อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 2] “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์”
  • ชื่อ: อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 2] “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์”
  • นักเขียน:
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 16:18:52 3-9-1403

อิสลามเบื้องต้น [บทที่ 2] “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์”


โดย เชคอันศอร เหล็มปาน

อัลชิรกุฮ์ (الشرك)

คำว่า ชีรก์ หรือ ชิริก ถูกใช้ให้มีความหมายตรงกันข้ามกับ อัตเตาฮีด นั่นหมายถึง ถูกใช้สำหรับความเชื่อของบรรดาลัทธิพระเจ้าหลายองค์ นั้นก็คือการเชื่อว่า พระเจ้ามีมากกว่าหนึ่งองค์ การยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งตั้งภาคีเคียงคู่กับอัลลอฮ์ ไม่ว่าในด้านซาต ,ซีฟัต และอัฟอาล

ประเภทต่างๆของการตั้งภาคี

ผลสรุปจากโองการต่าง ๆในอัลกุรอาน จากบรรดาฮะดีษที่ถูกรายงานไว้ และจากการวิเคราะห์ทางด้านวิชาการ สรุปว่า การตั้งภาคี ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท นอกจากนี้ ถือว่า เป็นสาขาปลีกย่อย จากทั้งสองประเภทนี้ นั่นคือ :

อัชชิร์กุ อัลญัลลีย์(การตั้งภาคีประเภทเปิดเผย)
อัชชิรืกุ อัลคอฟีย์(การตั้งภาคีประเภทแฝงเร้น)

ประเภทแรก. อัชชิร์กุ อัลญัลลีย์(การตั้งภาคีประเภทเปิดเผย)

อัชชิร์กุ อัลญัลลีย์(การตั้งภาคีประเภทเปิดเผย) หมายถึง แสดงออกอย่างชัดเจน นั่นคือ การที่มนุษย์ ยึดถือสิ่งอื่นที่เป็นภาคี ต่ออัลลอฮ์ ทั้งในแง่ของซาต,ศิฟาต ,การระทำ หรือการเคารพภักดี

ก-การตั้งภาคีในแง่ของอาตมัน(ซาต) นั่นคือ การตั้งภาคีสิ่งอื่นใดเป็นภาคี หุ้นส่วนกับอัลลอฮ์ในด้านตัวตน(ซาต)ของพระองค์ หรือเอกภาพของพระองค์ เช่น พวกบูชาเจว็ด ได้แก่ พวกมะญูซีย์ ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นในสองหลักการ นั่นคือ ความสว่างและความมืด เช่นเดียวกับพวกนะซอรอ ที่พวกเขาเชื่อมั่นในหลักตรีเอกานุภาพ ได้แก่ พระบิดา พระบุตร และพระจิต(วิญญาณบริสุทธิ์)พวกเขาอธิบายว่า แต่ละองค์ ล้วนมีศักยภาพ และฤทธานุภาพเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับอีกสององค์ที่เหลือ
แต่อัลลอฮ์ บริสุทธิ์พ้นจากเรื่องที่พวกเขากล่าวอ้างทั้งปวง อัลลอฮ์ ผู้ทรงอานุภาพ สูงสุด ทรงปฏิเสธหลักความเชื่ออันผิดพลาดเช่นนี้ ไว้ในซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 73 ความว่า
“โดยแน่นอนยิ่ง บรรดาผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮ์ คือ องค์ที่สาม ในสามองค์นั้น เป็นผู้ปฏิเสธศาสนา และไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระเจ้า ผู้ทรงเอกะ”

لَّقَدْ كَفَرَ الَّذِينَ قَالُوا إِنَّ اللَّهَ ثَالِثُ ثَلَاثَةٍ وَمَا مِنْ إِلَٰهٍ إِلَّا إِلَٰهٌ وَاحِدٌ

อีกนัยหนึ่ง พวกนะซอรอ เชื่อมั่นว่า สภาวะของพระเจ้า มีพรั่งพร้อมอยู่ในตรีเอกานุภาพ นั่นคือ มีสภาวะการดำรงอยู่ ซึ่งทฤษฎีนี้ ปรัชญาอิสลาม ได้หักล้างโดยเหตุผลทางสติปัญญาอย่างสิ้นเชิง เพราะการรวมเข้าด้วยกัน ไม่อาจเป็นไปได้ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องตัวตน(ซาต)ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงสุด หรือสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ตัวตน(ซาต)ของพระองค์ ผู้ทรงสูงสุดก็ตาม

ข-การตั้งภาคีในแง่ของคุณลักษณะ(ซิฟาต) นั่นคือ การเชื่อมั่นว่า คุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า เช่น ความรู้ วิทยปัญญา ศักยภาพ และชีวิตของพระองค์ คือ “สิ่งอื่นต่างหาก” นอกเหนือไปจากตัวตน(ซาต)ของพระองค์ และซีฟัตกับตัวตน(ซาต)ของพระเจ้า เป็นสิ่งเดียว ไม่มีการแยกเป็นส่วนย่อย และคุณลักษณะของพระองค์(ซิฟาต)ก็เป็นเช่นเดียวกับตัวตน(ซาต)นั่นเอง
จะขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจที่ง่ายยิ่งขึ้น เช่น
“ความหวานของน้ำตาล เป็นสิ่งอื่นไปจากน้ำตาลกระนั้นหรือ ?
“ความมันของไขมัน เป็นสิ่งอื่นไปจากไขมันกระนั้นหรือ ?
ดังนั้น น้ำตาล ตัวตนของมัน ก็คือ ความหวาน นั่นคือ เป็นเนื้อหน่วยเดียวกัน ไขมัน ตัวตนของมันก็คือ ความมัน นั่นคือ เป็นเนื้อหน่วยเดียวกัน จะเห็นได้ว่า ไม่สามารถแยกจากกันระหว่างน้ำตาลกับความหวานได้ และไม่สามารถแยกจากกันระหว่างไขมันกับความมันได้ ทำนองเดียวกัน คุณลักษณะของอัลลอฮ์ ก็เป็นอันเดียวกับตัวตน(ซาต)ของพระองค์ โดยมิอาจแยกระหว่างคุณลักษณะ(ซิฟาต)กับตัวตน(ซาต)ของพระองค์ ผุ้ทรงสูงสุดได้

ดังนั้นคำว่า “อัลลอฮ์” ที่เราใช้เรียกซาต แห่งความเป็นผู้ทรงบริหารอภิบาล จึงเป็นคำที่มีความหมายรวมไปถึงลักษณะต่างๆทั้งหมดของพระองค์ในคราวเดียวกัน ดังนั้น คำว่า อัลลอฮ์ จึงหมายถึง ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงมีชีวิต ผู้ทรงอานุภาพ ผู้ทรงวิทยปัญญา….ตลอดไปจนจบในบรรดาคุณลักษณะ(ซิฟาต)ว่าด้วยเกียรติยศ ว่าด้วยความงดงาม และว่าด้วยความสมบูรณ์ทั้งหลาย

ค-การตั้งภาคีในแง่ของการกระทำ นั่นคือ ความเชื่อที่ว่า มนุษย์บางคนได้รับพรพิเศษให้สามารถมีพฤติกรรมมในเชิงการบริหาร อภิบาล จัดการภารกิจของพระผู้เป็นเจ้าได้ เช่น การสร้างสรรค์ การให้เครื่องยังชีพ หรือเชื่อว่า บางสิ่งบางอย่าง ได้รับพรพิเศษในการควบคุมสรรพสิ่งในสากลโลก เช่น ดวงดาว หรือเชื่อว่า หลังจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงอานุภาพ สูงสุด ได้สร้างสรรค์พสิ่งทั้งหลาย โดยศักยภาพของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจการจัดระเบียบภารกิจและการบริหารโลกให้แก่บุคคลบางคน เช่นความเชื่อของพวกที่เชื่อเรื่องมอบอำนาจ(มุเฟาวาเฎาะฮ์) ดังได้ยกรายงานต่างๆจากบรรดาอิมามของชีอะฮ์ผ่านมาแล้ว ที่สาปแช่งและระบุว่า คนพวกนั้นปฏิเสธศาสนา เช่น พวกยะฮูด ซึ่งอัลลอฮ์ ผุ้ทรงสูงสุด ทรงตำหนิพวกเขาว่า “และพวกยะฮูดนั้นกล่าวว่า พระหัตถ์ของอัลลอฮ์นั้นถูกพันธนาการไว้แล้ว มือของพวกเขาต่างหากที่ถูกพันธนาการ และพวกเขาถูกสาปแช่งเพราะสิ่งที่พวกเขาพูด หากแต่พระหัตถ์ของพระองค์นั้น แผ่ไพศาลเสมอ ทรงแจกจ่ายตามที่พระองค์ทรงประสงค์”

ง-การตั้งภาคีในแง่ของการเคารพภักดี นั่นคือ การที่มนุษย์ทำการเคารพภักดี โดยจิตมุ่งหมายไปยังสิ่งอื่น นอกเหนือจากอัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์ แด่พระองค์ หรือมิได้มีจิตเจตนาบริสุทธิ์มุ่งยังอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงสุด เช่น อาจทำไปเพื่อต้องการให้คนอื่นเห็น หรือต้องการดึงดูดความเคารพนับถือจากคนอื่นมายังตัวเอง !! การกระทำทั้งหมด เราจำเป็นจะต้องมีเจตนามุ่งแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ แต่ถ้าหากผู้กระทำ มีเจตนาในการทำงานเพื่อบุคคลอื่น นอกจากอัลลอฮ์หรืออ้างถึงสิ่งอื่น นอกเหนือจากอัลลอฮ์ เป็นภาคีหุ้นส่วน นั่นคือ การตั้งภาคี…
อัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ทรงห้ามสิ่งนี้ไว้ในอัล-กุรอาน อันทรงเกียรติ โดยทรงตรัสว่า “ดังนั้น ผู้ใด หวังการพบกับพระผู้อภิบาลของเขา เขาก็ต้องกระทำการดี และต้องไม่ยกสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระผู้อภิบาลในการเคารพภักดี”

 

ประเภทสอง. อัชชิรืกุ อัลคอฟีย์(การตั้งภาคีประเภทแฝงเร้น)

การตั้งภาคีประเภทที่สอง คือ ประเภทแอบแฝง และอาจเกิดขึ้นในบุคคลที่มีเจตนาทำการเคารพภักดีเพื่อเอาหน้าเอาตา หรือแสวงหาชื่อเสียง มีรายงานฮะดีษระบุว่า

“แท้จริง ผู้ใดทำนมาซ ,ถือศีลอด ,ปล่อยทาส หรือบำเพ็ญฮัจญ์ แต่ต้องการทำเพื่อให้ประชาชนยกย่อง แน่นอน เท่ากับเขาตั้งภาคี ในการประกอบภารกิจของเขา”

مَنْ صَلَّی أَوْ صَامَ أَوْ أَعْتَقَ أَوْ حَجَّ یُرِیدُ مَحْمَدَهًَْ النَّاسِ فَقَدْ أَشْرَکَ فِی عَمَلِهِ

ในรายงานฮะดีษบทหนึ่ง จากอิมามญะฟัร บิน มุฮัมมัด ศอดิก อ. กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าบ่าวคนหนึ่ง จะประกอบภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อแสวงหาความเมตตาของอัลลอฮ์ และรางวัลในปรโลก ต่อมา ความรู้สึกต้องการ ความพึงพอใจจากประชาชน เกิดขึ้นในตัวของเขา นั่นเท่ากับเขาเป็นผู้ตั้งภาคี”

لَوْ أَنَ عَبْداً عَمِلَ عَمَلًا یَطْلُبُ بِهِ رَحْمَهًَْ اللَّهِ وَ الدَّارَ الْآخِرَهًَْ ثُمَّ أَدْخَلَ فِیهِ رِضَا أَحَدٍ مِنَ النَّاسِ کَانَ مُشْرِکا

มีรายงานจากท่านนบี ศ. ได้กล่าวว่า “จงยำเกรงการตั้งภาคีระดับเล็ก” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ การตั้งภาคีระดับเล็ก เป็นอย่างไร ? ท่านตอบว่า “คือ ความรู้สึกอยากเอาหน้าเอาตา และมีชื่อเสียง”

มีรายงานจากท่านนบี ศ. ได้กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งที่ฉันกลัวจะเกิดขึ้นแก่พวกท่านมากที่สุด คือการตั้งภาคีประเภทแอบแฝง เพราะการตั้งภาคีจะมาอย่างแผ่วเบายิ่งกว่าการคลานของตัวมดบนภูเขาศอฟาในยามกลางคืนอันมืดมิด หลังจากนั้น ท่านนบี ศ. ได้กล่าวว่า “ผู้ใดทำนมาซ หรือถือศีลอด หรือบริจาคทาน หรือบำเพ็ญฮัจญ์ เพื่อเอาหน้าเอาตา แน่นอน เท่ากับเขาตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์”

مَنْ صَلَّی مُرَاءَاهًَْ النَّاسِ فَهُوَ مُشْرِکٌ وَ مَنْ زَکَّی مُرَاءَاهًَْ النَّاسِ فَهُوَ مُشْرِکٌ وَ مَنْ صَامَ مُرَاءَاهًَْ النَّاسِ فَهُوَ مُشْرِکٌ وَ مَنْ حَجَّ مُرَاءَاهًَْ النَّاسِ فَهُوَ مُشْرِکٌ

ดังนั้น ในการทำนมาซ และการเคารพภักดี(อิบาดะฮ์)ประเภทต่าง ๆ จำเป็นจะต้องมีเจตนามุ่งมั่นเฉพาะเพื่ออัลลอฮ์ และเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮ์ องค์เดียวเท่านั้น โดยมนุษย์จะต้องมีใจมุ่งหมายต่อพระผู้อภิบาล ผู้ทรงสูงสุดของตน และจะต้องสนทนากับพระองค์แต่เพียงผู้เดียว จะต้องควบคุมจิตใจตนเอง และมอบหมายหัวใจตนมุ่งตรงยังซาตแห่งพระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้ว และนั่นคือ องค์อัลลอฮ์ ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์