พื้นฐานอิสลาม (ตอนที่ ๒ ) มารู้จักสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้
  • ชื่อ: พื้นฐานอิสลาม (ตอนที่ ๒ ) มารู้จักสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้
  • นักเขียน: อัลลามะฮ์ซัยยิด มุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอีย์
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 18:10:38 3-9-1403

 

อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อในภูมิความรู้ของพวกเขา ทำไมละ? ก็เพราะว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสมบูรณ์ในสิ่งที่ถูกสร้างของพวกเขาที่เห็นนั้นทำให้เราเข้าใจได้ถึงภูมิความรู้ของผู้สร้าง จากตรงนี้เราได้บทสรุปที่ว่า ไม่มีความจำเป็นอันใดเลยต่อการที่เราต้องการรู้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่ โดยอาศัยการเป็นและประสาทสัมผัสธรรมดา

 

มารู้จักสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้

 

เมื่อเราจ้องมองไปที่อาคารสวยงามตระการตาใหญ่โตมโหฬาร เราเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ว่า วิศวกรและผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารนี้มีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะทาง จากการเห็นอาคารที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ทำให้คิดไปถึงความรู้และวิทยาการของผู้สร้างมัน เช่นเดียวกันเมื่อเราดูเครื่องยนต์ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์และสิ่งประดิษฐ์ทีถูกคิดค้นขึ้นมา และผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ เราจะพิจารณาอยู่ตรงที่ความรู้ความสามารถของพวกเขานั้น ไม่มีความจำเป็นอันใดที่เราจะต้องเห็นผู้สร้างอาคาร และผู้ประดิษฐ์ต่างๆ ด้วยตาของเราเอง แล้วถึงจะเชื่อว่ามันมีอยู่จริง ในที่สุดถึงแม้ว่าเราได้ประจักษ์ด้วยตาก็ไม่อาจรับรู้ถึงความรู้ของพวกเขาด้วยประสาทสัมผัสภาพนอกได้เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม เราก็เชื่อในภูมิความรู้ของพวกเขา ทำไมละ? ก็เพราะว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสมบูรณ์ในสิ่งที่ถูกสร้างของพวกเขาที่เห็นนั้นทำให้เราเข้าใจได้ถึงภูมิความรู้ของผู้สร้าง   จากตรงนี้เราได้บทสรุปที่ว่า ไม่มีความจำเป็นอันใดเลยต่อการที่เราต้องการรู้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่ โดยอาศัยการเป็นและประสาทสัมผัสธรรมดา

 

แต่ยังมีของอีกมากมายที่ไม่อาจถูกเข้าใจด้วยกับประสาทสัมผัสภายนอกได้เลย ทว่าด้วยกับการพินิจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อผลที่มันได้แสดงออกมา จะทำให้รู้ถึงการมีอยู่ของมันได้ทันที คนที่มีสติปัญญานั้นด้วยกับการสังเกตและเอาใจใส่เพียงเล็กน้อย เขาก็จะพบว่าไม่มีผลอันใดที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจาก “เหตุ” หรือ “ผู้ให้กำเนิดผล” นั้น และไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์เข้ารูปเข้ารอยเกิดขึ้นโดยปราศจากผู้วางรูปแบบที่เต็มไปด้วยปัญญาและความรู้อันลึกซึ้ง

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถแบ่งสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ออกได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน

 

๑. สิ่งที่เข้าใจกันและรับรู้ได้ด้วยกับประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสความร้อนเย็นแข็ง อ่อนนุ่มด้วยมือ และลิ้มรสเปรี้ยวหวาน มัน เค็ม ด้วยกับลิ้น

 

๒. สิ่งที่มีอยู่จริงจำพวกหนึ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยกับประสาทสัมผัสภายนอกของเรา แต่จากการศึกษาถึงผลกระทบและผลที่แสดงให้เห็น ทำให้เรารู้ถึงการมีอยู่ของมัน อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวหรือเหมือนกันหมด บางชนิดเป็นวัตถุ บางชนิดไม่ใช่วัตถุ คือไม่มีขนาด หรือคุณสมบัติเหมือนวัตถุโดยทั่วไป เช่น

 

ไฟฟ้า

 

เราไม่อาจจะมองเห็นมันด้วยกับการดูที่สายไฟได้ แต่เรารู้ว่ามันมีไฟจากกระแสของมัน และผลของกระแสไฟฟ้า ซึ่งก็คือทำให้หลอดไฟสว่าง ดังนั้นไฟฟ้า คือสิ่งหนึ่งที่มีอยู่จริงถึงแม้ว่าเราไม่อาจเห็นมันได้โดยตรง

 

แรงดึงดูด

 

ถ้าเราปล่อยหนังสือที่อยู่ในมือของเรา มันก็ตกลงบนพื้น ซึ่งก็หมายความว่า พื้นได้ดูดมันเอาไว้ แรงหรือพลังงานที่ว่านี้คืออะไร ? ซึ่งเราไม่อาจรู้สึกหรือสัมผัสได้ด้วยกับประสาทสัมผัสของเรา   นี่คือ แรงดึงดูดหนึ่งในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ แต่เรามั่นใจว่ามันมีด้วยกับการตกของสิ่งของ (ซึ่งคือผลของมันที่ดูดสิ่งนั้นมา)

 

พลังแม่เหล็ก

 

ถ้าเราเอาแม่เหล็กไปวางใกล้กับท่อนไม้ชิ้นหนึ่ง จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากที่เราเห็น แต่ถ้าเราเอาเหล็กดังกล่าวแหย่ไปที่แม่เหล็กนั้น เราจะพบว่ามีพลังพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง

 

รังสีที่มองไม่เห็น

 

ถ้าเราเอาแท่งแก้วทรงสามเหลี่ยม ให้ดวงอาทิตย์ส่องมาโดนมัน เราจะเห็นรังสี ๗ สี พวยพุ่งออกมาจากแท่งแก้วนั้นอันประกอบไปด้วย  สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน สีฟ้าและสีม่วง จากรังสีสีแดงถึงรังสีสีม่วงจะไม่พบรังสี สีใดอีก ทั้งๆที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ยังมีรังสีอื่นอีกที่ดวงตามองไม่เห็น ซึ่งมีผลทางความร้อนและเคมีอยู่   รังสีเหล่านี้มีชื่อว่า “ไม่ใช่สีแดงและไม่ใช่สีม่วง (ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์) ในปี ค.ศ. ๑๘๐๐ (ฮ.ศ๑๑๗๘) นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์คนหนึ่งนามว่าเฮอร์เชล เกิดความคิดว่า เขาจะต้องทำการค้นคว้าให้ได้ว่า ยังมีรังสีอื่นที่สายตามองไม่เห็นอีกหรือไม่? เขาได้เอา “เทอร์โมมิเตอร์” วางลงบนผ้าผืนหนึ่งซึ่งมีลำแสงทั้งเจ็ดปรากฏอยู่ โดยเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ว่างบนรังสีแต่ละทาง และวัดอุณหภูมิของแต่ละรังสีไว้ เมื่อวัดถึงรังสีสีแดง เขาพบว่า เทอร์โมมิเตอร์นั้นขึ้นสูงมาก หลังจากนั้นเขาก็ได้บทสรุปว่า

 

ยังมีรังสีที่มองไม่เห็น (ไม่ใช่แสงสีแดง) อยู่ และให้ความร้อนมากกว่ารังสีทั่วไป พลังความร้อนที่เป็นผลมาจากรังสีเหล่านี้ ทำให้มนุษย์เชื่อว่ามี “รังสีไม่ใช่แสงแดง” อยู่ในสมัยนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ชื่อ วิลาสโตน ได้นำเอาองค์ประกอบทางเคมีส่วนหนึ่งของแร่เงินมา โดยวางไว้หลังรังสีสีม่วง เขากลับพบสิ่งที่ผิดสมมุติฐานไป กล่าวคือไม่พบว่ามีรังสีอื่นอีกแต่มี “ตัวทำ” อันหนึ่งที่ทำให้องค์ประกอบทางเคมีของแร่เงินนั้นเปลี่ยนสีเป็นสีดำ

 

สมัยต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า การเปลี่ยนสีผิวของร่างกายเมื่อถูกแสงอาทิตย์นั้นก็เป็นผลทางเคมีของรังสีนี้นั่นเองด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันว่ายังมีรังสีอื่นอีก หลังจากรังสีสีม่วงซึ่งมอง ไม่เห็นโดยเรียกมันว่า “รังสีหลังแสงสีม่วง”

 

เสียงที่ไม่ได้ยิน

 

มีเสียงอีกมากมายที่เราไม่ได้ยิน เสียงเหล่านี้ถูกเรียกว่า “เสียงที่เหนือกว่าเสียงทั่วไป” ซึ่งจากผลของมันทำให้เรารู้ถึงการมีอยู่ของมัน ในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมได้ใช้ประโยชน์จากเสียงเหล่านี้

 

ความเข้าใจ

 

พวกเราทุกคนรู้จักตัวเอง คือเข้าใจว่า เรามีชีวิตอยู่ และมีการรับรู้ที่เป็นระบบเกี่ยวกับสิ่งภายนอกตัวเรา  ยกตัวอย่าง

 

๑. ฉันได้แก้ไขปัญหาโจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุดได้แล้ว

 

๒. ฉันคิดอย่างหนักถึงทฤษฏีหนึ่ง แล้วก็พบว่ามันถูกต้องแล้ว

 

เช่นเดียวกัน มนุษย์รู้ถึงความรอบรู้ของตัวเอง หมายความว่า “เขารู้ว่าเขารู้” ความรู้ ความเข้าใจไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือได้ยินด้วยหู แต่มันคือความเป็นจริงที่ไม่อาจสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส ซึ่งมนุษย์ทุกคนรู้จักมัน นอกเหนือจากการเห็นการได้ยิน และประสาทสัมผัสอื่นที่อยู่ในตัวเอง  ส่วนคนอื่นก็ไม่อาจที่จะล่วงรู้ได้  จากแนวทางที่ใช้ประสาทสัมผัส แต่จะต้องรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันด้วยกับสื่อทางผลที่แสดงออกมา เช่น นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้อธิบายถึงวิธีการแก้ปัญหาทางวิชาการหนึ่ง ก็เป็นที่รู้กันว่า เขาได้เข้าใจมันในตอนนั้น ถ้าเราถามนักวิทยาศาสตร์คนนั้นว่า “ท่านได้รู้ถึงทางออกของปัญหานั้น แล้วใช่หรือไม่?” เขาก็จะตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้แล้ว” เราเข้าใจว่า เขานั้นมีความรู้ต่อสิ่งที่เขารู้มา หมายความว่า “เขารู้ว่า เขารู้วิธีแก้ปัญหานั้น”

 

การใช้ความคิดสร้างภาพจินตนาการ

 

มนุษย์สามารถที่จะสร้างภาพทุกชนิดที่เขาต้องการได้ในความรู้สึกนึกคิดของเขา เช่น เขาสามารถที่จะสร้างภาพหอ ๆ หนึ่งเหมือน “หอไอเฟล” ในโลกแห่งความคิดของเขาได้ภายในอึดใจเดียว ในขณะที่การก่อสร้างจริงๆ ของมัน (ในโลก) ต้องใช้เวลาหลายปี ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งแรงงานคนอีกนับพันคน

 

ไม่เพียงเท่านั้นเขาสามารถสร้างให้มันใหญ่โตกว่าเป็นพัน ๆ เท่าโดยไม่ต้องเสียแรงอะไรเลย เช่นเดียวกัน เขาอาจจินตนาการถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีอยู่จริงในโลกภายนอก เขาสามารถที่จะสร้างสัตว์ประหลาดที่มีหัวหลายหัวและมีมือ เท้าหลายอัน ในการจินตนาการของเขาก็ได้ แน่นอนเหลือเกินว่าคนอื่นไม่อาจมองเห็นหรือได้ยินได้ แต่จำเป็นจะต้องติดตามจากผลของมันที่แสดงออกมา หรือจากคำพูดของคนๆ นั้น

 

ความรัก ความเกลียด และการตัดสินใจ

 

ทุกคนมีสิทธิที่จะนึกชอบสิ่งหนึ่ง และในทางกลับกันก็อาจจะรู้สึกไม่ชอบต่อสิ่งนั้นก็เป็นได้ เช่นเดียวกับที่ในชีวิตของเราจำเป็นต้องมีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ การงานทุกอย่างที่เขาชอบมัน เขาก็ต้องตัดสินใจที่จะปฏิบัติสิ่งนั้นและทุกอย่างที่เขาไม่ชอบ เขาก็จะไม่สนใจมัน และตัดสินใจว่าจะไม่ทำในสิ่งนั้น ไม่มีใครที่จะล่วงรู้การตัดสินใจของผู้อื่นได้โดยตรง ไม่รู้ว่า เขาชอบหรือเกลียดอะไร นอกจากต้องพิจารณาจากผลตอบสนองของมัน เพราะความรัก ความโกรธเกลียด และการตัดสินใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกมองเห็นหรือได้ยิน หรือสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสอื่นๆ

 

การมีชีวิต

 

ลูกไก่ตัวเล็กสีสันสวยงามตัวหนึ่งอยู่ข้างหน้าเรา กำลังตกไปในบ่อน้ำและตายก่อนที่เราจะช่วยไว้ได้ทัน ในวงจรชีวิตของสัตว์น้อยตัวนี้ ในช่วงเวลานั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สภาพปัจจุบันของมันแตกต่างอย่างไรกับวินาทีที่แล้ว ที่มันยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้มันไม่หายใจ ไม่วิ่ง ไม่กินอาหารอีกแล้ว

 

จำเป็นจะต้องกล่าวว่า สิ่งที่มีอยู่ในสัตว์ที่มีชีวิต และไม่มีในสัตว์ที่ตายแล้วก็คือ “ชีวิต”ดังนั้น ตัวชีวิตนี้ไม่อาจสัมผัสหรือมองเห็นได้ แต่เรารับรู้ได้ว่าสัตว์ตัวนั้นมีชีวิตก็ดูจากการที่มันยังเคลื่อนที่ และกินอาหารได้นั่นเอง ความเป็นจริงทางวิชาการ และความชัดเจนของตัวอย่างดังกล่าวข้างบนเป็นที่กระจ่างขึ้นว่า นอกเหนือจากสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไปที่เราสัมผัสได้ด้วยประสาทที่สัมผัสทั้งห้า ยังมีสิ่งอื่นที่ไม่อาจสัมผัสได้โดยตรง แต่เราสามารถรู้จักสิ่งนั้นได้จากผล และการตอบสนองที่ออกมา เราจึงได้บทสรุปว่า ไม่เป็นการถูกต้องเลยที่เราจะปฏิเสธสิ่งหนึ่งอันเนื่องมาจากเรามองไม่เห็นมัน เพราะการมองไม่เห็นไม่ใช่การแสดงถึงการไม่มีของสิ่งนั้น แนวทางการรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้มีเฉพาะกับการรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้น สติปัญญา ความรู้สึกนึกคิดของเราก็สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งหนึ่งได้ ด้วยการดูจากผลของมันที่แสดงออกมา เหมือนกับการมีอยู่ของสิ่งดังกล่าวข้างต้น  ที่ถูกรู้จักจากผลที่แสดงออกมา  ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าไม่มี

 

เราไม่ต้องการที่จะกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าก็เหมือนกับสิ่งที่มีอยู่จริงเหล่านั้น เพราะพระองค์คือความจริงแท้หนึ่งซึ่งอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์ แต่จุดประสงค์ของเราก็คือ เราสามารถรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้ด้วยกับการพิจารณาผลที่แสดงออกมาของมัน ฉันใดฉันนั้น เราก็สามารถที่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าได้ ด้วยกับผลที่ปรากฏให้เห็นอยู่

 

ดังนั้นพวกที่ใช้ตาดูอย่างเดียว แล้วปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าเพราะไม่อาจมองเห็นได้นั้น ตาใจและความคิดของเขาได้มืดบอดไปแล้วเพราะเรารู้แล้วว่า ตามสามัญสำนึก เราสามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าได้ด้วยกับการพิจารณาระบบแห่งการสร้างสรรค์อันวิจิตรพิสดารของพระองค์ “จงเปิดตาใจของเจ้าออก ซึ่งมันเป็นเสมือนแก่นแท้ของการมองเห็นแล้วเจ้าก็จะเห็นในสิ่งที่ไม่อาจมองเห็น” เพราะทุกสรรพสิ่ง คือเครื่องหมายที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์

 

แง่คิดที่ละเอียดกว่า และมีความสำคัญยิ่งกว่าที่กล่าวไป ก็คือ การพินิจพิจารณากับผลอันเกิดจากพลานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เช่น โลก และสมาชิกโลกไม่เพียงแต่ชี้นำเราสู่การมีอยู่ของพระองค์เท่านั้น ยังทำให้เรารู้ถึงความจริงอีกหลายประเด็น กล่าวคือ โลกและสมาชิกโลกนั้น คือสิ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์ สิ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์ นี้ใช่ว่าจะมีเฉพาะกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือสถานที่หนึ่งสถานที่ใดไม่ ทุกอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่แสดงถึงการมีของพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้นตัวของพระองค์เอง คือความจริงแท้หนึ่ง ซึ่งไม่มีสิ่งใดในโลกนี้เสมอเหมือนหรือเท่าเทียมพระองค์ อีกทั้งพระองค์ คือสิ่งที่มีอยู่อันไร้ขอบเขต ซึ่งมีความสมบูรณ์อย่างสูงสุดอยู่ และปราศจากซึ่งความบกพร่องใดๆ

 

ด้วยเหตุนี้เอง จากการพินิจพิจารณา และศึกษาถึงร่องรอยแห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า ทำให้เราได้พบความจริงสองประการนี้

 

๑) การทีอยู่ของพระผู้สร้างโลก ซึ่งสรรพสิ่งทั้งมวล คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์

 

๒) อันเนื่องจากสิ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระองค์นี้ไร้ซึ่งขอบเขตจำกัดไม่จำเพาะเจาะจงกับเวลาหนึ่งเวลาใด หรือสถานที่หนึ่งสถานที่ใด ทำให้เราได้เข้าใจว่า พระองค์ คือการทีอยู่หนึ่งซึ่งไร้ขอบเขตจำกัดใดๆทั้งสิ้น พระองค์มีคุณลักษณะอันสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่า เราจะไม่สามารถรู้ถึงการมีอยู่จริงของพระองค์ได้

 

ท่านมุฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ คุรอซานี คนรับใช้ท่านอิมามริฏอ(อ)  กล่าวว่า :

 

มีคนกลุ่มหนึ่งนั่งอยู่กับท่านอิมาม(อ) แล้วก็มีผู้ปฏิเสธพระเจ้าคนหนึ่งได้เข้ายังกลุ่มนั้น ท่านอิมาม(อ) กล่าวกับเขาว่า “หากเป็นไปตามที่เจ้าพูดว่า พระผู้เป็นเจ้า ศาสนทูต และคัมภีร์ไม่มีอยู่จริง (ความเป็นจริงมี) ละก็ การนมาซ การถือศีลอด การจ่ายซะกาต และความเชื่อของเราจะเป็นอันตรายสำหรับเราหรือ?”  ชายคนนั้นไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น (แสดงว่าไม่มีอันตราย)  ท่านอิมาม(อ) กล่าวต่อไปว่า : “แต่ถ้าสิ่งที่เรากล่าว คือพระผู้เป็นเจ้ามีจริง ศาสนามีจริง วันแห่งการตัดสินตอบแทนมีจริง (ซึ่งต้องมีอย่างแน่นอน) ว่าเป็นความจริงทั้งสิ้น เจ้าจะไม่พบกับความต้อยต่ำ และหายนะหรือ?”  (เป็นที่กระจ่างชัดว่า ตามสามัญสำนึกของทุกคน แม้เพียงคาดการณ์ว่ายังมีโลกอื่นอีก เขาก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติภารกิจทางศาสนาของเขา เพื่อจะไม่ตกอยู่ในสภาพแห่งความหายนะ)

 

ชายคนนั้นถามขึ้นว่า “แล้วพระผู้เป็นเจ้าที่ท่านเชื่อนั้นอยู่ที่ไหน และอยู่อย่างไรเล่า?” ท่านอิมาม (อ) ตอบว่า “คำถามของเจ้าผิด พระผู้เป็นเจ้าไม่มีที่อยู่ ที่จะถูกตั้งคำถามว่าอยู่ที่ไหน พระองค์เป็นผู้สร้างที่อยู่ (ของทุกสรรพสิ่ง) พระองค์ไม่มีสภาพว่าเป็นอย่างไร จึงไม่อาจตั้งคำถามว่า พระองค์มีอย่างไร พระองค์เป็นผู้สร้างสภาพต่างๆ ขึ้นมาเอง ดังนั้นจึงไม่อาจรู้จักพระองค์ได้ด้ว ยแนวทางเหล่านั้น

 

พระผู้เป็นเจ้าไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส และไม่ทางที่จะนำไปเปรียบกับสิ่งถูกสร้างใดๆ”

 

ชายคนดังกล่าวแย้งว่า “หากว่าไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ดังนั้นพระองค์ก็ไม่มี”

 

ท่านอิมาม(อฺ) จึงตอบ “ความหายนะจงมีแก่เจ้า (ทำไมความคิดเขลาขนาดนี้) เพียงเพราะประสาทสัมผัสของเจ้าไร้ความสามารถที่จะรู้จักพระองค์ เจ้าก็อาจหาญที่จะปฏิเสธ พระผู้สร้างตัวเองกระนั้นหรือ? แต่พวกเรา ทั้งๆ ที่รู้ว่า เราไม่มีความสามารถที่จะเจอพระองค์ได้ เราก็เชื่อมั่นว่า พระองค์ คือพระผู้อภิบาลของเราแต่เพียงผู้เดียว”

 

เขากล่าวตอบว่า “งั้นก็ลองบอกซิว่า พระองค์มีมาเมื่อไร?”

 

ท่านอิมาม(อ) ตอบ “เจ้านั้นแหละจงบอกซิว่าพระองค์ไม่มีมาตั้งแต่เมื่อไร เพื่อที่ข้าจะได้บอกว่า พระองค์มีมาตั้งแต่เมื่อไร (หมายความว่า พระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ก่อน “กาลเวลา” พระองค์เป็นผู้สร้าง “กาลเวลา” ขึ้นมา)”

 

เขากล่าวว่า “เหตุผลในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร?”

 

ท่านอิมาม(อ) ตอบว่า “เมื่อเวลาที่ข้าคิดพิจารณาในเรื่องร่างกายของข้า ข้าเห็นว่า ตัวข้าเองไม่อาจเพิ่มเติมให้มันสั้น ยาว ได้ตามใจชอบ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจรู้สึกให้สบาย หรือไม่ให้สบายตามใจปรารถนาของตัวเองได้ (บางครั้งพยายามที่จะให้หายป่วยจากโรคหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นผล) ด้วยสาเหตุดังกล่าว และจากการพิจารณาระบบแห่งสุริยจักรวาล อีกทั้งสิ่งถูกสร้างทั้งมวลในโลกทำให้ข้าเข้าใจได้ว่า ร่างกายของข้าและโลกที่ถูสร้างนี้มีพระผู้อภิบาล และพระผู้สร้าง (ที่ทรงรอบรู้ และปรีชาญาณ)”


เขียนโดย  อัลลามะฮ์ซัยยิด มุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอีย์