ความรู้โดยอ้อม
  • ชื่อ: ความรู้โดยอ้อม
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 21:32:47 13-10-1403

ความรู้โดยอ้อม

อยาตุลลอฮมิศบาฮ์ได้นำเสนอประเด็น อิลมุลฮูฎูรีย์ และได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้
(1)  ความรู้แบบอิลมุลฮูฎูรีย์ ไม่มีทางผิดพลาด เพราะ ความผิดพลาดเกิดมาจาก ความไม่สอดคล้องกันระหว่าง สิ่งที่รับรู้ ตัวผู้รับรู้ และความเป็นจริง ซึ่งความไม่สอดคล้องกันในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มี “สื่อ” เป็นตัวคั่นกลาง ในการเข้าถึงความรู้นั้น
(2)  ผู้อ้างตนเป็นผู้วิเศษ ที่ถ่ายทอดความประจักษ์ของตนแต่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หลักฐานยืนยันว่า ความรู้แบบประจักษ์ผิดพลาดได้ เพราะความผิดพลาดเกิดจาก ขั้นตอนของการถ่ายทอดสิ่งที่ประจักษ์ ไม่ใช่ตัวของสิ่งที่ประจักษ์
(3)  ความรู้แบบอิลมุลฮฎูรีย์ มีระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ระดับตัวตนและการดำรงอยู่ของผู้รับรู้ ซึ่งในทัศนะของนักปรัชญาอิสลาม ยิ่งผู้รับรู้หลุดพ้นจากวัตถุมากเท่าใด ระดับของการประจักษ์ก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

 เรื่องที่ควรรู้ก่อนเข้าบทใหม่(ความรู้โดยอ้อม) (1)
(๑)  ก่อนหน้านี้เราได้เรียนรู้เรื่อง ความรู้โดยตรง(علم الحضوری) กับ ความรู้โดยอ้อม (علم الحصولی) ในระดับหนึ่ง และได้รู้ความแตกต่างมาระหว่างทั้งสองประเภทนี้แล้ว จากนั้นในช่วงท้ายบท อยาตุลลอฮมิศบาฮ์ได้เกริ่นเรื่อง ความรู้โดยอ้อม เช่น เกริ่นว่า ความรู้โดยอ้อมมีหลายประเภท  ในบทนี้อยาตุลลอฮ มิศบาฮ์ ได้นำเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “ความรู้โดยอ้อม” อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น
(๒)  ในอรัมภบทท่านขึ้นหัวข้อว่า “เหตุที่ต้องวิเคราะห์ความรู้โดยอ้อม” (علم الحصولی) เพื่ออธิบายว่าทำไมเราถึงต้องมาศึกษาตัวของความรู้ประเภทนี้ในตัวบทท่านจะใช้คำศัพท์ใหม่ เช่น มะอฺกูลอตมันติกีย์ (معقولات منطقی)กับ คำว่า มะฟอฮีมกุลลีย์ (مفاهیم کلی) ทั้งสองคำแปลเป็นภาษาไทยออกมาได้ยาก เพราะมะอฺกูลาต หมายถึง สิ่งที่ถูกใช้สติปัญญาใคร่ครวญ(พหูพจน์) ส่วน มันติกี แปลว่า ความเป็นตรรกะ และ มะฟอฮิม แปลว่า สิ่งที่ถูกทำให้เข้าใจ(พหูพจน์) และ กุลลีย์ แปลว่า ความรวม,โดยรวม แต่ความหมายที่แท้จริงกลับมีสำนวนเฉพาะของมันเอง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ศึกษาขั้นเริ่มต้นจะอ่านข้อความนี้ไม่เข้าใจ จนต้องถามอาจารย์ และไม่อาจปล่อยผ่านแล้วค่อยมาทำความเข้าใจทีหลังได้ เพราะประโยคแรกท่านบอกว่า แกนกลางของประเด็นนี้คือ มะอฺกูลาตมันติกีย์ กับ มะฟาฮีมกุลลีย์ ดังนั้นสำหรับคนไทยสิ่งแรกที่ต้องรู้คือ ความหมายของสองคำนี้
ก)      มะอ์กูลาต : มะอฺกูลลาต (معقولات) ในทางภาษา มาจากคำว่า อักล์ (عقل) หมายถึง ปัญญา,สติ,สติปัญญา เป็นพหูพจน์ของคำว่า มะอฺกูล(معقول) อยู่ในรูปของ อิลมุลมัฟอูล หมายถึง คำนามในรูปของกรรม หมายถึง สิ่งที่ถูกใช้สติปัญญา เทียบในภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “Intelligible” ในทางสำนวนวิชาการมีสามความหมาย
1)        สิ่งที่ตรงข้ามกับ มะฮซูซาต(محسوسات)หมายถึง สิ่งที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัส กล่าวคือ มะอฺกูลาต คือ สิ่งที่รับรู้ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ประสาทสัมผัส
2)        สิ่งที่เราสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของมันได้ หรือเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของมันได้ หรือ รู้ถึงสาเหตุการมีอยู่ของมันได้ แต่ตรงข้ามกับประสบการณ์
3)        สิ่งมีอยู่ทั้งสามรูปแบบที่อิบนุซีนาเคยแสดงทัศนะไว้อันได้แก่  ก)สิ่งที่การมีอยู่ของมันนั้น กิซรัต(มีความหลากหลาย)หากพิจารณาในช่องของผัสสะ/ประสาทสัมผัส(สิ่งมีอยู่ภายนอกที่มองผ่านประสาทสัมผัส),ข)สิ่งที่การมีอยู่ของมันดำรงอยู่ในปัญญาของมนุษย์หลังจากพบความหลากหลายแล้ว(สิ่งที่เราเข้าใจแล้วนำมาสร้างเป็นความเข้าใจใหม่ในความคิดของเรา) และ ค) สิ่งที่การมีอยู่ของมันดำรงอยู่ใน ภพแห่งมะอฺกูลาต(โลกอื่น) ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า  “อักล์”(แม้จะใช้คำศัพท์เหมือนคำว่า ปัญญา แต่ไม่ได้หมายถึง ปัญญาของมนุษย์ ทว่าหมายถึง สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่มีความเป็นอวัตถุโดยบริสุทธิ์ ไม่มีความเป็นวัตถุเจือปนอยู่เลย (สุไลบอ,1994,ล.22,น.390)
ข) มะฟอฮีมกุลลีย์
1) ในทางภาษา คำว่า มะฟอฮีม(مفاهیم) มาจากคำว่า ฟะฮ์มุ(فهم) อยู่ในรูปพหูพจน์ของคำว่า มัฟฮูม(مفهوم) หมายถึง ที่ถูกเข้าใจ ความเข้าใจ สิ่งที่ถูกรับรู้เนื้อความของมัน ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า Comprehension,Connotation,Intension บางครั้งก็อาจมีผู้แปลว่า มโนทัศน์  อย่างไรก็ตามในตำรา “ชัรฮ์มุสตะละฮอตกะลามียะฮ์” ได้อธิบายความหมายของคำว่า มัฟฮูม พร้อมกันกับคำว่า มะอฺนา(-معنیความหมาย) เพื่อแยกให้เห็นถึงความแตกต่างด้วย โดยระบุว่า เนื่องจาก มัฟฮูม คือ  การปรากฎของมโนทัศน์/รูปหนึ่งในจิต ซึ่งรูปดังกล่าวเป็นผลมาจากความเข้าใจ(ฟะฮ์มุ)ที่เกิดจากการพิจารณา “คำศัพท์” ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงถูกเรียกว่า “มัฟฮูม” และเนื่องด้วยมโนทัศน์/รูปดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจคำศัพท์นั้นๆ มันจึงถูกเรียกว่า มะอฺนา(ความหมาย) (คณะวิจัยวิชาการอิสลาม,1994,น.341) กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ลัฟซ์ คือ คำศัพท์ ที่เราเคยเรียนรู้ และถูกบรรจุอยู่ในจิต มะนา คือ ความหมายของคำศัพท์นั้นๆ และมัฟฮูม คือ ความเข้าใจของเราที่มีต่อการรวมกันระหว่าง คำศัพท์กับความหมาย  เช่น คำว่า อรรถปริวรรตศาสตร์ โดยไม่พิจารณากันที่ความหมาย ถือเป็นหนึ่งคำศัพท์ และเมื่อรู้ว่า มันหมายถึง วิชาตัฟซีร/ตีความ ความหมายที่เรารู้มาจะเรียกว่า มะอฺนา/ความหมาย และหลังจากศึกษาไปได้ระยะหนึ่ง เกิดความเข้าใจต่อทั้งคำศัพท์และความหมายนี้เป็นของตนเอง อรรถปริวรรตศาสตร์ ก็จะกลายเป็น มัฟฮูม หรือ สิ่งที่เราเข้าใจผ่านคำศัพท์นั้นๆ
2) คำว่า กุลลีย์(کلی)แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Universals ในพจนานุกรมอังกฤษไทยปรัชญา ได้ให้ความหมายในภาษาไทยสิ่งสากล คำที่ใช้กับสิ่งทั่วไปหรือสิ่งนามธรรม อาทิ มโนภาพ คุณภาพ ความสัมพันธ์ และจำนวน ตรงกันข้ามกับสิ่งเฉพาะ(Particular)คำนี้สามารถใช้ได้แทนคำว่า “เอกภพ” โดยสิ้นเชิง ธรรมชาติที่ถูกต้องของสิ่งสากลเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับนักคิดในสมัยกลาง หลังเพลโท นักสัจนิยมสุดขั้วยืนยันว่าสิ่งสากลดำรงอยู่อย่างอิสระจากทั้งจิตของมนุษย์และสิ่งเฉพาะ ขณะในนามนิยม(Nominalism) ถือว่ามีแต่ปัจเจก/สิ่งเฉพาะเท่านั้นและไม่มีสิ่งนามธรรม/สิ่งสากลดำรงอยู่ ส่วนในมโนภาพนิยม (Conceptualism)สิ่งสากลดำรงอยู่เฉพาะแต่ในจิตเท่านั้น มโนภาพนิยมนไปสู่สัจนิยมสายกลางของนักบึญทามัส อะไควนัสและจาห์นแห่งแสลิเบรีย์ นอกจากนี้มีคำที่เกี่ยวข้องกันได้แก่ Universal Proposition ญัตติสากล,ประพจน์สากล : ข้อความที่ปริมาณเชิงญัตติ/เชิงประพจน์ถูกกำหนดโดยการยืนยันว่าสมาชิกทั้งหมดของชั้น/คลาสหนึ่งของสิ่งถูกรวมเข้าด้วยกัน หรือไม่ก็ถูกกันออกจากความเป็นสมาชิกในชั้นอื่นบางชั้น ตัวอย่างเช่น สุนัขบางแก้วทุกตัวเป็นสุนัข” และ “ไม่มีตะเกียบตามปรกติคู่ใดเป็นอาวุธนิวเคลียร์” เป็นประพจน์สากลทั้งคู่ (เจษฎา ทองรุ่งโรจน์,2014,น.950)
3) มัฟฮูมกุลลีย์ บางครั้งถูกเทียบในภาษาอังกฤษด้วยคำว่า Idea  ส่วนในทางสำนวนหมายถึง ความเข้าใจเชิงสิ่งสากล ที่ปรากฎ ในจิต ซึ่งความเข้าใจนั้นมีสมาชิกร่วมกันทั้งในแง่ของปริมาณ,คุณภาพ,สถานะและอื่นๆ(ญะฮามีย์ ญัยรอร,น.831) บางตำราก็แปลว่า Concept,Conception สื่อถึงมโนทัศน์โดยตรง (มูฮัมมัด คอนซอรีย์,1997,น.331) อย่างไรก็ตาม คำว่า มัฟฮูมกุลลีย์ มักอยู่ตรงข้ามกับ มัฟฮูมญุซอีย์ เสมอ และมันแสดงนัยให้เห็นถึงตำแหน่งและหัวข้อที่ปรัชญามีบทบาท กล่าวคือ ถ้าหากเราศึกษาถึงชีวิตของ นายสมชาย  จะไม่ศึกษากันในปรัชญา,อภิปรัชญา แต่จะศึกษากันในวิชาอื่น เช่น ศึกษาร่างกายของนายสมชาย สรีระวิทยา เพราะสมชาย เป็นสิ่งจำเพาะ ไม่ใช่สิ่งสากล และเป็นความเข้าใจเชิงเฉพาะ ไม่ใช่เชิงสากล แต่หากศึกษาถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรือ สิ่งดำรงอยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มนุษย์ จะศึกษากันในปรัชญา เพราะมนุษย์ ,สิ่งดำรงอยู่ เป็นความเข้าใจเชิงสากล
  หากพิจารณาจากตัวบทในหนังสือ จะเห็นว่า มะอฺกูลาต ที่กำลังกล่าวถึงในทีนี้ หมายถึง สิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญา (ซึ่งในภายหลังเราจะพบข้อสรุปของอยาตุลลอฮ์มิศบาฮยัซดี ที่สื่อความหมายในลักษณะนี้ และเมื่อสนธิด้วยคำว่า “มันติกีย์” ก็จะได้ความหมายว่า #สิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญาในเชิงตรรกะ  และเพราะความรู้โดยอ้อม(علم الحصولی)นั้นเมื่อเข้าสู่จิตและความคิดของมนุษย์จะมีลักษณ์เป็นสิ่งที่คิดได้ด้วยปัญญา ดังนั้น หากกล่าวว่า แกนกลางของ ความรู้โดยอ้อม คือ มะอฺกูลอตมันติกีย์ ความหมายของประโยคก็คือ การแสดงให้เห็นว่า การจะศึกษาภาวะของความรู้โดยอ้อม จะต้องพิจารณากันโดยคำนึงอยู่ก่อนแล้วว่า ความรู้เช่นนี้ เป็นการศึกษาความรู้ที่สามารถคิดและรู้มันได้ด้วยปัญญา
 สรุปประเด็น
(๑)   เรื่องที่ควรรู้เป็นพื้นฐานก่อนเข้าสู่บท ความรู้โดยอ้อม คือ คำศัพท์พื้นฐาน เพื่ออ่านบทให้เข้าใจ
(๒)  คำศัพทพื้นฐานชุดแรก คือ คำว่า มะฟอฮีมกุลลีย์ กับ มะอฺกูลอตมันติกีย์ ซึ่งทั้งสองมีจุดร่วมเดียกัน คือ มโนทัศน์หรือความเข้าใจที่ไม่ได้เกิดจากช่องทางประสาทสัมผัส แต่เกิดจากช่องทางของสติปัญญา ซึ่งจะเป็นการแสดงนัยให้เห็นว่า ปรัชญาอิสลาม คือ ปรัชญาที่ศึกษาความรู้ในช่องที่เกิดจากปัญญาในอนาคต

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา