เรื่องที่ควรรู้ก่อนศึกษาปรัชญาอิสลาม
จากประสบการณ์ของตนเอง สำหรับเพื่อนๆที่สนใจศึกษา
เรื่องแรกที่เพื่อนๆและพี่น้องควรรู้คือ คำว่า ฟัลซาฟะฮ์ แปลว่าอะไร
เรื่องที่ 1 คำว่า “ฟัลซาฟะฮ์”
1. คำว่า “ฟัลซาฟะฮ์”
ในทางภาษา คำว่า “ฟัลซาเฟะฮ์” ในภาษาเปอร์เซีย (فلسفه) หรือ “อัลฟัลซาฟะฮ์” ในภาษาอาหรับ(الفلسفة) มีความแตกต่างเพียงพยัญชนะตัวสุดท้ายของคำ โดยในภาษาฟารซีจะลงท้ายด้วยพยัญชนะ “ฮา”(ه-) ส่วนภาษาอาหรับจะลงท้ายด้วยพยัญชนะ ตา(ة-) หมายถึงคำที่สื่อความหมายตรงกับคำว่า “ปรัชญา” ในภาษาไทย
โดยปกตินักปรัชญาอิสลาม เมื่อนักปรัชญาอิสลามจะนำเสนอเนื้อหาของตนในตำรา พวกเขามักจะเริ่มบทนำของตนเองว่าด้วยการหาคำตอบว่า
ปรัชญา มาจากไหน ?
คำดังกล่าวในแต่ละยุคมีความหมายและถูกเข้าใจว่าอย่างไร ? และ
ในปัจจุบันความหมายของคำดังกล่าวหยุดอยู่ที่นิยามใด ?
เช่น ในตำราของ อยาตุลลอฮ์ มิศบาฮ์ ยัซดี (1988, ล. 1, น. 68) ซึ่งท่านแสดงความเห็นว่า
“คำว่า ฟัลซาเฟะฮ์(ปรัชญา) ในยุคบุกเบิก เป็นคำนามที่แสดงลักษณะของความเป็นสากลซึ่งครอบคลุมวิชาความรู้แขนงต่างๆ ที่ไม่ใช่ความรู้เชิงบัญญัติ/ที่กำหนดหมายรู้ไว้ ...และในยุคกลางขอบเขตของปรัชญาได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจนควบรวมความรู้เชิงบัญญัติเข้าด้วย เช่น วิชาไวยกรณ์ วิชาที่เกี่ยวข้องกับการอธิบาย และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบรรยาย โวหารวาทศิลป์"
สอดคล้องกับทัศนะของชะฮีดมูเฎาะฮารีและอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีย์(1989, ล.1, น.37) ที่มองว่า
คำว่า “ฟัลซาเฟะฮ์” เป็นมุอัรรอบ หรือ คำจากภาษาต่างชาติที่ถูกทำให้กลายเป็นภาษาอาหรับ และเป็นคำที่มาจากภาษากรีก และยังเป็นการสนธิคำจากคำว่า Φιλοσοφία โดยสนธิคำในภาษากรีกได้แก่คำว่า พีลอส φιλος หมายถึง ความรัก กับคำว่าโซเฟีย σοφία หมายถึง ความรู้ เมื่อรวมกันจะได้ความหมายว่า
“ผู้ที่รักในความรู้”
ซึ่งในช่วงยุคต้นคำว่า ฟัลซาเฟะฮ์มีความหมายกว้างครอบคลุม ศาสตร์ความรู้เชิงทฤษฎี และเชิงปฏิบัติ และมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “วิชา” หรือ “ความรู้” ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ฟัลซาฟะ ในยุคนั้น แทบจะเหมือนกับคำว่า วิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ที่วิชาแยกย่อยแตกออกมามากมาย
บันทึกโดย มูฮำหมัด บิน อิสกันดาร์
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา