ความสมบูรณ์ของศาสนาอิสลาม
สาเหตุที่บ่งบอกว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีความสมบูรณ์เพราะ คำสอนของอิสลามได้ครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิต คำสอนของอิสลามได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งธรรมชาติของมนุษย์ ครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม ครอบคลุมด้านวัตถุปัจจัย ด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อศรัทธา ความรักผูกพัน เศรษฐกิจ สิทธิ และอื่น ๆ อิสลามมีหลักคำสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ มีคำอธิบายที่ละเอียดอ่อน ไพเราะ และมีความลุ่มลึก อิสลามได้สอนมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้นวรรณะและทุกกาลเวลาและสถานที่
ผู้เชี่ยวชาญอิสลามแห่งยุโรปได้ทำการวิจัยอิสลามในทุกแง่ทุกมุม ทั้งหลักความเชื่อและหลักการปฏิบัติด้วยความละเอียดอ่อน และเขาได้สารภาพว่า อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่กว้าง ลุ่มลึก และครอบคลุมทุกเรื่อง
จะขอนำเสนอบางประเด็นของอิสลามที่มีความครอบคลุม
พระผู้เป็นเจ้า กุรอาน และอิสลาม
พระผู้เป็นเจ้าของอิสลาม คือ พระผู้อภิบาลของทุกสรรพสิ่ง ผู้นำเผ่า หรือประเทศตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อถึงเวลานมาซพวกเขาจะกล่าวว่า “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”
ทุกกาลเวลา ทุกสถานที่ และไม่ว่าสิ่งใดก็ตามถ้าหากมนุษย์ได้เรียกร้องจากพระองค์ พระองค์จะทรงตอบสนองให้ทั้งสิ้น ไม่มีขอบเขตจำกัดสำหรับอาตมันสากลของพระองค์ พระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายอัล-กุรอานกล่าวว่า “ความจำเริญพึงมีแด่พระผู้ซึ่งอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง”[1]
“พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้าปกปิดและสิ่งที่พวกเจ้าเปิดเผย และอัลลอฮฺทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่ในทรวงอก และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง” [2]
“และเรา (อัลลอฮฺ) นั้นใกล้ชิดเขายิ่งกว่าเส้นเลือดชีวิตของเขาเสียอีก” [3]
แน่นอนพระองค์ไม่ทรงเหมือนกับพระเจ้าจอมปลอมทั้งหลาย และไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์ พระองค์ทรงไร้ซึ่งสถานะ พระองค์จึงไม่ต้องการสถานที่ เพราะพระองค์คือผู้ทรงสร้างสถานที่และสรรพสิ่ง
พระองค์ทรงอยู่เหนือกาลเวลา และกาลเวลาเป็นสิ่งถูกสร้างหนึ่งของพระองค์ พระองค์ทรงดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ ไม่มีการเริ่มต้นและสิ้นสุด ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีสิ่งใดคล้ายเหมือนพระองค์อัล-กุรอานกล่าวว่า
“ไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์ พระองค์ทรงได้ยิน ทรงมองเห็น”[4]
อาตมันสากลของพระองค์ปราศจากการนอนหลับ ความเหน็ดเหนื่อย การสำนึก และการผิดพลาด อัล-กุรอานกล่าวว่า “อัลลอฮ์นั้น คือพระเจ้าซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงมีชีวิตเป็นนิรันดร์ ผู้ทรงบริหาร โดยที่การง่วงนอนและการนอนหลับจะไม่ครอบงำพระองค์”[5]
พระองค์ทรงเป็นเอกะไม่มีสิ่งใดเหมือนหรือคล้ายกับพระองค์ พระองค์มิใช่บิดาหรือมารดา พระองค์ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดและถูกกำเนิดโดยสิ่งอื่น พระองค์ไม่มีผู้ช่วยเหลือในการบริหารกิจการงาน พระองค์ไม่ทรงมีหุ้นส่วนและสิ่งนี้เป็นความจริงดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า
“จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺทรงเป็นที่พึ่ง พระองค์ไม่ทรงกำเนิด และไม่ทรงถูกกำเนิด และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์”[6]
พระผู้เป็นเจ้าของอิสลามคือพระผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม พระผู้ทรงสร้าง ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตา ทรงร่ำรวย ทรงเป็นที่พึ่ง ทรงเป็นผู้ประทานปัจจัยังชีพ ทรงอภัย ทรงสง่างาม ทรงยิ่งใหญ่ ทรงเดชานุภาพ ทรงรอบรู้ ทรงปราศจากความต้องการ และทรงประกอบด้วยพระลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย พระองค์ทรงตอบสนองการเรียกร้องของมนุษย์ตามความเหมาะสมด้วยกับความเมตตาของพระองค์ดังที่พระองค์ตรัสว่า “และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอต่อพวกเจ้า”[7]
ความเสมอภาคในอิสลาม
การแบ่งชั้นวรรณะ เผ่าพันธุ์ และการแบ่งแยกสีผิวในอิสลามนั้นถือว่าเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด อิสลามถือว่ามุสลิมทุกคนมีความเสมอภาคกัน เท่าเทียมกันจะต่างกันตรงความศรัทธาและความยำเกรงที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า “โอ้ มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าเป็นเพศชายและเพศหญิงและเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ.คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง แท้จริงอัลลอฮทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน”[8]
อิสลามกับเสรีภาพทางความคิด
อิสลามเป็นศาสนาที่ตั้งมั่นอยู่บนเหตุผล และหลักฐานและมีความอิสระทางความคิด อิสลามมิใช่ศาสนาที่คลุมถุงชนทางความคิด หรือมีการยัดเยียดความคิดอย่างเดียวโดยไม่รับฟังเหตุผลของคนอื่น อัล-กุรอานกล่าวว่า “ไม่มีการบังคับใด ในศาสนาอิสลาม แน่นอนความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด”[9]
อิสลามถือว่าเป็นความจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ที่ต้องมีการตรวจสอบความเชื่อศรัทธาก่อนที่เขาจะเชื่อในเรื่องนั้น อิสลามไม่อนุญาตให้เชื่อสิ่งใดโดยปราศจากเหตุผล และหลักฐานหรือเชื่อโดยไม่ใช้สติปัญญา แม้ว่าอหฺกามบางอย่างของอิสลามจะเป็นการปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียวก็ตาม (ตะอับบุดี) โดยไม่มีคำถามว่าทำไม เพื่ออะไร เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า อหฺกามเหล่านั้นได้เริ่มมาจากวะฮีย์ ปราศจากความผิดพลาด และผู้ที่ทำการสั่งสอนอหฺกามคือ ท่านศาสดาและอิมามผู้บริสุทธิ์
อิสลามได้ห้ามการปฏิบัติตามความเชื่อของบิดามารดาในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่ได้สั่งว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้สูเจ้าต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญเอาเอง ขณะเดียวกันได้กำชับว่าต้องเป็นสติปัญญาที่มีความแข็งแรงพอในการขบคิดหาเหตุผล และปฏิบัติตามความเชื่อมั่นและความรู้ ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า “และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน”[10]
อิสลามได้กล่าวกลุ่มชนที่ปฏิเสธความจริงว่า พวกเจ้าอธิบายเหตุผล และปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเจ้าไม่เชื่อมา หลังจากนั้นจงฟังคำตอบ อัล-กุรอานกล่าวว่า “และพวกเขากล่าวว่า จะไม่มีใครเข้าสวรรค์เลย นอกจากผู้ที่เป็นยิวหรือเป็นคริสเตียนเท่านั้นนั่นคือความเพ้อฝันของพวกเขา จงกล่าวเถิดว่า พวกท่านจงนำหลักฐานของพวกท่านมา ถ้าพวกท่านเป็นผู้พูดจริง”[11]
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเห็นว่ามีพวกยะฮูดี และพวกนัศรอนีจำนวนมากได้มาทำการวิพากษ์กับท่านศาสดา และบรรดาอิมามบนเรื่องราวของศาสนาในศตวรรษต่อมาเช่นกันพวกชนกลุ่มน้อยมักนิยมทำการวิพากษ์กับบรรดา นักปราชญ์และอุละมาอ์ของอิสลามบนเรื่องราวของศาสนาเช่นกัน ตามที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้
เจ้าของหนังสือ ตะมัดดุนอิสลาม(อารยธรรมอิสลาม) ได้บันทึกไว้ว่า ในแบกแดดได้จัดประชุมหลายต่อหลายครั้งซึ่งในแต่ละครั้งได้มีตัวแทนจาก ยะฮูดี นัศรอนี ฮุนูด และดะห์รีเข้าประชุมด้วย พวกเขามีอิสระในการพูด และต้องอดทนฟังเหตุผลของฝ่ายอื่น สิ่งหนึ่งที่ผู้จัดได้ขอร้องพวกเขาคือ การวิพากษ์ของพวกเขาต้องตั้งมั่นอยู่บนเหตุผลของสติปัญญา
เจ้าของหนังสือ ตะมัดดุนอิสลาม ได้พูดเสริมว่า ถ้าหากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่าหลังจากเวลาได้ผ่านไปเป็นพัน ๆ ปีแล้ว สงครามที่โหดร้ายจำนวนหลายครั้งได้เกิดขึ้น การนองเลือด และการเข่นฆ่าตามอารมณ์ต้องการของตัวเองก็ได้ผ่านมาชนิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่จนถึงปัจจุบันนี้พวกยุโรปยังไม่สามารถค้นหาความอิสระให้กับตัวเองได้[12]
อิสลามกับการเชิญชวนไปสู่เหตุผลและการศึกษา
อาจกล่าวได้ว่าอิสลามเป็นศาสนาเดียวที่เรียกร้องให้มนุษยชาติทำการขบคิดในเรื่องต่างๆ จุดประสงค์ต้องการให้มนุษย์ใช้สติปัญญาคิดก่อนที่จะทำ หรือก่อนที่จะเชื่อในสิ่งนั้น อัล-กุรอานมักเชิญชวนให้มนุษย์คิดถึงการสร้าง ท้องฟ้า กาลเวลา กลางวัน กลางคืน มนุษย์ สัตว์ และโลก โดยกล่าวว่า “แท้จริงในการสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน การสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน เรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำที่อัลลอฮฺได้ทรงหลั่งลงมาจากฟากฟ้า ทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปทั่วแผ่นดิน และทรงให้ลมพัดเปลี่ยนทิศทาง และทรงให้เมฆกำหนดผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดิน แน่นอนสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา”[13]
อัล-กุรอานได้แนะนำให้คิดถึงวิถีชีวิตของคนในอดีต สาเหตุที่พวกเขาได้พบกับจุดจบ และสาเหตุที่พวกเขาได้เจริญรุ่งเรืองเพื่อเป็นแบบอย่างให้ชีวิตของเราออกห่างจากความตกต่ำเหล่านั้น อัล-กุรอานกล่าวว่า “แน่นอนได้ผ่านมาแล้วก่อนพวกเจ้าแนวทางต่างๆ ดังนั้นพวกเจ้าจงท่องเที่ยวไปในแผ่นดินแล้วจงดูว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นอย่างไร”[14]
อิสลามต้องการให้มนุษย์มีการพัฒนาด้านความคิดตลอดเวลา แม้กระทั่งการคิดถึงสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ซึ่งมันจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็ตามเพื่อให้มนุษย์ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ อิสลามได้สนับสนุนความก้าวหน้าทางความคิดและการศึกษา ตลอดจนการค้นคว้าและวิจัยต่างๆ ที่รับใช้มนุษย์ จากจุดนี้จึงเห็นได้ว่านักวิชาการของอิสลามที่ได้เกิดขึ้นในศตวรรษหลังอิสลาม ได้พยายามค้นคว้าด้านวิชาการจนประสบความสำเร็จและเป็นที่เชื่อถือของโลกภายนอกอาทิเช่น ท่านญาบีรฺ หัยยาน, ท่านรอซีย์, อิบนิซีนา, และคอญิอฺนัศรุดดีน ฏูซีย์ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ประสบความสำเร็จในด้านปรัชญา ตรรกวิทยา ชีวะวิทยา ดาราศาสตร์ เคมีและอื่นๆ ผลงานของท่านเหล่านี้เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม โดยเฉพาะตำราด้านการแพทย์ของท่านอบูอะลีซีนาได้ถูกนำไปสอนในมหาวิทยาลัยแถบยุโรปเมื่อปลายศตวรรษที่แล้วนี้เอง [15]
ท่านญุรฺญี ซัยดาน เป็นคริสเตียนคนหนึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ ตะมัดดุนอิสลาม ท่านได้เขียนว่า “เมื่ออารยธรรมอิสลามได้วางรากฐานขึ้น ทำให้เกิดนักวิชาการใหม่ขึ้นมากมายในหมู่มุสลิมและผลงานของท่านได้กลายเป็นมูลฐานสำคัญในบางสาขาวิชาการ ประกอบกับนักวิชาการรุ่นใหม่ได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมเป็นการเพิ่มสีสันให้กับวิชาการ ซึ่งมีความเหมาะสมกับอารยธรรมอิสลามในสมัยใหม่มาก”[16]
นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้เขียนว่า “ถ้าหากอิสลามได้ออกนอกสาระบบ ประวัติศาสตร์ วิชาการสมัยใหม่ของยุโรปต้องล้าหลังไปอีกหลายศตวรรษเลยทีเดียว” [17]
อิสลามกับการดำรงชีพ
ในทรรศนะของอิสลามระหว่างชีวิตที่เป็นวัตถุนิยม กับจิตนิยม หรือชีวิตที่มุ่งมั่นแต่วัตถุปัจจัยทางโลกอย่างเดียวหรือชีวิตที่นิยมศาสนานั้น ไม่มีความแตกต่างกัน
อิสลามไม่ยอมรับบุคคลที่ไม่ขวนขวายในเรื่องอาชีพการงานและการดำรงชีวิตบนโลกนี้แม้ว่าเขาจะมีมรดกมากมายโดยฝากชีวิตไว้กับมรดกนั้น และไม่คิดอ่านจะทำอย่างอื่นให้มีผลงอกเงยขึ้นมา บุคคลประเภทนี้อิสลามไม่ยอมรับ
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามได้พลีโลกนี้เพื่อปรโลก หมายถึงได้ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนอาชีพการงานของตนเพื่อโลกหน้า หรือบุคคลที่ได้พลีปรโลกเพื่อแลกกับโลกนี้ของตนถือว่าไม่ใช่พวกของเรา”[18]
ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า อิสลามมิได้มีวิสัยทัศน์สุดโต่งไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ให้มนุษย์เดินทางสายกลางด้วยความระมัดระวัง ฉะนั้น บนโลกนี้มนุษย์ต้องขวนขวายเรื่องอาชีพการงานให้มีความมั่นคง รู้จักเก็บเกี่ยวสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ตนเอง ขณะเดียวกันต้องรู้จักแบ่งเวลาเพื่อการพัฒนาและยกระดับจิตใจของตนเอง ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงไม่มีนักพรตหรือนักบวช หรือปลีกวิเวกไปบำเพ็ญศีลตามลำพังโดยละทิ้งครอบครัวและสังคมไว้เบื้องหลัง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “ไม่มีนักพรตและนักบวชสำหรับพวกเรา แท้จริงนักบวชที่ปฏิบัติตามฉันคือการต่อสู้บนวิถีทางของอัลลอฮฺ”[19]
บทบัญญัติอิสลามกับความก้าวหน้า
การเปลี่ยนแปลง ความสมบูรณ์ การพัฒนา ปัจจัยยังชีพ และความก้าวหน้าของวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับความเป็นอมตะของอหฺกามอิสลามแม้แต่นิดเดียว เพราะอะไร เนื่องจากว่า กฎหมายหากขัดแย้งกับความก้าวหน้าย่อมแสดงให้เห็นว่า กฎหมายนั้นได้อิงอาศัยอยู่กับสื่อเบื้องต้น หรือตัวการที่พิเศษบางอย่าง เช่น สมมติว่ากฎหมายได้ระบุว่า ทุกครั้งที่เขียนให้เขียนด้วยมือ หรือหากจะเดินทางต้องใช้ม้าเป็นพาหนะเท่านั้นในลักษณะเช่นนี้กฎหมายนั้น ไม่สามารถก้าวเดินไปพร้อมกับความก้าวหน้าของวัฒนธรรม และอารยธรรมได้
แต่ถ้ากฎหมายนั้นไม่ได้อิงอาศัยอยู่กับตัวการพิเศษบางอย่าง เมื่อมีการร่างกฎหมายขึ้นมา ได้กล่าวถึงสิ่งนั้นไว้เพียงเป็นตัวอย่าง ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรืออารยธรรมได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง กฎหมายนั้นจึงไม่ขัดแย้งกับการพัฒนาดังกล่าว
กฎหมายอิสลามก็เป็นเช่นนี้ หมายถึงอิสลามไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่เฉพาะเจาะจงอยู่แค่สมัยใดสมัยหนึ่งเท่านั้น เช่น กฎหมายอิสลามระบุว่า อิสลามต้องมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลาเมื่อเผชิญกับข้าศึก เพื่อป้องกันชีวิต ทรัพย์สินและทรัพยากรบุคคลของตน
กฎหมายมาตราดังกล่าวแม้ว่าจะร่างในสมัยที่มีการใช้ดาบออกรบ และใช้ม้าเป็นพาหนะก็ตาม อิสลามไม่ได้มองที่องค์ประกอบของสงครามในสมัยนั้นเป็นหลัก หมายถึงอิสลามไม่ได้กล่าวว่า สงครามในอิสลามต้องใช้ดาบทำการสู้รบเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ณ วันนี้กฎหมายดังกล่าวก็ยังสามารถใช้ได้อยู่
ทำนองเดียวกันในเรื่องของ การค้าขาย หรือการประกอบอาชีพการงานที่สุจริต และอื่นๆ
ฉะนั้น ขอบข่ายของอารยธรรม เครื่องมือ และตัวการที่เป็นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน ก็ไม่สามารถออกนอกกฎหมายอิสลามไปได้ และสิ่งนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อิสลามดำรงอยู่อย่างถาวร และมีความเป็นอมตะถึงทุกวันนี้
นักปรัชญาชาวอังกฤษพูดว่า “อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่มีความเหมาะสมและเข้ากันได้อย่างดีกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เหมาะสมแล้วที่อิสลามเป็นที่ดึงดูดใจของคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา”[20]
ระบบและแนวคิดสมัยใหม่สามารถปลดเปลื้องความต้องการได้ไหม?
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทุกวันนี้มนุษย์ได้มีการพัฒนาด้านความรู้ไปไกลมาก แต่นักวิชาการเหล่านั้นต่างสารภาพเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรู้ของพวกเขาไม่สามารถเปรียบเทียบกับความรู้ในโลกของการสร้างได้เลยแม้แต่นิดเดียว แน่นอนเพราะความคิดและสติปัญญาของเขาอยู่ในขอบเขตจำกัด ไม่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เร้นลับของโลก ความต้องการและธรรมชาติที่แท้จริงได้
นอกจากนี้แล้วมนุษย์ไม่ว่าเขาจะพัฒนาไปมากแค่ไหนก็ตาม ไม่อาจหลีกหนีความผิดพลาดได้ ดังนั้นในเรื่องความต้องการของมนุษย์ไม่ว่าจะนำเสนอมากแค่ไหนก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีความมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหตุเพราะเป็นไปได้ที่สภาพทางภูมิศาสตร์ทางสังคม และองค์ประกอบภายนอกอื่นๆ ได้มีอิทธิพลเหนือความคิดของเขาและเป็นสาเหตุทำให้เขาห่างไกลจากความเป็นจริง
แต่ทว่าอิสลามมีการวางระบบที่ถาวร เป็นระบบที่มาจากวะฮีย์ จึงไม่มีความผิดพลาดและสามารถเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย เป็นบทนำทางที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฎิบัติตามได้อย่างดี
แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่นำเอากฎหมายที่บริสุทธิ์ของอิสลามไปผสมปรนเปรอกับระบบอื่นๆ เพราะจะทำให้ไม่สามารถรับประโยชน์อย่างสมบูรณ์ได้
ความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกับมิติที่สาม
บางคนคิดว่า เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในฐานะของศาสดาท่านสุดท้ายได้จากไปแล้ว ความสัมพันธ์กับมิติที่สาม (ความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า) ได้จบลงด้วยเช่นกัน การคิดอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะคำว่าสุดท้าย (คอตะมุนนะบียีน) หมายถึง ภายหลังจากท่านแล้วไม่มีศาสนาใด และศาสดาท่านต่อไปอีก ไม่ได้หมายความว่า นับตั้งแต่บัดนั้นความสัมพันธ์ที่มีกับมิติที่สามจะถูกตัดขาดไปอย่างสิ้นเชิง
เนื่องจากว่าชีอะฮฺ มีความเชื่อมั่นต่อตำแหน่ง วิลายะฮฺ และอิมามะฮฺอีก 12 ท่านภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่เช่นเดิม โดยผ่านขบวนการแห่งอิมามะฮฺ และสิ่งนี้ถือเป็นความพิเศษหนึ่งของนิกายชีอะฮฺ แน่นอน อิมามมุบีน นั้นหมายถึงสัจธรรม และบทบัญญัติ จากอัลลอฮฺ ซึ่งได้วะฮีย์แก่ท่านศาสดา
ท่านศ็อดรุลมุตะอัลลิฮีน ได้เขียนไว้ในหนังสือ มะฟาตีหุลฆัยบฺ ว่า “วะฮีย์หมายถึง การประทานมลาอิกะฮฺ ลงไปยังเป้าหมายคือท่านศาสดาเพื่อแจ้งวะฮีย์แก่ท่าน และแม้ว่าวะฮีย์นั้นจะถูกตัดไปแล้วก็ตาม แต่ประตูของ การอิลฮาม ไม่วันปิด และเป็นไปไม่ได้ที่ประตูนี้จะปิด”
ในโลกปัจจุบันจะปฏิบัติตามอิสลามได้อย่างไร
ความต่ำทรามและอบายมุขบนโลกนี้ นับวันจะทวีคูณมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นผู้คนและเยาวชนจำนวนมากมายได้หลงไปกับอบายมุขเหล่านั้นนับวันยิ่งมีจำนวนมากขึ้นอย่างหน้าเป็นห่วง บั้นปลายสุดท้ายของมันก็คือการทำลายล้างวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ดีงามของมนุษย์ให้หมดไป และคงไว้ซึ่งความเสื่อมทรามและความเป็นเดรัจฉานที่ฝังแน่นอยู่ในตัวมนุษย์อย่างชนิดที่ไม่มีวันสลัดมันออกไปพ้นตัวได้ ทว่ายังโชคดีสำหรับมวลผู้ศรัทธาที่บุรุษหนึ่งได้มาสอนสั่งวิธีการเอาชนะอบายมุขเหล่านั้นแก่เรา ดังนั้น ด้วยอิสรภาพที่มีอยู่บนตัวเราจึงได้บอกกับเราว่า ต้องยืนหยัดต่อสู้กับความหลงผิดเหล่านั้น
แน่นอนการปรับปรุงแก้ไขสภาพสังคม ถือเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์ทุกคน บรรดาศาสดาทั้งหลายนอกจากจะเชิญชวนให้มนุษย์ให้ไปเคารพสักการะในพระเจ้าองค์เดียวแล้ว ยังได้สอนให้มนุษย์รู้จักการต่อสู้กับความหลงผิด และพระเจ้าจอมปลอมทั้งหลาย บรรดาศาสดาไม่เคยตอบสนองคำเรียกร้องของบรรดาพวกหลงผิด อารมณ์ใฝ่ต่ำ และความโสมมของสังคม ท่านเหล่านั้นเป็นผู้จัดการกับสังคม มิใช่สังคมมาจัดการท่าน
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้วางรากฐานการต่อสู้กับความหลงผิด และความโสมมในสมัยญาฮิลียะฮฺไว้ด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งสังคมที่เสื่อมทรามในสมัยนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
ความขัดแย้งในเรื่องสีผิวและชนชั้น การดูถูกเหยียดหยามสตรีเพศ การเคารพบูชารูปปั้น สงครามการต่อสู้ระหว่างเผ่าพันธุ์ และการหลงผิดอื่นๆ เช่นความเคยชินต่อวัฒนธรรมญาฮิลียะฮฺ และความเลื่อมใสของชนอาหรับในสมัยนั้น ได้ถูกท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทำลายจนหมดสิ้น
มีชนระดับแกนนำชาวกุเรชอย่างเช่น อุตบะฮฺ เขาแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับการกระทำของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในเวลาต่อมาเขาได้จัดประชุมหลายครั้ง จนในที่สุดได้ข้อสรุปว่าต้องทำการขัดขวางท่านศาสดาไม่ให้ทำการเผยแพร่อิสลามอีกต่อไป ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ตอบพวกเขาว่า “หน้าที่ของฉันก็คือสิ่งนี้ ฉันขอสาบานในนามของพระผู้เป็นเจ้าว่า ถ้าหากนำเอาดวงอาทิตย์มาใส่ไว้ที่มือข้างหนึ่ง และนำเอาดวงจันทร์มาไว้ที่มืออีกข้างหนึ่งฉันก็จะไม่เลิกล้มการเผยแพร่ของฉันอย่างเด็ดขาด และจะไม่ยอมถอดถอนอีมานออกจากหัวใจของฉัน ฉันจะยืนหยัดต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะหรือถูกฆ่าตาย”[21]
อ้างอิง
[1] มุลก์ /1
[2] ตะฆอบุน/ 4/11
[3] กอฟ / 16
[4] ชูรอ / 11
[5] บะเกาะเราะฮฺ / 255
[6] อิคลาศ
[7] หะดีด / 9
[8] หุจญ์รอต / 13
[9] บะเกาะเราะฮฺ / 256)
[10] อัสรอ /36
[11] บะเกาะเราะฮฺ / 111
[12] ตะมัดดุนอิสลาม หน้าที่ 713-715
[13] บะเกาะเราะฮฺ / 164
[14] อาลิอิมรอน /137
[15] เจ้าของหนังสือตะมัดดุนอิสลาม ด.ร.กอสตาวีย์(Gostavl)ได้บันทึกไว้ในหนังสือประวัติอารยธรรมอิสลามและอาหรับ หน้าที่ 710 พิมพ์ครั้งแรกว่า ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อัลบิรต์มีเขาได้เรียนรู้มาจากอบูอะลีซีนา ทั้งสิ้น
[16] ตารีคตะมัดดุนอิสลาม, ญุรฺญีซัยดาน หน้าที่ 598
[17] หน้าที่ 706-715
[18] วะซาอิลชีอะฮฺ เล่มที่ 12 หน้าที่ 49
[19] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 70 หน้าที่ 114
[20] ตะมัดดุน วะ อุลูมอิสลามี หน้าที่ 13
[21] ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม หน้าที่ 295-266
ขอขอบคุณ เว็บไซต์อิสลามซอร์ส