อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 1] หลักศรัทธาอิสลาม(อุศูลุดดีน)
  • ชื่อ: อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 1] หลักศรัทธาอิสลาม(อุศูลุดดีน)
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 19:42:45 4-9-1403

อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 1] หลักศรัทธาอิสลาม(อุศูลุดดีน)


โดย เชคอันศอร เหล็มปาน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

หลักการศรัทธา

หลักของการศรัทธา หรือที่เรียกว่า “รุก่นอีหม่าน” หรือ “อุซูลุดดีน” คือพื้นฐานทางการศรัทธาที่มุสลิมทุกคนจะต้อง เรียนรู้ และศึกษาให้เข้าใจเพื่อจะได้มีความเชื่ออย่างถูกต้อง แม้ว่าการศรัทธาในอิสลามจะมีอยู่หลายประการด้วยกัน แต่ที่เป็นหลักที่ผู้ศรัทธาต้องเชื่อมั่นเป็นอันดับแรก ๆ นั้นมีอยู่ 5 ประการ คือ

อุศูลุดดีน 5 ประการ

1. ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ว่ามีองค์เดียว(อัต-เตาฮีด)
2. ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ว่าทรงยุติธรรม(อัล-อัดลุฮ์)
3. ศรัทธาต่อบรรดานบี(อัล-นะบูวะฮ์)
4. ศรัทธาต่อผู้นำภายหลังจากนบี ศ. (อัล-อิมามะฮ์)
5. ศรัทธาต่อวันฟื้นคืนชีพในวันกิยามัต (อัล-มะอาด)

 

อุศูลุดดีน ข้อที่ 1 ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและศรัทธาต่อความเป็นเอกะของอัลลอฮ์

การศรัทธาต่ออัลลอฮ์มี ด้วยกันดังนี้

1. การศรัทธาว่าอัลลอฮ์ สุบหานาฮ์ วะตะอาลา มีจริง

ท่านศาสดามูฮัมมัด ศ. ได้กล่าวถึงการรู้จักพระผู้เป็นเจ้าว่า

«اَوّلُ العِلْمِ مَعْرفَةُ الجبّارِ وَ آخِرُ العِلْمِ تفویض الاَمْرِ اِلَیهِ

ความรู้เริ่มแรกที่มนุษย์ควรต้องเรียนรู้ คือการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า และสุดท้ายที่มนุษย์ควรปฏิบัติ(หลังการเรียนรู้) คือการมอบหมายงานต่างๆให้แก่พระองค์”

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเชิญชวนมนุษย์ให้พินิจพิเคราะห์ในสิ่งถูกสร้างทั้งหลายพระองค์เพื่อให้เขาได้รู้ว่าโลกนี้มิได้เกิดขึ้นเองแต่มีผู้สร้างนามว่า “อัลลอฮ์”
พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ โองการที่ 165 ว่า

إِنَّ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ وَاخْتِلاَفِ اللَّيْلِ وَالنَّهَارِ وَالْفُلْكِ الَّتِي تَجْرِي فِي الْبَحْرِ بِمَا يَنفَعُ النَّاسَ وَمَا أَنزَلَ اللّهُ مِنَ السَّمَاءِ مِن مَّاء فَأَحْيَا بِهِ الأرْضَ بَعْدَ مَوْتِهَا وَبَثَّ فِيهَا مِن كُلِّ دَآبَّةٍ وَتَصْرِيفِ الرِّيَاحِ وَالسَّحَابِ الْمُسَخِّرِ بَيْنَ السَّمَاء وَالأَرْضِ لآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَعْقِلُونَ

“แท้จริงในการบันดาลชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และการสับเปลี่ยนของกลางคืนและกลางวัน และนาวาที่วิ่งอยู่ในทะเลนำมาซึ่งสิ่งอำนวยคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์ และน้ำฝนที่พระองค์ได้หลั่งลงมาจากฝากฟ้าและพระองค์ได้ใช้มันชุบชีวิตแก่แผ่นดิน(ให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น)ภายหลังจากมันได้ตาย(แห้งแล้ง)ไปแล้ว และทรงบันดาลสัตว์ทุกชนิดให้แพร่กระจายอยู่ในแผ่นดิน และการผันแปรของลมและเมฆที่ถูกควบคุม(ให้พัดลอยอยู่)ระหว่างฟ้ากับดิน(ความสมดุลที่ดำเนินต่อไป)ย่อมเป็นสัญลักษณ์สำหรับมวลชนที่ใช้ปัญญาตริตรอง(ถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า”

นอกจากพระดำรัสของพระองค์แล้ว มนุษย์เรายังสามารถค้นคว้าหาองค์พระผู้สร้างได้ด้วยการใช้สติปัญญาไตร่ตรอง ดังนั้นการค้นคว้าแต่เพียงผิวเผินก็จะได้พบกับนา นา สัญลักษณ์ที่มีอยู่ในสรรพสิ่งเหล่านั้นที่บ่งชี้ให้เห็นว่านี้คือร่องรอยของการมีอยู่ของพระผู้สร้าง ดั่งเช่น คำตอบของหญิงชรา ท่านอิมามอะลี อ. ได้ให้สาวกของท่านถามหญิงชราผู้หนึ่งซึ่งนั่งปั่นด้ายอยู่ว่า “ทำไมนางจึงศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า” นางมีหลักฐานอันใดสำหรับการพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระองค์ ? “ทันทีหญิงชราผู้นั้นก็ละมือของนางจากกงล้อที่ใช้ปั่นด้าย และเมื่อกงล้อหยุดนิ่งจากการหมุน นางก็ได้กล่าวขึ้นว่า ” ในเมื่อกงล้อเล็กๆ นี้ยังไม่อาจที่จะหมุนต่อไปได้ โดยปราศจากผู้ที่หมุนมัน ดังนั้นเราจะสามารถกล่าวได้อย่างไรว่า โลกและจักรวาลที่มีความยิ่งใหญ่ ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวและหมุนอยู่นี้ มันหมุนได้เองโดยปราศจากผู้หมุนและผู้บริหารมัน หรือว่ามันจะหมุนต่อไปโดยปราศจากผู้กระทำการหมุน “

ความเป็นระเบียบของโลกคือประจักษ์พยานที่ดีที่สุดถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า
หากท่านผู้อ่านพิจารณาดูนาฬิกา จักรเย็บผ้า ตู้เย็น เครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศ และสิ่งอื่นๆ ท่านจะประจักษ์ถึงความเป็นระบบระเบียบอันเป็นการเฉพาะของสิ่งเหล่านั้น ท่านคาดคิดกระนั้นหรือว่า เครื่องบินและอุปกรณ์ที่มีระบบระเบียบ และมีความละเอียดอ่อนเหล่านี้ มีขึ้นมาด้วยตัวมันเอง และปราศจากซึ่งการยุ่งเกี่ยวของบรรดานักวิชาการและนักประดิษฐ์คิดค้นใดๆ ทั้งสิ้น ?!

หากการคาดคิดที่ว่า: เครื่องจักรกลของเครื่องบินซึ่งมีระบบระเบียบที่สลับซับซ้อนเกิดขึ้นมาด้วยตัวเองนั้นเป็นการคาดคิดที่ไม่กินกับสติปัญญา ดังนั้นระบบอันน่ามหัศจรรย์ ซึ่งควบคุมโลกและจักรวาลอยู่ทุกซอกทุกมุมของมัน มีความเป็นระบบระเบียบ และมีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่าเครื่องจักรของรถยนต์ เครื่องบิน ยานอวกาศและสิ่งอื่นๆ นับเป็นพันๆ เท่านั้น บังเกิดขึ้นมาจากที่ใดเล่า ?

พระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันเรื่องนี้ไว้ในพระคำภีร์อัลกุรอ่านว่า

أَمْ خُلِقُوا مِنْ غَيْرِ شَيْءٍ أَمْ هُمُ الْخَالِقُونَ

“ หรือว่าพวกเขาถูกบันดาลขึ้นมาโดยไม่มีผู้ใดบันดาล (ปราศจากสาเหตุ) หรือว่าพวกเขาเป็นผู้บันดาลเสียเอง(เขาเป็นสาเหตุให้กับตัวเอง) ?”

ความหมายของโองการนี้ก็คือ ไม่เป็นที่สงสัยว่ามนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งถูกสร้างและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นมีสมมุติฐานที่ต้องพิจารณาอยู่ 3 เรื่องโดยไม่มีเรื่องที่ 4 กล่าวคือ
-1- มนุษย์เกิดขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ
​-2- หรือตัวมันเองเป็นสาเหตุให้เกิดตัวมันขึ้นมา
​-3- หรือเราจะยอมรับว่า ทุกสิ่งที่กำเนิดมาใหม่นั้นย่อมต้องพึ่งพิงอยู่กับสิ่งอันเป็นจุดเริ่มต้น(การบังเกิด)และนิรันดร์ที่ไม่ใช่วัตถุ นั้นคือ พระองค์อัลลอฮ์

ดังนั้นสมมุติฐานที่หนึ่งกับที่สองย่อมไม่เป็นสัจพจน์อย่างแน่นอน เพราะอันเนื่องจากเหตุผลที่เราได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น(นักเรียนสามารถย้อนกลับไปดูในหัวข้อเรื่อง “คำอธิบายแบบที่สอง”) เพราะฉะนั้นย่อมเหลือเพียงสมมุติฐานข้อที่สามเท่านั้นที่ถือว่าเป็นสัจพจน์ นั่นก็คือเรายอมรับว่า ทุกสิ่งที่กำเนิดมาใหม่นั้นย่อมต้องพึ่งพิงอยู่กับสิ่งอันเป็นจุดเริ่มต้น(การบังเกิด)และนิรันดร์ที่ไม่ใช่วัตถุ นั้นคือ พระองค์อัลลอฮ์

2. การศรัทธาว่าอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีภาคีร่วมใดๆสำหรับพระองค์

ความเชื่อในเอกภาพของพระเจ้า คือพื้นฐานหลักอันสำคัญที่สุดของอิสลาม ความเชื่อนี้เองที่เป็นตัวควบคุมความเชื่อทางศาสนา เป็นตัวกำหนดแบบแผนของสังคมรวม ทั้งเป็นตัวให้กำเนิดบรรดากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม

ประโยคแรกของคำปฏิญาณตนเมื่อเป็นมุสลิมคือ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ประโยคนี้เป็นเครื่องนำทางมุสลิมตลอดอายุขัยของเขา ไม่เพียงแต่ในเรื่องของศาสนาเท่านั้น แต่คำว่า เอกภาพของพระเจ้า ยังเป็นตัวนำในพฤติกรรมทางสังคมของเขาด้วยเช่นกัน คำว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด แสดงให้ว่าไม่มีสิ่งใดในมหาจักรวาลจะอยู่เหนือพระองค์ ดังที่คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า

“พระองค์คือผู้ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งมวลในพื้นพิภพนี้สำหรับสูเจ้า”

ด้วยเหตุนี้ มุสลิมจึงตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้คู่ควรแก่การเคารพภักดี ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ดิน ต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์หรือมวลมนุษย์ ดวงตะวัน ดวงจันทร์ หรือมวลหมู่ดวงดาว เพราะว่าบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นต่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์เท่านั้น เมื่อมุสลิมไม่ยอมรับความแปลกปลอมทั้งมวล และบรรดาแนวความคิดแห่งการบูชาธรรมชาติ และการบูชารูปปั้นหรือมวลมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อนั้นเขาก็พร้อมที่จะยอมรับในความเชื่อที่แท้จริงแห่งเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงประทานจุดมุ่งหมายของชีวิตให้แก่พวกเขาและกำหนดสำหรับการกระทำทั้งหลายของพวกเขา มนุษย์ที่ถูกปล่อยให้อยู่กับความรู้สึกผิดพลาดที่ว่าไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอยู่จริง ชีวิตของเขาก็จะเป็นชีวิตที่ไร้จุดหมาย และชีวิตที่ไร้จุดหมายนั้นเป็นอันตรายโดยแท้จริง นอกจากนั้นยังได้ถูกเสริมอีกว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์ ประโยคนี้มีลักษณะปฏิเสธ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด) เช่นเดียวกับที่ยืนยันว่า (นอกจากอัลลอฮ์) ซึ่งประโยคทั้งสองนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน เมื่อไม่มีใครเหนือกว่าใครและไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร ดังนั้น ความเชื่อในเอกภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้ายังเป็นเครื่องมือส่งเสริมความรูสึกแห่งภาดรภาพ (ความเป็นพี่น้องกัน) ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม

ฉะนั้น ศาสนาอิสลาม คือศาสนาที่เรียกร้องไปสู่ความเป็นเอกภาพของพระเจ้า เชื่อว่า องค์อัลลอฮ์นั้นทรงเอกะทรงอยู่แต่ผู้เดียว และเราได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อหลักความเชื่อนี้ ด้วยเหตุผลนี้แหละหลักความเชื่อในเรื่องของการเป็นเอกะของพระองค์อัลลอฮ์จึงถูกจัดให้อยู่ในสิ่งแรกจากหลัก อุศูลุดดีน ของเรา

แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นได้ว่าไม่เพียงศาสนาอิสลามเท่านั้นที่เรียกร้องไปสู่เอกภาพของพระเจ้า แต่ศาสนาอื่นๆที่มาก่อนหน้าอิสลามต่างก็มีหลักคำสอนในเรื่องนี้เช่นกัน ดังเช่นพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ที่กล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลอัมบิยาฮ์ โองการที่ 25 ว่า

وَمَا أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ مِن رَّسُولٍ إِلَّا نُوحِي إِلَيْهِ أَنَّهُ لَا إِلَهَ إِلَّا أَنَا فَاعْبُدُونِ

และเราไม่ได้ส่งศาสนทูตคนใดมาก่อนหน้าเจ้าเว้นเสียแต่เราดลโองการ(รับสั่ง)มายังเขาว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า ดังนั้นพวกเจ้าจงภักดีต่อข้าแต่เพียงผู้เดียว

ฉะนั้น อัต-เตาฮีด คือหลักศรัทธาที่สำคัญที่สุดในการรู้จักอัลลอฮ์ นั่นหมายถึง เอกภาพของอัลลอฮ์(เตาฮีด)มีความสำคัญมากถึงขั้นที่ว่าหากผู้ใดปฏิเสธเรื่องนี้ เขาผู้นั้นจะไม่ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์เลย ดังพระดำรัสของพระองค์

إِنَّ اللّهَ لاَ يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَلِكَ لِمَن يَشَاءُ وَمَن يُشْرِكْ بِاللّهِ فَقَدِ افْتَرَى إِثْمًا عَظِيمًا سوره: النساء /۴۷

“แท้จริงอัลลอฮ์ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่ผู้ตั้งภาคี(อย่างเด็ดขาด) (ในขณะที่)พระองค์ทรงอภัยให้แก่บาปอื่นนอกเหนือจากสิ่งนั้น(คือการตั้งภาคี)แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดได้ตั้งภาคีร่วมกับอัลลอฮ์แน่นอนยิ่งเขาคือผู้ละเมิดในการทำบาปอย่างใหญ่หลวง”

 

เอกภาพ(เตาฮีด)มีชนิดต่างๆมากมาย แต่ที่มีความสำคัญมากที่สุดก็คือเอกภาพอยู่ใน 4 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1. เตาฮีดในซาต(توحيدذَاتي) หมายถึง เราเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นเอกะในอาตมัน(ซาต)และไม่มีอะไรเปรียบได้กับพระองค์

قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ اللَّهُ الصَّمَدُ لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ وَلَمْ يَكُن لَّهُ كُفُوًا أَحَدٌ

จงประกาศเถิด อัลลอฮ์มีองค์เดียว อัลลอฮ์ทรงเป็นที่พึ่ง พระองค์มิได้ให้กำเนิดและพระองค์มิได้ถูกกำเนิด และไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเทียบเทียมพระองค์ได้

“لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ ”

“ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์”

 

ประเภทที่ 2. เตาฮีดในเรื่องคุณลักษณะ(توحيد صفاتي) หมายถึงเชื่อว่าพระเจ้าคือผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงปกครองและบริหารกิจการต่างๆ ดังนั้นจึงไม่มีผู้ทรงสร้างผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีผู้ทรงปกครองผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ และทรงบริหารสิ่งต่างๆทุกอย่าง สิ่งถูกสร้างต่าง ๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การปกครองต่างๆเป็นของพระองค์ การสั่งการต่างๆเป็นของพระองค์ พระองค์ผู้ทรงเดชานุภาพ และผู้ทรงเมตตา พระองค์ผู้ทรงมั่งมีและผู้ทรงอ่อนโยน พระองค์เป็นผู้ทรงเมตตาแก่ผู้ที่ร้องขอ
ความเมตตาธรรม พระองค์ผู้ทรงให้อภัยแก่ผู้ที่ขออภัยนทษ พระองค์เป็นผู้ทรงให้แก่ผู้ที่ร้องขอ พระองค์ทรงตอบรับแก่ผู้ที่ดุอาอ์ พระองค์ผู้มีชีวิตผู้ดำรงอยู่โดยพระองค์เอง

قُلْ أَ غَيْرَ اللهِ أَبْغي رَبًّا وَ هُوَ رَبُّ كُلِّ شَيْ

“จงกล่าวเถิด ฉันจะแสวงหาพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นพระผู้อภิบาลของทุกสรรพสิ่ง” (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม โองการที่ 164)

قُلِ اللّهُ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ وَهُوَ الْوَاحِدُ الْقَهَّارُ

“จงกล่าวเถิด “อัลลอฮฺคือผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง และพระองค์คือผู้ทรงเอกะ ผู้ทรงพิชิต”

ประเภทที่ 3. เตาฮีดในเรื่องของการกระทำ (توحيد افعالي) หมายถึงทุก ๆการกระทำ ทุกๆการเคลื่อนไหว และทุกๆผลของการกระทำล้วนแล้วอยู่ภายใต้อำนาจอันอิสระและความปรารถนาของพระองค์ทั้งสิ้น กล่าวคือ เชื่อว่าพระเจ้าคือผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงปกครองและบริหารกิจการต่างๆ ดังนั้นจึงไม่มีผู้ทรงสร้างผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีผู้ทรงปกครองผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ และทรงบริหารสิ่งต่างๆทุกอย่าง สิ่งถูกสร้างต่าง ๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การปกครองต่างๆเป็นของพระองค์ การสั่งการต่างๆเป็นของพระองค์ ดังพระดำรัสของพระองค์(ซูเราะห์ อัลอะฮ์กอฟ โองการที่ 4)

قُلْ أَرَأَيْتُم مَّا تَدْعُونَ مِن دُونِ اللَّهِ أَرُونِي مَاذَا خَلَقُوا مِنَ الْأَرْضِ أَمْ لَهُمْ شِرْكٌ فِي السَّمَاوَاتِ اِئْتُونِي بِكِتَابٍ مِّن قَبْلِ هَذَا أَوْ أَثَارَةٍ مِّنْ عِلْمٍ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ

“จงประกาศเถิด (โอ้มุฮัมมัดแก่ผู้ตั้งภาคีทั้งหลายว่า)พวกท่านทั้งหลายรู้หรือว่าสิ่งที่พวกท่านวอนนมัสการนอกเหนือจากอัลลอฮ์นั้น (มีคุณสมบัติดีพอต่อการเป็นภาคีกับอัลลอฮ์?)พวกท่านจงทำให้ข้าได้เห็นประจักษ์สิว่า สิ่งเหล่านั้นที่พวกท่านนมัสการนั้นได้สร้างอะไรไว้บนหน้าแผ่นดินบ้าง ? หรือจงทำให้ข้าเห็นว่า พวกเหล่านั้นได้ร่วมกับอัลลอฮ์ในการสร้างชั้นฟ้า ? (หรือไม่ก็)ให้พวกท่านจงนำคัมภีร์สักเหล่มหนึ่งก่อนหน้าคัมภีร์อัลกุรอานนี้มาแสดงแกฉัน หรือร่องร่องรอยจากความรู้ (ที่คนร่อนก่อนได้สร้างทิ้งไว้)หากพวกท่านเป็นผู้สัตย์จริง”

ประเภทที่ 4. เตาฮีดในเรื่องของการอิบาดะฮ์ (توحيد عبادي)

เรารู้และเชื่ออย่างมั่นใจอีกว่า อัลลอฮฺ สุบหานาฮุ วะตะอาลา ผู้เดียวคือ พระเจ้าที่มีคุณสมบัติที่ควรแก่การกราบไหว้อย่างแท้จริงโดยไม่มีการตั้งภาคีใด ๆสำหรับพระองค์ และพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่สมควรถวายการอิบาดะฮ์ พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นคือพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงบริหารปกครอง และดูแลแห่งสากลจักรวาล และพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นคือพระเจ้าแห่งสากลจักรวาลที่คู่ควรแก่การกราบไหว้ เราจะถวายการอิบาดะฮฺและ เคารพภักดีพระองค์ตามที่พระองค์ได้ทรงใช้ พร้อมด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ความรัก และให้การสรรเสริญถึงความยิ่งใหญ่แก่พระองค์อย่างสิ้นเชิง

وَمَا أُمِرُوا إِلَّا لِيَعْبُدُوا اللَّهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ حُنَفَاء … وَذَلِكَ دِينُ الْقَيِّمَةِ

“และพวกเขา(บรรดาศาสดา)มิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการภักดีต่อศาสนา(ของพวกเขาและพวกเขาได้ละทิ้งการตั้งภาคีโดยหวนคืนสู่เอกภาพของพระองค์อีกครั้ง) …และนั่นแหละคือศาสนาอันมั่นคงของพระองค์”

وَإِلَٰهُكُمْ إِلَٰهٌ وَاحِدٌ لَّا إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ الرَّحْمَٰنُ الرَّحِيمُ

“และผู้ควรแก่การเคารพสักการะของพวกเจ้านั้น มีเพียงองค์เดียว ไม่มีผู้ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ นอกจากพระองค์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอเท่านั้น” ( อัลบะเกาะเราะฮฺ: 163)