ปรัชญาในความเข้าใจแบบทั่วไป
  • ชื่อ: ปรัชญาในความเข้าใจแบบทั่วไป
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 20:24:57 24-7-1403

ปรัชญาในความเข้าใจแบบทั่วไป

คำถามที่ตามมาคือ แล้วปรัชญาควรจะมีความหมายว่าอย่างไร ความหมายที่แต่ละคนเข้าใจนับว่าเป็นปรัชญาไม่ได้หรือ ? นักปรัชญาอิสลามมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร ? 
 คำตอบ ระหว่างความหมายที่แต่ละคนเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าปรัชญากับปรัชญาที่ศึกษากันอย่างเป็นระบบ หรือ มีสำนักเป็นเอกลักษณ์มีความเป็นไปได้ที่จะมีความหมายแตกต่างและมีความหมายร่วมกัน 
 ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนพูดว่า เรากำลังศึกษาปรัชญาอิสลาม เป็นไปได้ว่า ความหมายของเขาหมายถึง การศึกษาปรัชญาอิสลามในแบบที่อัลลามะอฺฏอบาฏอบาอีย์สอน แบบที่เรียนในหนังสือ ออมูเซขฟับซาเฟะฮ์ หรือ ตำราของชะฮีดมูฏอฮารี หรือ กำลังศึกษาคำสอนของศาสนาแบบใช้ปัญญา เช่น กำลังอ่าน ปรัชญาฟิกฮ์/อะฮ์กาม/อูศูบ แบบใช้เหตุผลเป็นหลัก ดังนั้นการจะเรียก ความเข้าใจหรือบทเรียนชีวิตส่วนบุคคลว่าเป็นปรัชญา จึงต้องมาพิจารณากันว่า เมื่อคนๆหนึ่งพูดว่านี่คือปรัชญาของข้าพเจ้า ความหมายของเขาสื่อถึงอะไร หากสิ่งที่เขาสื่อ คือ บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวโดยไม่เกี่ยวข้องใดๆกับเรื่องที่นักปรัชญาแต่ละสำนักถกเถียงกัน หรือ การทำความเข้าใจคำสอนบางอย่างในมุมมองของเหตุผล (แม้จะมารู้ภายหลังว่า เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงการปรัชญาก็ตาม)  ปรัชญาในความหมายของบุคคลผู้นั้นก็จะมีความหมายในแบบที่เขาเข้าใจ ส่วนในการเรียกปรัชญาในเชิงลบนั้น เราจะเห็นนักปรัชญาอิสลามมักแสดงท่าทีปกป้องข้อกล่าวหาที่แสดงถึงการไม่ให้คุณค่าต่อปรัชญา อันที่จริงแล้ว บางกรณีเพียงแค่สถานะของนักปรัชญาอิสลามบางท่าน ก็สามารถปกป้องคุณค่าของปรัชญาอิสลามได้ เพราะนักปรัชญาอิสลามเกือบทุกคนไม่ได้เป็นแค่นักปรัชญาแต่เพียงด้านเดียว แต่ยังเชี่ยวชาญในศาสตร์อื่นๆด้วย เช่น อิบนุซีนาที่เป็นทั้งนักปรัชญา,นักวิทยาศาสตร์ อัลลามะฮ์ฏอบาฏบาอีย์ ที่เป็นทั้งนักปรัชญาและนักอรรถาธิบายอัลกุรอ่านและอื่นๆ หรือ ชะฮีดมูฏอฮารีที่เป็นทั้งนักปรัชญา นักรัฐศาสตร์ และนักปฏิวัติและอื่นๆ พวกเขามักจะมีท่าทีต่อปรัชญาในทำนองเดียวกัน พวกเขามองว่าคุณค่าของปรัชญานั้นเป็นสิ่งที่คงที่ และไปด้วยกันกับศาสตร์อื่นๆเสมอ 
ในตอนที่ผมเรียนเรื่องนี้ อาจารย์บางท่าน ยังบอกด้วยอีกว่า ถ้าไม่กระจ่างเรื่อง วูญูด หรือ ภาวะการดำรงอยู่  และอิลลัต มะลูล หรือ ที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า เหตุกับผล ก่อนเป็นอันดับแรก ศาสตร์อื่นจะไปต่อไม่ได้เลยในเชิงระบบ เช่น หมอจะไม่มีทางรักษาให้คนใข้ ถ้าไม่เชื่อว่า ยา X คือ สาเหตุที่ทำให้ โรค E ถูกรักษา หากแปลงอีกภาษาหนึ่ง #หากหมอไม่เชื่อว่ากฎของโลกนี้เดินบนกฎแห่ง #อิลลัต_มะอลูล ที่ศึกษากันในปรัชญา การบอกว่า ยา X ทำให้โรค E หาย จะไม่มีความหมายสำหรับหมอคนนั้นเลย 
เบื้องต้นการเรียกทุกความรู้ที่มีเรื่องของเหตุผลและการใช้ความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องว่าเป็น “ปรัชญา” จนครอบคลุมแม้แต่บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์ชีวิตส่วนบุคคล แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่ถือเป็นความขัดแย้งกันเองและสามารถรวมคำว่าปรัชญา ในความหมายอื่นๆที่หลากหลายได้ หากจัดระดับและประเภทอย่างเหมาะสม และกำหนดให้ชัดเจนว่า ขอบเขตของปรัชญาสิ้นสุดที่ตรงไหน ดังนั้นหากขีดเส้นว่า 
ปรัชญา คือ การทำความเข้าใจบางสิ่งด้วยปัญญา, เหตุผลและประสบการณ์
คำว่า ปรัชญาก็จะครอบคลุมศาสตร์ที่หลากหลาย แต่หากขีดเส้นว่า 
ปรัชญา คือ การศึกษาภาวะของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง 
ก็จะจำกัดศาสตร์ไว้เพียงแค่ในขอบเขต อภิปรัชญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อภิปรัชญาจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับการทำความเข้าใจบางสิ่งด้วยปัญญาเพราะภายในเนื้อหาอภิปรัชญาก็คือ #ความพยายามนำเสนอภาวะของสรรพสิ่งโดยอาศัยหลักของเหตุผล
 เหตุนี้ ปรัชญาของท่านลุกมานอัลฮะกีม จึงไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับ ปรัชญาของอัลลามะอฺฏอบาฏอบาอี เพราะทั้งสองก็คือ ฮิกมัตทั้งคู่ เพียงแต่อยู่คนละช่อง สิ่งที่ท่านลุกมานสอนบุตร คือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า ฮิกมัตอามาลีย์ หรือ คำสอนเชิงการปฏิบัติ ซึ่งจะพูดถึง การกระทำของมนุษย์ อะไรควรทำ อะไรไม่ควร ส่วนที่อัลลามะนำเสนอในหนังสือ บิดายะ นิฮายะ คือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า ฮิกมัตนะซะรีย์ หรือ ปรัชญาภาคความคิด ทัศนะ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับภาวะการดำรงอย่ของสรรถสิ่ง อะไรมีจริง อะไรไม่มีจริง 
 กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาที่หมายถึง 
การทำความเข้าใจบางสิ่งหรือบางศาสตร์โดยอาศัยกระบวนการทางปัญญา 
กับ ปรัชญาที่หมายถึง อภิปรัชญาโดยตรง 
คือ ความสัมพันธ์แบบหนึ่งสากลหนึ่งเจาะจงแบบครอบคลุม (อูมูมวะคูซูซมุตลัก) หมายถึง หากตีขอบให้กว้างที่สุด ทุกศาสตร์ที่ใช้ปัญญาศึกษา คือ ปรัชญา และอภิปรัชญาคือศาสตร์หนึ่งที่ใช้ปัญญาศึกษา ในฐานนี้อภิปรัชญากับศาสตร์ที่ใช้ปัญญาในการศึกษาจึงไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบคนละขั้วหรือขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง แต่มีความสัมพันธ์ในลักษณะของก้านหนึ่งจากศาสตร์ที่ใช้ปัญญา เพียงแต่ต้องรู้ว่าการนิยามเช่นนี้จะใช้ได้ในภาษาทั่วไปเท่านั้น และอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอหากผู้คนในสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงมัน

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา