อรัมภบทญาณวิทยา
  • ชื่อ: อรัมภบทญาณวิทยา
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 13:43:27 1-9-1403


อรัมภบทญาณวิทยา

ในบทนี้มีหัวข้อที่จะทำการศึกษาได้แก่
ความสำคัญของญาณวิทยา
ประวัติย่อของญาณวิทยาและมุมมอง
ญาณวิทยาในปรัชญาอิสลาม
การสืบหาที่มาของค่านิยมในการต่อต้านปรัชญา
นิยามของ ญาณวิทยา

ความสำคัญของญาณวิทยา 
ญาณวิทยามีความสำคัญต่อปรัชญาเพราะหากไม่ไขความกระจ่างถึงสถานะและคุณค่าของ “ปัญญา” ให้ชัดเจนเสียก่อน การนำเสนอประเด็นถัดไปคือ อภิปรัชญา หรือ ภววิทยา จะไม่ผ่านมาถึง และจะถูกตั้งคำถามแทรกซ้อนซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมอ และจะเกิดคำถามทำนองว่า ข้อความในอภิปรัชญาข้อนี้พิสูจน์ด้วยอะไร หากพิสูจน์ด้วย “ปัญญา” แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่ปัญญาตัดสินนั้นถูกต้อง และหากจะตั้งคำถามให้กว้างและครอบหลักการมากขึ้น “เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้ปัญญาในการหาคำตอบที่ถูกต้องและแน่นอน ?" ดังนั้นการนำเสนอญาณวิทยาให้พอรู้ พอสังเขปจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำเสนอปรัชญา 

ประวัติโดยย่อของญาณวิทยาและมุมมองของเรา 
 ช่วงที่หนึ่ง : ครั้งแรกที่เริ่มมีการตั้งคำถามถึงคุณค่าของความรู้ หรือ ญาณ คือ การพบว่าข้อมูลที่ได้จากผัสสะนั้นผิดพลาด นักปรัชญากลุ่มหนึ่งเช่น นักปรัชญาอิลยออีย์ ในภาษาไทยเรียกพวกเขาว่า ปรัชญาสำนักเอเลียก่อนยุคโสเครตีส นำโดยชายผู้มีนามว่า ซีนูในภาษาฟารซี และเซโนในภาษาไทย รู้จักกันในชื่อ เซโนแห่งเอเลีย (Zeno Of Elea) สำนักปรัชญานี้ชื่อว่า Eleaticism เขาได้อิงญาณทางปัญญาเพื่อตอบโต้การอิงญาณทางผัสสะ 
 ช่วงที่สอง : หลังจากนั้นกลุ่มวิมุตินิยม ซึ่งในภาษาฟารซีใช้คำว่า โซฟิสตออิยอน ได้เสนอแนวคิดที่กี่ยวกับคุณค่าและความน่าเชื่อถือของปัญญา หรือ สิ่งที่ปัญญาตัดสิน 
 ช่วงที่สาม : ต่อมามีความพยายามปกป้องกระบวนการและวิธีการหาความรู้อีกครั้ง ดั่งที่จะเห็นได้จากความพยายามประพันธ์วิชาเชิงปัญญา เช่น ตรรกศาสตร์ โดยอริสโตเติล 
 ช่วงที่สี่ : แต่หากจะกล่าวถึงการให้ค่าปัญญาหรือผัสสะจนกลายเป็นค่านิยมด้านใดด้านหนึ่งหรือที่เราพ่วงท้ายด้วยคำว่า ISM ยุคที่เด่นชัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำเสนอประเด็นนี้อย่างเป็นทางการที่สุด ก็คงจะเป็นยุคของ ไลบ์นิช และจอน ล็อค 
 ช่วงที่ห้า : ต่อมา เอมานูเอล  คานท์ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากเดวิดฮูม ก็ได้เริ่มตั้งคำถามถึงคุณค่าของญาณอีกครั้ง เขาได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ญาณในทางทัศนะในแง่ของวิชาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและคณิตศาสตร์นั้นเชื่อถือได้ แต่ในแง่เมตตาฟิสิกต์/อภิปรัชญากลับเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้เลย 

ญาณวิทยาในปรัชญาอิสลาม
ตรงข้ามกับปรัชญาตะวันตก ปรัชญาอิสลามมีเส้นทางที่มั่นคงในญาณวิทยาเสมอ เนื่องจากความแข็งแกร่งทางสถานะของ “ปัญญา” ที่อัลุกุรอ่านและรีวายัตในอิสลามให้การสนับสนุนและในปรัชญาอิสลาม จึงทำให้ปรัชญาอิสลามไม่เผชิญการกลับไปกลับมาของสถานะทางญาณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ญาณในปรัชญาอิสลามนั้นมีความคงที่ และไม่มีการวิพากษ์เพื่อทดสอบหรือป้องกันสถานะความน่าเชื่อถือเลย
มีการนำเสนอประเด็น ญาณวิทยา ในปรัชญาอิสลาม แต่ในช่วงเริ่มต้นการนำเสนอเรื่องนี้ไม่ได้แยกตัวเป็นวิชาใหม่อย่างเป็นทางการ หรือไม่ได้ถูกจัดเรียบเรียงให้เป็นระบบ ดังนั้นการกล่าวถึงประเด็นในญาณวิทยาจึงพบได้ในวิชาปรัชญา และตรรกวิทยาแบบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

การสืบหาที่มาของค่านิยมในการต่อต้านปรัชญา
ปัญหาเรื่องการต่อต้านปรัชญาสืบค้นได้มาจากสองแหล่ง แหล่งแรก คือ ความพยายามปกป้องความเชื่อทางศาสนาที่ต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดบางจำพวกในปรัชญาในยุคที่เฉพาะเจาะจง พูดง่ายๆคือ เพราะมีนักปรัชญาบางคนพูดขัดกับอัลกุรอ่าน มีทัศนะบางกลุ่มในปรัชญาที่ขัดแย้งกับกีตาบและซุนนะฮ์  จึงทำให้เกิดการต่อต้านปรัชญาขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่ง คือความพยายามของผู้นิยมการจาริกที่ต้องการครอบงำกระบวนการใช้ปัญญา พวกเขาเห็นว่า อิรฟาน เป็นสิ่งที่ขัดกับ ฟัลซาฟะฮ์ จึงพยายามยั้งวิถีของฟัลซาฟะฮ์จนเกิดกลายเป็นการต่อต้านในภายหลัง. 

นิยามของญาณวิทยา
ก) ในทางภาษา  : คำว่า “ญาณ” หรือ อัลมะอฺรีฟะฮ์ (المعرفة)ในภาษาอาหรับ หรือ “ความรู้” ในภาษาไทย เป็นคำที่ไม่จำเป็นต้องนิยาม เราเรียกคำที่มีสถานะเช่นนี้ว่า บะดีฮีย์ คือ คำที่เพียงนึกถึงก็เข้าใจในตัว เหตุที่ไม่จำเป็นต้องนิยามเพราะการจะนิยามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สิ่งที่นำมานิยาม ต้องชัดเจน และกระจ่างกว่าสิ่งที่ถูกนิยาม แต่ในกรณีของ “ความรู้” คุณจะหาคำที่กระจ่างกว่าความรู้ไม่ได้ เพราะมันไม่มี จึงทำให้ไม่มีนิยามใดมานิยามได้นั่นเอง 
ข) ในทางวิชาการ : หากต้องการจะนิยามให้ได้  คำนิยามที่เหมาะสมที่สุด มะริฟัต   ก็คือการปรากฎรูปอวัตถุของสิ่งหนึ่ง ณ สิ่งที่เป็นอวัตถุ(จิต) อธิบายแบบง่ายๆ คือ ความรู้ในทัศนะของอุลามาสายปรัชญา คือ สิ่งที่ไม่ใช่ วัตถุ ซึ่งมันปรากฎ อยู่ ณ ผู้รับรู้ที่ไม่ใช่วัตถุ หรือ ก็คือ จิตของเราเอง จากนิยามนี้ หนังสือวิชาภาษาไทย หากไม่มีใครไปอ่านมัน มันก็จะไม่เป็นความรู้
แต่จะเป็นตัวหนังสือที่ถูกพิมพ์ในกระดาษ จนกระทั่งมีคนไปหยิบอ่านหนังสือเล่มนั้น และความเข้าใจที่มีต่อหนังสือเล่มนั้น ปรากฎขึ้นในเขา นั่นถึงจะเป็นความรู้
ค) นิยามของญาณวิทยา : ความรู้หรือศาสตร์ที่ศึกษา สิ่งที่เรียกว่า ความรู้ของมนุษย์ เราเรียกมันว่า ญาณวิทยา หรือ มะริฟัตเชนอซีย์ ในภาษาฟารซี ญาณวิทยานั้น หากจะนิยามกันอย่างเป็นทางการ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาความรู้ต่างๆของมนุษย์ และทำการประเมิน ให้คุณค่า แบ่งประเภท จัดระดับความรู้ และทำการศึกษาถึงวิธีการและมาตรวัดความถูกต้องและความผิดพลาดของความรู้ กล่าวคือ ถ้าเราศึกษาการบวกการลบ แบบนี้คือ คณิตศาสตร์ แต่ถ้าเราตั้งคำถามว่า ความรู้เกี่ยวกับการบวกการลบ มีสถานะอย่างไร เชื่อถือได้ตลอดไปหรือไม่ อันนี้คือ ญาณวิทยา

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา