ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านปัจเจกบุคคลและทางสังคม
  • ชื่อ: ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านปัจเจกบุคคลและทางสังคม
  • นักเขียน: ซัยยิดมุบาร็อก ฮุซัยนี
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 16:6:30 3-9-1403

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านปัจเจกบุคคลและทางสังคม

 

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านปัจเจกบุคคลและทางสังคม เป็นศาสนาที่ไม่ได้แยกการเมืองออกจากการปกครอง อัลกุรอานมีโองการจำนวนมากที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว อาทิ การเมืองและการปกครอง ความยุติธรรมและความเสมอภาค ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของประชาชน การปรึกษาหารือต่อกัน  การสนับสนุนให้ทำความดีและห้ามปราบการทำความชั่ว การทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ การปกป้องมาตุภูมิจากการรุกราน ขอบเขตของสงคราม การปฏิบัติต่อเฉลยศึก การปฏิบัติต่อทรัพย์สินสงคราม สนธิสัญญาสงบศึก การเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงภายใน ปรัชญาการอยู่ร่วมของสังคมพหุวัฒนธรรม ความสามัคคี การค้าขายและเศรษฐกิจ ภาษีสังคม การกู้ยืม ดอกเบี้ย การฉ้อโกง ประมวลกฏหมายบทลงโทษทางคดีอาญาและแพ่ง สินไหมทดแทน มีส่วนร่วมด้านสังคมวัฒนธรรม การให้อภัย การมีความรักเอ็นดูต่อกัน การปฏิบัติต่อเด็กกำพร้า หญิงหม้าย คนชรา คนขัดสน คนยากจน ทั้งหมดล้วนเป็นบางส่วนที่อัลกุรอานได้พูดถึงนอกเหนือจากหลักศาสนกิจในปัจเจกบุคคลตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม
 

บรรดาศาสดาถูกประทานลงมาเพื่อความผาสุกของประชาชาติ โดยนำหลักคำสอนของพระเจ้ามานำเสนอทั้งในเรื่องข้อบังคับระดับบุคคล เช่นการมีเตาฮีดและศรัทธาต่อพระองค์ การนมาซ ถือศีลอด และข้อบังคับในเรื่องสังคมดังตัวอย่างข้างต้น เมื่อท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งจากพระองค์ ท่านได้เริ่มการเผยแผ่ที่มักกะฮ์ถึง 13 ปี ซึ่งเป็นการอธิบายเรื่องเอกานุภาพ การอภิบาลและการมีศรัทธาที่ถูกต้องต่อพระองค์ หลังจากนั้นจึงเป็นการสอนสั่งเกี่ยวกับภาคปฏิบัติที่อยู่ในหมวดศาสกิจทางศาสนา ซึ่งข้อบังคับบางอย่างเกิดขึ้นในมักกะฮ์ เช่นการนมาซประจำวัน การจ่ายซะกาต (ภาษีศาสนา)  แต่บางอย่างเกิดขึ้นหลังจากท่านศาสดาอพยพจากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ เช่นคำสั่งให้ถือศีลอดเกิดขึ้นเมื่อปีฮิจเราะฮ์ที่สอง ดังโองการที่ 183 ซูเราะฮ์ บากาเราะห์

หลังจากท่านศาสดาอิสลามได้อพยพสู่เมืองมะดีนะฮ์แล้ว ท่านได้จัดตั้งรัฐบาลอิสลามขึ้น และนำบทบัญญัติทางศาสนาที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานให้เป็นธรรมนูญสูงสุดสำหรับประชาชาติทั้งหมวดภาคปัจเจกบุคคลและทางสังคม ท่านได้แต่งตั้งผู้แทนประจำเมืองต่างๆ ทูตต่างประเทศเพื่อส่งสาส์นและรับสาส์น กระบวนการไต่สวนในศาลอิสลาม การปกครองด้วยหลักคำสอนของพระเจ้าจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในทุกรูปแบบ

หลังจากการจากไปของท่านศาสดาอำนาจการบริหารยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งในหลักการชีอะห์มีความเชื่อว่าอำนาจการบริหารสูงสุดเป็นของอิมามอาลี (อ) ด้วยเหตุผลจากการแต่งตั้งของพระองค์ดังโองการตับลีฆ ซุเราะฮ์ มาอิดะห์ โองการที่ 67 และอีกหลายโองการ หรือการกล่าวจากท่านศาสดาในหลายเหตุการณ์ตลอดช่วงชีวิตของท่าน ส่วนสายสุนนะฮ์เชื่อว่าต้องผ่านการคัดสรรจากผู้ทรงคุณวุฒิบางคนในลักษณะชูรอ ( اهل حل و عقد ) และเป็นที่มาของระบบคอลีฟะฮ์ (ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียดในสองเหตุผล)

หลังการจากไปของท่านศาสดา หน้าที่การรักษาศาสนายังคงเป็นหน้าที่หลักของผู้ปกครองที่ทรงธรรม จนมาถึงยุคของอิมาม ฮุเซน (อ) และเมื่อผู้ปกครองที่ยึดอำนาจอย่างฉ้อฉลจากวงศ์วานศาสดาและสถาปนาตัวขึ้นเป็นผู้ปกครองในอิสลาม ขบวนการต่อสู้เพื่อรักษาอิสลามอันบริสุทธิ์จึงเกิดขึ้นโดยอิมามฮุเซน(อ)

อิมามฮุเซน (อ) ได้ยึดบทคำสอนของท่านศาสดาและโองการจากอัลกุรอานเพื่อนำเสนอสังคมให้ล่วงรู้ถึงภัยพิบัติต่อศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นโดยการนำของยะซีด ท่านได้เชิญชวนศรัทธาชนเข้าสู่สนามแห่งการปกป้องศาสนา ท่านได้พาเครือญาติพร้อมสหายจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางยังกูฟะฮ์ตามคำเชิญชวนของประชาชนในวันนั้นเพื่อต่อสู้กับความฉ้อฉลในศาสนาที่เกิดขึ้น ปรัญชาการเดินทางของอิมามฮุเซน (อ) หมายถึงการฮิจเราะฮ์เพื่อรักษาอิสลามดังที่ท่านศาสดาได้ฮิจเราะฮ์จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ แต่อำนาจของผู้ปกครองที่อธรรมได้สร้างความหวาดกลัวให้กลุ่มชนที่เชิญชวนท่านอิมามฮุเซน (อ) ให้ล่าถอยออกจากเป้าหมายที่สูงส่ง ความอ่อนแอทางศรัทธาได้ซื้อหัวใจของพวกเขาด้วยการละทิ้งหลานรักท่านศาสดาอย่างเดียวดาย และทำให้ท่านพร้อมสหายจำนวนหนึ่งถูกปิดล้อมระหว่างทางในเมืองที่ชื่อว่า “กัรบาลา”

การสังหารอย่างเหี้ยมโหดได้เกิดขึ้นต่อหน้าเด็กและสตรี การตัดศีรษะและเสียบขึ้นบนปลายหอกคือความชอบธรรมของเหล่าศัตรูในวันนั้นที่จะกระทำต่อฝ่ายตรงกันข้าม สตรีและเด็กถูกทารุณกรรมอย่างโหดร้าย พวกเธอถูกจับล่ามโดยโซ่ตรวนเป็นเฉลยศึก ความเจ็บปวดที่ไม่สามารถจะบรรยายได้จนเป็นเหตุผลหลักให้ทุกปีของเดือนมุฮัรรอม มุสลิมทั่วทั้งโลกจะร่วมกันไว้ทุกข์ไว้อาลัยจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นบนท้องทุ่งกัรบาลา

วันนั้น ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้ปกครองอิสลาม คือคนที่สังหารหลานรักของท่านศาสดาผู้ที่ได้นำพาศาสนาอิสลามมา อิมามฮุเซน (อ) คือบุคคลที่ท่านศาสดากล่าวว่าเขาคือหัวหน้าชายหนุ่มแห่งสรวงสวรรค์  และเฉลยศึกที่ถูกจับกุมไปหลายสิบคนคือลูกหลานท่านศาสดาอิสลาม

 

ดังนั้นมุฮัรรอมคือเดือนการแห่งการไว้อาลัยต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ขอเรียนเชิญพี่น้องทุกท่านรวมทั้งเพื่อนต่างศาสนิก วันนี้ท่านสามารถรับชมรายการออนไลน์เกี่ยวกับอิมามฮุเซน (อ) ได้ ตามความสะดวกของเวลาหรือความชื่นชอบของผู้บรรยายตามลิ้งค์ด้านล่าง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวของอิมามฮุเซน(อ)จะนำสัจธรรมที่ถูกต้องบนปรัชญาการใช้ชิวิตอย่างมีเกียรติยศและต่อต้านการกดขี่และความอธรรมทั้งปวง

 

บทความโดย ซัยยิดมุบาร็อก ฮุซัยนี