การล้างบาปในอิสลาม
ก่อนที่เราจะเข้าสู่สารัตถะการล้างบาปในอิสลาม ว่าเป็นอย่างไร? มีในหลักการอิสลามหรือไม่?เราลองมาทำความรู้จักกับการล้างบาปในศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาซิกข์กันว่าเป็นอย่างไร
ศาสนาคริสต์
เป็นที่รู้กันว่าในศาสนาคริสต์มีพิธีศีลล้างบาปซึ่งทำแก่ทารกที่บิดามารดานับถือศาสนาคริสต์ หรือแก่บุคคลที่เดิมนับถือศาสนาอื่น แล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์ โดยจุ่มหัวหรือตัวลงในน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๓ ครั้งหรือเทน้ำศักดิ์สิทธิ์ลงบนหน้าผาก ซึ่งถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการล้างบาปเพื่อรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน เรียกว่า พิธีศีลล้างบาป หรือ พิธีศีลจุ่ม(https://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-royal-institute)
ศาสนาพุทธ
ส่วนในศาสนาพุทธมีพิธีล้างบาปหรือไม่? ศาสนาพุทธล้างบาปให้ใครไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะได้ลงมือปฏิบัติวิปัสสนาทำมรรคญาณให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งมรรคญาณนี้แหละเป็นคุณเครื่องชำระล้างบาป ได้อย่างแท้จริง มิใช่เพียงแค่ความเชื่อลมๆ แล้งๆ เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติเข้าถึงแล้วก็จะรู้แจ้งสภาวะจิตของตนเองว่า ล้างบาปได้แล้วหรือยัง ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรือบงการ เหมือนกับเราลิ้มรสมะนาวแล้วรู้ว่าเปรี้ยวโดยไม่ต้องไปเชื่อใคร หรือให้ใครมาบอก อีกต่อไป
พระพุทธเจ้าตรัสถึงมุนีผู้ล้างบาปได้แล้วไว้ว่า “บุคคลผู้เป็นมุนีทาง กาย เป็นมุนี้ทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะแล้ว เป็นมุนี้ผู้สมบูรณ์ ด้วยโมเนยยธรรม เป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว”
(http://dhamma.serichon.us)
ศาสนาพราหมณ์
พวกพราหมณ์เชื่อถือเรื่องการอาบน้ำล้างบาป โดยเชื่อว่าแม่น้ำคงคาโดยเฉพาะที่ท่าเมืองพาราณสีนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก สามารถล้างบาปได้ พวกพราหมณ์จึงพากันลงอาบน้ำล้างบาปอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น ถือว่าบาปที่ทำตอนกลางวันล้างด้วยการลงอาบน้ำในตอนเย็น ส่วนบาปที่ทำตอนกลางคืนก็ล้างได้ด้วยการลงอาบน้ำในตอนเช้า
( https://thaiontours.com/india/ganges-river-india)
ศาสนาซิกข์
อมฤตสัญจาร (Amrit Sanchar) หรือ ขันเธทิปาหุล (Khande di Pahul) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิธีปาหุล (Pahul) คือพิธีกรรมในศาสนาซิกข์ที่เป็นการรับคนเข้าสู่ศาสนาซิกข์โดยเต็มรูปแบบ เปรียบได้กับพิธีศีลในคริสต์นิกายคาทอลิก พิธีอมฤทธิ์สัญชรถือเป็นพิธีเริ่มแรกที่จะได้รับก่อนเข้าสู่การเป็นศาสนิกชนอย่างเต็มตัว เริ่มต้นขึ้นโดยคุรุโคบินดฺ สิงห์ เพื่อเป็นพิธีรับคนเข้าเป็นขาลสา ในปี 1699เมื่อชาวซิกข์ผ่านพิธีอมฤตสัญชรแล้ว จะถูกเรียกว่าเป็น "ขาลสา" และได้รับตำแหน่ง "อมฤตธารี" หรือ "ขาลสา" ตามหลังชื่อ "สิงห์" ในบุรุษ หรือ "Kaur" ในสตรี เป้าหมายของการเป็นขาลสาและการผ่านพิธีอมฤทธิ์สัญชรคือการประพฤติตัวปฏิบัติตามคำสอนโดยศาสดา หรือเวาเฮคุรุ เป้าหมายขาลสาราช คือ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สวดมนต์รึำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าเสมอ
( https://th.wikipedia.org/wiki)
ศาสนาอิสลาม
ในศาสนาอิสลามไม่มีพิธีล้างบาปหรือสารภาพบาปเพื่อบริสุทธิ์จากบาป ทว่าอิสลามเปิดช่องทางหรือประตูไว้ให้สำหรับมนุษย์ปลดเปลื้องบาปของตนเองให้หมดไปตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ประตูบานนั้นเรียกว่า “เตาบะฮ์” หมายถึง การกลับตัวกลับใจขออภัยโทษจากอัลลอฮ์(ซบ.) ด้วยการขอพรวิงวอนจากพระองค์ ขออนุเคราะห์ผ่านบรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์ และความมุ่งมั่นในการไม่กลับไปทำบาปที่เป็นการลิดรอนสิทธิของพระเจ้าและสิทธิของปวงบ่าวเพื่อนร่วมโลก
บาปต่างๆ ที่ปวงบ่าวของพระเจ้าได้กระทำลงไปนั้นไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้นการให้อภัยย่อมขึ้นอยู่กับระดับของบาปนั้นๆ ด้วยเช่นกัน บาปบางระดับอาจชำระและปลดเปลื้องได้ด้วยการกล่าวขออภัยโทษ บาปบางระดับต้องใช้ความพยายามมากกว่านั้นในการชดเชยบาปที่ได้กระทำลงไป
นักวิชาการอิสลามได้แบ่งบาปต่างๆ ออกเป็นสองระดับ คือ
1. บาปใหญ่
2. บาปเล็ก
ส่วนความหมายของบาปใหญ่นั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปบ้างก็ให้ความหมายว่า คือ บาปที่ไฟนรกได้ถูกสัญญาไว้สำหรับผู้กระทำบาปเหล่านั้น บ้างก็กล่าวว่าคือ บาปที่ความเป็นฮะรอมของมันนั้นมีรายงาน(ริวายัต)และโองการอัลกุรอานระบุไว้อย่างชัดเจน บ้างก็กล่าวว่าบาปทั้งหมดนั้นคือบาปใหญ่เพราะเป็นการฝ่าฝืนและขัดขืนต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผุ้ทรงเกรียงไกร และสาเหตุที่เรียกว่าบาปเล็กก็เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบระหว่างบาปอื่นๆ นั่นเอง
ปัจจัยที่ทำให้บาปต่างๆถูกลบล้าง
1. การนมาซ
อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ฮูด โองการที่ 114
وَأَقِمِ الصَّلَاةَ طَرَفَيِ النَّهَارِ وَزُلَفًا مِنَ اللَّيْلِ إِنَّ الْحَسَنَاتِ يُذْهِبْنَ السَّيِّئَاتِ ذَلِكَ ذِكْرَى لِلذَّاكِرِينَ
“และเจ้าจงดำรงนมาซในสองช่วงของกลางวันและช่วงต้นจากกลางคืน แท้จริงความดีทั้งหลายจะขจัดความชั่วทั้งหลายได้ นั่นเป็นคำเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก(ถึงอัลลอฮ์)”
2. การกล่าวขออภัยโทษจากอัลลอฮ์(ซบ.)
อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า: “เมื่อผู้คนทำบาปพระองค์จะให้เวลาเขาตั้งแต่เช้าจนค่ำ ดังนั้นหากเขาขออภัยโทษ พระองค์จะไม่ทรงถือโทษเขา”(อัลกาฟี เล่ม 2 หน้า 437)
ต้องทำความเข้าใจว่าการขออภัยโทษในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การกระดกลิ้นกล่าวประโยคว่า “อัสตัฆฟิรุลลอฮ์” (ข้าขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์) ทว่าต้องเป็นการขออภัยโทษที่รู้สำนึกแล้วอย่างแท้จริงโดยเสียใจกับการกระทำบาปนั้นและตั้งจิตแน่วแน่ว่าไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก และสำหรัลผู้ที่ได้กระทำบาปด้วยการละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นไม่อาจปลดเปลื้องได้ด้วยการขออภัยโทษต่ออัลอฮ์ ทว่าเขาต้องขอขมาจากผู้ที่เขาได้ละเมิดเสียก่อน
อิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า: “ผู้ที่กล่าวขออภัยโทษแต่ไม่ได้สำนึกและเสียใจต่อการทำบาปนั้นเลย เท่ากับเขาได้ล้อเล่นและดูถูกตัวเขาเอง”(บิฮารุลอันวาร เล่ม 75 หน้า 356 ฮะดีษที่ 2)
3. การกล่าวซอละวาต(อำนวยพรแก่ศาสดามุฮัมหมัดและลูกหลานของท่าน-อะฮ์ลุลบัยต์)
4. การถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน
5. การช่วยเหลือบรรดาผู้ถูกกดขี่
6. การขจัดความทุกข์แก่บรรดาผู้ศรัทธา
7. การอ่านอัลกุรอาน
8. การร้องไห้เสียใจให้กับอิมามฮุเซน(อ.)
9. การไปซิยาเราะฮ์สุสานของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)และบรรดามะอ์ซูม(อ.)
10.การมองสถานกะอ์บะฮ์
11. การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
12. การช่วยเหลือผู้ศรัทธาที่เจ็บไข้ได้ป่วย
13. ฯลฯ
กล่าวคือนอกจากการเสียใจและสำนึกในความผิดบาปที่ได้กระทำไปด้วยหัวใจแล้วกล่าวขออภัยโทษต่อพระองค์ หากละเมิดสิทธิผู้อื่นก็ให้ขอขมาผู้นั้น และต้องทำความดีอื่นๆ เป็นการทดแทนโดยไม่หันไปกลับทำบาปต่างๆ นั้นอีก ทั้งหมดนี้คือช่องทางและประตูแห่งการลบล้างบาปและปลดเปลื้องบาปให้หมดไปจากผู้ที่ทำบาป ซึ่งไม่อาจลบล้างไปด้วยพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่งได้ และนี่คือสาระธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามที่ได้รับจากตัวบทแห่งคัมภีร์อัลกุรอาน แบบฉบับศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) บรรดาอิมามมะอ์ซูม(อ.)
เชคอิมรอน พิชัยรัตน์/เรียบเรียง