อิสลามกับประชาธิปไตย(ตอน2)
  • ชื่อ: อิสลามกับประชาธิปไตย(ตอน2)
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 23:45:23 13-10-1403


อิสลามกับประชาธิปไตย(ตอน2)


ดร.นัศรุลลอฮ์ สิคอวะตี ลอดอนี / เขียน
เชคอิมรอน พิชัยรัตน์ / แปล


ส่วนคำจำกัดความตามตะวันตก ประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง คาร์ลคูห์น  ถือว่า ประชาธิปไตย คือ “การปกครองโดยประชาชน” ตามที่รู้กัน อับราฮัม ลินคอล์น ถือว่า ประชาธิปไตย คือ “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”  เพริคลีส  กล่าวว่า: “เรียกการปกครองของเราว่าประชาธิปไตย เนื่องจากว่าการบริหารอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่อยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย” อับดุลฟัตตะห์ ชะฮาดะฮ์ ได้กล่าวถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่ง่ายที่สุดไว้ในหนังสือ ประชาธิปไตย ว่าคือ “การปกครองของประชาชนโดยประชาชน” และได้ถกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับเสรีภาพไว้
เดวิด บีแธม และเควิน บอยล์ เชื่อว่า “ประชาธิปไตยมีความหมายที่ไม่ครอบคลุม และจะเรียกประเทศหนึ่งว่าเป็นประชาธิปไตยได้นั้นต้องเป็นการปกครองที่ได้มาจากหนทางของการแข่งขันในสนามการเลือกตั้งเพื่อให้ไปถึงยังอำนาจ และมีหน้าที่รับผิดชอบตอบปัญหาแก่ประชาชน ผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศนั้นมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งโดยมีกฎหมายเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง”  ในขณะที่ โจวันนี ซาร์โทรี  เชื่อว่า “ ประชาธิปไตยเป็นชื่อสวยหรูที่ไม่เคยมีอยู่จริง”
จากบทคัดย่อของคำจำกัดความข้างต้น พอที่จะทำให้เข้าถึงคำจำกัดความที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดสำหรับประชาธิปไตย คือ: “การปกครองของคนส่วนใหญ่” ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่าจากคำจำกัดความทั้งหมด ถือว่าคำจำกัดความนี้เป็นคำจำกัดความที่เหมาะสมที่สุด บ้างไม่ต้องการที่จะยอมรับคำจำกัดความของประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองของคนส่วนใหญ่” แต่กระนั้นพวกเขาพากันติดกับดักในทันที
บีแธมและบอยล์ กล่าวว่า:
“ผู้คนโดยทั่วไปมักจะมโนทัศน์ผิดพลาดว่าประชาธิปไตยเท่ากับการปกครองของคนส่วนใหญ่ หากเราให้ความหมายประชาธิปไตยตามคำอย่างถ้วนถี่ว่า “การปกครองของประชาชน” ความหมายของมันต้องเป็นการปกครองของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการปกครองของประชาชนส่วนหนึ่งที่มีต่อประชาชนอีกส่วนหนึ่ง กล่าวคือ สามารถกล่าวได้ว่าคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยคือ สิทธิ์ในการตัดสินใจ ที่ทั้งหมดต้องมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ทั้งที่การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่เป็นเพียงเบื้องต้นของกฎเกณฑ์สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเวลาที่แนวทางอื่นๆ (เช่น:การเจรา การเปลี่ยนความคิดเห็นและการประนีประนอม)ไม่ได้รับผลลัพธ์ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการก้มยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากว่าที่จะให้คนส่วนน้อยตัดสินชี้ขาดความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือขัดขวางความต้องการนั้น แต่การปกครองของคนส่วนใหญ่ที่นำสู่ความไร้ศักยภาพของคนส่วนน้อยและไม่ให้สิทธิ์ใดๆ ในการเข้าร่วมการตัดสินใจของพวกเขานั้นจำเป็นต้องจัดเตรียมขั้นเบื้องต้นอย่างเร่งด่วนเพื่อการมีส่วนร่วมตัดสินใจของพวกเขา ไม่ใช่ถือเอาตามขีดจำกัดสูงสุดในสิ่งที่ประชาธิปไตยต้องการ”
อย่างที่เห็นแล้วว่าเบื้องต้นผู้เขียนได้นำเสนอการปกครองของประชาชนทั้งหมดให้เป็นทฤษฎีหนึ่ง แต่ยอมรับในทันทีว่าเป็นเพียงประชาธิปไตยในอุดมคติเท่านั้น ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นการปกครองของคนส่วนใหญ่ คนอื่นที่ฉลาดกว่าได้ให้คำจำกัดความนี้เช่นกันแต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นการปกครองของคนส่วนใหญ่ปรากฎอยู่ในคำจำกัดความนี้: “ประชาธิปไตย,ตามคำจำกัดความหนึ่ง หมายถึง องค์รวมหนึ่งของสถาบันที่มีเป้าหมายให้เกิดความผิดพลาดขึ้นน้อยที่สุดในสำนักงานและการเมืองของสังคม ด้วยหนทางของการให้คนส่วนใหญ่ทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมและลดบทบาทการตัดสินใจทางการเมืองของปัจเจกลง”  ในหนังสือ “ฟัรแฮงเฆ อุลูมสิยอซี ได้ให้คำจำกัดความประชาธิปไตยไว้ว่า:
 “ประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในประเภทของการปกครอง และจุดเด่นของมันคือการประกาศอย่างเป็นทางการถึงหลักการที่คนส่วนน้อยต้องตามคนส่วนมากและยอมรับในสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม เป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยนั้นมาจากประชาชน”
 ด้วยเหตุนี้คำจำกัดความอันเป็นที่รู้กันของ “ประชาธิปไตย” คือ “การปกครองของคนส่วนใหญ่” ขณะเดียวกันยังไม่มีนักวิชาการท่านใดยอมรับคำจำกัดความนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ และไม่ถือว่าเป็นคำจำกัดความที่สวยงามกว่าคำจำกัดความทั้งหมด!
 หน้าต่อไปของหนังสือเล่มนี้เราจะให้คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “การปกครองแบบประชาธิปไตยคือการปกครองของคนส่วนใหญ่จริงหรือ?” ทว่าเราขอสรุปเนื้อหาในส่วนนี้ว่า คำตอบที่โปร่งใสที่สุดที่พอจะให้สำหรับคำถามเกี่ยวกับแก่นแท้ของประชาธิปไตยคือ “การปกครองของทั้งหมด” แต่เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ ในการบริหารจึงต้องจำนนให้กับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในที่นี้หมายถึงครึ่งหนึ่งที่มีมากกว่าเพียงหนึ่งคน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งจะมีจำนวนอีกครึ่งหนึ่งที่มีน้อยไปกว่าหนึ่งคนก็ถือเป็นคนส่วนน้อย
 เมื่อนั้นก็จะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้น นั่นคือ จะเกิดการโจมตีประชาธิปไตยขึ้นอย่างนับไม่ถ้วน และการปกป้องประชาธิปไตยก็เป็นไปอย่างไร้จิตวิญญาณ กล่าวคือ เป็นการปกป้องในลักษณะที่บอกกล่าวแก่ผู้อื่นว่า หากคุณรู้จักหนทางที่ดีกว่าก็เชิญนำเสนอมาเถิด หากไม่แล้วถือว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการให้สิทธิแก่สังคม กล่าวคือ การปกครองในรูปแบบของประชาธิปไตยเป็นไปในลักษณะที่ไม่มีทางเลือก และเนื่องจากไม่พบเหตุผลที่ดีกว่า จึงเป็นการปกครองที่จำเป็นต้องมี ในขณะที่หากพบรูปแบบการปกครองที่ดีกว่าการใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นการปกครองที่ไม่กินกับสติปัญญาและแม้กระทั่งเป็นการปกครองที่กดขี่ไปในที่สุด
คำจำกัดความต่างๆ ของประชาธิปไตยที่ถูกนำเสนอขึ้นนั้นปราศจากข้อสงสัยอย่างนั้นหรือ?
แฮนติงตันกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า:
(ติดตามตอน3)