การวิเคราะห์และตัดสินความหมายของคำว่า อิลมุลฮูซูรีย์
  • ชื่อ: การวิเคราะห์และตัดสินความหมายของคำว่า อิลมุลฮูซูรีย์
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 19:17:29 24-7-1403

การวิเคราะห์และตัดสินความหมายของคำว่า อิลมุลฮูซูรีย์ 

 

- ในทางภาษา “อิลมุลฮูซูรีย์” เป็นคำสนธิ ประกอบจากคำว่า “อิลม์/(علم)ที่หมายถึง ความรู้ และคำว่า ฮูซูรีย์/(حضوری) ที่ใช้ในความหมายทั่วไปว่า ปรากฎ หรือ ประจักษ์ 
- ในทางสำนวนวิชาการ/อิศติลาฮ์ อิลมุลฮูซูรีย์ หมายถึง ความรู้ปรากฎในจิตของเราโดยตรง และเพราะมันปรากฎขึ้นมาในจิตของเราตรงๆ เราจึงเรียกความรู้ประเภทนี้ว่า อิลมุลฮูซูรีย์ หรือ ความรู้ประเภทที่ปรากฎในจิตโดยตรง เช่น การที่คุณรับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวคุณเอง คุณไม่ต้องให้ใครมาบอก หรือ ไปเรียนหนังสือ (สื่อถึงการหาความรู้โดยอ้อม)ก็สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเองได้ เพราะการรับรู้นี้ ปรากฎโดยตรง
-การเทียบคำศัพท์คำนี้เป็นภาษาไทย มีคำที่เข้าข่ายความหมาย ใกล้เคียงกันกับคำว่า อิลมุลฮูซูรีย์  แต่บางคำสื่อความหมายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับความหมายของ “อิลมุลฮูซูรีย์” เช่น 
1) การรู้เอง : การแปลว่า Intuition / การรู้เอง (อาจรวมการเดา หรือ ความรู้ที่เกิดจากการไตร่ตรองเรื่องที่ตัวเองเรียนมาก็ได้ แต่อิลมุลฮูซูรีย์ ไม่มีการอ้อมใดๆทั้งสิ้น 
2) อัชฌัตติกญาณ :  เป็ฯคำก็ห่างไกลจากความคุ้นเคยในภาษาทั่วไปแม้จะตรงกันมาก เช่น คำว่า “อัชฌัตติกญาณ” ซึ่งนิยามคำๆนี้ว่า หมายถึง “ความตระหนักเกี่ยวกับวัตถุนามธรรมหรือความจริงรูปธรรมได้อย่างชัดแจ้ง โดยไม่ใช่การอนุมานโดยตรง ต่างจาก Inference/การอนุมาน (เจษฎา ทองรุ่งโรจน์,2014,น.446-447) 
3)  อีกคำหนึ่งคือ Immediate Knowledge  ความรู้โดยตรง  หมายถึง “ความรู้ที่ได้มาโดยปราศจากข้อพิสูจน์ โดยการใคร่ครวญความจริงโดยตรง หรือ โดยอาศัยสัมผัสทั้ง ๖ ได้แก่ ได้เห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ได้รส ได้สัมผัส ต่างจากความรู้โดยอ้อม (Mediated Knowledge)ซึ่งอาศัยสื่อกลางด้วยข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์และโดยการให้เหตุผลเชิงตรรก ความรู้โดยตรงอาจเป็นประสบการณ์ทางความรู้สึก หรือ ความรู้ก่อนประสบการณ์หรือ การรู้เอง”(เจษฎา ทองรุ่งโรจน์,2014,น.434) 
4) ควรพิจารณา Knowledge by acquaintance / Knowledge by description ซึ่งแปลว่า ความรู้โดยประจักษ์ / ความรู้โดยบอกเล่า : ความแตกต่างระหว่างวิถีของการรู้ของรัสเสิลล์ มีแต่จุดหมายของประสบการณ์โดยตรงเท่านั้นที่ถูกรู้โดยการบอกเล่าเท่านั้น ผ่านการเป็นสื่อกลางของการรับรู้ขั้นต้นของเราในญัตติ/ประพจน์จริงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ฉันปวดศรีษะ อาจรู้ได้โดยประจักษ์ แต่ พาราเซตามอลจะช่วยบรรเทาอาการปวดศรีษะ” รู้ได้ก็แต่โดยการบอกเล่า ทั้งที่มีขอบเขตที่แคบโดยแท้ ก็ถือว่าความรู้โดยประจักษ์ได้ให้รากฐานสำหรับความรู้โดยการบอกเล่า.(เจษฎา ทองรุ่งโรจน์,2014,น.485)
ตัดสิน
1) จากการค้นคว้า เราได้คำตอบว่า การแปลคำๆนี้ให้เป็นภาษาไทย หากใช้เกณฑ์ “ความเข้าใจในแบบที่ทุกคนก็สามารถเข้าถึงได้ และเข้าใจได้ง่าย” เป็นหลัก คำที่เหมาะสมที่สุดในการเทียบกับคำว่า อิลมุลฮูซูรีย์ คือ การแปลว่า “ความรู้โดยตรง” เพราะ คำว่า การรู้เอง ไม่ตัดความหมายอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปด้วย (มานิอุลอัฆยาร) และคำว่า “ความรู้โดยประจักษ์” แม้จะใช้เทียบกันได้ แต่โดยทั่วไป ในตำราวิชาการมักสื่อถึง การประจักษ์ในทางอิรฟานมากกว่า เว้นเสียแต่ว่า การประจักษ์นั้นจะถูกพูดถึงในญาณวิทยาอิสลาม หรือ ปรัชญาอิสลาม 
คำแนะนำเพิ่มเติม
1) อิลมุลฮูซูรีย์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในวงวิชาการอิสลาม เพราะถูกนำมาใช้ในกรณีใหญ่ๆหลายกรณี เช่น
ก) ใช้พิสูจน์ความเป็นอวัตถุของจิต
ข) ใช้พิสูจน์ความเป็นอวัตถุของความรู้
ค) ใช้เป็นตัวหักล้างว่า ความรู้ไม่ได้ผ่านทางช่องประสบการณ์และวิทยาศาสตร์แต่เพียงช่องเดียวเท่านั้น
ง) ใช้เป็นอรัมภบทในการพิสูจน์พระเจ้า
จ) ใช้เป็นอรัมภบทในการพิสูจน์โลกที่ไม่ใช่วัตถุ
ฉ) ใช้เป็นอรัมภบทในการพิสูจน์ว่า มีความรู้ที่ไม่มีความผิดพลาดอยู่ด้วย
ช) ใช้เป็นอรัมภบทในการพิสูจน์ความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้
ซ) ใช้เป็นอรัมภบทในการพิสูจน์ว่า จิตของมนุษย์ ไม่ใช่วัตถุ 
อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีย์ ใช้อิลมุลฮูซูรีย์ ในการหักล้างฟิสิคัลลิสม์,โนมินัลลิสม์ เช่น เชื่อว่า วิญญาณ อยู่ ในสมอง หรือ ในหัวใจ (ในตัฟซีรอัลมีซาน) และใช้ในการหักล้าง ปฏิฐานนิยม (ในตัฟซีรอัลมีซาน) กล่าวได้ว่า ความแข็งแกร่งของปรัชญาและวิชาการอิสลามในสายของอิมามิยะฮ์ในยุคปัจจุบัน จุดหนึ่งก็เพราะ “ความแข็งแกร่งของอิลมุลฮูซูรีย์”


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา