ปัจจัยที่สำคัญเพื่อบรรลุสู่รักที่สมบูรณ์ บนพื้นฐาน “มะอ์ริฟะฮ์” การทำความรู้จักอิมามอย่างแท้จริง
  • ชื่อ: ปัจจัยที่สำคัญเพื่อบรรลุสู่รักที่สมบูรณ์ บนพื้นฐาน “มะอ์ริฟะฮ์” การทำความรู้จักอิมามอย่างแท้จริง
  • นักเขียน: เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 14:28:17 16-8-1403

ปัจจัยที่สำคัญเพื่อบรรลุสู่รักที่สมบูรณ์ บนพื้นฐาน “มะอ์ริฟะฮ์” การทำความรู้จักอิมามอย่างแท้จริง

 


“มะอ์ริฟะฮ์” การรู้จักอิมามอย่างแท้จริง

        เหตุผลสำคัญที่ทำให้สหายและผู้ช่วยเหลือของท่านอบาอับดิลลาฮ์ (อ.) กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึงและปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นอมตะนั้น ก็คือมะอ์ริฟะฮ์ (การรู้จัก) ที่พวกเขามีต่ออิมามแห่งยุคสมัยของตนเอง เป็นการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ซึ่งไม่ใช่เกิดจากอารมณ์ การหลับหูหลับตาและความงมงาย (ญะฮาละฮ์) แต่เป็นการรู้จักที่เป็นแก่นแท้และเกิดจากก้นบึ้งของหัวใจของพวกเขา เป็นการรู้จักที่เกิดจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่ส่งผลนำไปสู่การเชื่อฟังและการยอมจำนนโดยดุษฎี

        ในความเป็นจริงแล้ว การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ที่ถูกเน้นย้ำจากบรรดาอิมาม (อ.) นั้น ไม่ใช่เป็นการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) แบบผิวเผินเหมือนกับที่ประชาชนทั่วไป (อะวาม) มีความรู้จัก และไม่ใช่เพียงพอแค่การรู้จักชื่อและเชื้อสายของอิมาม (อ.) เท่านั้น แต่จุดประสงค์ของการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) นี้คือ การรู้จักในระดับสูงเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งจำเป็นที่ควบคู่กับความศรัทธา (อีหม่าน)

        ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า

لَا يَكُونُ الْعَبْدُ مُؤْمِناً حَتّى يَعْرِفَ اللّهَ وَ رَسُولَهُ وَ الْأَئِمّةَ كُلّهُمْ وَ إِمَامَ زَمَانِهِ وَ يَرُدّ إِلَيْهِ وَ يُسَلّمَ لَهُ ثُمّ قَالَ كَيْفَ يَعْرِفُ الْآخِرَ وَ هُوَ يَجْهَلُ الْأَوّلَ

“บ่าว (ของอัลลอฮ์) นั้นจะยังไม่เป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จนกว่าเขาจะรู้จักอัลลอฮ์ ศาสนทูตของพระองค์และบรรดาอิมาม (ผู้นำ) ทั้งหมด และ (รู้จัก) อิมามแห่งยุคสมัยของเขา และย้อนกลับไปหาเขาและยอมสวามิภักดิ์ต่อเขา” ต่อจากนั้นท่านกล่าวว่า “เขาจะรู้จักคนสุดท้ายได้อย่างไร ในขณะที่เขาไม่รู้จักคนแรก” (1)

        หมายความว่า จะต้องมีความรู้จักสถานะอันสูงส่งของอิมามทุกท่าน และรู้จักบทบาทและภารกิจที่ท่านเหล่านั้นมีต่อสังคมอิสลามที่สืบสานกันมาจนถึงท่านสุดท้าย ในฐานะตัวแทนหรือวะซีย์ของท่านศาสดา และจะต้องรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงภารกิจหน้าที่ที่เราพึงมีต่อพวกท่านเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่ออิมามหรือผู้นำแห่งยุคสมัยของตนเอง ดังในฮะดีษมุตะวาติรบทหนึ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

مَنْ ماتَ وَ لَمْ يَعْرِفْ إمامَ زَمانِهِ ماتَ مَيْتَةً جاهِلِيَّةً

"ผู้ใดที่ตายลงโดยที่เขาไม่รู้จักอิมาม (ผู้นำ) แห่งยุคสมัยของเขา เขาได้ตายในสภาพญาฮิลียะฮ์" (2)

        ปัญหาของประชาชาติอิสลามภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เกิดจากการขาดความรู้ (มะอ์ริฟะฮ์) ต่อฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) และอิมามแห่งยุคสมัยของตัวเอง ซึ่งเป็นผลทำให้พวกเขาฝ่าฝืนและต่อต้านอิมามของตน

        ชาวกูฟะฮ์ก็รู้จักท่านอิมามฮุเซน (อ.) แต่เป็นการรู้จักแบบผิวเผินแค่เปลือกนอก การรู้จักของพวกเขาถูกจำกัดอยู่แค่เพียงชื่อและเชื้อสาย (นะซับ) เพียงเท่านั้น หรือบางคนนอกจากรู้จักอย่างผิวเผินแล้วยังขาดการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณ ยังมีความลุ่มหลงในชีวิตทางวัตถุ จึงเป็นเหตุทำให้พวกเขาไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามท่านอย่างแท้จริง

        จะเห็นได้ว่าภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านมุสลิม อิบนิอะกีล ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ถามจากชาวเมืองกูฟะฮ์หลายคนที่เข้ามาสมทบกับกองคาระวานของท่าน เกี่ยวกับทัศนะและท่าทีของประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์ บุคคลเหล่านั้นกล่าวตอบว่า “ในหมู่บุคคลที่เป็นแกนนำของสังคม (อัชร๊อฟ) นั้น ได้มีการให้และการรับสินบนต่างๆ เกิดขึ้น และหัวใจของประชาชนส่วนอื่นๆ นั้นอยู่กับท่าน แต่ดาบของพวกเขานั้นพร้อมที่จะห้ำหั่นท่าน”

        ตัวอย่างหนึ่งในจากฟะร็อซดัก นักกวีผู้มีชื่อเสียงแห่งอาหรับในยุคนั้น เขาได้เล่าว่า : ฉันได้พบกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในขณะที่ฉันเดินทางออกมาจากเมืองกูฟะฮ์ ท่านได้ถามฉันว่า “เบื้องหลังของเจ้าเป็นอย่างไรบ้าง โอ้อบา ฟิร๊อซ” ฉันกล่าวกับท่านว่า “จะให้ข้าพเจ้าพูดความจริงกับท่านไหม” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ใช่! ฉันต้องการความจริง” ฟะร็อซดักจึงกล่าวว่า

أَمَّا الْقُلُوبُ فَمَعَكَ، وَأَمَّا السُّيُوفُ فَمَعَ بَنِي‌ أُمَيَّه؛ وَالنَّصْرُ مِنْ عِنْدِ اللَهِ

“หัวใจทั้งหลายนั้นอยู่กับท่าน แต่ส่วนดาบทั้งหลายนั้นอยู่กับบนีอุมัยยะฮ์ และชัยชนะนั้นอยู่ ณ อัลลอฮ์”

        ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวว่า

مَا أَرَاكَ إلاَّ صَدَقْتَ! النَّاسُ عَبِيدُ الدُّنْيَا وَالدِّينُ لَغْوٌ عَلَي‌ أَلْسِنَتِهِمْ، يَحُوطُونَهُ مَا دَرَّتْ بِهِ مَعَايِشُهُمْ؛ فَإذَا مُحِّصُوا بِالْبَلاَ´ءِ قَلَّ الدَّيَّانُونَ

“ฉันไม่เห็นเจ้าเป็นอย่างอื่น นอกจากพูดความจริง! มนุษย์นั้นเป็นทาสของโลกนี้ และศาสนานั้นเป็นเพียงคำพูดที่ไม่จริงจังบนปลายลิ้นของพวกเขา พวกเขาจะห้อมล้อมศาสนาตราบที่ปัจจัยดำรงชีพของพวกเขายังคงพรั่งพรูจากศาสนา แต่เมื่อใดที่พวกเขาถูกทศสอบด้วยกับความทุกข์ยาก บรรดาผู้ที่อยู่กับศาสนาก็จะเหลือเพียงน้อยนิด” (3)

        แต่บรรดาสหาย (สาวก) และผู้ช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น พวกเขามีความรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) อิมามแห่งยุคสมัยของตนเองถึงขั้นที่ว่า พวกเขาได้เลือกเอาการตายชะฮีดในหนทางของอิมาม เหนือการมีชีวิตอยู่ในโลกอันไม่จีรังยั่งยืนนี้

        ในค่ำคืนอาชูรอ หลังจากที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้บอกกล่าวถึงสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นแก่บรรดาสหาย (สาวก) ของท่านได้รับรู้ ท่านได้ยกเลิกสัตยาบัน (บัยอะฮ์) แก่พวกเขา และอนุญาตให้พวกเขาแยกย้ายออกไปภายใต้ความมืดสนิทของยามค่ำคืน แต่พวกเขาได้กล่าวว่า

الحمد لله الذي شرفنا بالقتل معك, ولو كانت الدنيا باقية وكنا فيها مخلدين لآثرنا النهوض معك على الإقامة فيها

“มวลการสรรเสริญแด่อัลลอฮ์ ผู้ซึ่งทรงมอบเกียรติแก่เราที่จะถูกสังหาร (เป็นชะฮีด) เคียงข้างท่าน มาตรแม้นว่าโลกนี้คงอยู่ และเราจะมีชีวิตอยู่เป็นนิจนิรันดร์ แน่นอนยิ่งว่า เราก็ปรารถนาที่จะฟื้นขึ้นมากับท่านเพื่อที่จะยืนหยัดต่อสู้" (4)

        การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) อิมามของพวกเขามีความสูงส่งถึงขั้นที่พวกเขาเชื่อมั่นว่า การดำรงอยู่ของอิมามนั้นคือความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ที่ยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่พวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ที่ได้กล่าวไว้กับประชาชาติมุสลิมแล้ว (จากฮะดีษษะกอลัยน์)

        บุร็อยร์ อิบนุคุฎ้อยร์ หนึ่งในสหาย (สาวก) ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ด้วยความกระตือรือร้นว่า  

والله يا ابن رسول الله، لقد مَنّ الله بك علينا أن نقاتل بين يديك، وتقطّع فيك أعضائنا، ثمّ يكون جدّك شفيعنا يوم القيامة

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! อัลลอฮ์ทรงกรุณายิ่งต่อพวกเราโดยผ่านท่าน เพื่อที่เราจะได้ทำการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน และอวัยวะร่างกายของเราจะถูกตัดเป็นชิ้นๆ ในหนทางของท่าน หลังจากนั้นตาของท่านจะเป็นผู้ให้การอนุเคราะห์ (แก่เรา) ในวันชาติหน้า” (5)

แหล่งอ้างอิง :

1. อุซูลุลกาฟีย์ เล่มที่ 1 หน้า 255 ฮะดีษที่ 2

2. ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์ หน้า 117

3. บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 44 หน้า 195

4. มักตะลุลฮุเซน คอรัซมี หน้า 59

5. อัลลุฮูฟ หน้า 35

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ