อัลกุรอ่านและซุนนัตเพียงพอแก่เราในการที่เราไม่จำเป็นต้องศึกษาปรัชญาหรือไม่ ?
  • ชื่อ: อัลกุรอ่านและซุนนัตเพียงพอแก่เราในการที่เราไม่จำเป็นต้องศึกษาปรัชญาหรือไม่ ?
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 6:11:0 4-9-1403

อัลกุรอ่านและซุนนัตเพียงพอแก่เราในการที่เราไม่จำเป็นต้องศึกษาปรัชญาหรือไม่ ? 

 

ในบทเรียนนี้ ผู้เขียนจะคลี่คลายปัญหาหรือข้อคลุมเครือหนึ่งซึ่ง ข้อคลุมเครือนี้จะเกิดขึ้นกับมุสลิม เราอาจตั้งคำถามง่ายๆตรงๆได้ว่า แค่อ่านอัลกุรอ่านกับฮาดิษแล้ว ทำไมต้องไปศึกษาปรัชญาอีก ? 
นี่คือคำถามนำร่องของตัวบทที่อยาตุลลอฮ มิศบาฮยัซดี จะทำการอภิปราย เพื่อให้รวบรัดเราจะสรุปคำตอบของท่านมาเป็นข้อๆดังนี้ 
 ประการที่ 1 คนถามเข้าใจว่าปรัชญาเป็นศาสตร์ที่แยกกันกับสิ่งที่อยู่ในอัลกุรอ่าน แต่จริงๆแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประเด็นที่ถูกเสนอในอัลกุรอ่านและซุนนัตมีประเด็นในเชิงปรัชญาอยู่ในตัว ไม่ได้หมายความว่า กุรอ่านคือวิชาหนึ่ง ซุนนัตคือวิชาหนึ่ง และปรัชญาคือวิชาหนึ่งที่เป็นเอกเทศน์กัน คำถามตั้งอยู่สมมติฐานว่า ปรัชญา กับ อัลกุรอ่าน และซุนนัต มีเนื้อหาที่แตกต่างกันและไม่อาจเข้ากันได้ ทั้งที่ความจริงตรงข้ามกับสมมติฐานนี้ ตัวอย่างเช่น 
-โองการบ่าวสองนาย
-โองการศึกษาโครงสร้างของอูฐ ที่สอนเรื่องวิธีพิสูจน์พระเจ้า 
-โองการสองหูสองตาหนึ่งปาก ที่ยืนยันถึงเครื่องมือในญาณวิทยา 
-โองการที่เกี่ยวโยงกับซุนนัตอิลาฮีย์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปรัชญาสังคม 
โองการเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าในอัลกุรอ่านมีปรัชญาอยู่อย่างหลากหลาย 
 ประการที่ 2 มีวิชาอื่นที่ไม่ใช่ปรัชญาแต่ผลิตออกมาจากอัลกุรอ่านและซุนนัต เช่น 
อูศูลฟิกฮ์ หรือ แม้แต่วิชาตรรกวิทยา ก็มีรีวายัตที่รับรองและอนุญาตให้ศึกษา 
หากจะยึดสมมติฐานดังกล่าวเหตุใดจึงโจมตีแต่เพียงปรัชญาแต่กลับเว้นช่องว่างให้วิชาอื่นที่ถูกประพันธ์มา ?
จุดสำคัญของข้อโต้แย้งของอ.มิศบาฮ์ คือ ข้อโต้แย้งนี้เป็น #การตอบแบบนักซีย์ คือ 
การใช้ฐานที่นำมาสร้างเป็นตัวตั้งต้น มาโต้แย้งเสียเอง และแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของตัวสมติฐาน ที่ไม่สามารถใช้ได้ในทุกกรณี เช่น การถามสวนกลับว่า 
ถ้าอัลกุรอ่านและซุนนัตเพียงพอแล้ว ทำไมต้องเรียนวิชาอูศูลฟิก กับ วิชาฟิกฮ์ อีก ?
คำตอบก็จะคลายในตัวเอง 
ประการที่ 3 แม้ที่มาของวิชาปรัชญาจะถูกระบุว่าเริ่มต้นมาจากกรีก ถึงกระนั้นคุณค่าของปรัชญาก็ไม่ตกลง เพราะมีโองการอัลกุรอ่านและซุนนัตมากมายที่นำเสนอเนื้อหาในเชิงปรัชญา หรือ รับรองกระบวนการคิดเชิงปรัชญา ตัวอย่างเช่น 
-ในอัลกุรอ่าน ซูเราะฮ์ฮาดีด โองการที่ 3
 هو الأول والآخر والظاهر والباطن
 “พระองค์ทรงเป็นผู้แรกและผู้สุดท้าย และทรงเป็นผู้เปิดเผย และผู้เร้นลับ” 
จากโองการคำว่าเอาวัล แรก กับ อาคีร ท้าย เป็นสองคำที่ตรงข้ามกัน ซอฮิร เปิดเผย กับ บาฏิน ปิดไว้,เร้น ก็เป็นสองคำที่ตรงข้ามกัน ซึ่งการทำความเข้าใจถึงลักษณะที่ตรงกันข้ามกัน นอกจากจะต้องหาคำอธิบายในเชิงรีวายัตแล้วยังต้องหาคำอธิบายในเชิงอักลีย์ หรือ ใช้ปัญญาด้วยเช่นกัน
- ในคุตบะฮ์แรกของนะฮญุลบาลาเฆาะ
 مع کل شی‌ء لا بمقارنه
 و غیر کل شیی‌ء لا بمزایله 
"พระองค์อยู่กับทุกสิ่งแต่ไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่ผูกติดกับมัน "
"พระองค์แก่นของสิ่งใดแต่ก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่แยกขาดจากกัน"
เราสามารถพบเห็นประโยคในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในนะฮญุลบาลาเฆาะฮ์ ซึ่งสะท้อนถึงความคิดเชิงปรัชญาไว้อย่างลึกซึ้ง และตัวบท หรือ มะตั่นในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับปรัชญากรีก 
แน่นอน เราไม่ปฏิเสธว่า ปรัชญากรีกเป็นแรงบันดาลใจให้นักปรัชญาอิสลามและในปรัชญาอิสลาม(ภววิทยา,อภิปรัชญา หรือแม้แต่ ปรัชญาศาสนา)มีแนวคิดจากปรัชญากรีกถูกนำมาอภิปราย แต่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อคือ เอกลักษณ์ของปรัชญาอิสลาม แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับปรัชญากรีก และจุดต่างที่ใหญ่ที่สุดคือ 
สุดท้ายแล้วปรัชญาอิสลามจะพาผู้ศึกษาไปรู้พระเจ้า และ นำพาพวกเขาไปสู่แนวคิดแบบสัจนิยมอิสลาม 
 ประการที่ 4 ในกรณีที่มีการนำเสนอข้อคลุมเครือจากตัวบทในศาสนา  ในอัลกุรอ่าน และ ซุนนัต เช่น สภาวะตะอารุฎ สภาวะนะกีฎ หรือ สภาวะที่แสดงถึงความขัดกันแบบผิวเผินในตัวยท  การจะเข้าสู่วงแห่งการตอบคำถามจะไม่อาจทำได้ หากปราศจากกระบวนการคิดในเชิงปรัชญา หรือ ความคิดเชิงอักลีย์ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ปรากฎการณ์วัฏจักร ซึ่งเรียกว่า ดูร (دور)จะเกิดขึ้นในทางวิชาการ เช่น 
หากถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าอัลกุรอ่านมาจากพระเจ้า ตอบว่า เพราะพระเจ้าบอก แล้วเมื่อถูกถามกลับว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าบอกอะไรบ้าง ตอบว่า เพราะอัลกุรอ่านบอก กล่าวคือ หากละทิ้งกระบวนการคิดในเชิงปรัชญา จะเกิดวังวนเช่นนี้ขึ้น ดังนั้น การศึกษาปรัชญา จึงไม่ใช่การศึกษาศาสตร์ที่อยู่นอกความรู้ศาสนา แต่คือศาสตร์ที่พัฒนาการมาจากศาสนาด้วยอีกศาสตร์หนึ่ง

สรุปออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา