ภาพ กับ สภาพปรากฎ ในนิยามของตะเซาวุร คือ อะไร?
ทบทวนเนื้อหาก่อนหน้านี้
ตะเซาวุรในนิยามของอยาตุลลอฮมิศบาฮ์ หมายถึง สภาพปรากฎ หรือ ปรากฎการณ์ทางจิตในแบบที่เรียบง่าย ซึ่งมีแหล่งที่มาจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง เช่น ภาพของภูเขาดะมอวันด์ หรือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ภูเขา” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนิยามนี้ สภาพปรากฎก็คือ ปรากฎการณ์ที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างจิตกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่จิตนั่นเอง
ภาพ กับ สภาพปรากฎ ในนิยามของตะเซาวุร คือ อะไร?
สภาพปรากฎ คือ อะไรก็ตามที่ปรากฎขึ้นมาในจิตของเรา ไม่จำกัดว่า เป็นภาพจินตนาการ หรือ เป็นภาพที่ไม่มีส่วนมาจากวัตถุเจือปน เหมือน ตัวเลข รูปรสกลิ่นเสียง ความรู้สึก ภาพคำศัพท์ หรือแม้แต่การจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และที่เรียกว่า ภาพ หรือ สภาพปรากฎ ก็เพื่อให้รวมทุกสิ่งที่พอจะเข้าข่ายของ “สภาพปรากฎ” ได้ หากกล่าวว่า สภาพปรากฎ เป็นแค่ภาพที่เราจดจำจากสิ่งที่ไปเห็นมาแล้วนึกขึ้นมาในใจในปัจจุบันอย่างเดียวก็จะไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะ สภาพปรากฎบางอย่าง ก็ไม่มีภาพที่เราจดจำจากสิ่งที่ไปพบเจอมา เช่น ความรัก โลภ โกรธ หลง แม้จะไม่มีภาพแต่ก็ปรากฎขึ้นในความคิดของเราเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งที่รับรู้ภายในด้วย จึงต้องใช้คำว่า สภาพปรากฎ ส่วนที่ใช้คำว่า ภาพ หรือ ซูรัต อาจเป็นเพราะ นักปราชญ์กลุ่มนี้ สิ่งที่ถูกถ่ายโอนเข้ามาในความคิดหรือจิตของเรา ไม่ใช่สิ่งๆนั้น แต่เป็นตัวแทนของมัน เพราะเหตุนั้น ไฟที่อยู่ในโลกภายนอกจึงต่างกันกับไฟที่อยู่ในโลกแห่งจิต เพราะไฟในจิต เป็นภาพ/ซูรัต ไม่ใช่ไฟจริงๆ แม้แต่ “ความร้อน” ก็เป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงใช้คำว่า ภาพ เป็นตัวแทนของ สิ่งที่ปรากฎในจิตใจนั้นเอง
สรุปเนื้อหา
ภาพ หรือ สภาพปรากฎ แม้จะเป็นตัวแทนของการรับรู้ด้วยการมอง แต่ครอบคลุมความหมายของ ทุกปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จิต ของเรา ซึ่งครอบคลุมทั้งมโนทัศน์เชิงวัตถุของประสาทสัมผัส และมโนทัศน์เชิงอวัตถุของความรู้สึก,จิตวิญญาณและความคิด
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา