อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 3] อุศูลุดดีนข้อที่ 2 “การศรัทธาต่อความยุติธรรมของอัลลอฮ์”
โดย เชคอันศอร เหล็มปาน
อุศูลุดดีนข้อที่ 2 ของมุสลิม คือ “การศรัทธาต่อความยุติธรรมของอัลลอฮ์”
การศรัทธาต่อความยุติธรรมของอัลลอฮ์ คือ การเชื่ออย่างแน่วแน่และสัตย์จริงว่า “อัลลอฮ์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม”
ความยุติธรรม เป็นอีกพระลักษณะหนึ่งของพระเจ้า … พระเจ้าทรงยุติธรรม และพระเจ้าทรงเที่ยงธรรมกับทุกสรรพสิ่ง นั่นบอกให้เราทราบว่าพระองค์ทรงทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม และพระองค์ทรงทำเช่นนั้นอย่างเสมอต้นเสมอปลายทีเดียว โดยไม่ลำเอียง พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอ่านว่า
إِنَّ اللّهَ لاَ يَظْلِمُ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ
“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอธรรมแม้เพียงน้ำหนักเท่าผงธุลี”
شَهِدَ اللّهُ أَنَّهُ لاَ إِلَـهَ إِلاَّ هُوَ وَالْمَلاَئِكَةُ وَأُوْلُواْ الْعِلْمِ قَآئِمَاً بِالْقِسْطِ لاَ إِلَهَ إِلاَّ هُوَ الْعَزِيزُ الْحَكِيمُ
“อัลลอฮ์ มะลาอิกะฮ์ และปวงผู้มีความรู้ยืนยันว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจาก พระองค์ และพระองค์ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม”
ความยุติธรรมของพระเจ้า คืออะไร ?
จะเข้าใจขอบเขตและความล้ำลึกแห่งความยุติธรรมของอัลลอฮ์ได้ดีกว่าหากพิจารณาคำนิยามของคำว่า “ความยุติธรรม”
“ความยุติธรรม” (العدل) หากแปลตามศัพท์ หมายถึง ความเสมอภาค ความเท่าเทียม แต่ความหมายตามศัพท์วิชาบรรดาปวงปราชญ์ได้ให้ความหมาย ไว้เช่นนี้ “การให้สิทธิตามที่ควรได้รับ” { اعطاء كُلَّ ذِي حَقٍّ حَقَّهُ}
ปราชญ์บางท่านให้ความหมายว่า การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกต้องตามกาลเทศะ หรือ การวางของถูกที่ถูกต้องเหมาะสมตามที่ที่มันควรอยู่ ซึ่งนิยามนี้ ตรงกับคำว่า (ฮิกมะฮ์ หรือวิทยปัญญา)
ฉะนั้น นิยามของอัดลุ(ความยุติธรรม) ที่สมบูรณ์ที่สุดจึงสามารถสรุปได้ว่า คือ การสร้างความสมดุลในสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่บนรูปแบบที่สมบูรณ์{งดงามยิ่ง} และมีฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญาหรือปรัชญาของเป้าหมาย) เป็นการกระทำที่ยุติธรรม มีเหตุมีผล เหมาะสม ลงตัว บนพื้นฐานแห่งความจริงแท้และสมบูรณ์ อีกทั้งไม่มีความบกพร่องใดๆ
แท้จริงความเป็นวิทยปัญญาแห่งองค์อัลลอฮ(ซบ) นั้น มีสองประเภท คือ ปรัชญาทั้งด้านความรอบรู้ และปรัชญาทางด้านการกระทำ
☆ ตัวอย่าง
สมมติ ถ้านักเรียนคนหนึ่งไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ครูกลับลงโทษเขา ย่อมเกิดความสงสัยจากนักเรียนว่า ทำไมครูลงโทษเขา? และหากครูตอบว่า “ไม่มีอะไรแค่อยากจะลงโทษ”
กรณีนี้ ชี้ถึงประเด็นปรัชญาทางด้านการกระทำของครู ถือว่าไม่มีฮิกมะฮ์ ทว่าหากครูตอบว่า เพราะเธอทำความผิดและได้อธิบายถึงพฤติกรรมที่นักเรียนคนนั้นประพฤติไม่ดี ถือว่าการลงโทษนั้นมีฮิกมะฮ์ มีความถูกต้อง นัยยะนี้บ่งบอกถึง “เมื่อการใดมีฮิกมะฮ์แล้ว แน่นอนว่าความยุติธรรมย่อมอยู่ในตัวโดยปริยาย”
ท่านอิมามซอดิก ได้กล่าวว่า “พระเจ้าจะไม่ทรงเอาผิดผู้บริสุทธิ์เป็นการทดแทนจากผู้ก่อกรรมชั่วและพระองค์จะไม่ทรงลงโทษบรรดาเด็กๆ เนื่องจากความผิดบาปของพ่อแม่….แต่เป็นสิทธิสำหรับพระองค์ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกร ที่จะทรงอภัยโทษ และทรงให้ความเหนือกว่า (แก่บุคคลใดๆ) และมิใช่สิ่งที่คู่ควรสำหรับพระองค์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกรที่จะทรงกระทำการ อยุติธรรม….”
ประเภทของความยุติธรรมในอัลลอฮ์
ความยุติธรรมของพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ถูกแบ่งออกเป็นประเภทดังต่อไปนี้ คือ ความยุติธรรมในการกำหนดกฎสภาวะ การประมวลกฎหมาย และการตอบแทน ผลรางวัล แต่ละประเภทมีรายละเอียดข้อปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปดังนี้
ความยุติธรรมในการกำหนดกฎสภาวะ (تكويني)
หมายถึงอัลลอฮ์ จะประทาน สิ่งดีที่มีความเหมาะสมแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย โดยไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมด ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของสรรพสิ่งนั้น อัลกุรอานกล่าวว่า “พระผู้อภิบาลของเราคือ ผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์สร้าง หลังจากนั้น ทรงชี้นำ” เช่น ลูกกตัญญู ไม่ว่าเป็นใคร เชื่อถืออะไร ก็ได้ดีแน่นอน ลูกที่ดีนั้น แม้มีพ่อแม่ไม่ดี ก็ต้องเคารพ และกตัญญูต่อท่าน อย่ารอให้ท่านจากไปแล้วจึงค่อยเห็นคุณค่า หลักของพระเจ้า คือ ลูกกตัญญู ได้ดีทุกคน สวรรค์ประทับตรา
ในขณะที่ลูกอกตัญญู แม้เก่ง ฉลาด มีความสามารถ แต่ท้ายที่สุดจะมีอันเป็นไป ไปไม่ดี มาไม่ดี และอายุสั้น คนอกตัญญู คือ คนที่ไม่มีอนาคต ไม่มีความก้าวหน้า เป็นกฎของพระเจ้าที่ทรงกำหนดมาแล้ว มิอาจเปลี่ยนเป็นอื่นได้
ความยุติธรรมในการประมวลกฎหมาย (تشريعي)
หมายถึงอัลลอฮ์ทรงทราบดีว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนไปสู่ผู้ที่มีจริยธรรมสูงส่งและสมบูรณ์ได้ พระองค์จึงได้ประทาน บรรดาศาสดาลงมาเพื่อกำหนดกฎหมายตามคำสอนของศาสนา และชี้นำทางมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ และพระองค์ไม่ทรงกำหนดหน้าที่เกินความสามารถของมนุษย์ อัลกุรอานกล่าวว่า
إِنَّ اللّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإِحْسَانِ وَإِيتَاء ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاء وَالْمُنكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงสั่งในเรื่องความยุติธรรมและการทำดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิดและให้ละเว้นการลามกและการชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือน สูเจ้าเพื่อสูเจ้าจะได้รำลึก”
จะเห็นว่าการกระทำ 3 ประการได้แก่ความยุติธรรม การทำความดี และการบริจาค แก่ญาติสนิทเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ พระองค์กำหนดให้เป็นวาญิบ (จำเป็น) ส่วนการกระทำ 3 ประเภทถัดมาเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ไปสู่ความตกต่ำพระองค์ทรงสั่งห้าม ไม่ให้ปฏิบัติดังกล่าวไปแล้วว่าพระองค์ไม่ทรงกำหนดหน้าที่เกินกำลังความสามารถให้แก่มนุษย์ อัลกุรอานกล่าวว่า
وَلَا نُكَلِّفُ نَفْسًا إِلَّا وُسْعَهَا
“และเราไม่บังคับแก่คนหนึ่งคนใดนอกจากเท่าที่เขามีความสามารถ(ที่จะทำได้) เท่านั้น”
ความยุติธรรมในการตอบแทนผลรางวัล (جزائى)
หมายถึง พระเจ้าทรงยุติธรรม ให้รางวัลทุกคนตามการกระทำ เพราะพระองค์จะตอบแทนเราทุกคนตามการกระทำของเราเอง พระองค์จะไม่ลงโทษ หรือ ให้รางวัลแก่ผู้ใดมากไปกว่าสิ่งที่เขาเคยกระทำไว้ ความว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ไม่ทรง ตอบแทนผลรางวัล หรือลงโทษโดยเท่าเทียมกันระหว่างผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธ ผู้ที่ประกอบ ความดีและความชั่ว ทว่าพระองค์ทรงตอบแทนตามสิทธิและความเหมาะสม ของผลบุญ และผลกรรมของบุคคลนั้น บนพื้นฐานดังกล่าวจะเห็นว่า ถ้าหากพระองค์ไม่แจ้งหน้าที่ที่ กำหนดไว้โดยผ่านบรรดาศาสดา หรืออีกนัยหนึ่งไม่ทรงทำให้เหตุผลของพระองค์ สมบูรณ์ก่อนแล้ว พระองค์จะไม่ลงโทษพวกเขา อัลกุรอานกล่าวว่า
وَنَضَعُ الْمَوَازِينَ الْقِسْطَ لِيَوْمِ الْقِيَامَةِ فَلَا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَيْئًا
“และเราตั้งตราชูที่เที่ยงธรรมขึ้นในวันกิยามะฮ์ ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรม แม้แต่นิดเดียว”
[ตอบข้อสงสัย]
หากอัลลอฮ์ทรงรักและเมตตามนุษย์ และพระองค์ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แล้วเหตุใดพระองค์จึงกำหนดสิ่งเลวร้ายมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ โรคร้ายต่าง ๆ และ อื่น ๆ ซึ่งในบางครั้งเป็นเหตุให้ต้องคร่าชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก ในเรื่องนี้เราจะอธิบายอย่างไร ?
คำอธิบาย. สำหรับประเด็นดังกล่าวผู้รู้ที่สันทัดกรณีได้ให้คำอธิบายโดยอ้างถึงพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ไว้หลายประการดังนี้
1- เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆแก่มนุษยชาติ
จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติสิ่งแรกที่มนุษย์คิดเหมือนกันก็คือการหาวิธีรับมือกับภัยธรรมชาตินั้น จะเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์เลวร้ายจะมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเตือนภัย การคิดค้นโครงสร้างที่ดีสำหรับที่พักอาศัยและอี่นๆที่อยู่ในทำนองเดียวกันนี้ หรือเช่นตัวอย่างที่กล่าวกันว่าการประสบความสำเร็จของนักกีฬาไม่ได้มาเพราะพรสวรรค์ที่เขามีเพียงอย่างเดียวแต่ได้มาด้วยกับการฝึกฝนอย่างนักของครูผู้ฝึกสอนจนทำให้ความสามารถที่เขามีเกิดปฏิกิริยาในทางบวกขึ้น จนนำไปสู่ความสำเร็จ อัลกุรอานได้กล่าวว่า
فَإِنَّ مَعَ الْعُسْرِ يُسْرًا إِنَّ مَعَ الْعُسْرِ يُسْرًا
“ดังนั้นเมื่อมีความยากลำบาก(ต่อมา)จะเกิดความสบาย แน่นอนที่สุดเมื่อมีความยากลำบาก ก็ย่อมมีความสบายตามมา”
2- เป็นบททดสอบจากพระองค์อัลลอฮ์
ในบางครั้งความยากลำบากและความทุกยากที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์คือบททดสอบหนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพิสูจน์ถึงความอดทนและความศรัทธาที่ตนเองเชื่อมั่นอยู่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นความศรัทธาจะสั่นกลอนหรือไม่ พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์ว่า
وَنَبْلُوكُم بِالشَّرِّ وَالْخَيْرِ فِتْنَةً وَإِلَيْنَا تُرْجَعُونَ سوره الأنبياء/ ۳۵
“และเราะจะทดสอบพวกเจ้าอย่างจริงจัง ด้วยความยากแค้น และความสุขสบาย และในที่สุดพวกเจ้าจะถูกนำตัวกลับมายังเรา”
พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ โองการที่ 155 อีกว่า
وَلَنَبْلُوَنَّكُمْ بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوفْ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الأَمَوَالِ وَالأنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ
“ขอยืนยัน เราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอนด้วยบางสิ่งจากความหวาดกลัว ความหิวโหย ความขาดแคลนทรัพย์สิน กับชีวิต และความขาดแคลนผลไม้ และจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด”
3- เป็นบทลงโทษสำหรับผู้เนรคุณทั้งหลาย
บางครั้งการเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นแก่คนๆหนึ่งจะทำให้เขาสำนึกผิดและหวนคืนสู่ความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อะฮ์รอฟ โองการที่ 94 ว่า
وَمَا أَرْسَلْنَا فِي قَرْيَةٍ مِّن نَّبِيٍّ إِلاَّ أَخَذْنَا أَهْلَهَا بِالْبَأْسَاء وَالضَّرَّاء لَعَلَّهُمْ يَضَّرَّعُونَ
“และเราไม่ส่งนบีคนใดมาในเมืองหนึ่งๆ นอกจากเราได้ลงโทษแก่ชาวเมืองนั้นด้วยความยากแค้น และความเจ็บป่วย เพื่อพวกเขาจะได้มีความนอบน้อม(ไม่หยิ่งยโสโอหังอีกต่อไป)”
พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัซซะญะดะฮ์โองการที่ 21 อีกว่า
وَلَنُذِيقَنَّهُمْ مِنَ الْعَذَابِ الْأَدْنَى دُونَ الْعَذَابِ الْأَكْبَرِ لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ
“ขอยืนยัน ก่อนการลงโทษอันมหันต์(การลงโทษในวันกิยามัตจะมาถึง) เราจะให้พวกเขาลิ้มรสเพียงบางส่วนของการลงโทษในระดับต่ำ(สิ่งเลวร้ายต่างๆในดุนยา)ก่อน ทั้งนี้เพื่อเตือนพวกเขาให้หวนกลับคืน(สู่แนวทางอันถูกต้อง)”