การจูบและการซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของบรรดาอิมามทั้งหลาย ในอิสลาม
  • ชื่อ: การจูบและการซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของบรรดาอิมามทั้งหลาย ในอิสลาม
  • นักเขียน: เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
  • แหล่งที่มา:
  • วันที่วางจำหน่าย: 14:26:21 16-8-1403

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชาวมุสลิมทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นซุนนีหรือชีอะฮ์ นับจากยุคของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จนถึงปัจจุบันต่างมีความเห็นตรงกันว่า การจูบและการซิยาเราะฮ์หลุมฝังศพของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) และและบรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้เกียรตินั้นไม่ใช่การตั้งภาคี (ชิริก) ยกเว้น "แนวทางวะฮ์ฮาบี" และ "นักวิชาการชาวซาอุดิอาระเบีย" ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมานี้ (1) และพวกเขาจะปฏิบัติในตรงกันข้ามกับฉันทามติ (อิจญ์มาอ์) ของชาวมุสลิม และถือว่าการหลั่งเลือดและชีวิตของชาวมุสลิมด้วยกันเป็นที่อนุญาต (มุบาห์) พวกเขาจะสร้างฟิตนะฮ์ (วิกฤตอันเลวร้ายและความแตกแยก) ขึ้นในระหว่างพวกเขา และถือว่าการใช้มือลูบบนหลุมฝังศพและการตะวัซซุ้ลเป็นชิริก (การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า)

ท่านอัลลามะฮ์ซัยยิดชัรฟุดดีน (เจ้าของหนังสืออันทรงคุณค่า “อัลมุรอญะอาต”) ได้เดินทางไปยังนครมักกะฮ์ เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ ในยุคการปกครองของ "กษัตริย์อับดุลอะซีซ" ในวันอีดิลอัฎฮา ท่านพร้อมกับบรรดานักวิชาการคนอื่นๆ ที่ได้รับเชิญไปยังพระราชวังของกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย เป็นไปตามปกติของทุกปีที่ในช่วงวันอีดิลอัฎฮา พวกเขาจะไปแสดงความยินดีต่อกษัตริย์ ท่านอัลลามะฮ์ซัยยิดชัรฟุดดีนได้เข้าไปในพระราชวัง เมื่อถึงคิวของท่าน ท่านได้จับมือกษัตริย์และมอบของขวัญชิ้นหนึ่งแก่กษัตริย์ ของขวัญที่ระลึกชิ้นนั้นก็คือ คัมภีร์อัลกุรอาน ที่มีปกเป็นหนังแกะ กษัตริย์ซาอุดีอาระเบียเมื่อรับของขวัญ และได้จูบพร้อมกับวางมันลงบนหน้าผากของตนเพื่อแสดงการเคารพและให้เกียรติ

ซัยยิดชัรฟุดดีน ได้ใช้โอกาสเช่นนี้ โดยกล่าวขึ้นในทันทีทันใดว่า “โอ้ท่านกษัตริย์! ทำไมท่านจึงจูบปกคัมภีร์นี้ และต้องแสดงการเคารพให้เกียรติต่อมันด้วย ทั้งๆ ที่ปกของคัมภีร์นี้มิได้เป็นอะไรมากไปกว่าหนังแพะ!”

คิงส์อับดุลอะซีซ กล่าวว่า “เจตนาของฉันจากการจูบปกนี้ คือคัมภีร์อัลกุรอานที่อยู่ด้านในของมัน ไม่ใช่ตัวปก”

อัลลามะฮ์ซัยยิดชัรฟุดดีน กล่าวขึ้นในทันใดว่า “ดีมาก โอ้ท่านกษัตริย์! เราชาวชีอะฮ์เองก็เช่นเดียวกัน ที่เราจูบหน้าต่างหรือบานประตูบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั้น เราทราบดีว่า เหล็กนั้นไม่มีอะไร แต่เจตนาของเรา คือบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหล็กและไม้เหล่านี้ เราเพียงต้องการที่จะแสดงความเคารพและให้เกียรติต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เหมือนกับที่ท่านจูบหนังแพะเพื่อต้องการที่จะให้เกียรติและแสดงการเคารพคัมภีร์อัลกุรอานที่อยู่ด้านในของปกหนังนั้น”

 

ผู้อยู่ร่วมในที่นั้นพากันกล่าว “ตักบีร” (อัลลอฮุอักบัร) แสดงการยอมรับและสนับสนุนคำพูดของท่าน ในช่วงเวลานั้นเอง คิงส์อับดุลอะซิซ จึงต้องยอมอนุญาตให้บรรดาฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) ทำการตะบัรรุก (แสวงหาความจำเริญ) จากร่องรอยต่างๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่มงกุฎราชกุมารที่ขึ้นมาปกครองภายหลังจากคิงส์อับดุลอะซิซได้ยกเลิกสิ่งดังกล่าวลง

เชิงอรรถ :

[1] นิกายวะฮ์ฮาบี ถูกสัมพันธ์ไปยัง "เชคมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ" เขาได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 1115 ในเมือง "อุยัยนะฮ์" ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของแคว้น "นัจด์" บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษา (กอฎีย์) อยู่ในเมืองนั้น ในปี ค.ศ. 1153 เขาได้เปิดเผยแนวคิดต่างๆ ของวะฮ์ฮาบี ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งของมันเอง คนกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติตามเขา และในปี ฮ.ศ. 1160 เขาได้เดินทางไปยังเมือง “ดัรอียะฮ์” ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงของแคว้นนัจด์ และในเมืองนั้นเอง เขาได้สร้างความสัมพันธ์กับเจ้าเมืองซึ่งมีนามว่า “มุฮัมมัด บินซะซูด” (ปู่ของราชวงศ์) และทั้งสองได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมและเผยแพร่แนวความเชื่อของวะฮ์ฮาบี (อออีน วะฮ์ฮาบี : หน้าที่ 26 และ 27) ด้วยเหตุนี้เอง เราจะเห็นได้ว่า นิกายที่เบี่ยงเบนนี้ ได้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 12 และได้มีการสืบสานและเผยแพร่โดยราชวงศ์ซะอูด

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน