เรื่องที่ควรรู้ก่อนศึกษาปรัชญาอิสลาม ตอนที่ 2
  • ชื่อ: เรื่องที่ควรรู้ก่อนศึกษาปรัชญาอิสลาม ตอนที่ 2
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 0:47:9 2-9-1403

เรื่องที่ควรรู้ก่อนศึกษาปรัชญาอิสลาม ตอนที่ 2


2. คำว่า “ฟัลซาฟะฮ์” ในทางวิชาการ
ในปัจจุบันเนื่องด้วยความรู้ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนวิธีศึกษาแบบใช้เหตุผล เช่นแบบอุปนัย หรือนิรนัย และความรู้อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนวิธีของประสบการณ์ คำว่าปรัชญาและคำว่าความรู้ ที่มักจะแทนที่ด้วยคำว่า Science นั้น จึงเป็นสองคำที่ถูกแยกออกจากกันจากภาษาของนักวิชาการในปัจจุบัน อัลลามะฮ์ฮะซันซอเดะฮ์(2009, ล.1, น.117) ได้อธิบายถึงพัฒนาการของคำว่า ปรัชญา โดยยกตัวอย่างว่า
“การใช้คำว่าปรัชญามีลักษณะเหมือนการใช้คำว่า ดอกเตอร์ ซึ่งใช้เรียกตำแหน่งทางความรู้ของทุกศาสตร์ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นความรู้ประเภทใด ครอบคลุมกระทั่งความรู้ในเชิงจิตวิญญาณ และความรู้ในเชิงวัตถุ คำว่าปรัชญาและนักปรัชญาก็มีลักษณะในทำนองเดียวกัน คือ ครอบคลุมทั้งนักปรัชญาสายอิลาฮีย์(ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ หรือ พระผู้เป็นเจ้า บางครั้งเรียกว่า เทววิทยา) และครอบคลุมทั้งนักปรัชญาสายวัตถุ(ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุนิยม หรือ เกี่ยวข้องกับนักปรัชญากลุ่มอเทวนิยม)”
นอกจากนี้นักปรัชญาอิสลามอีกลุ่มหนึ่งมีมุมมองว่าปรัชญาเป็นคำที่เริ่มจากความหมายที่ตีวงกว้างครอบคลุมทุกศาสตร์ทุกวิชาการ(ปรัชญา=ความรู้) แล้วค่อยๆลดทอนและจำกัดวงแคบลงเรื่อยๆตามยุคสมัย จนถึงจุดหนึ่ง ปรัชญา ถูกเข้าใจในความหมายที่แตกต่างกันของผู้คน ซึ่งในประเด็นนี้ชะฮีดมูฏอฮารีได้วิจารณ์ถึงสถานะทางความหมายของปรัชญไว้อย่างน่าสนใจว่า 
“นี่คือประเด็นที่ควรแก่การพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะคำว่า “ปรัชญา ซึ่งในยุคปัจจุบันเนื่องจากคำดังกล่าวถูกนำมาใช้ในกรณีที่หลากหลาย ผลลัพธ์จึงทำให้ความหมายของคำๆนี้กลายเป็นสิ่งที่คลุมเครือไปเสียแล้ว โดย(ความคลุมเครือนี้)เป็นไปในลักษณะที่แต่ละคนต่างก็เข้าใจในความหมายของคำว่าปรัชญาเป็นของตัวเอง จนไปถึงขั้นที่บางกลุ่มคิดไปเองว่า “ปรัชญา” หมายถึงการแสดงความเห็นที่ซับซ้อน ชวนให้งุนงงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโลก และบางคนได้วิจารณ์(ต่อความหมายของ”ปรัชญา”)อย่างเลยเถิดและคิดไปเองว่า “ปรัชญาคือ การพูดจามั่วซั่ว” หรือ “การพูดในสิ่งที่ขัดแย้งกันเอง” บางกลุ่มก็มีความเห็นว่า “ประเด็นที่อยู่ในปรัชญาและประเด็นที่อยู่ในศาสตร์อื่นไม่มีความแตกต่างใดๆเลย ด้วยเหตุนี้(จึงทำให้พวกเขาคิดไปเองว่า)ถ้าจะแก้ปัญหาในปรัชญาได้ ก็ต้องมองหาคำตอบจากความรู้ในแผนกสาขาอื่น หรือ ประเด็นที่อยู่ในศาสตร์อื่น บางกลุ่มเห็นว่า “เทคนิคการคิดที่ปรัชญาใช้ คือวิธีคิดแบบนิรนัย(กียาส-قیاس) ส่วนเทคนิคการคิดที่ศาสตร์อื่นใช้โดยเฉพาะศาสตร์ที่มุ่งศึกษาธรรมชาติ คือ ประสบการณ์ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน และเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อนของปรัชญาที่อ้างว่าหากไม่มีหลักฐานทางปั
ญญาจะไม่อาจค้นพบคำตอบได้นั้น ก็คือสิ่งที่สามารถค้นพบได้จากการส่องกล้องจุลทัศน์ หรือ การทดลองในห้องแลปด้วยเช่นกัน” (1989, ล.1, น.37)
ชะฮีดมุเฎาะฮารี ต้องการนำเสนออะไรในคำพูดนี้ ? 
คำตอบ : ท่านต้องการสื่อให้เห็นว่า ยุคสมัยนี้ ปรัชญา ถูกตีความไปตามความเข้าใจของแต่ละคน ไม่เหมือนกับในอดีต บางครั้งเราอาจเห็น เศรษฐีคนหนึ่งพูดถึงความสำเร็จในชีวิตของตน แล้วนำเรื่องราวนั้นมาแต่งเป็นตำรา โดยตั้งชื่อหนังสือว่า ปรัชญาชีวิตของนายคนนั้น หรือ นางคนนี้ ปรากฎการณ์แบบนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้แต่งตำราเข้าใจว่า ปรัชญา คือ วิธีการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จตามความคิดของตนเอง บางคนก็โจมตี ปรัชญาว่า เป็นศาสตร์ที่ล้าหลัง และถูกวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ เพราะเรื่องที่ปรัชญาพูด วิทยาศาสตร์ก็พูดเช่นกัน บางคนตัดสินเอาจากความไม่เข้าใจในเนื้อหา จึงทำให้เขาเชื่อว่า ปรัชญาคือ การพูดอะไรที่ดูซับซ้อน หรือ บางคนก็ตีปรัชญาว่า เป็นศาสตร์ที่ใช้ไม่ได้ มั่วซั่ว และขัดแย้งกันเอง เพราะนักปรัชญามักขัดแย้งกันเองเสมอ ชะฮีดมูฏอฮารีกำลังสื่อสารถึงผู้อ่านผู้ฟัง ถึงสภาพของปรัชญาในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา