เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 5
  • ชื่อ: เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 5
  • นักเขียน: ซุลฏอนุล วาอิซิน ชีรอซี
  • แหล่งที่มา: ahlulbaytonline
  • วันที่วางจำหน่าย: 21:16:29 1-9-1403

เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ตอนที่ 5

 

กลับสู่เรื่องเดิม

 

ซุลฏอน : บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นการดียิ่ง หากเราจะย้อนไปเสวนาในเรื่องเดิมของเรา และติดตามการพูดคุยของเราเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นหลักการพื้นฐาน(อุศูล) ที่สำคัญกว่าประเด็นเหล่านี้ที่เป็นหลักการระดับสาขา(ฟุรูอ์) ในเมื่อเรายอมรับตรงกันในประเด็นที่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐาน การยอมรับในประเด็นสาขาปลีกย่อยเหล่านี้จะเป็นผลสรุป ที่ตามมาเองโดยปริยาย

 

ท่านฮาฟิซ : ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจกับที่ประชุม ซึ่งมีนักปราชญ์ ผู้ทรงเกียรติ ผู้เป็นนักคิดชั้นเลิศ เป็นคู่สนทนาที่ให้ข้อคิด เป็นผู้รอบรู้ อย่างแตกฉานต่อตำราและบทรายงานต่างๆของพวกเราเช่นท่าน แน่นอน เกียรติคุณและวิชาการของท่าน ได้ให้ความกระจ่างชัดแก่ข้าพเจ้าตั้งแต่ช่วงแรกของการประชุม ที่เรามานั่งร่วมกับท่าน แต่ก็เหมือนดังที่ท่านกล่าว คือทางที่ดี บัดนี้ เราน่าจะได้ติดตามหัวข้อสนทนาที่ได้เริ่มต้นกันไว้

 

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตให้ข้าพเจ้าเสนอคำถาม แน่นอน คำพูดของท่านได้ยืนยันต่อเราอย่างหนักแน่น และเป็นการอธิบายที่ดียิ่ง ท่านเองมาจากเมืองฮิญาซ จากตระกูลบะนีฮาชิม ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะรู้ ว่าในฐานะที่ท่านเป็นคนในตระกูลผู้สะอาดบริสุทธิ์ ได้เกิดอะไรขึ้นกับท่าน จนกระทั่งต้องอพยพมาจากฮิญาซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อพยพจากเมืองมะดีนะฮ์อันไพโรจน์ เมืองทวดของพวกท่าน และเป็นบ้านเกิดเมืองนอน มาพำนักในประเทศอิหร่าน ? อพยพมาตั้งแต่ปีใด เพราะเหตุใด ?

 

ซุลฏอน : บรรพบุรุษคนแรกของข้าพเจ้าที่อพยพไปยังอิหร่านคือ ซัยยิด มุฮัมมัด อาบิด บุตรของอิมามมูซา บิน ญะอ์ฟัร(อ.)ท่านเป็นคนมีคุณธรรมสูง ด้านตักวา เป็นนักอิบาดะฮ์ผู้บำเพ็ญเพียรอย่างมาก ถึงขนาดทำนมาซในยามกลางคืน ถือศีลอดในยามกลางวัน และอ่านคัมภีร์อัล-กุรอาน อันทรงเกียรติ อยู่เป็นเนืองนิจคราวละหลายๆชั่วโมงทั้งในตอนกลางคืนและกลางวัน ท่านได้ฉายานามว่า  “นักบำเพ็ญอิบาดะฮ์” เป็นคนลายมือสวย ขยันเขียนหนังสือ ฉะนั้นท่านจึงใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ด้วยการคัดลอกและเขียนคัมภีร์ อันจำเริญ รายได้ส่วนหนึ่งจากการทำงาน ท่านนำมาเลี้ยงชีพ และซื้อทาสในเรือนเบี้ยออกมาแล้วปล่อยเป็นอิสระ เพื่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงอานุภาพ สูงสุด จนกระทั่งสามารถปล่อยทาสได้เป็นจำนวนมาก

 

ครั้นเมื่อวาระสุดท้ายมาถึงท่านก็ได้ล่วงลับจากโลกนี้ไปศพของท่านก็ได้ฝัง ณ ที่บ้านของท่านนั่นเอง สุสานอันทรงเกียรตินั้นยังอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสถานที่เยี่ยมเยือนของผู้ศรัทธาทั่วไปในเมืองชีราซ

 

บุตรชายของอะมีรได้สั่งให้เอายัซมิรซาเจ้าเมืองซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สองของฮัจญ์ ฟัรฮาด มิรซา อดีตเจ้าเมือง(ลุงของนาศิรุดดีน  ชาห์ กอยาร) ให้ติดตั้งโดมอันล้ำค่าเหนือสุสานอันทรงเกียรติ และยังได้ดำเนินการให้สถานที่อันจำเริญแห่งนั้นเป็นมัสยิด เพื่อใช้เป็นที่นมาซฟัรฎูประจำวันและญะมาอะฮ์ อ่านอัล-กุรอานอันทรงเกียรติ อ่านดุอา และนมาซมุสตะฮับต่างๆ และยังมีบัญชาให้สร้างอาคารที่ประดับด้วยหินอ่อนและกระเบื้องเครือบชั้นดี เพื่อเป็นที่พักของผู้มาเยือนซึ่งเดินทางมาจากดินแดนต่างๆทั่วทุกสารทิศ

 

ท่านฮาฟิซกล่าวว่า  อะไรคือสาเหตุทำให้ท่านต้องอพยพจากฮิญาซไปยังชีราซ ?

 

ซุลฏอน :  ในช่วงปลายศตวรรษที่สองของฮิจเราะฮ์ มะอ์มูนได้บีบบังคับให้อิมามอะลี บุตรของ มูซา ริฎอ(อ)เดินทางจากเมืองมะดีนะฮ์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ)ผู้เป็นตาทวด อพยพไปยังเมืองคูรอซาน และกำหนดให้มีที่พำนักอยู่ที่เมืองฏูซ ทั้งนี้หลังจากได้บีบบังคับให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนแล้ว ก็เท่ากับแยกจากกันระหว่าง อิมามริฎอ(อ)กับบรรดาญาติพี่น้อง

 

ในเมื่อแยกจากกันเป็นเวลานานบรรดาบริวารและญาติพี่น้องซึ่งส่วนมากจะเป็นคนตระกูลบานีฮาชิมมีความคิดถึงและต้องการจะไปเยี่ยมเยียนท่านอิมามริฎอ(อ.) พวกเขาจึงขออนุญาตต่อท่านอิมามริฎอ(อ.)ในเรื่องนี้แล้วท่านก็ได้ให้อนุญาตขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เขียนจดหมายถึงมะอ์มูนโดยขอร้องให้เขายินยอมให้พวกเขาเดินทางไปที่เมืองฏูซเพื่อเยี่ยมเยียนพี่ชายและอิมามของพวกเขานั่นคืออิมามริฎอ(อ.) เพื่อมิให้มะอ์มูนและสมุนบริวารขัดขวางความตั้งใจและทำร้ายพวกเขาซึ่งมะอ์มูนก็ยินยอมตามนั้นโดยได้แสดงออกซึ่งความพึงพอใจพวกเขาจึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อเยี่ยมเยียนอิมามริฎอ(อ) กองคาราวานใหญ่อันประกอบด้วยลูกหลานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ก็ได้เคลื่อนขบวนบ่ายหน้าจากเมืองฮิญาซมุ่งสู่เมืองคูรอซานโดยใช้เส้นทางผ่านเมืองบัศเราะฮ์, อะฮ์วาซ, บูชาฮาร์และชีราซ…ต่อไปเรื่อยๆ

 

ปรากฏว่า เมื่อกองคาราวานนี้ได้เดินทางผ่านเมืองใดที่มีชีอะฮ์และผู้จงรักภักดีต่อวงศ์วานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)  ก็จะมีคนจำนวนมากเข้ามาสมทบกับกองคราวานของบะนีฮาชิม ซึ่งคนระดับหัวหน้ากองคาราวานนี้เป็นบรรดาเจ้านายผู้ทรงเกียรติ นั่นคือ พี่น้องของอิมามริฎอ(อ) ได้แก่ เจ้านายซัยยิดอะห์มัดหรือที่เรียกกันว่า ชาห์เชรอฆ เจ้านายซัยยิดมุฮัมมัด อาบิด ซึ่งเป็นปู่ของข้าพเจ้า ซัยยิดอะลาอุดดีน ฮุเซน ลูกหลานของอิมามมูซาบินญะอ์ฟัร(อ) ซึ่งประชาชนได้ติดตามพวกเขามาด้วยความสมัครใจและปรารถนาจะมีโอกาสเยี่ยมเยียนอิมามริฎอ(อ)นั่นเอง

 

มีข้อมูลในตอนนี้ที่บันทึกโดยนักประวัติศาสตร์ว่า เมื่อกองคาราวานนี้เดินทางใกล้มาถึงเมืองชีราซได้มีชาวเมืองชีราซจำนวนมากกว่า 15,000 คนทั้งชายหญิงทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆต่างตื่นเต้นดีใจและต่างพากันแสดงความยินดีเตรียมการต้อนรับ

 

บรรดานักสืบและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมะอ์มูนในเมืองฏูซก็ได้รายงานให้มะอ์มูนรับทราบข่าวของกองคราวานอันยิ่งใหญ่ที่ประกอบด้วยผู้คนจำนวนมากและเตือนให้ระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อศูนย์อำนาจของคอลีฟะฮ์ในเมืองฏูซและข่าวการมาถึงของกองคราวานบะนีฮาชิมได้สร้างความหวาดระแวงให้มะอ์มูนเป็นอย่างยิ่งเขารู้สึกถึงอันตรายที่มีต่อตำแหน่งและสถานะของเขา

 

เขาจึงได้ออกคำสั่งไปยังสายสืบประจำเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่กองคาราวานบะนีฮาชิมจะเดินทางผ่านเขาได้สั่งการไปว่าให้ขัดขวางกองคาราวานมิให้เดินทางต่อไปไม่ว่าจะพบ ณ ที่ใดก็ตามและสั่งอีกว่าต้องห้ามมิให้กองคาราวานเดินทางเข้าเมืองฏูซปรากฏว่าเมื่อกองคราวานได้เดินทางใกล้จะถึงเมืองชีราซ  คำสั่งของคอลีฟะฮ์ก็ได้ไปถึงเจ้าเมืองว่าให้สะกัดกั้นกองคราวานนั้น เจ้าเมืองก็ตัดสินใจปฏิบัติตามคำสั่งทันทีโดยคัดเลือกสมุนของตัวเองคนหนึ่งชื่อว่า ก็อตลัก คาน ซึ่งเป็นคนโหดเหี้ยมมาก พร้อมกับได้สั่งให้จัดเตรียมมือสังหารจำนวน 40,000 คนแล้วยังสั่งให้คนพวกนั้นสะกัดกั้นกองคราวานของบะนีฮาชิม และผลักดันให้กลับไปเมืองฮิญาซ

 

ทหารใจเหี้ยมกองนี้ก็ได้เดินทางจากเมืองชีราซมุ่งหน้าไปยังเส้นทางที่กองคาราวานกำลังจะผ่านมาแล้วได้ไปตั้งค่าย ณ ที่ “คานซันยูน” นั่นคือตำบลหนึ่งที่ห่างไกลออกไปจากเมืองชีราซประมาณ 30 กิโลเมตรพวกเขาซุ่มรอกองคราวานณตรงจุดนั้นครั้นเมื่อกองคราวานเดินทางมาถึงพื้นที่ตรงเส้นทางเมืองชีราซโดยมุ่งหน้าจะไปเมืองฏูซแม่ทัพก็อตลักคานได้ส่งทูตไปเจรจากับบรรดาซัยยิดเจ้านายระดับสูงและแจ้งให้ทราบถึงคำสั่งของคอลีฟะฮ์และขอร้องให้พวกเขาเดินทางจากที่ตรงนั้นกลับยังเมืองฮิญาซในทันที

 

ท่านอะมีรซัยยิดอะห์มัด ผู้อาวุโสสูงสุดของคณะที่มาได้ตอบว่า

 

ประการแรก ในการเดินทางมาของเราคราวนี้ไม่มีจุดประสงค์อื่นใดเลย นอกจากเยี่ยมเยียนอิมามริฎอ(อ)พี่ชายของเราที่เมืองฏูซ

 

ประการที่สอง เรามิได้ออกเดินทางอันยาวไกลเช่นนี้จากเมืองมะดีนะฮ์เลย นอกจากโดยได้รับอนุญาตและการยินยอมจากคอลีฟะฮ์ ด้วยเหตุนี้ ถือว่าไม่เป็นความชอบธรรมสำหรับการสะกัดกั้นมิให้เราเดินทางต่อไป

 

ทูตเจรจาก็ได้กลับไปแจ้งคำพูดนี้ให้ก็อตลักคานทราบแล้วได้ย้อนกลับมาบอกว่าแม่ทัพได้ตอบมาว่า “คอลีฟะฮ์ได้มีบัญชาใหม่มายังพวกเราอย่างเด็ดขาดว่าให้เรายับยั้งพวกท่านมิให้เดินทางไปยังเมืองฏูซอาจเป็นไปได้ว่าคำสั่งคราวก่อนได้ถูกยกเลิกไปโดยสถานการณ์ในปัจจุบันดังนั้นจำเป็นแก่ท่านจะต้องเดินทางจากที่นี่กลับไปยังเมืองฮิญาซ

 

การหารือของผู้มีชาติตระกูล

 

ด้วยเหตุนี้ ท่านอะมีร ซัยยิด อะห์มัด จึงได้ปรึกษาหารือกับบรรดาพี่น้องและคนอื่นๆในกองคาราวานที่มีความคิดอ่าน ปรากฏว่า ไม่มีใครแม้สักคนเดียวยอมเดินทางกลับ พวกเขาเห็นตรงกันว่า จะต้องเดินทางต่อไปจนถึงเมืองคูรอซาน ไม่ว่าจะเผชิญกับสิ่งใดก็ตาม พวกเขาจึงจัดให้บรรดาสตรีอยู่ด้านหลังขบวนกองคาราวาน และให้ชายฉกรรจ์ บรรดานักสู้อยู่ด้านหน้า แล้วตั้งหน้าเดินทางต่อไป

 

ฝ่ายก็อตลัก คาน ได้สั่งการให้ทหารเข้าสะกัดเส้นทาง ไม่ว่าครั้งใดที่บรรดาซัยยิดลูกหลานท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ)ชี้แจงต่อพวกเขาเพื่อขอโอกาสการเดินทาง แต่แล้ว การชี้แจงในแต่ละครั้ง ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดเลย สถานการณ์ได้เปลี่ยนรูปเป็นการต่อสู้อย่างประปราย จากนั้นก็เป็นการรบที่เข้มข้นและเข่นฆ่ากันทั้งสองฝ่าย ทหารของมะอ์มูนได้ล้มป่วยกันมาก จึงทำให้พ่ายแพ้การต่อต้านของบะนีฮาชิมผู้กล้าหาญ

 

ก็อตลัก คาน ได้ใช้แผนลวง โดยสั่งให้ทหารจำนวนหนึ่งขึ้นไปบนภูเขาแล้วตะโกนสุดเสียงว่า โอ้ลูกหลานของอะลี และบรรดาชีอะฮ์ ถ้าพวกท่านคิดว่า ริฎอ(อิมามอะลี ริฎอ)จะช่วยเหลือพวกท่านได้ เมื่อไปพบกับคอลีฟะฮ์ บัดนี้ได้มีข่าวแจ้งเรื่องการตายของเขามายังพวกเรา และคอลีฟะฮ์ กำลังมีความโทมนัสอย่างยิ่ง แล้วพวกท่านจะต่อสู้กันทำไม ? ถึงอย่างไร ริฎอ ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว!!

 

แผนลวงครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความรู้สึกนึกคิดของบรรดานักต่อสู้เสียสละ ดังนั้นเมื่อถึงเวลากลางคืนพวกเขาได้แยกตัวออกไปโดยละทิ้งการต่อสู้ ยังคงเหลือแต่บรรดาลูกหลานของท่านศาสนทูต(ศ็อลฯ)ฝ่ายเดียวเท่านั้น ท่านอะมีร ซัยยิด อะห์มัดจึงสั่งบรรดาพี่น้อง และคนที่ยังอยู่กับท่านสวมชุดชาวบ้าน และติดเครื่องหมายเดียวกับพวกเขาแล้วแยกย้ายกันออกไปในตอนกลางคืนอันมืดมิด แล้วให้เลิกล้มการใช้เส้นทางหลัก เพื่อรักษาตัวเองให้ปลอดภัย และเพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือของก็อตลัก คานและสมุนของเขา ดังนั้นพวกเขาจึงแยกย้ายกันไปที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ทั้งบริเวณเทือกเขาและที่กันดาร ในสภาพของผู้พลัดถิ่น ที่ถูกขับไล่ไสส่ง

 

ส่วนอะมีรซัยยิด อะห์มัด, ซัยยิดมุฮัมมัด อัล-อาบิด, และซัยยิด อะลาอุดดีนนั้น ได้เข้ามาหลบซ่อนตัวในเมืองชีราซ แต่ละคนก็จะมีที่อยู่ แยกจากกันต่างหาก และสาละวนอยู่แต่กับการอิบาดะฮ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ใช่แล้ว ที่มีคนกล่าวกันว่า สุสานของคนในตระกูลของท่านนบี (ศ็อลฯ) มีในอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในดินแดนที่ห่างไกล มีทั้งในเมืองและแถบภูเขา ส่วนมากก็คือ บรรดาผู้ประสบกับสถานการณ์อันเจ็บปวดเหล่านั้น

 

ประวัติอะมีร ซัยยิด อะห์มัด

 

อะมีร ซัยยิด อะห์มัด เป็นน้องชายของอิมามริฎอ(อ.) เป็นบุตรชายที่ประเสริฐที่สุดของบิดารองจากอิมามอะลี บิน มูซา ริฎอ(อ.) ซึ่งนับว่าเป็นคนเคร่งครัดและมีตักวามากที่สุด

 

ในชีวิตของท่าน ได้ซื้อทาสจำนวน 1000 คนแล้วปล่อยให้เป็นไทแก่ตัวเพื่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ท่านได้รับฉายาอันเป็นที่รู้กันว่า “ชาห์ เชรอฆ” และหลังจากอัลลอฮ์ ทรงให้ความปลอดภัยแก่ท่านจากการสู้รบคราวนั้นแล้ว ท่านกับพี่ชายของท่านอีกสองคน ก็ได้ไปหลบซ่อนตัวที่เมืองชีราซ และได้พำนักอยู่ที่นั่นในลักษณะที่แยกย้ายจากกัน

 

ซัยยิด อะห์มัดนั้น ได้พำนักที่เมืองชีราซกับชีอะฮ์คนหนึ่ง ณ ตำบลหนึ่ง ชื่อว่า “ซัรดาซัก”นั่นคือ สถานที่ตั้งสุสานของท่านในปัจจุบัน ท่านได้หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านของผู้อุปการะคุณแห่งนั้นและสาละวนอยู่กับการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์)

 

ส่วนก็อตลัก คานนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่สายสืบออกตระเวนไปทั่วทุกหนแห่ง เพื่อสืบหาข่าวคราวของบรรดาซัยยิด ผู้เร่ร่อน แล้วดำเนินการจับกุม หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปีเขาจึงได้ทราบที่อยู่ของซัยยิด อะห์มัด แล้วเขาก็นำลูกน้องมาปิดล้อม  ท่านซัยยิดปฏิเสธไม่ยอมให้ตรวจสอบและไม่ยอมมอบตัวต่อศัตรู ดังนั้นท่านจึงต่อสู้กับพวกเขาเพียงลำพังตัวคนเดียว อย่างกล้าหาญสมศักดิ์ศรีของบะนีฮาชิม จนคนทั้งหลายพากันประหลาดใจยิ่ง กล่าวคือ ทุกครั้ง ที่สู้รบจนอ่อนเพลีย ท่านก็จะหลบเข้าบ้านพักเพื่อพักผ่อนสักครู่หลักจากนั้น ก็จะออกไปรบเพื่อป้องกันตัวอีก

 

เมื่อก็อตลักเห็นว่า ลูกน้องของตนไม่สามารถสำเร็จโทษท่านโดยลำพังการต่อสู้ด้วยอาวุธแบบซึ่งหน้าได้ พวกเขาก็หันมาใช้กลลวงด้วยการเข้าไปในบ้านที่อยู่ติดกัน แล้วคอยดักซุ่มโจมตีท่านตรงช่องทางซึ่งพวกเขาได้ทำไว้ในบ้านหลังนั้น ครั้นพอท่านซัยยิดเข้าไปพักผ่อนในบ้านของท่านได้สักครู่ พวกเขาก็กรูออกมาจ้วงฟันที่ศีรษะของท่านด้วยดาบ แล้วร่างของท่านก็ทรุดลงอย่างน่าเวทนา หลังจากนั้น ก็อตลัก คานได้สั่งให้ทำลายบ้านหลังนั้น โดยที่ยังมีร่างผู้ประเสริฐอยู่ในดินและซากปรักหักพังเพราะเหตุว่าในสมัยนั้น คนส่วนใหญ่ยังเป็นฝ่ายผู้มีความขัดแย้ง จะมีชีอะฮ์ของวงศ์วานศาสดามุฮัมมัด(ศ)อยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และนั่นคือ ผลของการบิดเบือนความจริงที่เผยแพร่โดยกระบอกเสียงและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต่อต้านบรรดาชีอะฮ์ พวกเขาจึงไม่เอาใจใส่ต่อเกียรติของสถานที่ตรงนั้น และเกียรติของเรือนร่างผู้ประเสริฐแต่อย่างใด พวกเขามิได้พะวงใจกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ศ็อลฯ)ในกรณีนั้น หากแต่ได้ปล่อยปละละเลยท่านให้ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังและดินขรุขระ

 

การค้นหาเรือนร่างอันประเสริฐ

 

ช่วงต้นศตวรรษที่ 7 แห่งปีฮิจเราะฮ์ เมืองชีราซได้เข้าอยู่ในเขตปกครองของรัฐบาลกษัตริย์อะบูบักร์ บิน สะอัด มุซ็อฟฟัร อัล-ยะดุน เขาเป็นผู้ศรัทธาที่มีคุณธรรม มีความพยายามในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามอันเที่ยงธรรม ให้เกียรติบรรดานักปราชญ์ ให้ความนับถือบรรดาผู้ศรัทธา ผู้มีความยำเกรง และมีความรักต่อบรรดาซัยยิดผู้มาจากตระกูลอันสูงส่ง

 

มีคนกล่าวกันว่า “ประชาชนจะนับถือศาสนาของพระราชาเสมอ” ซึ่งปรากฏว่า บรรดาเสนาบดีและเจ้าหน้าที่รัฐของเขาก็เป็นเช่นเดียวกับเขา คือ เป็นผู้ศรัทธาที่ประเสริฐทั้งนั้น เช่น อะมีร มัสอูด บิน บัดรุดดีน เขาเป็นคนจิตใจเผื่อแผ่ ชอบบูรณะบ้านเมือง และแก้ปัญหาให้แก่ราษฎร เขาสนใจที่จะตบแต่งเมืองชีราซให้สวยงาม และจัดการทำความสะอาดสิ่งสกปรกรุงรัง เขาได้สร้างอาคารที่ตรงนั้นขึ้นใหม่ ซึ่งรวมทั้งสถานที่ฝังร่างของ อะมีร ซัยยิด อะห์มัดที่ผ่านมาหลายศตวรรษแล้วด้วย ครั้นเมื่อ เจ้าหน้าที่และคนงานของเขามาถึง ก็เข้าไปจัดการยังสถานที่ตรงนั้น เพื่อขนดินและซากปรักหักพังออกไปทั้งนอกเมือง ในขณะกำลังทำงานอยู่นั้น พวกเขาก็ได้พบกับศพที่ยังสดสมบูรณ์อยู่ ซึ่งปรากฏว่าตายเพราะถูกฟันเข้าที่ศีรษะ พวกเขาจึงนำศพนั้นออกมาจากซากปรักหักพังแล้วแจ้งให้อะมีรมัสอูดทราบ อะมีรมัสอูดได้มาที่นั่นพร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ ความจริงของเรื่องนั้น

 

หลังจากได้ทำการตรวจสอบอย่างมากมาย ก็ได้พบว่ามีร่องรอยที่บ่งบอกถึงสถานะของชายหนุ่มผู้ถูกฆาตกรรมคนนั้น โดยพวกเขาได้ค้นพบแหวนที่มีลายสลักความว่า “อัลอิซซะตุ ลิลลาฮ์ (อานุภาพเป็นของอัลลอฮ์) อะห์มัด บิน มูซา”ตั้งแต่สั่งให้ทำเช่นนั้น ประกอบกับประวัติของสถานที่ตรงนั้นอีกประการหนึ่ง กับเรื่องที่ได้รับฟังมาเกี่ยวกับความกล้าหาญของคนตระกูลบะนีฮาชิมซึ่งเป็นลูกหลานของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ) ที่ได้สำแดงด้วยตัวของพวกเขาเองในการต่อสู้อันแสนทรมาณตามที่เคยเกิดขึ้นที่นั่น และครั้งหลังสุด คือ การเป็นชะฮีดของท่านอะห์มัด บิน มูซา (อ.) ทำให้พวกเขาแน่ใจว่า นี่คือศพของอะมีร ซัยยิด อะห์มัด บิน อิมามมูซา บิน ญะฟัร (อ.)

 

เมื่อประชาชนได้เห็นศพของผู้ประเสริฐที่ถูกนำออกมาจากใต้ซากปรักหักพังและดินขรุขระ หลังจากผ่านเวลามาแล้ว 400 ปี นับจากสมัยที่ท่านเป็นชะฮีด ขณะเดียวกันศพของท่านก็ยังสดชื่น ไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงรู้ว่าเจ้าของร่างนี้ คือวะลีย์ คนหนึ่ง ในบรรดาเอาลิยาอ์แห่งอัลลอฮ์ (ผู้เป็นที่รักของอัลลอฮ์) และพวกเขายิ่งมั่นใจกับการเป็นชีอะฮ์ เพื่อรักษามัซฮับอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) เพราะว่า ท่านคือลูกหลานของท่านศาสนทูตและอยู่กับมัซฮับอะฮ์ลุลบัยต์ซึ่งได้พลีชีพในหนทางนี้และเพื่อสิ่งนี้ ดังนั้นประชาชนชาวเมืองชีราซเป็นจำนวนมากได้ยอมรับมัซฮับ อะฮ์ลุลบัยต์ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้

 

หลังจากนั้น มัสอูด บิน บัดรุดดีน ได้สั่งให้นำร่างอันบริสุทธิ์ของท่านไปฝังไว้ที่เดิม ซึ่งเป็นที่พบศพของท่าน หลังจากได้ฝังศพของท่านอย่างสมเกียรติโดยมีบรรดานักปราชญ์ และบุคคลสำคัญของเมืองชีราซมาร่วมพิธี ขณะเดียวกัน เขายังสั่งทำยกพื้นอาคารขึ้นเหนือสุสาน และขยายพื้นที่ให้กว้างเพื่อรองรับบรรดาผู้มาเยือน และสภาพยังคงอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งสิ้นกษัตริย์ มุซ็อฟฟะรุดดีน เมื่อ ฮ.ศ 658

 

ใน ฮ.ศ 750 เมื่ออำนาจการปกครองประเทศเปอร์เซียตกเป็นของกษัตริย์อิสฮาก บิน มะห์มูด ชาห์ และเขาได้เข้ามาถึงยังเมืองชีราซ พร้อมด้วยพระมารดา นั่นคือ ราชินี”ตาชี คาตูน”ซึ่งเป็นสุภาพสตรีที่ประเสริฐ นางได้เยี่ยมเยียนสุสานอันทรงเกียรติแห่งนั้น นางได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์สถานที่อันจำเริญและปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็สั่งให้สร้างอาคารที่มั่นคง พร้อมกับตั้งโดมที่สวยงามโดดเด่นไว้เหนือสุสาน จนทำให้ตำบล “มัยมันด์”ที่ห่างจากเมืองชีราซประมาณ 80 กิโลเมตรตั้งตระหง่าน นางยังได้สั่งให้นำรายได้ของนางเองใช้จ่ายในกิจการของสุสานอันจำเริญแห่งนั้น และนั่นก็คือ สิ่งที่ดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานไปตามหลักเกณฑ์ของการวะกัฟและยังใช้จ่ายเงินรายได้ของนางไปในกิจการนั้น อนุสรณ์อย่างหนึ่งของนางที่ยังอยู่กระทั่งถึงวันนี้คือ น้ำดื่มที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า เป็นน้ำที่มีรสเยี่ยมที่สุดในโลก

 

โปรดติตตามตอนต่อไป