึงนาทีสุดท้าย นี่คือสิ่งที่แม้แต่จะนำมากล่าวเป็นคำพูดก็ไม่อาจทำได้เลย.
สรุปเนื้อหา
-อิมามคาเมเนอีย์ได้อธิบายว่า ตัวตนของท่านอิมามอาลี (อ) คือ ตัวตนที่มีมิติและคุณลักษณะที่หลากหลายและมีความยิ่งใหญ่ ซึ่งแต่ละด้านที่ท่านอิมามอาลี (อ) ถือครองนั้นมีความยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะจำกัดความยิ่งใหญ่ในคุณลักษณะของท่านตามความเข้าใจของเราได้
-มีรีวายัตจำนวนมากที่รายงานถึงคุณลักษณะต่างๆของท่านอิมามอาลี (อ) บางรีวายัต ยังใช้คำว่า “หนึ่งร้อย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจำนวนที่มากมายของคุณลักษณะเหล่านี้
-อิมามคาเมเนอีย์ได้ยกตัวอย่างของคุณลักษณะดังกล่าวไว้โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น คุณลักษณะทางจิตวิญญาณ ได้แก่ ความรู้ ความกล้าหาญ ขันติ และความยำเกรง ,คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมในแต่ละฐานะ เช่น ในฐานะนักปกครอง ผู้พิพากษา แม่ทัพ พลเรือน
-หนึ่งในมิติที่อิมามคาเมเนอีย์ ได้ยกตัวอย่างเพื่อเป็นกรณีศึกษา คือ ความศรัทธาของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ) ซึ่งไม่อาจมีผู้ใดเทียบได้ ท่านได้ ยกบทกวีอาหรับบทหนึ่งที่กล่าวว่า หากศรัทธาของคนทั้งโลกถูกนำมารวมกัน ศรัทธานั้นก็ยังมีความหนักไม่เท่าศรัทธาของท่านอิมามอาลี (อ)
[1] เพิ่มเติม : เป็นกวีเบตหนึ่งของอบูตะมาม (بیت از ابوتمام است (دیوان، ج ۲، ۱۴)
[2] เพิ่มเติม : เพราะความเข้าใจของเรา กับ ความยิ่งใหญ่ของท่านอิมามอาลี (อ) ไม่เท่ากัน แม้จะพยายามสรุปอย่างไร ก็ไม่อาจครอบคลุมอัตลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของท่านอิมามอาลี (อ) ได้อย่างสมบูรณ์
[3] กล่าวคือ มีรีวายัต ที่ระบุถึงคุณลักษณะของท่านอิมามอาลี (อ)โดยบอกจำนวนตัวเลขอยู่ในรีวายัตนั้นด้วย
[4] ตัสนีฟ ฆุรอรุลฮิกัม วะ ดุรอรุลกะลิม ผู้แต่ง ตะมีมีย์ ออมาดีย์ มรณะ ฮศ 550 ฮาดิษ 2086
[5] ในสารานุกรมชีอะฮ์(wikifeqh) ระบุว่า อาลัมมาลากูต(عالم ملکوت) หมายถึง โลกแห่งความเร้นลับ,ฆัยบ์,อาละมุนนัฟซ์,โลกแห่งจิตวิญญาณ,อาละมุนมีซาล และบางครั้งก็ครอบครุม อาลัมบัรซัค (โลกที่อยู่ระหว่างดุนยา กับ อาคีเราะฮ์) ซึ่งเป็นโลกที่มีระดับเหนือกว่าอาลัมฏอบีอัต โลกแห่งธรรมชาต(หมายถึงโลกดุนยานี้) มีรูปและมิติ แต่ไม่มีสถานที่
อ้างอิง มนุษย์ 250 ปี เล่ม 3 หน้า 92-94