ศึกษาอิมามัต ผ่านหนังสือมนุษย์ 250 ปี โดยอิมามคาเมเนอีย์ 24
หมวดที่1 ยุคต้นแห่งอิมามัต
บทที่9 ชีวิตและบุคลิกภาพของอมีรุลมุอฺมีนีน อลัยฮิสลาม
หมายเลข 88
ความเดิมตอนที่แล้ว
อิมามคาเมเนอีย์ชี้ว่า ตลอดชีวิตของท่านอิมามอาลี (อ) คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญชาญชัยของท่าน ข้อพิสูจน์คือไม่ว่าเราจะศึกษาและเจาะลึกเข้าในสงครามใดในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นบทบาทผู้กล้าหาญของท่านอิมามอาลี (อ) เสมอ
หัวข้อใหม่ ท่านอิมามอาลี (อ) คือ คนแรกที่มอบสัตยาบันให้ท่านศาสดา (ศ็อล)
ท่านศาสดา (ศ็อล) ผู้ทรงเกียรติได้รับการให้สัตยาบันในหลายวาระ หนึ่งในวาระที่อาจจะถือว่ายากและเป็นที่สุดคือ บัยอัตชะญะเราะฮ์,บัยอัตริฎวาน ในเหตุการณ์ฮุดัยบียะฮ์[1]ตามหลักฐานจากประวัติศาสตร์เมื่อสถานการณ์เริ่มเป็นอุปสรรค ท่านศาสดา (ศ็อล) ได้สั่งให้ผู้คนนับแสนกว่ามารวมตัวกัน และได้กล่าวให้พวกเขามอบสัตยาบัน ฉันจะรับบัยอัตจากพวกเจ้า จงอย่าถอยหนีจากความตาย จงทำสงครามเช่นนี้(ทำศึกแบบไม่กลัวตาย) จงนำชัยชนะมา หรือ จงถูกสังหาร ในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่มีที่หรือสถานการณ์ใดที่ท่านศาสดา (ศ็อล) จะขอให้มอบสัตยาบันเหมือนในสถานการณ์นี้เลย และในหมู่มวลชน ก็มีเพียงแค่ครั้งนี้ที่ผู้คนมากหน้าหลายตามารวมตัวกัน ทั้งคนที่มีศรัทธาอ่อนแอ หรือ แม้แต่คนที่กลับกลอกก็อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย (อย่างไรก็ตามในหมู่ผู้มอบสัตยาบัน) คนแรกที่ลุกขึ้นและพูดว่า “โอ้ ท่านศาสนฑูต แห่งอัลลอฮ์ (ซ.บ) ฉันจะขอมอบสัตยาบัน” คือ ชายหนุ่มผู้มีอายุ 20 ปีกว่า ชายหนุ่มคนนี้ได้ยื่นมือของตน จากนั้นเขาได้พูดว่า “ฉันขอมอบสัตยาบันให้แก่ท่านจนตาย” หลังจากนั้นมวลมุสลิมก็ทยอยมารวมตัวกัน และค่อยๆมามอบสัตยาบัน ส่วนคนที่ใจของเขาไม่อยากให้ ก็ต้องจำใจมอบสัตยาบันจากนั้นเองจึงมีโองการถูกประทานลงมาระบุว่า
لَقَدْ رَضِيَ اللَّهُ عَنِ الْمُؤْمِنِينَ إِذْ يُبَايِعُونَكَ تَحْتَ الشَّجَرَةِ فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمْ
โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธาขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่ฮุดัยบิยะฮฺ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา [2]
สรุป
อิมามคาเมเนอีย์ ได้ชี้ถึงความยิ่งใหญ่ของท่านอิมามอาลี (อ) ในฐานะบุคคลแรกที่มอบสัตยาบันให้แก่ท่านศาสดา (ศ็อล) ในเหตุการณ์ฮุดัยบียะฮ์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงความเป็นแบบอย่างของผู้ศรัทธาอีกประการหนึ่งของท่านอมีรุลมุอฺมีนีน (อ)
เชิงอรรถ
[1] สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นคว้าได้ในเชิงอรรถหมายเลข 2 หัวข้อ ซุลฮ์ฮุดัยบียะฮ์
[2] ซูเราะฮ์ ฟัตฮ์ โองการที่ 18
อ้างอิง มนุษย์ 250 ปี เล่ม 3 หน้า 76