ความเชื่อเรื่องมะอาด(การกลับคืนสู่ปรโลก)ในอิสลาม ตอนที่ 2
  • ชื่อ: ความเชื่อเรื่องมะอาด(การกลับคืนสู่ปรโลก)ในอิสลาม ตอนที่ 2
  • นักเขียน: เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 14:0:51 3-9-1403

ความเชื่อเรื่องมะอาด(การกลับคืนสู่ปรโลก)ในอิสลาม ตอนที่ 2

 

      

ในเนื้อหาของบทความนี้ เราจะขอนำเสนอข้อพิสูจน์ทางด้านสติปัญญาเพียงสองประการ พร้อมกับการอ้างอิงหลักฐานจากตัวบทของคัมภีร์อัลกุรอานประกอบในส่วนท้าย เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อหาอันจำกัดของบทความนี้

 

ข้อพิสูจน์ถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของ “มะอาด”    

 

    ข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “ฮิกมะฮ์” (วิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า) : ในการอธิบายข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “ฮิกมะฮ์” สามารถนำเสนอในรูปของข้อสมมุติฐานได้ดังต่อไปนี้

 

         ประการแรก : พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงวิทยปัญญายิ่ง (อัลฮะกีม) กล่าวคือ การกระทำต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่ก่อประโยชน์นั้น ย่อมจะไม่บังเกิดขึ้นจากพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงไว้ซึ่งความความสมบูรณ์ ไร้ซึ่งความต้องการใดๆ ทั้งปวง (อัลฆ่อนี) และไม่มีเป้าหมายใดๆ ในการกระทำของพระองค์ที่จะย้อนกลับไปสู่ “ซาต” (ตัวตน) ของพระองค์ แต่กระนั้นก็ตาม การกระทำ (เฟี๊ยะอ์ลุน) ของพระองค์ เป็นสิ่งที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาและเป็นสิ่งที่มีเป้าหมาย ทว่าเป้าหมายของการกระทำของพระองค์นั้น คือการทำให้สรรพสิ่งถูกสร้างที่ดำรงอยู่ทั้งมวลดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) ที่แท้จริงของมนุษย์

 

         ประการที่สอง : การสร้างมนุษย์ คือการกระทำอย่างหนึ่งจากบรรดาการกระทำ (อัฟอาล) ของพระผู้เป็นเจ้า และอยู่บนพื้นฐานของวิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า (ฮิกมะฮ์) ดังนั้นการสร้างมนุษย์ถือเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายต่างๆ อันเป็นการเฉพาะ

 

         ประการที่สาม : เป้าหมายสูงสุดของการสร้างมนุษย์ก็คือ เพื่อให้เขาได้ไปถึงซึ่งความสมบูรณ์ (กะม้าล) อันเป็นนิจนิรันดร์ และการบรรลุสู่ความเป็นจริงของเป้าหมายดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์แห่งปรโลก ทั้งนี้เนื่องจากการพิจารณาถึงความซับซ้อน ความยิ่งใหญ่แห่งการดำรงอยู่ของเขา และความพร้อมความสามารถต่างๆ อันทรงคุณค่าของเขา หากการดำเนินชีวิตอยู่ของมนุษย์ถูกจำกัดอยู่ในชีวิตเพียงไม่กี่วันของโลกดุนยา (โลกนี้) และด้วยกับความตายทำให้ชีวิตของเขาจบสิ้นลงโดยปราศจากการเคลื่อนย้ายไปสู่ปรโลกอันเป็นนิรันดรแล้ว ถือว่าการสร้างมนุษย์ขึ้นมาย่อมจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระและไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย

 

      โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า มนุษย์มีองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งที่นอกเหนือไปจากร่างกายที่เป็นวัตถุ ซึ่งนั้นก็คือวิญญาณ (รูห์) ที่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ และสามารถที่จะกลายเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ในด้านต่างๆ อย่างเป็นนิรันดร์ได้ และในอีกมุมหนึ่ง สัญชาตญาณทางธรรมชาติประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบรรจงสร้างไว้ในตัวมนุษย์ นั่นก็คือความรักและความมุ่งมาตรปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ ฉะนั้นการมีอยู่ของสองสิ่งนี้ (คือวิญญาณที่พร้อมจะดำรงอยู่ตลอดไป และความปรารถนาที่จะดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์) จะสอดคล้องกับวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) แห่งการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าได้ก็ต่อเมื่อ จะต้องมีการดำรงชีวิตใหม่ในโลกอื่นที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าเขาอีก ที่นอกเหนือไปจากการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ที่ปิดฉากลงด้วยกับความตายของเขา

 

      ดังนั้นจากสมมุติฐานดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า จำเป็นจะต้องมีการดำรงชีวิตใหม่สำหรับมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังการดำรงชีวิตที่มีขอบเขตจำกัดแห่งโลกนี้ (ดุนยา) เพื่อจะได้ไม่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อฮิกมะฮ์ (ความมีวิทยปัญญา) แห่งพระผู้เป็นเจ้า

 

    ข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “อะดาละฮ์” (ความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า) :

 

เกี่ยวกับข้อพิสูจน์ว่าด้วยเรื่อง “อะดาละฮ์” สามารถอธิบายได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

 

         ประการแรก : พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม (อาดิล) กล่าวคือ การกระทำที่เป็นความอธรรมและการกดขี่ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นจากพระองค์ได้เลย

 

         ประการที่สอง : ความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นตัวกำหนดว่า บรรดาผู้ประพฤติดีและบรรดาผู้ที่ประพฤติชั่วแต่ละคน จะต้องได้รับผลรางวัลตอบแทนและโทษทัณฑ์ตามความเหมาะสมของตนเอง

 

         ประการที่สาม : ในโลกใบนี้ มนุษย์ทุกคนมีอิสรเสรีในการเลือกและการปฏิบัติการงานต่างๆ ทั้งที่ดีงามและเลวร้าย ในด้านหนึ่งนั้นเราจะพบเห็นบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตของตนเองไปในการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และรับใช้บริการปวงบ่าวของพระองค์ และในอีกด้านหนึ่ง เราจะพบเห็นคนชั่วจำนวนไม่น้อย เพื่อสนองตอบอารมณ์ใคร่แห่งมารร้ายต่างๆ ของตนเอง พวกเขาได้ยื่นมือเข้าสู่ความอธรรมต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุด และกระทำความชั่วต่างๆ ที่เลวร้ายที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะได้พบเห็นในโลกนี้ที่บรรดาผู้ประพฤติดีและบรรดาผู้ประพฤติชั่ว กลับมิได้รับรางวัลตอบแทนและโทษทัณฑ์ที่คู่ควรต่อการกระทำต่างๆ ของพวกเขา ผู้ประพฤติดีจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความคับแค้นและความยากลำบากนานัปการ

 

      ในทางกลับกันเราจะพบเห็นว่าบรรดาผู้ปฏิเสธ คนชั่วและผู้อธรรมจำนวนไม่น้อย กลับมีชีวิตอยู่ด้วยความมั่งคั่ง สุขสบาย และได้รับปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตทางดุนยา (โลกนี้) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยพื้นฐานแล้วการดำเนินชีวิตทางโลกนี้ (ดุนยา) ไม่อาจสนองตอบรางวัลหรือโทษทัณฑ์ของการกระทำต่างๆ ของมนุษย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้สังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนนับพันคน แต่เราก็ไม่สามารถลงโทษเขาด้วยการฆ่าให้ตายตกไปตามกัน (กิซ๊อซ) ได้มากไปกว่าหนึ่งครั้ง โดยที่อาชญากรรมอื่นๆ ของเขายังคงติดค้างอยู่โดยยังมิได้รับการลงโทษทัณฑ์ ในขณะที่บนพื้นฐานของความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า ทุกๆ คนที่กระทำความดีหรือความชั่ว แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด ก็สมควรที่เขาจะต้องได้รับผลของมันอย่างครบถ้วน

 

      ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อหลักความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า จำเป็นจะต้องมีอีกโลกหนึ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่กระทำความดีและผู้ที่กระทำความชั่วทั้งมวลได้รับผลรางวัลและโทษทัณฑ์จากการกระทำต่างๆ ของตนเองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และนั่นก็คือโลกหน้า (อาคิเราะฮ์)

 


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ