อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 6] “ศรัทธาเรื่องอัล-กอฏอ อัล-กอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]”
  • ชื่อ: อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 6] “ศรัทธาเรื่องอัล-กอฏอ อัล-กอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]”
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 21:21:34 1-9-1403

อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 6] “ศรัทธาเรื่องอัล-กอฏอ อัล-กอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]”


โดย เชคอันศอร เหล็มปาน

 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

ศรัทธารื่องอัล-กอฏอ อัล-กอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]

divider

อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 6] “ศรัทธาเรื่องอัล-กอฏอ อัล-กอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]”

ความเชื่อของชาวชีอะห์-ซุนนี่ห์ในเรื่องอัลกอฏอ – อัลกอดัร[กฎลิขิตและสภาวะที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว]

ความเชื่อของชาวซุนนี่ห์ในเรื่องอัลกอฏอ – อัลกอดัร
ชาวซุนนี่ห์ มีการศรัทธาในกฎแห่งสภาวการณ์ หรือการศรัทธาต่อการกำหนดของอัลลอฮ์(อัลกอฏอ – อัลกอดัร)ทั้งทางดีและทางร้าย นั้นคือ ทุกสภาวการณ์ทั้งหลายถูกกำหนดมาเป็นกฎอย่างตายตัวและแน่นอน ซึ่งต้องดำเนินไปตามที่กำหนดนั้น เช่น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบที่แน่นอน ไม่มีใครสามารถฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ ทุกคนจะต้องดำเนินไปตามกฎสภาวการณ์มนุษย์ต้องประสบกับเหตุให้อารมณ์และจิตใจผันแปรอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ บางจังหวะชีวิตก็ร่ำรวยมหาศาล แต่เผลอไม่นานฐานะก็ยากจนลงมา บางช่วงเวลามีคนนับหน้าถือตาอย่างกว้างขวางและมากมาย แต่ต่อมาก็กลับมีคนเกลียดชังการสลับหมุนเวียนสภาวการณ์เหล่านี้ในชีวิตของมนุษย์นั้น มุสลิมศรัทธาว่าเป็นไปโดยกำหนดของพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ทั้งสิ้น หาใช่เป็นไปโดยอำนาจของมนุษย์เองไม่ !!!

ชาวซุนนี่ห์เชื่อว่า มนุษย์เรานั้น มีเส้นทางหนึ่งอยู่แล้ว สำหรับพฤติกรรมของตนเองทุกคนจะดำเนินไปตามเส้นทางที่ถูกสร้างมาให้กับเขา และเชื่อว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ส่งมะลาอิกะฮ์สององค์ไปยังทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยจะบันทึก เรื่องวาระสุดท้ายของเขา ริซกีของเขา และการงานของเขาไว้อย่างเสร็จสรรพ ไม่ว่าจะเป็นคนเลวหรือคนดี!!!

حَدَّثَنَا رَسولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ -وهو الصَّادِقُ المَصْدُوقُ- قالَ: إنَّ أحَدَكُمْ يُجْمَعُ خَلْقُهُ في بَطْنِ أُمِّهِ أرْبَعِينَ يَوْمًا، ثُمَّ يَكونُ عَلَقَةً مِثْلَ ذلكَ، ثُمَّ يَكونُ مُضْغَةً مِثْلَ ذلكَ، ثُمَّ يَبْعَثُ اللَّهُ مَلَكًا فيُؤْمَرُ بأَرْبَعِ كَلِمَاتٍ، ويُقَالُ له: اكْتُبْ عَمَلَهُ، ورِزْقَهُ، وأَجَلَهُ، وشَقِيٌّ أوْ سَعِيدٌ،
الراوي : عبدالله بن مسعود | المحدث : البخاري | المصدر : صحيح البخاري
الصفحة أو الرقم: 3208 | خلاصة حكم المحدث : صحيح
ข้าพเจ้ามีความรู้สึกขัดแย้งอยู่เสมอระหว่างความเชื่อเหล่านี้กับสติปัญญาและส่วนลึกภายในจิตใจของข้าพเจ้าที่เป็นไปในเรื่องความยุติธรรมของอัลลอฮ์ เป็นได้อย่างไรที่พระองค์ทรงบังคับให้พวกเขามีพฤติกรรมหนึ่ง แล้วพระองค์มิได้สอบสวนพวกเขาในเรื่องนั้น และจะทรงลงโทษพวกเขาโดยสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในวิถีชีวิตของพวกเขา และกำหนดให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น!!!

“เป็นไปได้อย่างไรว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงกำหนดให้บ่าวของพระองค์ประพฤติกรรมชั่ว ต่อจากนั้นแล้ว พระองค์ก็นำเขาเข้าสู่นรกญะฮันนัม ?”

ในขณะที่เราเชื่อตามคำสอนแห่งคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ว่า

{ إِنَّ اللَّهَ لَا يَظْلِم النَّاسَ شَيْئًا وَلَكِنَّ النَّاسَ أَنْفُسَهُمْ يَظْلِمُونَ }

“แท้จริงอัลลอฮฺมิทรงอธรรมต่อมนุษย์สักสิ่งเดียว แต่มนุษย์เองที่อธรรมต่อตัวของพวกเขา”(ยูนุซ / 44)

{ فَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَرَهُ وَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَرَهُ}

“ดังนั้นผู้ใดที่กระทำความดี แม้เพียงธุลีหนึ่งเขาก็จะได้เห็นและผู้ใดที่กระทำความชั่วเพียงธุลีหนึ่ง เขาก็จะได้เห็น” (อัซ-ซัลซะละฮฺ / 7-8)

ใช่แล้ว ไม่ได้เพียงข้าพเจ้าคนเดียว แต่มวลมุสลิมส่วนใหญ่ก็ใช้ชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางความคิดอันนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจะพบว่า บรรดาปราชญ์อาวุโส เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องอัลกอฏอ อัลกอดัรพวกเขาจะไม่มีคำตอบที่ควรแก่การยอมรับแม้ตัวของเขาเอง ก่อนที่จะทำให้คนอื่นๆ เกิดการยอมรับ

หากมีคนถามพวกเขา ก็จะได้รับคำตอบว่า นี่คือเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปศึกษา แต่จำเป็นสำหรับมุสลิมที่จะต้องเชื่อถือในเรื่องกอฏอ กอดัร ทั้งในด้านความดีและความชั่ว และให้ถือว่า สิ่งเหล่านี้มาจากอัลลอฮ์ ซ.บ.”

 

 

ความเชื่อของชาวชีอะห์ในเรื่องอัลกอฏอ – อัลกอดัร
อัลกอฏอ – อัลกอดัร เป็นหลักความเชื่อที่ไม่มีความคลางแคลงใจในอิสลาม ดั่งที่ปรากฏทั้งในอัล-กุรอาน ซุนนะฮ์ของท่านศาสดา ศ. และสติปัญญาเองให้การสนับสนุนสิ่งนี้ไว้ แต่สาระสำคัญอยู่ตรงการให้ความหมายที่ถูกต้องของ กอฏอ และ กอดัร ต่างหาก

ท่านอิมามอะลี อ. ได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดแจ้งและสมบูรณ์ที่สุด โดยที่ท่านได้กล่าวกับคนที่ถามท่านถึงเรื่อง “อัลกอฏอ-อัลกอดัร ว่า

وَيْحَكَ! لَعَلَّكَ ظَنَنْتَ قَضَاءً لاَزِماً، وَقَدَراً حَاتِماً، وَلَوْ كَانَ ذَلِكَ كَذلِكَ لَبَطَلَ الثَّوَابُ والعِقَابُ، وَسَقَطَ الْوَعْدُ وَالْوَعِيدُ. إِنَّ اللهَ سُبْحَانَهُ أَمَرَ عِبَادَهُ تَخْيِيراً، وَنَهَاهُمْ تَحْذِيراً، وَكلّفَ يَسِيراً، وَلَمْ يُكلّفْ عَسِيراً، وَأَعْطَى عَلَى الْقَلِيلِ كَثِيراً، وَلَمْ يُعْصَ مَغْلُوباً، وَلَمْ يُطَعْ مُكْرَهاً، وَلَمْ يُرْسِلِ الأَنْبِيَاءَ لَعِباً، وَلَمْ يُنْزِلِ الْكِتَابَ لِلعِبَادِ عَبَثاً، وَلاَ خَلَّقَ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضَ وَمَا بَيْنَهُمَا بَاطِلاً: ذَلِكَ ظَنُّ الَّذِينَ كَفَرُوا، فَوَيْلٌ لِلَّذِينَ كَفَرُوا مِنَ النَّار

“ท่านเอ๋ย บางทีท่านอาจคิดว่า กฎสภาวะ คือ การกำหนดอย่างตายตัว การจำกัดอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าหากมันเป็นอย่างนั้น ก็เท่ากับว่ารางวัลการตอบแทน และการมีบทลงโทษ ล้วนเป็นเรื่องไร้สาระ การสัญญาและการวางข้อผูกพันย่อมหมดความหมาย แท้จริงอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงบัญชาปวงบ่าวของพระองค์ ในรูปแบบที่ให้อิสระ ทรงห้ามพวกเขาอย่างคาดโทษ ทรงมอบภาระให้แต่สิ่งที่ง่ายดายและไม่ทรงมอบภาระในสิ่งที่ลำบาก ทรงประทานแก่สิ่งเล็กน้อยโดยสิ่งที่มากมาย ไม่ทรงละเมิดต่อผู้พ่ายแพ้ ไม่ทรงรับการฎออัตอย่างผู้ขัดขืน ไม่ส่งบรรดานบีอย่างละเล่น ไม่ประทานคัมภีร์แก่ปวงบ่าวอย่างไร้สาระ ไม่สร้างฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสองอย่างไร้สาระ “นี่คือสิ่งที่บรรดาผู้ปฏิเสธสงสัย ดังนั้น ความวิบัติจึงประสบแด่บรรดาผู้ปฏิเสธด้วยไฟนรก…”

นับว่าเป็นการอธิบายอย่างชัดเจนยิ่งนัก เป็นคำพูดที่สื่อความหมายล้ำลึกและ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่สุดสำหรับชาวมุสลิมจะต้องยอมรับว่า การงานของตนนั้น คือสิ่งที่มาจากเจตนารมณ์ของตนเอง เพราะอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงบัญชาเรา แต่พระองค์ทรงปล่อยให้เรามีความอิสรเสรี นั่นคือคำยืนยันของอิมาม อ. ที่ว่า

{ إِنَّ اللهَ سُبْحَانَهُ أَمَرَ عِبَادَهُ تَخْيِيراً }
“แท้จริงอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงบัญชาปวงบ่าวในรูปแบบที่ให้ความอิสระ”

ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงห้ามเรา และคาดโทษต่อเรา ถ้าฝ่าฝืนพระองค์ ซึ่งคำพูดของท่านยืนยันว่า สำหรับมนุษย์นั้นมีเสรีภาพที่จะผันแปรและสามารถจะขัดขืนคำบัญชาของอัลลอฮ์ ซ.บ. ในลักษณะเช่นนี้ จำเป็นต้องมีบทลงโทษ นั่นคือคำยืนยันของท่านอิมามอะลี อ. ที่ว่า

{ وَنَهَاهُمْ تَحْذِيراً }
“ทรงห้ามพวกเขาอย่างคาดโทษ”

ท่านอิมามอะลี อ. ยังได้มีการอธิบายปัญหานี้เพิ่มเติมอีกว่า

{ وَلَمْ يُعْصَ مَغْلُوباً }
“แท้จริงอัลลอฮ์ ไม่ทรงละเมิดต่อผู้แพ้พ่าย”

ข้อนี้หมายความว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. นั้น ถ้าหากพระองค์ต้องการจะบีบบังคับปวงบ่าวของพระองค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ความสามารถของพวกเขาทั้งหมดที่มีอยู่ไม่อาจเอาชนะคำบัญชาพระองค์ได้ ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขามีอิสระเสรีในการเคารพภักดี และในการละเมิดได้เอง ซึ่งตรงกับความจริงตามโองการของพระองค์ที่ว่า

{ وَقُلِ الْحَقُّ مِن رَّبِّكُمْ ۖ فَمَن شَاءَ فَلْيُؤْمِن وَمَن شَاءَ فَلْيَكْفُرْ }
“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) สัจธรรมนั้นจากพระผู้อภิบาลของพวกสูเจ้า ดังนั้น ผู้ใดที่ประสงค์ก็ให้เขาศรัทธา และผู้ใดประสงค์ก็ให้เขาปฏิเสธ” (อัล-กะฮฺฟี / 29)

หลังจากนั้นแล้ว ท่านอิมามอะลี อ. ก็ได้พูดกับมนุษย์เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยได้ให้หลักฐานยืนยันว่า ถ้าหากมนุษย์ถูกบังคับจากอัลลอฮ์ ซ.บ. ในพฤติกรรมต่างๆ ของเขาที่มีดังที่คนบางกลุ่มเข้าใจแล้ว แน่นอน เท่ากับว่า การส่งบรรดานบีมาและการประทานคัมภีร์ต่างๆ มาก็เพียงเป็นการเล่นตบตาและเป็นเรื่องเหลวไหลซึ่งอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงเป็นมหาบริสุทธิ์ ปลอดพ้นสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิง เพราะการดำเนินงานของบรรดานบี อ. ทั้งหมด และการประทานคัมภีร์มา ก็เพื่อปรับปรุงมนุษยชาติ และนำพวกเขาออกจากความมืดสู่แสงส่วางและมอบหมายหนทางบำบัดเยียวยาที่มีประโยชน์สำหรับโรคร้ายทางจิตใจ และอธิบายถึงแนวทางในการไปสู่วิถีชีวิตอันบรมสุข

ฉะนั้น เมื่อเราพิจารณาอย่างถ่องแท้กับคำกล่าวของชีอะอ์ ในเรื่อง ”กอฏอ-กอดัร” เราจะพบว่าเป็นคำยืนยันที่มีเหตุผล และเป็นทัศนะที่เที่ยงธรรม ขณะเดียวกับในระหว่างที่มีพวกหนึ่งกล่าวว่า “หมายถึงการถูกกำหนดมาอย่างตายตัว(จากพระผู้เป็นเจ้า)” ก็ยังมีอีกพวกหนึ่งที่กล่าวว่า “หมายถึงการมอบอำนาจให้ทั้งหมด (คือพระองค์มอบอำนาจให้แก่มนุษย์ ซึ่งหลังจากนั้นมนุษย์จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองโดยไม่มีพระองค์มาเกี่ยวข้อง)”

บรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ อ. มาเพื่อสอนวิชาและความรู้ที่ถูกต้องและนำคนเหล่านั้นกลับไปหาสัจธรรม พวกเขากล่าวว่า

[لاَ جَبْرَ وَ لاَ تَفْوِيضَ وَ لَكِنْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ]

“ไม่ใช่ทั้งการบังคับอย่างเป็นกฎตายตัว และไม่ใช่ทั้งการมอบอำนาจให้โดยสิ้นเชิง หากแต่หมายถึงสภาพการณ์ที่อยู่ระหว่างสองอย่างนี้นั่นเอง”

ท่านอิมามญะอฺฟัร ศอดิก อ. ได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบในเรื่องนี้อย่างเรียบง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ตามขีดสติปัญญาของพวกเขา คือท่านได้กล่าวกับคนที่ถามท่าน เมื่อถามว่า

ما معنى قولک لا جبر ولا تفویض ولکن أمر بین أمرین؟ أجابه علیه السلام: «لیس مشیک على الأرض کسقوطک علیها» ومعنى ذلک أننا نمشی على الأرض باختیارنا – ولکننا عندما نسقط على الأرض فهو بغیر إختیارنا، فمن منا یحبّ السقوط الذی قد یسبب کسر بعض الأعضاء من جسمنا فنصبح معاقین

คำพูดของท่านที่ว่า มิใช่การถูกกำหนดอย่างบังคับ และมิใช่การมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างสองเรื่องนี้ มีความหมายอย่างไร ?

ท่านอิมามศอดิก อ. ตอบว่า “การเดินของท่านบนดินและการตกของท่านไม่เหมือนกัน” ประโยคนี้หมายความว่า เราเดินบนดินด้วยการตัดสินใจของเรานั่นเอง แต่ถ้าเราตกลงบนดิน ก็หมายความว่าไม่ใช่ด้วยการตัดสินใจของเรา และในหมู่พวกเราจะมีใครบ้างอยากจะตกลงบนพื้นดิน จนเป็นเหตุให้อวัยวะบางส่วนแตกหัก จนต้องกลายเป็นคนพิการ

فیکون القضاء والقدر أمراً بین أمرین، أی قسم هو من عندنا وباختیارنا ونحن نفعله بمحض إرادتنا
وقسم ثان هو خارج عن إرادتنا ونحن خاضعون له، ولا نقدر على دفعه، فنحاسب على الأول ولا نحاسب على الثانی

ดังนั้น ”กอฏอ-กอดัร” จึงเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างสองเรื่องนี้ หมายความว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่มาจากเราเอง และโดยการตัดสินใจของเรา และเรากระทำมันขึ้นโดยเจตนารมณ์ของเรา อีกส่วนหนึ่ง อยู่นอกเหนือจากเจตนารมณ์ของเรา และเราต้องยอมจำนวนกับมัน และไม่สามารถจะผลักไสมัน ดังนั้น เราจะถูกสอบสวนเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนที่หนึ่ง แต่เราจะไม่ถูกสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนที่สอง คนเราจึงอยู่ในสภาพการณ์อย่างนี้ และอยู่ท่ามกลางที่ตนสามารถตัดสินใจได้เอง ส่วนหนึ่งกับการอยู่ในเส้นทางเดินที่ถูกกำหนดมาแล้วส่วนหนึ่งในเวลาเดียวกัน

ก. ความมีอิสรเสรีในพฤติกรรม หมายถึง สิ่งที่ปรากฏออกมาจากเขาหลังจากที่มีการใช้ความคิด และพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว โดยได้ผ่านขั้นตอนของการตัดสินใจและการขับเคี่ยวระหว่างการก้าวไปข้างหน้ากับการถอยหลัง ผลที่สุดก็คือ เขาอาจจะกระทำ หรืออาจละเว้นก็ได้ และนี่คือเรื่องที่พระองค์ทรงมีโองการไว้ว่า

وَنَفْسٍ وَمَا سَوَّاهَا فَأَلْهَمَهَا فُجُورَهَا وَتَقْوَاهَا ‏وَقَدْ خَابَ مَن دَسَّاهَا

“และ (จงสนใจ) ชีวิต และที่ทำให้มันมีความสมดุลแก่มัน ดังนั้นพระองค์ทรงดลให้แก่มัน ทั้งความดื้อรั้น และความยำเกรงของมัน แน่นอนยิ่ง ผู้ชำระชีวิตจนสะอาด เขาย่อมได้รับชัยชนะ และผู้หมักหมมกับมัน เขาย่อมขาดทุน” (อัช-ชัมส์ / 6-10)

ดังนั้น การซักฟอกจิตใจให้สะอาด และการหมักหมม ทั้งสองประการนี้ คือ ผลิตผลของการตัดสินใจจากส่วนลึกของคนเราทุกคน

ข. เส้นทางเดินที่ถูกกำหนด ในทุกๆ สิ่งอันได้แก่ระบบของจักรวาล และการโคจรของมันอย่างยอมจำนนนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของอัลลอฮ์ ซ.บ. ทุกเสี้ยวส่วน ทุกองค์ประกอบ และทุกๆ อณูของมัน ดังนั้น มนุษย์จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกเพศของตน จะเป็นชาย จะเป็นหญิง ไม่มีสิทธิจะเลือกสีผิวของตน ไม่มีสิทธิจะเลือกบิดามารดา เพื่อจะได้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของบิดา มารดาที่ร่ำรวย แทนที่จะอยู่กับบิดา มารดาที่ยากจน ไม่มีสิทธิที่จะเลือกขนาดความสูงต่ำของร่างกาย และลักษณะของเรือนร่าง

มันเป็นเรื่องที่จำนนอยู่กับอำนาจอันยิ่งใหญ่ (เช่นโรคทางกรรมพันธุ์เป็นต้น) และกับระบบธรรมชาติ อีกเป็นอันมาก ที่ให้คุณค่าแก่ตนและที่คุ้มครองป้องกันตนโดยปราศจากการรับภาระใดๆ กล่าวคือ จะนอนหลับเมื่ออ่อนเพลีย จะตื่นนอนเมื่อสบายตัว จะกินเมื่อหิว จะดื่มเมื่อกระหาย จะยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อดีใจ จะร้องไห้และหดหู่ใจเมื่อเศร้าหมอง และภายในร่างกายซึ่งทำหน้าที่ของมัน และผลิตฮอร์โมน บำรุง ผลิตอสุจิเพื่อการแปรสภาพ ในขณะเดียวกับที่ร่างกายของเขาได้อยู่ในตราชูอันสมดุลอย่างน่าพิศวง และตัวเขาเองกับสิ่งเหล่านี้ ไม่มีการรับรู้อะไรเลย ทั้งนี้เพราะเป็นเจตนารมณ์ของพระเจ้า ที่ขีดเส้นไว้แล้วในทุกๆ เสี้ยววินาทีของชีวิต ยิ่งกว่านั้น แม้จะตายไปแล้ว

ใช่แล้ว มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ ด้วยการสรรเสริญพระองค์ พระผู้อภิบาลของเรา ทรงสูงสุดยิ่ง พระองค์ทรงสร้าง แล้วทรงจัดให้สมดุล พระองค์ทรงกำหนด แล้วทรงนำทาง พระองค์ทรงบันดาลให้ตาย หลังจากนั้นทรงให้มีชีวิต พระองค์ทรงมีความจำเริญ และพระองค์ทรงสูงส่งยิ่ง ดังนั้น พระองค์ทรงแผ่พลังอย่างไพศาล และความหลงทางอย่างไกลลิบย่อมตกแก่ผู้ที่ขัดแย้งพระองค์ และเขาไม่อาจจำกัดสิทธิ์ที่แท้จริงแห่งการกำหนดพระองค์ได้เลย

เราจะขอสรุปการอธิบายเรื่องนี้โดยถ้อยคำพูดของท่านอิมามอะลี บินมูซา อ. นั่นคืออิมามที่ 8 แห่งอะฮฺลุลบัยต์ อ. ซึ่งวิชาการของท่านเป็นที่เลื่องลืออย่างยิ่งในสมัยของมะอฺมูน ขณะที่ท่านมีอายุได้ 14 ปี จนกระทั่งท่านได้เป็นคนมีความรู้มากที่สุดในยุคนั้น มีชายคนหนึ่งถามท่านเกี่ยวกับความหมายของคำพูดของท่านอิมามศอดิก อ. ปู่ของท่านที่ว่า

[لاَ جَبْرَ وَ لاَ تَفْوِيضَ وَ لَكِنْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ]

“มิใช่การถูกกำหนดอย่างถูกบังคับ และมิใช่การมอบอำนาจ ให้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างกลางสองเรื่องนั้น”

ท่านอิมามริฎอ อ. ตอบว่า “ใครที่อ้างว่าอัลลอฮฺ ทรงกระทำพฤติกรรมของเราโดยพระองค์เอง หลังจากนั้น พระองค์ก็ลงโทษเราเพราะการกระทำนั้น เท่ากับพูดว่า “ถูกกำหนด อย่างถูกบังคับ” และใครที่อ้างว่า อัลลอฮฺทรงมอบอำนาจอย่างสิ้นเชิงในกิจการ สรรพสิ่ง และริซกีแก่บรรดาข้อพิสูจน์ของพระองค์(หมายถึงบรรดาอิมาม)เท่ากับพูดว่าเป็น “การมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง” คนที่ยืนยันว่า “เป็นการถูกกำหนดอย่างถูกบังคับ” ย่อมเป็นกาฟิร ส่วนคนที่ยืนยันว่า “เป็นการมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง” ย่อมเป็นมุชริก

สำหรับความหมายของคำว่า “เป็นเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างกลางเรื่องทั้งสอง” นั้นหมายความว่า “ยังมีวิถีทางหนึ่งอันนำไปสู่การปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลอฮฺ และละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม หมายความว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทานความสามารถแก่เขาในการกระทำความชั่วและละเว้นเช่นเดียวกับที่ทรงให้ความสามารถแก่เขาในการกระทำความดีและละเว้นพระองค์ทรงบัญชาอันนี้แก่เขา และห้ามเขาจากอันนั้น”

رُوِيَ عَنْ بَعْضِ أَصْحَابِ الرِّضَا عَلَيْهِ السَّلَامُ أَنَّهُ قَالَ: دَخَلْتُ إِلَيْهِ بِمَرْوَ، فَقُلْتُ
يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ رُوِيَ لَنَا عَنِ الصَّادِقِ عَلَيْهِ السَّلَامُ أَنَّهُ قَالَ: لَا جَبْرَ وَ لَا تَفْوِيضَ، بَلْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ، فَمَا مَعْنَاهُ؟
فَقَالَ عَلَيْهِ السَّلَامُ: “مَنْ زَعَمَ أَنَّ اللَّهَ سُبْحَانَهُ يَفْعَلُ أَفْعَالَنَا ثُمَّ يُعَذِّبُنَا عَلَيْهَا فَقَدْ قَالَ بِالْجَبْرِ، وَ مَنْ زَعَمَ أَنَّ اللَّهَ تَعَالَى فَوَّضَ أَمْرَ الْخَلْقِ وَ الرِّزْقِ إِلَى حُجَجِهِ فَقَدْ قَالَ بِالتَّفْوِيضِ، وَ الْقَائِلُ بِالْجَبْرِ كَافِرٌ، وَ الْقَائِلُ بِالتَّفْوِيضِ‏ مُشْرِكٌ”.
فَقُلْتُ: يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ فَأَمَّا أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ؟
فَقَالَ عَلَيْهِ السَّلَامُ: “وُجُودُ السَّبِيلِ إِلَى إِتْيَانِ مَا أُمِرُوا بِهِ، وَ تَرْكِ مَا نُهُوا عَنْهُ‏

นี่คือ คำอธิบายอันแหลมคมที่ให้ความเข้าใจได้อย่างเพียงพอสำหรับระดับสติปัญญา และสามารถเข้าใจได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมีวิชาการหรือไม่ใช่นักวิชาการก็ตาม

เป็นจริงตามที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ กล่าวไว้โดยท่านได้กล่าวถึงสิทธิของพวกเขาว่า

فَلَا تُقَدِّمُوهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تَقْصُرُوا عَنْهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تُعَلِّمُوهُمْ فَهُمْ أَعْلَمُ مِنْكُمْ

“พวกท่านอย่าได้กระทำการล้ำหน้าพวกเขา เพราะจะทำให้พวกท่านเสียหาย และอย่าล้าหลังพวกเขา เพราะจะทำให้พวกท่านเสียหาย และพวกท่านจงอย่าสอนสั่งพวกเขา เพราะพวกเขารู้ดีกว่าพวกท่าน”

الثِّقْلَانِ : كِتَابُ اللهِ : طَرَفٌ بِيَدِ اللهِ (عَزَّ وَجَلَّ)، وَطَرَفٌ بِأَيْدِيكُمْ، فَتَمَسَّكُوا بِهِ لَا تَضِلُّوا. وَالآخَرُ عِتْرَتِي، وَإِنَّ اللَّطِيفَ الخَبِيرَ نبَّأنِي أَنَّهُمَا لَنْ يَتَفَرَّقَا حَتَّى يَرِدَا عَلَيَّ الحَوْضَ، فَسَأَلْتُ ذَلِكَ لَهُمَا رَبِّي، فَلَا تُقَدِّمُوهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تَقْصُرُوا عَنْهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تُعَلِّمُوهُمْ فَهُمْ أَعْلَمُ مِنْكُمْ