สองเงื่อนไขการบรรลุสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและการเข้าสู่สวรรค์
  • ชื่อ: สองเงื่อนไขการบรรลุสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและการเข้าสู่สวรรค์
  • นักเขียน: เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 0:59:1 18-10-1403

สองเงื่อนไขการบรรลุสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและการเข้าสู่สวรรค์

 

ในทัศนะของอิสลาม เงื่อนไขของการบรรลุสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์นั้นมี 2 ประการ คือ อีหม่าน (ความศรัทธา) และอะมั้ล (การประพฤติปฏิบัติ) แต่คำถามมีอยู่ว่า ในระหว่างอีหม่าน (ความศรัทธา) และอะมั้ล (การประพฤติปฏิบัติ) สิ่งใดมีความสำคัญกว่าและมีคุณค่ามากกว่าในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า และจะเป็นสื่อทำให้เราเข้าใกล้ชิดต่อพระองค์มากกว่า?

        เพื่อที่จะรับรู้ถึงคำตอบของคำถามดังกล่าวนี้ อันดับแรกเราจะมาพิจารณาดูโองการอัลกุรอาน 3 กลุ่ม ต่อไปนี้ก่อน

       โองการกลุ่มแรก มีโองการจำนวนมากมายในคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้วางอีหม่าน (ความศรัทธา) และอะมั้ลซอและห์ (การประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม) ไว้เคียงข้างกัน และถือว่าทั้งสองประการคือเงื่อนไขในการบรรลุสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและการเข้าสู่สวรรค์ โองการเหล่านี้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า หากปรารถนาที่จะเป็นชาวสวรรค์ จำเป็นที่จะต้องทำให้เงื่อนไขสองประการนี้เกิดขึ้นในตัวเอง คือจะต้องมีศรัทธา (อีหม่าน) และต้องกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ตัวอย่างเช่น ในอัลกุรอานโองการที่ 25 ของบทอัลบะกอเราะฮ์ ได้กล่าวว่า

وَ بَشِّرِ الَّذینَ آمَنُوا وَ عَمِلُوا الصَّالِحاتِ أَنَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْری مِنْ تَحْتِهَا الْأَنْهارُ

“และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพวกเขาจะได้รับบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีธารน้ำหลายสายไหลอยู่เบื้องล่างของมัน”

       โองการกลุ่มที่สอง มีหลายโองการเช่นกันที่ชี้ให้เห็นว่า การมีอีหม่าน (ความศรัทธา) เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอพอสำหรับการเข้าสู่สวรรค์ ตัวอย่างเช่นในซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 158 กำหนดให้ผู้มีศรัทธาที่ปราศจากการกระทำ (อะมั้ล) อยู่ในแถวเดียวกันกับผู้ที่ไร้ศรัทธา และกล่าวว่าบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้จะไม่ได้รับประโยชน์และความดีงามใดๆ ทั้งสิ้น

يَوْمَ يَأْتِي بَعْضُ آيَاتِ رَبِّكَ لَا يَنفَعُ نَفْسًا إِيمَانُهَا لَمْ تَكُنْ آمَنَتْ مِن قَبْلُ أَوْ كَسَبَتْ فِي إِيمَانِهَا خَيْرأً

“วันที่สัญญาณบางอย่างจากพระผู้อภิบาลของเจ้ามาถึงนั้น ความศรัทธาจะไม่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใด โดยที่เขามิได้ศรัทธามาก่อน หรือมิได้แสวงหาความดีใดๆ ไว้ในการมีศรัทธาของเขา”

       ฉะนั้นคนที่ดูภายนอกเป็นผู้มีศรัทธาเหมือนกับมุสลิมคนอื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่ใส่ใจต่อการปฏิบัติหน้าที่บังคับ (วาญิบาต) และละทิ้งข้อห้าม (มุฮัรร่อมาต) ต่างๆ ของศาสนานั้น เขาอย่าได้หลงภูมิใจในความศรัทธาหรือความเป็นมุสลิมเช่นนี้ของเขา เพราะอีหม่าน (ความศรัทธา) เช่นนี้จะไม่ให้คุณประโยชน์ใดๆ ต่อเขาเลย

       โองการกลุ่มที่สาม มีหลายโองการเช่นกันที่ถือว่าการกระทำที่ดีและน่าพึงพอใจ แต่ขาดความศรัทธา (อีหม่าน) ก็เหมือนธนบัตร (เงิน) ปลอม ซึ่งจะไม่มีค่าใดๆ สำหรับตลาดในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ตัวอย่างเช่นในอัลกุรอานโองการที่ 15 ของบทฮูด ได้กล่าวว่า

مَنْ کانَ یُریدُ الْحَیاةَ الدُّنْیا وَ زینَتَها نُوَفِّ إِلَیْهِمْ أَعْمالَهُمْ فیها وَ هُمْ فیها لا یُبْخَسُونَ

“ผู้ใดปรารถนาชีวิตในโลกนี้และเครื่องประดับของมัน เราก็จะมอบให้พวกเขาอย่างครบถ้วนตามการกระทำต่างๆ ของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการกระทำเหล่านั้นแต่อย่างใด”

        บนพื้นฐานของโองการนี้ ใครก็ตามที่ใช้ชีวิตทั้งหมดของตนเองไปในการกระทำสิ่งที่ดีงามและน่าสรรเสริญ เช่นการสร้างถนนหนทาง การช่วยเหลือผู้อื่น การสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน แต่เขาไม่มีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อศาสดาและวันปรโลก ในวันฟื้นคืนชีพการกระทำความดีต่างๆ ของเขาจะไม่เกิดคุณประโยชน์ใดๆ ต่อเขา ทั้งนี้เนื่องจากในโองการถัดไปได้กล่าวว่า

أُولَٰئِكَ الَّذِينَ لَيْسَ لَهُمْ فِي الْآخِرَةِ إِلَّا النَّارُ وَحَبِطَ مَا صَنَعُوا فِيهَا وَبَاطِلٌ مَّا كَانُوا يَعْمَلُونَ

“คนเหล่านั้น พวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกปรโลกนอกจากไฟนรก และสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกนี้ก็จะไร้ผล และสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเปล่า”

       บทสรุปจากโองการทั้งสามกลุ่ม : การแสวงหาความเมตตาและความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า และการบรรลุสู่ความมีเกียรติศักดิ์ศรี ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และปรโลกนั้นขึ้นอยู่กับการมีอีหม่าน (ความศรัทธา) และอะมั้ล ซอและห์ (การกระทำความดี) การมีความศรัทธาเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการทำความดี หรือการกระทำความที่ดีงามเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองกรณีไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและความรอดพ้นได้ สิ่งที่จะเป็นหลักประกันความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นสื่อนำพามนุษย์เข้าสู่สวรรค์ได้นั้น คืออีหม่าน (ความศรัทธา) ที่ควบคู่ไปกับอะมั้ลซอและห์ (การกระทำความดี) ความหมายดังกล่าวนี้ สามารถเข้าใจได้จากโองการที่ 10 ของบทฟาฏิร ซึ่งอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

مَن كَانَ يُرِيدُ الْعِزَّةَ فَلِلَّهِ الْعِزَّةُ جَمِيعًا إِلَيْهِ يَصْعَدُ الْكَلِمُ الطَّيِّبُ وَالْعَمَلُ الصَّالِحُ يَرْفَعُهُ وَالَّذِينَ يَمْكُرُونَ السَّيِّئَاتِ لَهُمْ عَذَابٌ شَدِيدٌ وَمَكْرُ أُولَٰئِكَ هُوَ يَبُورُ

“ผู้ใดต้องการเกียรติศักดิ์ศรี เกียรติศักดิ์ศรีทั้งมวลนั้นเป็นของอัลลอฮ์ ถ้อยคำอันดีงาม (ความศรัทธาที่ถูกต้องและบริสุทธิ์) ย่อมจะขึ้นไปสู่พระองค์ และการงานที่ดีจะนำพามันขึ้นไป และบรรดาผู้วางแผนชั่วร้ายทั้งหลาย พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บแสบ และแผนการของพวกเขาเหล่านั้นย่อมสูญสลาย”

(อัลกุรอานบทฟาฏิร โองการที่ 10)

        ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี (ร.ฮ.) ได้เขียนอธิบายโองการนี้ว่า : จุดประสงค์ของคำว่า “อัลกะลิมุฏฏ็อยยิบ” (ถ้อยคำอันดีงาม) ในที่นี้ก็คือ ความเชื่อและความศรัทธาที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ โดยที่มนุษย์จะกำหนดมันเป็นพื้นฐานสำหรับการกระทำของตน และเป็นที่ชัดเจนยิ่งว่าหนึ่งในตัวอย่างของความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าวก็คือ “กะลิมะตุ้ตเตาฮีด” (ความศรัทธาในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) โดยที่ความเชื่อและความศรัทธาที่เป็นสัจธรรมอื่นๆ ล้วนต้องสอดคล้องและย้อนกลับมาสู่ความศรัทธาในเรื่องนี้... และเหตุผลที่เรียก “ความศรัทธา” (อีหม่าน) ว่า “เกาล์” หรือ “กะลิมะฮ์” (ถ้อยคำ) นั้นเนื่องจากเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในหมู่ชาวอาหรับ (1)

        ท่านได้เขียนต่อไปอีกว่า : การขึ้นของ “อัลกะลิมุฏฏ็อยยิบ” (ความศรัทธา) ไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้น หมายถึง การเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของมัน (ความศรัทธา)... และเนื่องจากความศรัทธากับตัวผู้ศรัทธานั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้ ดังนั้นการเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของความศรัทธา ก็ย่อมหมายถึงการเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าของตัวผู้ศรัทธานั่นเอง นั่นหมายความว่า หากมีความศรัทธาก็ย่อมมีความใกล้ชิด และหากไม่มีความศรัทธา ความใกล้ชิดก็ย่อมไม่เกิดขึ้น แม้ว่ามนุษย์จะทำความดีตราบชั่วชีวิตของเขาก็ตาม

        ในส่วนถัดไปของโองการข้างต้น คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงบทบาทของอะมั้ล (การกระทำความดี) ที่มีผลต่อความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าดังกล่าว โดยกล่าวว่า

 وَ الْعَمَلُ الصَّالِحُ یَرْفَعُهُ

“และการงานที่ดีนั้นจะยก (นำพา) มันขึ้นไป”

        หมายความว่า ปีกที่จะใช้โบยบินและเครื่องจักรที่จะใช้ขับเคลื่อนความศรัทธา (อีหม่าน) นั้นคือการกระทำความดี (อะมั้ล ซอและห์) ซึ่งหากวิหกปราศจากปีกที่จะโบยบินสู่อะรัช (บัลลังก์) แห่งพระผู้เป็นเจ้า ก็จะกลายเป็นนกพิการ เป็นง่อยและไร้ความสามารถที่จะโบยบินได้ และไม่อาจที่จะนำพาเจ้าของของมันไปสู่ความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าได้ (2)

        การเปรียบเปรย : ตัวอย่างเปรียบเปรยในประเด็นที่สำคัญและละเอียดอ่อนนี้ ก็คือตัวอย่างของเครื่องบิน ซึ่งความศรัทธา (อีหม่าน) เปรียบได้กับตัวเครื่องบิน และการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) เปรียบได้กับเครื่องยนต์ของมัน บุคคลที่มีแต่เพียงการกระทำความดี (อะมั้ล ซอและห์) แต่ขาดความศรัทธา ก็เหมือนกับคนที่โดยสารเรือเดินทะเลที่บรรทุกเครื่องยนต์ของเครื่องบินจนเต็มลำ และบุคคลที่มีแต่ความศรัทธา (อีหม่าน) แต่ขาดการกระทำความดี (อะมั้ล ซอและห์) ก็เหมือนกับคนที่ขึ้นโดยสารเครื่องบินที่ปราศจากเครื่องยนต์ แต่ทั้งสองมีเจตนาที่จะโบยบินขึ้นสู่ฟากฟ้า

        ส่วนคนที่มีความศรัทธา (อีหม่าน) และมุ่งมั่นอยู่กับการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ที่พึ่งพิงอยู่กับความศรัทธา (อีหม่าน) ดังกล่าว เปรียบได้กับเขาคือผู้โดยสารบนเครื่องบินที่มีสภาพปกติและสมบูรณ์ ยิ่งความศรัทธา (อีหม่าน) และการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ของเขามีความสมบูรณ์และไร้ข้อบกพร่องมากเพียงใด ศักยภาพและความสามารถในการโบยบินขึ้นสู่เบื้องสูงก็ย่อมมีมากกว่า ซึ่งนั่นก็คือ ตำแหน่งแห่งความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า

        กล่าวโดยสรุปก็คือ เพื่อที่จะบรรลุสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ การเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า และการเข้าสู่สวรรค์อันสูงส่งนั้น จำเป็นต้องมีความศรัทธา (อีหม่าน) และการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ทั้งความศรัทธาที่ปราศจากการกระทำความดี และการกระทำความดีที่ปราศจากความศรัทธานั้น ล้วนไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์แต่อย่างใดทั้งสิ้น และเราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความศรัทธา (อีหม่าน) คือปัจจัยที่จะยกระดับมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ในขั้นต่างๆ และเป็นบรรทัดฐานของการเข้าสู่ตำแหน่งความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่สิ่งที่จะยกความศรัทธา (อีหม่าน) และผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ขึ้นสู่เบื้องบนและนำพาเขาเข้าสู่สวรรค์ได้นั้น คือการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์)

เชิงอรรถ :

(1) ตัฟซีร อัลมีซาน เล่มที่ 17 หน้าที่ 23

(2) บทเรียนตัฟซีร ของท่านอายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลี

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากคุฏบะฮ์นมาซวันศุกร์ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)

เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ